ศัลยา ประชาชาติ : คลื่นมือถือถล่มรถไฟฟ้า คนกรุงป่วนจี้ BTS อัพเกรดระบบ กสทช.เร่งเคลียร์รับไฮสปีดเทรน

เรียกว่าเสียรังวัดอย่างแรง เมื่อ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ภายใต้การนำของ “คีรี กาญจนพาสน์” ซึ่งเปิดหวูดให้บริการคนกรุงมาร่วม 18 ปี มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 7-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน เกิดปัญหาระบบเดี้ยงซ้ำซากช่วงหลายวันที่ผ่านมา

ทำให้ถูกขย่มหนักกลายเป็นปมดราม่าร้อนฉ่าบนโลกออนไลน์ บานปลายจนกลายเป็นกระแสต่อต้านด้วยการผุด แฮชแท็ก #ยกเลิกสัมปทาน #ห้ามประมูลรถไฟความเร็วสูง

แม้ความเป็นไปได้ที่หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้ให้สัมปทานจะเออออตามกระแสจะดูริบหรี่ แต่อย่างน้อยน่าจะเป็นเสียงสะท้อนที่ทำให้ “เจ้าพ่อรถไฟฟ้า” ไม่อาจวางเฉย ต้องนำไปขบคิดหาทางแก้โจทย์ เพราะเมื่อธุรกิจและเทคโนโลยีต้องไปด้วยกัน การดำเนินการทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท

 

ย้อนดูสถิติข้อมูลช่วง 6 เดือนย้อนหลัง พบว่า “รถไฟฟ้าบีทีเอส” เกิดเหตุขัดข้องรวมเบ็ดเสร็จ 28 ครั้ง เฉพาะเดือนมิถุนายน แค่เดือนเดียวร่วม 10 ครั้ง

ขณะเดียวกันมีประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต และถูกนำมาโยงกันคือ นับจากวันที่ 6 มิถุนายน หลังยักษ์โทรคมนาคมค่ายดีแทคเปิดบริการคลื่น 2300 MHz ด้วยความแรงของคลื่น ทำให้ระบบของบีทีเอสยิ่งรวนหนัก

แม้ดีแทคจะชี้แจงว่าคลื่นความถี่ 2300 MHz ของดีแทคไม่ได้รบกวนระบบอาณัติสัญญาณบีทีเอส และพร้อมให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า สาเหตุที่ระบบขัดข้องเกิดจากบริษัทอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระบบวิทยุสื่อสารที่ใช้กับระบบอาณัติสัญญาณของบอมบาดิเอร์ ในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้าให้มีความเสถียรมากขึ้น

และเพื่อรองรับการให้บริการเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่จะเปิดให้บริการปลาย 2561 โดยจะติดตั้งในทุกสถานีรวมทั้งในขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 52 ขบวน การดำเนินการจะแล้วเสร็จวันที่ 29 มิถุนายนนี้ ดังนั้น ในระหว่างนี้จะทำให้การเดินรถไม่เสถียร และเกิดความล่าช้าได้

ประกอบกับช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอกที่มีความเข้มสัญญาณสูงเข้ามารบกวนสัญญาณการเดินรถ โดยเฉพาะบริเวณสถานีพร้อมพงษ์ สถานีอโศก และสถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างสายสีลมกับสายสุขุมวิท ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่สามารถเดินรถได้ด้วยความเร็วตามปกติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงทำให้การเดินรถมีความล่าช้า จนมีผู้โดยสารสะสมมากในสถานีต่างๆ ในชั่วโมงเร่งด่วน

นายสุรพงษ์ระบุว่า ปัจจุบันบีทีเอสควบคุมการเดินรถโดยใช้เป็นสัญญาณสาธารณะคลื่น 2400 MHz รูปแบบเดียวกับระบบ wi-fi มีการกำหนดความเร็วไม่เกิน 1 วัตต์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนด ที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบการเดินรถมากนัก อาจจะสะดุดบ้างในช่วงเวลาที่มีคนยิงวิดีโอผ่านตึกหรือตัวอาคารที่ใช้ความเร็วเกิน 1 วัตต์

“แต่ที่เกิดขัดข้องบ่อยขึ้น เพราะมีคลื่นวิทยุสื่อสารที่ใช้ความเร็วสูง เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย แต่รถไม่ได้หยุดวิ่ง แค่วิ่งช้าลง เพราะเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย กำลังหารือกับเจ้าของคลื่นดังกล่าวให้ลดความแรงลง เพื่อให้เราติดตั้งวิทยุสื่อสารใหม่ให้แล้วเสร็จในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ หลังจากนั้นปัญหาจะคลี่คลายลงได้ เพราะเราจะขยับช่องหลบคลื่นดังกล่าวไม่ให้เข้ามาแทรกอีก”

