มุกดา สุวรรณชาติ : ชิงประชามติ ฟื้นพรรคเก่า.. ตั้งพรรคใหม่ เตรียมเลือกตั้งแม้ไม่รู้กติกา

มุกดา สุวรรณชาติ

สถานการณ์การเมือง ก่อนถึงวันลงประชามติ
ดุเดือด เข้มข้นยิ่งขึ้น

เวลาที่ล่วงเลยผ่านมา มีข่าวความขัดแย้งตลอด ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ไหลผ่านจุดยืนทางการเมืองของแต่ละฝ่ายไปแล้ว และก็ไหลผ่านการกำหนดยุทธศาสตร์ของแต่ละฝ่ายไปแล้ว เหลือแต่การกำหนดยุทธวิธีและการลงมือสัประยุทธ์กัน แต่ทุกฝ่ายพยายามกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวมาลงคะแนนประชามติตามแนวทางฝ่ายตนเอง

จนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2559 กระแสความตื่นตัวเริ่มสูงขึ้นเนื่องจาก

1. มีการตั้งศูนย์ปราบโกงของกลุ่ม นปช. แต่ถูก คสช. สั่งห้าม มีการสั่งปิดศูนย์ ห้ามไม่ให้ตั้งที่ทำการลักษณะแบบนี้ขึ้นมา ประชาชนจึงเริ่มสนใจมากขึ้น แต่ถือว่า นปช. ได้ไปขั้นหนึ่ง และต่อไปนี้ก็ต้องพึ่งหู ตา ประชาชน แต่ถ้ามีการทุจริตในช่วงการทำประชามติ ทั้ง กกต. และรัฐบาล ก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ

2. เมื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ มีรายการประชาสัมพันธ์ ที่จะสนับสนุนการรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะตนเองเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดี ในขณะที่ฝ่าย นปช. ก็จะออกมาโต้ในประเด็นที่เห็นแย้ง นี่จึงคล้ายการดีเบต ที่อยู่คนละสถานี เมื่อ กกต. ไม่จัด ประชาชนก็จะได้ติดตามฟังเหตุผลของฝ่ายหนุน ฝ่ายค้านได้ที่นี่ นี่เป็นเรื่องดี ที่ กกต. ควรหนุน ตามสภาพจริง เครือข่ายสถานีของฝ่ายหนุน มากกว่าฝ่ายค้าน แต่ในเชิงเหตุผล ฝ่ายค้านได้เปรียบกว่า กำลังของกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียจะช่วยตัดสิน

3. เมื่อแกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วนออกมาคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ยอมรับเพราะเห็นข้อเสียหลายประการ ถือเป็นการประกาศจุดยืน ย้ำ การไม่รับร่าง รธน. อีกครั้ง ขณะนี้ยังขาดอยู่อีกหนึ่งปัจจัยคือการแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดของ ปชป. ว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่คาดว่าจะต้องรออีกนาน

ผู้ที่อยากเข้าสู่อำนาจมองข้ามไปถึงปี 2560 แล้ว

จะมีการจัดตั้งพรรคใหม่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและความมั่นใจรองรับการเลือกตั้ง และจะมีการฟื้นฟูพรรคเก่า อย่าง พรรคพลังธรรม เพราะขณะนี้มีผู้วิเคราะห์ว่าสภาพความศรัทธาต่อพรรค ปชป. ได้ลดลงมากและการแสดงจุดยืนไม่แจ่มชัด

ทำให้มีคนมองเห็นช่องว่างและคิดจะชิงเสียงของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการพรรคเพื่อไทย แต่ก็เบื่อ ปชป.

