ต่างประเทศ : ชัยชนะ “แอร์โดอาน” ต่อเวลารัฐเผด็จการ!

เรียกว่าหักปากกาของนักวิเคราะห์ไปหลายคนกับชัยชนะของนายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกของตุรกีที่จัดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่แอร์โดอานคว้าชัยชนะไปด้วยเสียงสนับสนุนอย่างเด็ดขาด

ผิดไปจากที่นักวิเคราะห์หลายคนทำนายว่าความนิยมในตัวแอร์โดอานอยู่ในช่วงขาลงและกำลังถดถอยลงไปเรื่อยๆ จนน่าจะต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีรอบสองเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็อาจจะได้ครอบครองเสียงข้างมากในสภาในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นไปได้

แต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ออกมาปรากฏว่า แอร์โดอานในวัย 64 ปี กวาดเสียงสนับสนุนไปได้ 52.6 เปอร์เซ็นต์

ส่วนนายมูฮาร์เรม อินเจ ผู้สมัครคู่แข่งจากพรรคประชาชนรีพับลิกัน (ซีเอชพี) ที่ดูมีลุ้นจากการทำงานผลงานได้ดีในช่วงการหาเสียง ทำคะแนนตามมาอย่างห่างๆ ที่ 30.6 เปอร์เซ็นต์

และมีนายเซลาฮัตทิน เดมีร์ทาส ผู้สมัครที่น่าจับตาอีกคนจากพรรคประชาธิปไตยประชาชน (เอชดีพี) ที่ฝักใฝ่ชาวเคิร์ด แม้จะถูกจองจำอยู่ในคุกจากข้อกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด มีคะแนนตามมาเป็นที่ 3 ได้ 8.4 เปอร์เซ็นต์

ด้วยชัยชนะอันเด็ดขาดนี้ของแอร์โดอาน ทำให้ไม่ต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ไปโดยปริยาย

 

ส่วนผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาตุรกีที่มีทั้งสิ้น 600 ที่นั่ง พรรคยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) ของแอร์โดอาน เป็นฝ่ายชนะเช่นกัน โดยกวาดที่นั่งในสภาไปได้ 295 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเอเคพียังจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคขบวนการชาตินิยม (เอ็มเอชพี) เมื่อรวมเสียงที่นั่งในสภาที่ได้รวมกันแล้ว นั่นยิ่งทำให้แอร์โดอานกุมอำนาจบริหารประเทศไว้ในมือได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น

มีการวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้แอร์โดอานผู้นำตุรกีที่กุมอำนาจเด็ดขาดมานานต่อเนื่องถึง 15 ปีแล้วและยังอาจทำให้เขายืนระยะอยู่ในอำนาจไปได้ยาวๆ จนถึงปี ค.ศ.2028 ก็เป็นได้ว่ามีอยู่หลายประการ

หนึ่งคือหากดูจากแผนภูมิทางการเมืองของตุรกีที่ประกอบด้วย 81 จังหวัด

จะเห็นได้ถึงงานยากลำบากของผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามกับแอร์โดอาน

โดยแม้อินเจผู้สมัครคู่แข่งที่ดูมีภาษีมากที่สุดในการต่อสู้กับแอร์โดอาน มีฐานเสียงหนาแน่นในพื้นที่ 8 จังหวัดทางตะวันตกของประเทศ

ส่วนเดมีร์ทาส ผู้สมัครอีกคนครองฐานเสียงสนับสนุนใน 10 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนที่เหลือ 63 จังหวัด โดยเฉพาะตอนกลางของตุรกี เป็นฐานเสียงเหนียวแน่นของแอร์โดอานทั้งหมด

ในประเด็นนี้ถูกมองว่าแอร์โดอานยังคงได้รับความนิยมนับถือจากประชาชนในพื้นที่จากการมีแนวคิดความเชื่อตามแบบมุสลิมสายเคร่งร่วมกัน

