เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน l ช่องแคบมะละกากับคอคอดกระ

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (13) : ช่องแคบมะละกากับคอคอดกระ

ช่วงสี่ปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหารได้ปรากฏข่าวปล่อยบ้างแหย่บ้างจริงบ้างเกี่ยวกับโครงการขุดคลองกระด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนเป็นระยะๆ

– “ช่องแคบมะละกา มีแสงไฟเป็นแถว เป็นเรือขนส่งสินค้าและพลังงานที่แออัดมาก ทำให้คลองกระของไทยมีความสำคัญขึ้นมามาก ไม่รู้ใครเอาข้อมูลไปให้ คสช. ว่าถ้าขุดคลองกระจะทำให้แยกแผ่นดิน เดี๋ยวนี้เขาไม่ขุดครับ แต่จะทำเป็นคลองหรือแม่น้ำลอย วางบนพื้นดิน เชื่อมสองฟากมหาสมุทรเลย (วันหลังผมจะสรุปเรื่องคลองกระ (เป็นชื่อเรียกโครงการเชื่อมสองฟากมหาสมุทร -ไม่ใช่การขุดคลองที่คอคอดกระ) ทำเมื่อใด ไทยจะรุ่งเรืองสันติทันที” – ไพศาล พืชมงคล, 15 มิ.ย. 2557 (http://www.asoke.info/paisal570615.html)

– ย้ำภาพข่าว “บิ๊กจิ๋ว” MOU คลองกระ ไม่ใช่ในนาม รบ.ไทย-จีน (ผู้จัดการออนไลน์, 19 พ.ค. 2558)

– “ไพศาล” ปัดข่าวไทยร่วมจีนขุด “คอคอดกระ” (เนชั่นทีวี, 19 พ.ค. 2558)

– ปลุกผีขุด “คลองไทย” ภาคต่อของ “คอคอดกระ” ภารกิจที่ยังไม่สำเร็จของนายหน้าจีน (ผู้จัดการออนไลน์, 25 มี.ค. 2560)

– Kra phoenix rises again (Bangkok Post, Editorial, 13 February 2018)

– “เอนก” เสนอไทยขุดคลองทางใต้ ขยับเส้นทางเดินเรือ เชื่อม 2 มหาสมุทรใหญ่ของโลก (มติชนออนไลน์, 14 ก.พ. 2561)

น่าสนใจเช่นกันว่าในหนังสือ Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China ของ Benjamin Zawacki (ค.ศ.2017) เขาได้สอดหน้าพิเศษเกี่ยวกับความสัมพันธ์สามเส้าไทย-อเมริกา-จีน ไว้สองตอนในลักษณะเปิดฉากเกริ่นนำก่อนเข้า Part I & Part II ของหนังสือ

ตอนแรก “Preface” (BZ, pp. xiii-xiv) เป็นสรุปสังเขปเรื่องสถานีดักจับข้อมูลสื่อสารของอเมริกาที่ค่ายรามสูร จังหวัดอุดรธานี

สถานีรามสูรมีฐานะเป็นสมอยึดหยั่งระบบติดต่อสื่อสารบูรณาการของสหรัฐในเอเชียอาคเนย์ มันสามารถดักจับการติดต่อสื่อสารและติดตามรับฟังการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการทางทหารลงไปในระดับหมวดได้ไกลถึงเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน

แต่ในที่สุดเมื่อปรับแก้ข้อตกลงกับรัฐบาลไทยไม่ได้ สถานีรามสูรจึงปิดตัวลงพร้อมกับทหารอเมริกันถอนทัพจากไทยในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1976

ส่วนตอนสอง “Interface” (BZ, pp.99-101) เป็นไทม์ไลน์โดยสังเขปของการพยายามขุดคอคอดกระตั้งแต่ปี ค.ศ.1972, 1985, 1989, 1997, 1999 ปรากฏว่าอดีตผู้นำที่มีบทบาทโดดเด่นแข็งขันผลักดันโครงการดังกล่าวที่สุดได้แก่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทั้งตอนเป็นนายกรัฐมนตรี (ค.ศ.1997) และผู้นำฝ่ายค้าน (ค.ศ.1999) แต่อเมริกากลับพลาดโอกาสที่จะส่งเสริมสนับสนุนโครงการสำคัญทางยุทธศาสตร์ในประเทศพันธมิตรนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

และดังที่ผมได้ยกข้อสรุปของ BZ (p.304) มาในตอนที่แล้ว (“อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน”, 12) ว่าแนวทางของจีนในเอเชียอาคเนย์คือ : [ผลประโยชน์แห่งชาติจีน = ผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ + ตัวแบบจีน]

หลังจากอภิปรายเรื่องตัวแบบจีน (The China Model) ไปในตอนที่แล้ว จึงน่าที่จะสืบสาวราวเรื่องต่อว่าผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในเอเชียอาคเนย์และไทย อยู่ตรงไหน? เป็นอย่างไรกันแน่? ทำไมจีนจึงปรากฏข่าวเข้าเกี่ยวพันกับโครงการคลองกระช่วงหลังนี้นัก?

