อติภพ ภัทรเดชไพศาล : โอเปร่า หมวกประดับขนนก และการรวมชาติอิตาลี (จบ)

ภาพวาดแสดงเครื่องแต่งกายตัวละครเอกในเรื่อง Ernani เมื่อปี 1844

ดังที่ เบน แอนเดอร์สัน กล่าวไว้ใน ชุมชนจินตกรรม (Imagine Community) ว่า “ภาษา” เป็นปัจจัยสำคัญแห่งการก่อเกิดลัทธิชาตินิยม เราพบว่าการถือกำเนิดขึ้นของโอเปร่านั้นมีความเกี่ยวพันกับกระบวนการสร้าง “ภาษาอิตาเลียน” เป็นอย่างมาก

เพราะโอเปร่าในยุคแรกเกิด (ราว ค.ศ.1600) สัมพันธ์อยู่กับฟอร์มเพลงร้องประเภท madrigal และฟอร์มของ madrigal ซึ่งประกอบไปด้วยเสียง 7 หรือ 11 พยางค์ในแต่ละวรรค ก็สัมพันธ์อยู่กับการค้นคว้าของกวีและนักภาษาศาสตร์ชาวอิตาลีคือ Pietro Bembo ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 และถือกันว่าเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการวางรากฐานภาษาอิตาเลียน

ภาษาอิตาเลียนที่สละสลวยตามแบบแผน ได้รับการออกแบบให้สื่ออารมณ์และความหมายได้ดี ตามนิยามของ Bembo จึงเป็นหัวใจสำคัญของบทกวีที่ใช้เป็นบทโอเปร่า

ดังนั้น ในการผลิตงานโอเปร่าแต่ละชิ้น นักแต่งเพลงและนักเขียนบทจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และต้องร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด

ในบทความ Ernani Hats : Italian Opera as a Repertoire of Political Symbols during the Risorgimento (ตีพิมพ์ใน The Oxford Handbook of the New Cultural History of Music ค.ศ.2011) ผู้เขียนคือ Carlotta Sorba ได้ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1840 และพบว่ากระบวนการ Risorgimento หรือการรวมชาติอิตาลีมีส่วนเกี่ยวพันอยู่กับโอเปร่าในรูปลักษณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ภาพแต่งกายของชาวอิตาลี ตีพิมพ์ในปี 1847
ภาพแต่งกายของชาวอิตาลี ตีพิมพ์ในปี 1847


หมวกของแอร์นานี

บทความของ Sorba เน้นการพิจารณาในช่วงเวลาราวสามปี ระหว่าง ค.ศ.1846-1849 ซึ่งอุดมการณ์รวมชาติอิตาลีเริ่มแสดงตนอย่างเด่นชัดในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง โดยกระแส Risorgimento จะทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด (ครั้งแรก) ในช่วงปี 1848-1849 เมื่อประชาชนจำนวนมากเริ่มแสดงพฤติกรรมอารยะขัดขืน

เริ่มจากแถบลอมบาร์ดี ไปยังซิซิลี เนเปิลส์ ทัสคานี มิลาน และเวนิซ

โดยเฉพาะที่มิลาน ในเดือนมีนาคม 1848 เกิดการจลาจลบนท้องถนนเป็นเวลานานถึงห้าวัน ก่อนจะจบลงด้วยการขับไล่กองกำลังของออสเตรียออกจากเมืองเป็นผลสำเร็จ

ด้วยแรงหนุนจากทางมิลานและเวนิซ กษัตริย์ Charles Albert แห่งซาร์ดิเนีย อาศัยชัยชนะนี้ประกาศสงครามกับอิตาลี แต่สภาพการณ์ที่ผันผวนภายในรัฐหลายแห่งของอิตาลี ทำให้ผลที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม คือออสเตรียเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ และสามารถกลับมายึดครองพื้นที่ส่วนมากได้อีกครั้งในปลายปีนั้นเอง

สงครามกู้อิสรภาพครั้งแรกของชาวอิตาลีจึงจบลงด้วยความล้มเหลว

บทความของ Sorba สำรวจบรรยากาศเมืองต่างๆ ในอิตาลี ผ่านเอกสารและบันทึกจำนวนมากของคนร่วมสมัย ทั้งชาวอิตาลี และชนชาติอื่นที่เดินทางเข้าไปในอิตาลีช่วงนั้น และพบว่าเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งเป็นเรื่องของ “การแต่งกาย”