ถ้าพรรคแบบนี้ตั้งขึ้นมาได้พวกเขาหวังว่าจะได้เสียงจาก กปปส. และพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่ง และยังจะดึงคะแนนเสียงคนกลางๆ

ข่าวนี้มีมาตั้งแต่หลังสงกรานต์ และการเคลื่อนไหวยังมีต่อเนื่อง

นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า ผลจากการพูดคุยกลุ่มย่อยกลุ่มละ 3-4 คนนานนับเดือน สรุปว่า

1. ชาวพรรคพลังธรรม อดีตแกนนำพันธมิตรฯ บางท่าน อดีตแกนนำ กปปส. และภาคประชาชน จะฟื้นพรรคแนวทางพลังธรรม เพื่อระดมผู้รักชาติและคนดีมีความเสียสละทั่วประเทศเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

2. ตกลงตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ตกลงระดมพลังของประชาชนที่เคยร่วมปกป้องรักษาชาติในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาเป็นพลังพื้นฐานของพรรค มอบหมาย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เป็นหัวหน้าทีมประสานงานการเมืองและเข้าร่วมตั้งรัฐบาล

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม กล่าวว่า คนที่จะฟื้นพรรคพลังธรรมไม่ใช่ตนเอง แต่ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีการพูดคุยกันของกลุ่มคนที่หวังดีกับประเทศชาติ ส่วนจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน ยังไม่ทราบ

ส่วนการตั้งพรรคใหม่ ที่ใช้แนวทางประชารัฐ มีการเคลื่อนตัวก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีการต่อสายเพื่อดึงนักการเมืองหลายกลุ่มเข้าร่วม เช่น กลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มนายพินิจ จารุสมบัติ

บทเรียนก่อนการเลือกตั้ง 2554

ย้อนกลับไป 5 ปีคงจำกันได้ว่าตลอดช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2554 ความนิยมของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยทำให้ทุกคนคาดการณ์ว่าพรรคเพื่อไทยมีสิทธิชนะเลือกตั้งค่อนข้างแน่นอน มีโอกาสจะได้คะแนนประมาณครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด

กลุ่มสายเหยี่ยวของฝ่ายตรงข้ามประเมินว่าพรรคเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลได้แน่นอนและพวกเขาจะต้องลำบากแน่จึงเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง แต่อีกสายหนึ่งคิดในแง่ดีว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง และเมื่อใช้แผนลับที่เตรียมไว้พวกเขาก็จะสามารถพลิกเกมกลับมาเป็นฝ่ายชนะโดยรวม ส.ส. หลายพรรคได้เกินครึ่ง

ข่าววงในแจ้งว่าเรื่องนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหาร แต่เป็นแผนเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีกำหนด และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ต้องแล้วแต่สถานการณ์ว่าจะฉวยโอกาสเข้ายึดกุมอำนาจได้หรือไม่ แผนนี้เป็นแผนที่ไม่สมบูรณ์ แต่ถูกกำหนดขึ้นเพราะรู้สึกตกใจว่าฝ่ายตรงข้ามจะชนะเลือกตั้งและชิงอำนาจรัฐไปได้

ในขณะที่การคาดคะเนทางการเมืองยังอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน การพิพาทกรณีชายแดนไทย-กัมพูชาก็บานปลายออกไป มีการปะทะด้วยกำลังอาวุธครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง ที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองก็ยังดำเนินต่อไปโดยไม่สนใจว่าจะมีคนมากหรือคนน้อย สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง มีการเคลื่อนกำลังทหารและอาวุธหนักไปที่ชายแดน ถ้ามีการปะทะหนักเกิดขึ้น การประกาศเลื่อนการเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นตามแผน

แต่แผนนี้ก็ถูกยกเลิกในนาทีสุดท้าย การตัดสินใจที่เปลี่ยนไปสู่การเลือกตั้งแบบปกติก็ด้วยเหตุผลดังนี้

1. มีการประเมินสถานะของพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ว่าแม้จะแพ้พรรคเพื่อไทยซึ่งได้ที่ 1 แต่เมื่อนำจำนวน ส.ส. ไปรวมกับ ส.ส. ของภูมิใจไทยซึ่งอาจจะได้ 60-70 คน ก็จะทำให้ได้ ส.ส. มากกว่าพรรคเพื่อไทยเล็กน้อย และกลุ่มอำนาจเก่ามีวิธีที่จะทำให้พรรคอื่นๆ เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ให้เพื่อไทยไปเป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว

