มุกดา สุวรรณชาติ : รอให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่รถไฟไม่รอให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน

มุกดา สุวรรณชาติ

24 มิถุนายน 2475-2559
เราใช้รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 9 ฉบับ
จากการปฏิวัติและรัฐประหาร

ครบ 84 ปีของการปฏิวัติ 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน เราใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งมีชื่อว่า พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 หลังจากนั้นจึงเริ่มมีรัฐธรรมนูญจริงๆ ใช้ ซึ่งควรจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

แต่ผ่านไป 84 ปี เรายังต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่เหมือนเดิมแต่ไม่ใช่ฉบับเดิม เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ 9 เพราะเคยมีการจัดทำขึ้นโดยคณะรัฐประหารหลายคณะ ก่อนหน้า

เช่น หลังการรัฐประหาร 2490 โดย พลโทผิน ชุณหะวัณ หลังการยึดอำนาจครั้งที่ 2 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 2502 หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตัวเอง 2514 หลังการรัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519 ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน… หลังการยึดอำนาจของ รสช. ปี 2534 หลังการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ของ คมช. 2549 และฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นของ คสช. ตั้งแต่พฤษภาคม 2557

ทุกครั้งจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยหวังว่าจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ไม่มีทางเป็นจริงได้ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นของประชาชน และไม่ได้ร่างโดยประชาชน ที่ออกมาจึงไม่ใช่เพื่อประชาชน

ที่หวังว่าจะได้ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ยังต้องรอไปก่อน

ทำไมต้องรอประชาธิปไตยที่สมบูรณ์?

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำสั่งให้ DSI จับพระธัมมชโย โดยขอหมายจับ หมายค้น เข้าไปในวัดพระธรรมกาย แต่มีลูกศิษย์นั่งสมาธิห้อมล้อมอยู่แน่นวัดจำนวนนับหมื่นและได้มีตัวแทนออกมาแถลงว่าจะมอบตัวก็ต่อเมื่อบ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

จากนั้นก็มีผู้มาโพสต์ข้อความนี้ลงโซเชียลมีเดีย ในเชิงล้อเลียนเปรียบเทียบ เช่นจะเลิกกินเหล้าเมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว จะมีผัวถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีหลายข้อความทำนองนี้

ถ้าเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นที่บ้านเมืองอื่น อาจเป็นเพียงข้ออ้างเลื่อนลอย มองดูแล้วก็เหมือนเป็นการถ่วงเวลา

แต่ที่เมืองไทย เรามองได้ทั้งสองด้าน เพราะตลอดช่วง 10 ปีนี้สิ่งที่เกิดในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ข้ออ้างนี้กลายเป็นเรื่องที่มีเหตุผล

ลูกศิษย์เหล่านั้นในทางการเมืองมีหลายสี หลายความคิด มีประสบการณ์ทางการเมืองจึงไม่แน่ใจต่อระบบยุติธรรม และกระบวนการที่จะดำเนินคดี

เพราะตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันเรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นจำนวนมาก ว่าความขัดแย้งที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีความผิดปกติ เป็นที่ขัดสายตา

ขัดความรู้สึกของคนทั่วไปหลายกรณี

1.ตัวอย่างที่เกิดในกระบวนการยุติธรรม

เช่น… กรณีปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช จากคดีที่ถูกฟ้องว่าสอนทำอาหารทางโทรทัศน์ เป็นผลให้ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คำตอบที่แท้จริงก็ได้ปรากฏลงมาว่าใช้ทำไปเพื่อปลดล็อกสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อให้มีการเปลี่ยนรัฐบาล มีการยอมรับว่าทำแบบสุกเอาเผากิน

การยุบพรรคการเมือง การตัดสิทธิ์กรรมการพรรคการเมืองจำนวนมากทั้งที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้กระทำความผิด

ในขณะเดียวกันคดีที่มีการปิดล้อมหรือยึดสถานที่ราชการ เช่นทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบินก็ดำเนินคดีอย่างล่าช้า

แค่ทบทวนหัวเรื่องของคดีจะพบว่ามีมากจนเราจำไม่ได้ และไม่รู้ว่าบัดนี้คดีไปถึงไหน หมดอายุหรือยัง และหาตัวผู้ผิดได้หรือไม่ ทำไมบางคดีซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วจึงไม่ได้รับการสืบสวน ดำเนินคดีและตัดสิน ทำไมบางคดีจึงเร่งรัดที่จะลงโทษผู้กระทำผิดให้ได้ เช่น

คดีขายทรัพย์สิน ปรส. ที่ทรัพย์สินมูลค่า 851,000 ล้าน ถูกประมูลขายไปในราคา 190,000 ล้าน

คดีสร้างโรงพักที่เหลือแต่เสาทั่วประเทศ

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งก็เป็นความผิดต้องถูกนำใบเสนอให้ลงมติตัดสินถอดถอนกันใน สนช. ที่มาจากการแต่งตั้ง