นั่นคือ เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวอิตาลี เริ่มจากชนชั้นสูง นิยมแต่งกายย้อนยุคเลียนแบบตัวละครในโรงโอเปร่า Sorba อ้างบันทึกของชาวเมืองมิลานที่เขียนไว้ว่า ในเดือนมีนาคม ปี 1848 หลังเหตุการณ์ขับไล่ทหารออสเตรียออกจากเมืองได้แล้ว ชาวเมืองต้องการเฉลิมฉลองชัยชนะ และพากัน-

“…สวมเกราะเหล็กไว้บนหน้าอก สวมหมวกทรงลูกพลัม (plumed hat) หรือหมวกเหล็ก รองเท้าบู๊ตหนังสีเหลือง เสื้อเกราะและเครื่องแต่งกายของพวกละคร”

Sorba สืบค้นกลับไปถึงธรรมเนียมการแต่งกายแปลกประหลาดนี้ และพบว่าเริ่มต้นขึ้นในราวปี 1846 ในการประท้วงครั้งแรกๆ มีการอธิบายว่าการแต่งกายด้วยรูปลักษณ์คล้ายทหารโบราณเกี่ยวเนื่องกับความต้องการทำสงครามประกาศอิสรภาพ และชุดเครื่องแต่งกายของบุรุษที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง คือชุดเสื้อที่รัดเอวคอด ผ้าคลุมไหล่

และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ “หมวกประดับขนนก”

กรณีของหมวกประดับขนนกนั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะในเอกสารจำนวนมาก เรียกหมวกชนิดนี้ว่า “หมวกแอร์นานี (Ernani hats)” ซึ่งเป็นหมวกทรงเดียวกับ “หมวกทรงลูกพลัม” ที่ถูกเอ่ยถึงในบันทึกของชาวมิลานข้างต้นนั่นเอง

“แอร์นานี” เป็นตัวละครเอกในโอเปร่าชื่อเดียวกันของแวร์ดีที่ถูกนำออกแสดงครั้งแรกในปี 1844 (สร้างจากบทละครของ Victor Hugo อีกต่อหนึ่ง) โดยตัวเอกแอร์นานีเป็นโจร แต่มีภูมิหลังเป็นชนชั้นสูง

โอเปร่าเรื่องนี้จบลงด้วยโศกนาฏกรรมคือความตายของแอร์นานีเพื่อรักษาวาจาสัตย์ และเป็นที่ประทับใจของผู้ชมอย่างยิ่ง ดังมีบันทึกว่า หลังจากโอเปร่าเรื่องนี้ได้รับการแสดงครั้งแรกในเวนิซก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้รับการแสดงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายเมือง จนคอลัมนิสต์คนหนึ่งต้องเขียนบ่นไว้ในปี 1846 ว่า

“ผมเบื่อเรื่อง Ernani เหลือเกิน คุณไปที่โรงละคร Pergola พวกเขาเล่นเรื่อง Ernani ไปที่ Piazza Vecchia พวกเขาก็เล่นเรื่อง Ernani…”

และ “หมวกแอร์นานี” ก็ย่อมหมายถึงหมวกที่ตัวละครเอกสวมในโอเปร่านั่นเอง

Sorba ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หมวกของแอร์นานีได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ เพราะการผลิตโอเปร่าในยุคนั้นเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ การพยายามควบคุมฉากและเครื่องแต่งกายให้เหมือนกัน ในทุกครั้ง และในทุกที่ที่ออกแสดง

ดังจะเห็นว่าเริ่มมีการตีพิมพ์ภาพเครื่องแต่งกายของตัวละครในโอเปร่าเรื่องต่างๆ ลงในนิตยสารตั้งแต่ราวปี 1800 และมีการควบคุมจัดการเรื่องเหล่านี้โดยตัวแทน (agency) อย่างเป็นระบบ

กรณีของแอร์นานี มีหลักฐานเก่าเป็นภาพสเก๊ตช์ที่เห็นได้ชัดเจนว่ากำลังยืนถือ “หมวกประดับขนนก”