วิธีนี้จะได้มีรัฐบาลที่มีภาพสวยที่สุด เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ การประท้วงของฝ่ายตรงข้ามก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

คาดว่าถ้าใช้เทคนิคทุกอย่าง จะสามารถเปลี่ยนให้หลายเขตที่มีโอกาสแพ้กลับมาเป็นชนะด้วยคะแนนไม่มากนัก ปชป. มั่นใจและคิดว่าควรเลือกตั้งเหมือนเดิม เพราะการเลือกตั้งเลื่อนออกไป ก็ไม่ใช่ว่าจะพลิกจากฝ่ายแพ้มาเป็นฝ่ายชนะได้ อาจจะยิ่งแพ้มากขึ้นไปอีก

2. ในเดือนธันวาคม ปี 2553 ทูตสหรัฐคนใหม่ คือ คุณคริสตี้ เคนเนย์ ถูกย้ายจากฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานในประเทศไทย และในเดือนมกราคม ปี 2554 เธอให้คำแนะนำว่าประเทศไทยสามารถหาทางออกอย่างเป็นอารยะได้ การวิเคราะห์ของมหาอำนาจเกี่ยวกับความขัดแย้งในประเทศไทยได้กำหนดทางออกไว้แล้วว่าจะต้องเป็นแบบประชาธิปไตยที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามนโยบายของอเมริกา

แม้จะเกรงใจรัฐบาลอย่างไร แต่ผลประโยชน์ต่างๆ ในประเทศไทยของหลายชาติ ทำให้พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย เพราะประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทวีปเอเชีย เป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมและเป็นแหล่งผลิตอาหาร, ผลิตผลการเกษตรขนาดใหญ่ของโลก

พวกเขาประเมินว่าการเลื่อนการเลือกตั้งจะทำให้เกิดความวุ่นวาย จะทำให้เกิดการต่อต้าน ที่อาจจะหนักกว่าเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 เพราะอารมณ์ร่วมของคนทั้งประเทศจดจ่ออยู่กับการเลือกตั้ง ไม่ใช่มีเฉพาะแต่คนเสื้อแดงเหมือนปี 2553 ดังนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรที่เป็นการขัดขวางการเลือกตั้งก็จะมีคนออกมาประท้วงจำนวนมากและอาจเกิดความรุนแรงลุกลามขยายตัวจนไม่รู้จะลงเอยอย่างไร ไม่รู้ว่าจะสงบได้เหมือนปี 2553 หรือไม่

ด้วยเหตุผลทั้ง 2 ข้อ แผนการเลื่อนการเลือกตั้งของพวกหัวโบราณจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การคลอดเป็นไปตามกำหนด ทันทีที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง จึงเหมือนทารกน้อยน่ารักลืมตาดูโลก

และก็ถูกประคบประหงมโดยทูตจากหลายประเทศทันที ทั้งประเทศเล็ก และมหาอำนาจ ส่งตัวแทนเข้าพบนายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์แทบทุกวัน เป็นการยืนยันรับรองฐานะการเกิดก่อน กกต. ของไทย จะรับรองเสียอีก

การลงประชามติ และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เลื่อนไม่ได้
แม้มีปัญหา
ปัญหาจากตัวรัฐธรรมนูญ

ที่จริงแล้วยังมีปัญหาของประชาชนอีกหลายเรื่องที่ถามขึ้นมาแต่ยังไม่มีใครตอบได้

เช่น ประชาชนอาจเห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเล็กในบางเรื่องแต่พรรคนั้นไม่มีกำลังที่จะส่งผู้สมัครแบบเขตไปทุกเขตเลือกตั้ง หรือบางทีสามารถส่งได้ไม่ถึง 100 เขต เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนที่อยากเลือกนโยบายของพรรคนี้ไม่รู้จะไปกาบัตรให้พรรคที่ตัวเองชื่นชอบนโยบายได้อย่างไร