การเปรียบเทียบคดีสลายการชุมนุมด้วย ปี 2551 กับปี 2553 ทั้งใน ปปช. และศาล

นี่จึงเป็นมาตรฐานความยุติธรรม ที่คนไม่ยอมรับ และถูกนำมาอ้างว่ามีไม่เพียงพอต้องรอให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตสมบูรณ์เสียก่อน

อาจจะมีมาตรฐานใหม่
จากกระทรวงยุติธรรม

กรณีการยึดสนามบินขณะนี้กำลังจะมีมาตรฐานใหม่เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันมองว่าการที่มวลชนจำนวนมากมานั่งสมาธิขวางทางในวัดพระธรรมกาย เป็นการขัดขวางการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีความผิดและจะนำภาพคนเหล่านั้นไปเป็นหลักฐานฟ้องร้องบุคคลในภาพ

ถ้าใช้มาตรฐานนี้ คดียึดสนามบินก็มีภาพของบุคคลจำนวนมากหลายพันคน

ภาพของการยึดทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ปี 2551

ภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553

หรือการยึดกระทรวงทบวงกรมต่างๆ การปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ของ กปปส. ในปี 2556 ถึง 57 รวมแล้วอาจจะมีคนจำนวนนับหมื่นคนที่อยู่ในภาพและถูกนำมาดำเนินคดีการฟ้องร้องในข้อหาต่างๆ จะต้องเพิ่มจำนวนจำเลยอีกหลายพันไม่ใช่เพียงแค่หลายสิบคนอย่างที่เป็นอยู่

ถ้าทำมาตรฐานได้เหมือนกันแบบนี้ก็สามารถอ้างได้ว่าบ้านเมืองนี้มีความยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียว ใช้กับคนทุกกลุ่ม

แต่มาตรฐานของการสลายการชุมนุม จะเอาอย่างไร?

จากคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา 2 รายในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กับคดีที่มีผู้เสียชีวิต 99 รายในช่วงระหว่างการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ของคนเสื้อแดง คดีแรก ป.ป.ช. บอกว่าต้องฟ้อง ส่วนคดีหลังแม้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า กลับยังหาผู้รับผิดชอบระดับสูงไม่ได้ ศาลอาญาก็ไม่รับฟ้อง ในขณะเดียวกัน นายจตุพร แกนนำก็ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทเพราะไปพูดว่าอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้สั่งฆ่าขณะนี้ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ถ้าผลสรุปของคดีออกมาเป็นอย่างนี้ เหตุการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 ก็ไม่รู้จะไปเอาผิดกับใคร รัฐบาล ข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองระดับสูง ไม่ต้องรับผิดชอบ การสืบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบและผู้สั่งการจะออกมาในรูปแบบไหน

ในขณะเดียวกันก็จะเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่การสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตากลายเป็นความผิดที่ต้องถูกฟ้องร้องลงโทษและการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงครามและกระสุนจริงที่มีคนเสียชีวิตถึง 99 คน กลับไม่สามารถฟ้องร้องใครได้

การสลายกลุ่มมวลชนครั้งต่อไปผู้ปฏิบัติและผู้สั่งการต้องคิดให้ดีว่าจะต้องทำแบบไหน จะใช้แก๊สน้ำตา หรือกระสุนจริงและอาวุธสงคราม การสลายการชุมนุมจึงจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

มาตรฐานความยุติธรรม ต้องไม่ถูกนำมาอ้างว่ามีไม่เพียงพอ ต้องรอให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน

2.ตัวอย่างที่เกิดขึ้นทางการเมือง

อย่าให้วันที่ 7 สิงหา 2559 กลายเป็นวัน…แอบลงประชามติ

ในวันนี้ภายใต้บรรยากาศของการเตรียมลงประชามติจะยอมรับหรือไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าจะทำผิดกฎหมาย

ย้อนหลังไปก่อน 7 สิงหาคม 2508 วันเสียงปืนแตก พคท. ได้แอบซุ่มกำลังของตนเองไว้โดยใช้หลักการซุ่มซ่อนยาวนาน สะสมกำลัง รอคอยโอกาส แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถจะแอบซ่อนอยู่ได้ เพราะกำลังของรัฐบาลก็ลาดตระเวนค้นหาจนกระทั่งต้องเกิดปะทะกันวันนั้นจึงเป็นวันเสียงปืนแตก

7 สิงหาคมปีนี้ ควรมีลักษณะที่ตรงข้าม เพราะการลงประชามติไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายต้องแอบซุ่มซ่อนความคิดเห็นของตัวเองหลบเลี่ยงการปะทะทางความคิดที่มีความแตกต่าง ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่จะต้องมาถกเถียงกันให้รู้ว่า ร่าง รธน. ฉบับนี้ มีด้านดี ด้านเสีย มีผลกระทบต่อประเทศและต่อประชาชนอย่างไรบ้าง

แต่ในขณะนี้บรรยากาศการเมืองที่เกิดขึ้น การรณรงค์ความเห็นที่แตกต่างทำไม่ได้

ขยับตัวทำอะไรก็ต้องมาตีความว่าถูกหรือผิด ดูเหมือนจะถูกฟ้องร้องไปทุกอย่าง ต้องแอบซุ่มซ่อนความคิดเห็นไว้จนถึงวันลงประชามติเท่านั้น

