มุกดา สุวรรณชาติ : คงจะต้องใช้เวลา 100 ปี จากระบบเก่า เพื่อเลือก…คณาธิปไตย… หรือ…ประชาธิปไตย (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

86 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โอกาสพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง มีเพียง 30 ปีสองช่วงระยะคือ 2475-2489 และ 2535-2549 ยังมีช่วงแทรกสั้นๆ หลัง 14 ตุลาคม 2516 คือปี 2517-2519

ช่วงแรกคือ 15 ปีแรกหลังการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง ซึ่งทำให้อำนาจอธิปไตยมาตกอยู่กับผู้ทำการปฏิวัติและพยายามกระจายลงสู่ประชาชน

แต่ก็มีอุปสรรคและเกิดการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ที่เราได้มาคือรัฐธรรมนูญที่พัฒนาจนค่อนข้างเป็นประชาธิปไตยในปี 2489

แต่ระหว่างนั้นก็มีกบฏ มีการปิดสภา การยึดอำนาจ เปิดสภาใหม่ ยุบสภา มีการเลือกตั้ง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสภาผู้แทนฯ

แต่ในทางสังคม ประชาชนหลุดพ้นจากระบบเดิม จากไพร่มาเป็นพลเมือง แม้ยังไม่รู้หรือเข้าร่วมกับระบอบการเมืองใหม่มากนัก

แต่คนส่วนข้างบนที่เป็นทั้งข้าราชการและคนที่พอมีความรู้ก็ตื่นตัวขึ้น คนทั่วไปได้รับการศึกษามากขึ้น

คนธรรมดามีโอกาสเรียนถึงมหาวิทยาลัย หรือวิชาชีพ

 

การเลี้ยวผิดครั้งแรก ไปสู่คณาธิปไตย

แต่หลังจากนั้นการพัฒนาประชาธิปไตย ก็เปลี่ยนเป็นการต่อสู้ภายในกลุ่มอำนาจใหม่ แนวทางต่อสู้ของกลุ่มอำนาจนิยมที่มีลักษณะเป็นคณาธิปไตย สามารถชิงอำนาจรัฐโดยการรัฐประหารปี 2490 และฝ่ายประชาธิปไตยแพ้ต้องหนี

ฝ่ายอำนาจนิยมก็สืบทอดยาวนานด้วยการปกครองแบบคณาธิปไตย ของจอมพลหลายคนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2516 นาน 25 ปี

จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ฟ้าประชาธิปไตยทำท่าจะเปิดอีกครั้งแต่ก็โดนรัฐประหารแบบโหดเหี้ยม มีการล้อมปราบฆ่าประชาชนกลางเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ช่วงนั้นถือเป็นวิกฤตร้ายแรง

การเลี้ยวครั้งที่สอง เกิดแนวทางเลือกใหม่ คือการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อชิงอำนาจรัฐ ถูกชูขึ้นมาเป็นธงนำ มีนักศึกษาประชาชนเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เปิดการต่อสู้รบแบบสงครามกองโจรในขอบเขตทั่วประเทศ

นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่อาจจะขยายตัวนำประเทศเข้าสู่สงครามใหญ่ แต่สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน บวกกับการปรับนโยบายของรัฐ ทำให้ความรุนแรงลดลงกว่าเหตุการณ์จะสงบใช้เวลาประมาณ 5 ปี

ครั้งนี้ถือว่าเลี้ยวแล้วหยุด ถอยกลับทัน แต่การปกครองก็ยังอยู่ในอำนาจทหาร

โอกาสพัฒนาประชาธิปไตย จึงยังอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก การเมืองมีลักษณะคล้ายการประนีประนอม ถือว่ากลุ่มคณาธิปไตยที่มีกองทัพหนุนหลังเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะสามารถปกครองในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ

นายกฯ เป็นทหารมีนักการเมืองจากการเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ช่วงเวลา 8 ปีจากนั้นระบอบประชาธิปไตยไม่ได้พัฒนาไปไหน

จนกระทั่งหลังพฤษภาทมิฬ 2535 มีการโค่นล้มกลุ่ม รสช.ที่ทำรัฐประหารในปี 2534 ลงได้ ประชาธิปไตยจึงพัฒนาต่อเนื่องมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ส.ว. และ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายกฯ มาจาก ส.ส. ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2549

นี่เป็น 15 ปีสุดท้ายที่ประชาธิปไตยพัฒนาต่อเนื่องและก็ถูกรัฐประหารโค่นลงในเดือนกันยายน 2549 สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

 

การเลี้ยวผิดครั้งที่สาม
แม้ลงข้างทางยังไม่ยอมกลับเข้าถนน

หลังจาก 2549 มีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2550 รวมทั้งการใช้อำนาจนอกระบบ แม้มีเลือกตั้ง แต่ก็ทำให้การปกครองไม่อยู่ในสภาพที่ประชาธิปไตยจะพัฒนาต่อไปได้ เพราะต่อให้ประชาชนจะเลือกรัฐบาลมากเท่าใด