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ การขุดคลองกระเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียอยู่ในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก-เอเชียอาคเนย์และโลกปัจจุบันของการที่… (ประมวลจาก BZ, pp.306-314)

1) กองเรือที่ 7 ของสหรัฐคุมช่องแคบมะละกาอันเป็นทางเดินเรือขนส่งพลังงานและสินค้าสำคัญที่สุดในภูมิภาคและโลกมาแต่เดิม (กว่าครึ่งของกองเรือพาณิชย์ในโลก, 1/3 ของการค้าโลก, 2/3 ของน้ำมันในโลกที่ส่งขายกันผ่านช่องแคบนี้) ภายใต้หลักการเดินเรือเสรี ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับเรือประเทศที่ไม่เป็นมิตรที่จะถูกกองเรือที่ 7 ของสหรัฐพรากเสรีไปได้

2) จีนแสวงหาทางเลือกออกทะเลนอกเหนือจากช่องแคบมะละกาทั้งตะวันออกสู่มหาสมุทรอินเดียและตะวันตกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อประกันให้มีน้ำมันป้อนประเทศอีกมหาศาลในช่วงพัฒนาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกต่อไป (7 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อถึงปี ค.ศ.2020 โดย 85% มาจากช่องแคบมะละกา) โดยอาศัยทางรถยนต์และรถไฟด่วนจากจีนใต้ผ่านไทยมาสู่คลองกระและต่อไปถึงสิงคโปร์

3) ช่องแคบมะละกาจะเต็มสมรรถภาพเป็นทางผ่านของเรือสินค้าอย่างช้าในปี ค.ศ.2030 (ที่ 122,600 ลำต่อปี) การเร่งขุดคลองกระจึงจำเป็นในแง่เสริมเติม/ทดแทนช่องแคบมะละกาในตัว

4) อาจสรุปยุทธศาสตร์คลองกระของจีนได้ว่า :-

เป้าหมาย : ไปให้ถึงมหาสมุทรอินเดีย

วิธีการ : ข้ามพ้นช่องแคบมะละกาไปเลยโดยใช้คลองกระแทน ทำให้จีนผงาดขึ้นเหนือกว่าสหรัฐในช่องแคบมะละกาได้โดยไม่ต้องแตกเสียงปืนแม้สักนัดเดียว

ตัวช่วยหลัก : ไทยในฐานะศูนย์กลางของ ASEAN ซึ่งสำคัญทางยุทธศาสตร์

กำหนดการ : เริ่มขุดคลองกระไม่ล่าช้ากว่าปี ค.ศ.2025 ด้วยทุน (อย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์), วิศวกรรม และคนงานจีน

พลังผลักดันในไทย : ที่ปรากฏต่อสาธารณะได้แก่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, ไพศาล พืชมงคล, เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสายทหาร และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน

หากวางโครงการคลองกระเข้าไปในกรอบใหญ่ของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative) ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเมื่อปี ค.ศ.2013 ก็จะเห็นความสอดคล้องกันทางด้านเป้าหมายการเมืองระหว่างประเทศและความมั่นคงของจีนอย่างน่าสนใจ

ดังที่ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของเธอเรื่อง “สี่ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน : นโยบาย ปัจจัยและข้อเสนอแนะ” (2560) ว่า :

“นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งของการดำเนินยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของจีน คือ เพื่อตอบโต้ต่อยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนของสหรัฐ จีนยังเกรงว่าจะมีประเทศที่มองว่าการผงาดขึ้นมาของจีนเป็นภัยคุกคามและหันไปเข้าร่วมกับสหรัฐ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะช่วยสร้างเครือข่ายและแนวร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อคานอำนาจกับประเทศมหาอำนาจอื่นโดยเฉพาะสหรัฐ ผ่านทางเส้นทางตะวันตกและทางใต้ของจีนแทน โดยแบ่งออกเป็นเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเล เส้นทางสายไหมทางบกจะมี 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 เชื่อมจีน เอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป เส้นทางที่ 2 เชื่อมจีน อ่าวเปอร์เซีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านทางเอเชียกลางและตะวันออกกลาง และเส้นทางที่ 3 เชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเลนั้น เชื่อมจีนกับยุโรปทางทะเลผ่านทางทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย” (น.394-395)

โครงการคลองกระสอดผสานคล้องจองและต่อยอดเครือข่ายของเส้นทางสายไหมทางบกสายที่ 3 ที่เชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ทำให้มันอาจพาไปลงคลองกระแล้วเข้ามหาสมุทรอินเดียได้

และยังช่วยย่นระยะทางเส้นสายไหมทางทะเล (ดูเส้นทาง 4 ในแผนที่) โดยตัดลัดเข้าคลองกระไม่ต้องอ้อมลงไปผ่านช่องแคบมะละกาที่อยู่ใต้การควบคุมของกองเรือที่ 7 ของสหรัฐ