ความอึดอัดนี้แสดงออกได้อย่างเดียวคือไปลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

มีกลุ่ม นปช. ที่กล้าออกมากระตุ้นความสนใจ โดยตั้งศูนย์เพื่อป้องกันการโกงประชามติ แต่ก็ถูกห้าม ถ้าการรณรงค์ด้วยป้ายไม่ได้ ใส่เสื้อไม่ได้ ไม่มีดีเบตถกเถียงข้อดีข้อเสีย ถ้ามีแต่บรรยากาศความหวาดกลัวเป็นแบบนี้ต่อไป คนมาลงคะแนนประชามติถึง 60 เปอร์เซ็นต์ก็เก่งแล้ว ถ้าการลงประชามติ ไม่ได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง ผู้มีอำนาจจะเสียการเมือง ถ้าผลออกมาแพ้จะยิ่งเสียหายมากขึ้น

ขณะนี้มีคนถามกันว่าต้องรอให้มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยลงประชามติ จึงจะได้ผลที่แท้จริง

แต่คำแนะนำของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์มาถึงปัจจุบัน คือ ให้แปรเปลี่ยนการรับรู้และพลังไปแสดงความต้องการของแต่ละคนในวันลงประชามติอย่างเต็มที่ ไม่ว่าฝนจะตกฟ้าร้องน้ำท่วมก็ต้องไปให้ได้

3.ตัวอย่างทางด้านการบริหาร ศึกษากรณีรถไฟความเร็วสูง

ทีมวิเคราะห์ เห็นด้วยที่จะมีรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มองย้อนหลังก็จะพบว่าเคยมีวาทกรรม สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บอกว่ารอให้ถนนลูกรังหมดไปก่อนประเทศไทยจึงค่อยสร้างรถไฟความเร็วสูง

ฟังแล้วเหมือนเป็นการปรามแบบ…ตลกเล็กๆ และก็ถูกห้ามทำ แต่หลังรัฐประหาร โครงการนี้ถูกหยิบมาทำต่อ ใช้เงินมากกว่า กลับไม่มีใครกล้าค้าน

ล่าสุด มีการยืนยันว่าจะมีการสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยไม่มีการรอให้ถนนลูกรังหมดไป การก่อสร้างนี้จะเริ่มก่อสร้างเพียง 3.5 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่สะดวกในการก่อสร้างไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดิน

แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรกที่สถานีกลางดง 3.5 กิโลเมตร, ช่วงที่ 2 ระยะทาง 10 กิโลเมตร, ช่วงที่ 3 ระยะทาง 100 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 ระยะทาง 136.5 กิโลเมตร รวมเป็น 250 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

โดยช่วงที่ 2-4 ยังไม่ได้กำหนดสถานที่ แต่จะยึดตามการออกแบบว่าช่วงไหนเสร็จก่อนก็จะเริ่มสร้างก่อน ซึ่งอาจจะแบ่งซอยย่อยลงไปอีก ตามความพร้อมของการออกแบบรายละเอียด ไม่ใช่เปิดประมูลทั้งช่วงในครั้งเดียว

ชาวบ้านถกเถียงกันว่าจะสร้างไปทำไมแค่ 3.5 กิโล เพราะถ้าคำนวณจากความเร็วรถไฟแล้วไม่สามารถทดลองวิ่งได้ เนื่องจากความเร็วของรถไฟสูงถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาไม่กี่วินาทีก็ต้องหยุด

การไม่ออกแบบเส้นทางโดยรวม จะไม่เกิดปัญหาภายหลังหรือ อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม หรือเปลี่ยนแนวเส้นทาง

ชาวบ้านเคยเห็น อบต. หรือเทศบาล ทำถนนเข้าไปในหมู่บ้าน หรือชุมชน เพื่อแทนถนนลูกรังโดยแบ่งทำเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ 100 เมตร จนถึง 2-3 กิโลเมตร ตามงบประมาณ

แต่นั่นเป็นการทำตามเส้นทางเดิม และใช้กับรถยนต์เล็กๆ ในชุมชน

แต่รถไฟความเร็วสูง ไม่ออกแบบตลอดทั้งเส้นทาง จะทำแบบ อบต. ได้ด้วยหรือ แล้วกี่ปีจะเสร็จ ถ้าทำเป็นช่วงๆ ค้างไว้ มีปัญหาในช่วงหลังๆ เส้นทางนี้ก็ใช้ไม่ได้ จะเสียเงินฟรี

บทสรุปวันนี้คือประชาธิปไตยสมบูรณ์ จะส่งผลต่อการเมืองการปกครอง การบริหาร ความยุติธรรม เศรษฐกิจ ปากท้อง แต่จะต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดีด้วย นั่นหมายถึงคนส่วนใหญ่จะต้องมีส่วนในการร่าง จึงจะมีผลออกมาเพื่อประชาชน สิ่งเหล่านี้ จะไม่มีใครยื่นมาให้ง่ายๆ อยากได้ต้องไขว่คว้าหาเอาเอง