แต่รัฐบาลนั้นก็ถูกล้มโดยตุลาการภิวัฒน์หรือการรัฐประหาร

เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยด้อยค่าลง จนถึงขั้นไร้อำนาจ จนต้องถูกล้ม

แต่รัฐบาลจากการรัฐประหารก็ไม่สามารถปกครองได้อย่างราบรื่น การต่อสู้ช่วงชิงในระยะเวลานี้ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

การแก้ไขรถที่ลงข้างทางโดยการดันทุรังขับรถไปตามคันนา ตามถนนลูกรัง ทำให้ 12 ปีวิ่งไปไม่ถึงไหน รถทำท่าจะพังเอา

ถึงตอนนี้ก็รู้ว่าจำเป็นต้องเอารถขึ้นมาวิ่งบนถนนลาดยาง จำเป็นต้องเลือกตั้ง แต่ก็ยังอยากเป็นคนขับรถอยู่เหมือนเดิม

 

ทางเลือกของประชาชนมี 2 แบบ
แต่กลุ่มการเมืองมี 3 แบบ

แบบที่ 1 คนส่วนหนึ่งจะเลือกเดินบนเส้นทาง ที่จะสนับสนุน คสช. ให้สืบทอดอำนาจต่อไป พวกเขาเชื่อว่าการปกครองแบบคณาธิปไตย พวกเขาจะได้ประโยชน์ จะมีความเงียบสงบ บ้านเมืองน่าจะพัฒนาไปได้

แบบที่ 2 คนอีกส่วนหนึ่งยังต้องการพัฒนาประชาธิปไตยให้เต็มรูปแบบ ต้องการสิทธิเสรีภาพ ไม่ต้องการให้ใครใช้อำนาจปืนมายึดอำนาจอธิปไตยของประชาชน เชื่อว่าการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยจะดีกว่า คนส่วนนี้จึงไม่ยอมสนับสนุนให้ คสช. สืบทอดอำนาจต่อไป

กลุ่มการเมืองวันนี้มี 3 แบบ

กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มหนุน คสช. ซึ่งอาจจะประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐและพรรคที่สนับสนุน เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทยของสุเทพ-เอนก พรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ และพรรคที่ยังแฝงตัวแบบลับๆ ล่อๆ อีกจำนวนหนึ่ง

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มนักการเมืองและนักเลือกตั้งที่ต้องการร่วมในอำนาจรัฐ ต้องการร่วมกับใครก็ได้ที่จะเป็นนายกฯ กลุ่มนี้มีทางเลือกแรกคือร่วมกับ คสช. แต่ถ้าเกิดกระแสการเมืองเปลี่ยน มีคนต่อต้านมาก พวกเขาก็จะเปลี่ยนไปร่วมกับผู้ชนะ พรรคเก่าในกลุ่มนี้ เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา (สุวัจน์)

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้ได้ แต่มีเป้าหมายพิเศษตรงที่ว่าอาจช่วงชิงเพื่อขึ้นมาเป็นนายกฯ เองถ้ามีโอกาส หมายความว่าถ้า คสช. เกิดพลาดท่าในเกมการเมือง หรือมีเสียงไม่มากพอหรือเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง ปชป. จะเสียบเข้าแทนที่ แต่ ปชป. จะเป็นรัฐบาลได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกวุฒิสภาจะหนุนหรือพรรคเพื่อไทยจะหนุน

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. กลุ่มนี้ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยเป็นกำลังหลัก และพรรคตั้งใหม่ที่ประกาศตัวต่อต้านการสืบทอดอำนาจอย่างแน่นอนคือ

พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย (พล.ต.อ เสรี) พรรคประชาชาติไทย ซึ่งมีฐานเสียงใน 5 จังหวัดชายแดนใต้

สถานการณ์จริง กลุ่ม คสช. รุกหนักทุกแนว

การปะทะกันทางการเมืองได้เกิดขึ้นแล้วแม้ยังไม่กำหนดวันเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติ ใครค้านก็ถูกปรามถูกจับ จากนั้นก็ทำการรุกต่อตามแผน ดังนั้น คสช. จึงไม่ใช่กรรมการแล้ว แต่เป็นผู้แข่งขันคนหนึ่ง ซึ่งสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายไปหลายด้านแล้ว

1. การกำหนดให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน มาร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. ตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ซึ่งจะเลือกได้อย่างน้อยสองครั้ง

2. ให้สังเกตว่าการร่างวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่ที่กำหนดให้เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสมถูกวางไว้ตั้งแต่การรัฐประหารไม่นานนัก เป็นไม้เด็ดที่จะแก้การได้เสียง ส.ส. ของพรรคใหญ่ที่ได้มาทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อกำหนดใหม่ ให้มีบัตรเลือกตั้งเขตเพียงใบเดียว และให้นำคะแนนจาก ส.ส.เขตทั้งหมดไปนับไม่ว่าผู้แพ้หรือผู้ชนะ ไม่ว่าอันดับที่เท่าใด คะแนนของเสียงส่วนน้อยก็จะมีค่าขึ้นมาทันที