และแอร์โดอานยังถูกมองว่าเป็นผู้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศรุ่งเรืองมั่งคั่งและทำให้ประเทศตุรกีเป็นที่นับหน้าถือตาในเวทีโลก

 

เหตุผลอีกประการคือ อำนาจคุมสื่อ ที่แม้แอร์โดอานจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางก็จริง แต่ขณะเดียวกันแอร์โดอานก็ยังมีอำนาจควบคุมสื่ออย่างแข็งแกร่ง

มิพักต้องพูดถึงสื่อของภาครัฐทุกแขนง ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างสถานีโทรทัศน์ทีอาร์ที ที่ไม่เคยมีการนำเสนอรายงานข่าวการรณรงค์หาเสียงของคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเลยแม้แต่ข่าวเดียว

ขณะที่มีรายงานว่าสื่อเอกชนก็ยังถือข้างรัฐบาลแอร์โดอานอีกต่างหาก

แอนโธนี สกินเนอร์ ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษาเวริสก์เมเปิลครอฟต์ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มองในประเด็นนี้ว่าชาวตุรกีส่วนมากจะรับรู้ข่าวสารจากสื่อทีวีเป็นส่วนใหญ่ แต่พรรคฝ่ายค้านในตุรกีเข้าไม่ถึงสื่อพวกนี้

แอร์โดอานยังถูกมองว่าเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด ที่นักวิเคราะห์มองว่าเขาเลือกที่จะให้มีการจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดถึงปีครึ่งในครั้งนี้ เพราะเกรงว่าหากเศรษฐกิจเกิดอ่อนแอลงและพรรคฝ่ายค้านสามารถจัดขบวนตนเองได้เข้มแข็งมากขึ้น โอกาสเสี่ยงที่ตัวเขาอาจจะเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งก็จะมีมากขึ้น

 

กระแสชาตินิยมที่มาแรงยังสะท้อนให้เห็นในการเลือกตั้งครั้งนี้ จับกระแสได้จากการทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดของพรรคเอ็มเอชพี พันธมิตรทางการเมืองของแอร์โดอาน ที่คว้าที่นั่งในสภาไปได้ 49 ที่นั่ง

ในแง่ของเครดิตความน่าเชื่อก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เพราะแม้อินเจจะถูกจับตาว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของแอร์โดอาน จากการที่เขาสามารถปลุกเร้ากลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมแสดงพลังสนับสนุนได้จำนวนนับหลายแสนคน ก่อนที่เขาจะจบสกอร์ลงได้มากกว่าที่มีการคาดหมายแต่ไม่สามารถเอาชนะแอร์โดอานได้ก็ตาม

ทว่าพรรคซีเอชพีของอินเจยังคงถูกมองว่ามีตัวเลือกที่มีประสบการณ์การทำงานในรัฐบาลอยู่เพียงหยิบมือ ขณะที่ทางพรรคยังต้องต่อสู้เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ผิดกับแอร์โดอานที่มีผลงานให้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบริหารเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง

แต่นั่นยังรวมถึงการใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุพยายามก่อรัฐประหารล้มอำนาจรัฐบาลแอร์โดอานในปี 2559 ที่นำไปสู่การปราบปรามจับกุมดำเนินคดีผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล จนจุดความห่วงกังวลและเสียงก่นโจมตีจากหลายชาติตามมา

และชัยชนะเด็ดขาดครั้งนี้ของแอร์โดอาน ที่ยังจะทำให้เขากุมอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้ระบบประธานาธิบดีใหม่ ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านการแก้ไขและลงประชามติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปี 2560 ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีอย่างมากมายทั้งในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเองโดยปราศจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจยุบสภา สามารถแทรกแซงนโยบายของธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติได้

รวมถึงประธานาธิบดียังมีเอกสิทธิ์คุ้มครองเกือบจะเต็มขั้นจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ

จนทำให้ตอนนี้หลายคนอดหวั่นกลัวไม่ได้ว่าคงจะได้เห็นตุรกีถูกครอบงำด้วยอำนาจเผด็จการไปอีกยาว!