สมัยก่อนยังมีบัตรแบบบัญชีรายชื่อให้เลือก แต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน เจตนารมณ์ที่ต้องการเลือกนโยบายจากพรรคเล็กจะไม่เกิดขึ้น แต่ที่หนักสุดคงเป็นปัญหาจากคำถามพ่วง

ปัญหาจากความกลัวประชาชน ในการลงประชามติ

ที่เห็นได้ชัดคือปฏิกิริยาในการจับกุมคุมขังคนที่ไม่เห็นด้วยหรือแสดงการต่อต้านรัฐธรรมนูญขณะนี้เริ่มขยายตัวไปมากขึ้น แนวโน้มไม่ใช่ว่าการไม่เห็นด้วยจะลดลง แต่จะกลายเป็นเพิ่มขึ้น

แม้จะส่ง ครู ก. ครู ข. ครู ค. ลงพื้นที่ แต่การลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ได้รับการยอมรับอย่างง่ายดาย แต่จะผ่านความคิดการไตร่ตรองของชาวบ้านอย่างมีเหตุผลเพราะ

1. ชาวบ้านเห็นว่าประชาธิปไตยไม่ใช่อนุสาวรีย์ แต่มันเป็นของที่ใช้ได้ รักษาโรคได้ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถเป็นนโยบายที่ให้หลักประกันด้านสุขภาพ ให้การศึกษา ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้แบบเห็นชัดก็คือเมื่อมีการโวยวายว่ารัฐธรรมนูญจะลดการให้สิทธิการเรียนฟรีจาก 15 เหลือ 12 ปี สุดท้ายทาง คสช. ก็ต้องประกาศกฎหมายที่สนับสนุนให้มีการเรียน 15 ปีเหมือนเดิม

2. ชาวบ้านมองเห็นว่า เป็นเพราะระบอบประชาธิปไตย จึงมีการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณที่ผ่านองค์กรส่วนท้องถิ่น เปลี่ยนจากการรวมศูนย์อำนาจและจัดสรรจากส่วนกลางซึ่งเคยทำมาเป็นร้อยปี ทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสแสดงความต้องการของตนเองว่าอยากจะให้มีถนนเข้าไปที่ตรอกไหนซอยใด สร้างสะพานเล็กๆ ข้ามคลองหรืออยากจะมีศูนย์สุขภาพที่พักผ่อนออกกำลังกายที่ใดบ้าง แม้สิ่งเหล่านั้นจะเกิดอย่างเชื่องช้า เช่น อาจจะทำถนนได้ครั้งละ 200 เมตร แต่พวกเขาก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งร้อยวันพันปีก็ไม่เคยได้เกิดขึ้นในท้องถิ่น

สองข้อนี้ จะกลายเป็นข้อกำหนดในใจของชาวบ้านในการที่จะรับรัฐธรรมนูญ และใช้ในการเลือกตั้ง

ไม่ว่าผลการลงประชามติจะเป็นอย่างไร สุดท้ายทุกคนคิดว่าต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน เพราะนายกฯ บอกแล้วว่าไม่ลาออก เมื่อที่นี่ไม่ใช่อังกฤษ และ คสช. จะเดินหน้าต่อ ยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ของทุกฝ่ายคือเตรียมการเลือกตั้ง เพราะผลของประชามติไม่ได้เปลี่ยนแนวทางโรดแม็ป การสัประยุทธ์ครั้งนี้สนามรบจริงอยู่ในสนามเลือกตั้ง จึงเป็นเกมที่ไม่มีทางเลือก

สิ่งที่หลายฝ่ายพูดถึงแต่ยังไม่จริงจังคือ ถ้าไม่ผ่านประชามติ จะใช้อะไรเป็นกติกา เรื่องนี้อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ถ้าจัดการไม่เหมาะสม

เมื่อทุกฝ่ายยอมรับและคิดว่านี่เป็นโอกาส การประลองยุทธ์ก็จะเกิดขึ้นจริง โดยไม่มีการบอยคอต แต่ถ้าเกิดการไม่ยอมรับขึ้นมา สถานการณ์จะเป็นแบบ… ไม่รัก…จับ ไม่รับ…เจ๊ง ต้องพังไปด้วยกัน