ในขณะเดียวกันยังให้นำจำนวน ส.ส.เขตที่ได้แล้วไม่หักลบออกจากสัดส่วนของแต่ละพรรครวมทั้งประเทศ ทำให้พรรคของฝ่ายแพ้เลือกตั้งในเขตต่างๆ กลายเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ

เพราะถึงแม้แพ้เลือกตั้งหมดทุกเขตแต่ก็สามารถจะชดเชยด้วยการได้ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ

นี่เรียกว่าเป็นชัยชนะของผู้แพ้ กฎข้อนี้คนที่จะตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาแล้วรู้ว่าตัวเองเป็นรองพรรคเก่า เพราะไม่มีฐานเสียงจึงต้องอาศัยวิธีนี้ แล้วสร้างระบบบริหารจัดการดีๆ ก็จะสามารถได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้จำนวนหนึ่ง

3. ดังนั้น ก่อนเลือกตั้ง จึงต้องมีการการดูดแบบธรรมชาติหลังฝนตก

การดูดแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ แบบดูด ส.ส.เขต และแบบดูดคะแนน

มองในจุดยืนของ คสช. ไม่มีหนทางเลือกที่ดีกว่านี้เพราะไม่เคยตั้งพรรคการเมืองมาก่อนจะไปหา ส.ส.เก่าที่ไหนก็ต้องเอาจากพรรคอื่นนั่นแหละ ที่ว่าการดูดเป็นเรื่องธรรมชาติก็เพราะน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เหตุนี้กลไกการดูดจึงต้องถูกวางมา 2 ปีแล้ว ไม่ใช่พึ่งทํา 2-3 เดือนนี้

การดูด ส.ส.เขต คือดูด ส.ส. ที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งเขต ถ้าชนะก็จะได้ ส.ส. 1 คน จึงมีการพูดถึงเงิน 30-50 ล้าน ซึ่งจะจ่ายเท่าไรก็แล้วแต่ผลงาน เพราะถ้าแพ้ก็ยังมีคะแนนเป็นที่ 2 ซึ่งอาจจะได้คะแนนหลายหมื่นสะสมไว้เป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ส่วนการดูดคะแนน คือการดูดมือรองเป็นระดับ 3 ระดับ 4 ส่วนใหญ่เป็นพวก ส.ส. สอบตกหรือนักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้มีอิทธิพลคนดังโดยหวังว่าคนเหล่านี้เมื่อไม่มีทางชนะได้เป็น ส.ส.เขตแต่สามารถทำคะแนนให้ได้ ระดับนี้จะถูกดูดแบบเต็มใจให้ดูด เป็น 100 คน เพราะเขตเลือกตั้งมีถึง 350 เขต

พรรคหนุน คสช. คงไม่มีผลงานในการเพิ่ม ส.ส. เท่าไรนัก เพราะพรรคสุเทพ+เอนก แม้รวมพรรคไพบูลย์ ก็คงได้ไม่ถึง 10 คน เนื่องจากพลังดูดไปรวมศูนย์ที่พรรค 4 ส. เพื่อเป็นการประกันผลงานว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯ มาจากพรรคที่มีเสียงเกิน 25 เสียง

 

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อ คสช. พร้อม

วิเคราะห์สถานการณ์ตามความเป็นจริงก็อ่านได้ว่า คสช. ต้องส่งตัวแทนผ่านพรรคการเมืองของตนเอง คาดกันว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ และยังมีแนวร่วมอยู่หลายพรรคเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง

มาถึงสถานการณ์แบบนี้ต้องถามว่า ถ้า คสช. ลงแข่งมีโอกาสชนะหรือไม่?

คำตอบก็คือ มีโอกาสได้ตั้งรัฐบาล แต่คงไม่ได้เสียงเป็นที่หนึ่ง แค่นี้ก็ถือว่าพร้อมแล้ว…

1. พรรค คสช. มั่นใจว่าจะมี ส.ส.จากการเลือกตั้ง ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ อย่างน้อย 50 เสียง

2. และหวัง ส.ส. จากพรรคแนวร่วมอีกประมาณ 100 เสียง

3. เมื่อตั้งรัฐบาล เชื่อว่าจะสามารถดึงให้พรรค ปชป. มาสนับสนุนเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก

4. การดูดดึงและกดดันน่าจะทำให้เพื่อไทยได้เสียงไม่ถึง 200 เสียง

5. ตอนที่เลือกนายกฯ เมื่อใช้เสียงกับ ส.ว. อีก 250 คนมาร่วม ก็น่าจะผ่าน และสามารถตั้งรัฐบาลได้

ดังนั้น การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562 ตามที่สัญญาไว้เป็นครั้งที่ 4 ถือว่าเป็นสัญญาในระดับสากล คนรู้ทั่วทั้งโลก

นี่จะเป็นการวัดว่าพลังดูดของฝ่ายคณาธิปไตย แรงพอที่จะดูดเสียงประชาชนหรือไม่ หรือจะทำได้แค่ดูด ส.ส.เก่า…

ฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจจะทำอย่างไร ต่อตอนหน้า