นอกจากนั้น หมวกชนิดนี้ยังถูกเรียกด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า “หมวกแบบชาวคาลาเบรีย” (Calabrese hat) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังการพลีชีพเพื่อชาติของพี่น้อง Bandiera ในเขตคาลาเบรียที่กล่าวถึงไปแล้วอีกด้วย (ดังเห็นได้จากภาพการสังหารพี่น้อง Bandiera ที่เขียนขึ้นในทศวรรษที่ 1960 ก็เขียนให้คนหนึ่งถือหมวกประดับขนนก)

ความหลงใหลในโอเปร่าเรื่อง Ernani ทำให้ภาพของ “โจร” ผู้ทรงเกียรติแอร์นานี ถูกซ้อนทับเข้ากับภาพของพี่น้อง Bandiera ผนวกกับความรู้สึกร่วมในกระแส Risorgimento ทำให้ “หมวกประดับขนนก” แบบแอร์นานีกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงความรักชาติ

และยังถึงกับกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุดอิตาลีมาตรฐาน “all”italiana” ดังปรากฏเป็นภาพวาดตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารช่วงปี 1847-1849 และชาวอิตาลีก็ยึดถือแบบอย่างการแต่งกายนี้ในการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องเอกราชหลายครั้ง

เช่น ในการประท้วงที่ปาโดวา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1848 ปรากฏผู้แต่งกายในลักษณะนี้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากถึง 400 คน และยังมีการแจกจ่ายขนนกสีดำให้แก่ชาวเมืองเพื่อใช้ประดับหมวกอีกด้วย

การแพร่หลายของการแต่งกายเป็นสัญลักษณ์นี้ย่อมสร้างความกังวลให้แก่อำนาจรัฐของกองทัพออสเตรียเป็นอย่างมาก จนในที่สุดได้ดำเนินการสั่งห้ามสวมหมวกประดับขนนกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1848 นั้นเอง โดยผู้ที่ฝ่าฝืนต้องถูกจับกุมคุมขัง

ดังนั้น เมื่อกระแสรวมชาติทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดจนทหารออสเตรียต้องถูกขับออกจากมิลานเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปีเดียวกันนั้น ชาวเมืองจำนวนมากจึงไม่รีรอที่จะกลับมาแต่งกายด้วยชุดแสดงสัญลักษณ์ สวมหมวกประดับขนนกเพื่อเฉลิมฉลองอิสรภาพในทันที

ในแง่หนึ่ง นี่จึงเป็น “การแสดง” (performance) ของประชาชนในเชิงวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่ เปรียบเสมือนการนำโรงโอเปร่ามาสู่ท้องถนน พร่าเลือนเส้นแบ่งระหว่างชีวิตจริงกับการแสดงละคร เลื่อนไหลไปมาอยู่ท่ามกลางความจริงและความลวง

และแสดงให้เห็นว่า “การแต่งกาย” สามารถแสดงความหมาย และถูกใช้เป็นสารทางการเมือง มานานแล้ว

(หมายเหตุ : ปัจจุบันเรื่องการรวมชาติ Risorgimento ได้รับการพิจารณาหลักฐาน ตีความ และวิเคราะห์ด้วยมุมมองใหม่ๆ ของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และมีการพิสูจน์ให้เห็นว่าหลายเรื่องราวเป็นเพียงมายาคติหรือ myth ที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นนำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ยิ่งกว่านั้น นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มยังเห็นว่ากระบวนการ Risorgimento แท้จริงแล้วเกิดขึ้นด้วยแนวคิดแบบจักรวรรดินิยมหรือลัทธิล่าอาณานิคม (imperialist / colonialist) ด้วยซ้ำ

และแม้กระทั่งการยกแวร์ดีขึ้นเป็นวีรบุรุษในวงการดนตรีที่มีส่วนในการรวมชาติอิตาลี ก็เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ถูกโฆษณาขึ้นมาโดยรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง

ตัวอย่างงานเขียนเหล่านี้มีเช่น Garibaldi : Invention of a Hero (2007) โดย Lucy Riall เป็นต้น โดยผู้สนใจอาจสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจาก wikipedia ด้วยคำว่า Revisionism of Risorgimento)