 

ด้านนายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ก็ออกมาแจงหลังถูกพาดพิง

“ตามที่มีข่าวระบบอาณัติสัญญาณบีทีเอสขัดข้องมีสาเหตุจากคลื่น 2300 MHz ขอชี้แจงว่า การใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของดีแทคและทีโอทีไม่ได้ส่งคลื่นใดๆ ออกมานอกเหนือจากแบนด์ที่ทีโอทีได้รับการจัดสรรมา ซึ่งไม่น่าเป็นสาเหตุของการขัดข้อง ทั้งนี้ ทางดีแทคกำลังร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงและร่วมแก้ไขกับบีทีเอส”

ไม่เพียงแค่ “ดีแทค-บีทีเอส” เท่านั้น แต่ยังมี “กสทช.” ผู้บริหารจัดการคลื่นสื่อสาร ที่ได้เข้าร่วมตรวจสอบว่าสาเหตุที่รถไฟฟ้าขัดข้องเกิดจากระบบของบีทีเอสที่เออเร่อร์เองหรือเป็นเพราะคลื่นมือถือกันแน่

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่าปัญหาคลื่นสื่อสารป่วนรถไฟฟ้า น่าจะเป็นบทเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาทบทวนและหาทางป้องกันร่วมกัน เพราะนับจากนี้ไปประเทศไทยจะมีโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรางเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน อาจต้องเร่งพิจารณาว่า ถึงเวลาต้องมีช่องคลื่นสื่อสารสำหรับระบบรางโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากหรือยัง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีใครผิด เพราะบีทีเอสก็ใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก และที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการจัดสรรคลื่นให้กับระบบราง เพิ่งกันไว้ให้เมื่อปีที่แล้ว ที่กันคลื่น 800-900 MHz สำหรับใช้กับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน แต่ยังไม่มีการขอใช้ ขณะที่ดีแทคก็มีใบอนุญาตถูกต้องจาก กสทช. เพียงแต่ว่าเมื่อคลื่นความถี่แรง ทาง กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง ต้องบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบ” รายงานข่าวกล่าว

 

ด้านการแก้ปัญหา “ซีอีโอบีทีเอส” กล่าวว่า ระยะสั้นกำลังขยับช่องคลื่นหนีคลื่นมือถือ จาก 2400 MHz เป็น 2400.99 MHz หลังติดตั้งคลื่นสื่อสารม็อกซ่าของบอมบาดิเอร์ในระบบอาณัติสัญญาณแล้วเสร็จ ซึ่งคลื่นสื่อสารใหม่นี้จะมีช่องสัญญาณแคบลง ถูกรบกวนจากคลื่นภายนอกได้ยากขึ้น

ส่วนระยะยาวจะหารือร่วมกับ กทม. กระทรวงคมนาคม กสทช. ฯลฯ ขยับไปใช้คลื่นความถี่อื่นแทน เช่น คลื่น 800-900 MHz ที่ กสทช.กันไว้ให้รถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งหาก กสทช.มีช่องคลื่นให้และรับกับระบบของบีทีเอสได้จะนำมาพิจารณาลงทุนต่อไป เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีข้อเสนอแนะให้บริษัทไปใช้คลื่นอื่นที่ กสทช. คุ้มครอง จะได้ไม่เกิดปัญหา เพราะคลื่น 2400 กสทช. ไม่คุ้มครอง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเรายังคุมมาตรฐานการบริการเรื่องความตรงต่อเวลาใน 5 นาที ยกระดับอยู่ที่ 99.5% จากที่สัญญากำหนดไว้ 97.5% เรื่องนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด เราก็ทำเต็มที่ทุกอย่าง เป็นเรื่องของเทคโนโลยี อีกทั้งคนละเรื่องกับการที่เราจะเข้าประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” นายสุรพงษ์ย้ำ

ล่าสุด “กทม.” เจ้าของสัมปทานออกมาระบุแล้วว่าไม่สามารถยกเลิกสัญญากับบีทีเอสได้ ต้องรอสัญญาสัมปทานครบกำหนดในปี 2572 จึงทำได้แค่ตักเตือน และให้บีทีเอสจัดทำมาตรการบรรเทาปัญหาเท่านั้น

สำคัญที่สุดคือ เมื่อเจอต้นเหตุว่าปัญหาเกิดจากอะไร บีทีเอสกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ให้ตรงจุด ถอดสลักให้ได้ ระบบขัดข้องซ้ำซากจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก