ทราย เจริญปุระ : อ่าน “ซ้ำ”

"เรื่องเล่าต่างฤดู" (Different Seasons) เขียนโดย Stephen King แปลโดย โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1, เมษายน 2561 โดยสำนักพิมพ์แมร์รี่โกราวด์

จนปัญญาจริงๆ สำหรับสัปดาห์นี้

หลังๆ มานี้หลายคนคงพอรู้ว่า ผลกระทบอันไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งของการกินยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างสม่ำเสมอของฉันก็คืออาการสมาธิสั้นและค่าสายตาที่แย่ลง

ซึ่งทั้งสองอาการนั้น ส่งผลอย่างยิ่งต่อกิจกรรมที่ฉันชอบที่สุดในชีวิต

นั่นคือการอ่านหนังสือ

ธรรมดาฉันเป็นคนอ่านเร็ว จับใจความสำคัญได้เร็ว จำชื่อตัวละครได้

แต่ตอนนี้กลับต้องมางกๆ เงิ่นๆ เปิดหน้าหนังสือกลับไปกลับมา ดูชื่อตัวละครบ้าง ลืมว่าย่อหน้าที่แล้วใครกำลังทำอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง

การหยิบหนังสือเล่มใหม่ๆ บางครั้งแฝงด้วยความหนักใจว่าจะรับมือกับเรื่องราวในเล่มไหวมั้ย ซึ่งต่างกับเมื่อก่อนอย่างสิ้นเชิง ที่มีกี่เล่มก็เอามาเถอะ ฉันอ่านได้ทั้งนั้นแบบสบายๆ

กลายเป็นทุกวันนี้ต้องมีวิธีสร้างความปลอดภัยและมั่นใจให้ตัวเอง ด้วยการอ่านหนังสือเล่มใหม่ คู่ไปกับเล่มเก่า

คือเอาเล่มเก่าที่เคยอ่านและชอบวางไว้ใกล้ๆ ตัวระหว่างที่อ่านเล่มใหม่ เผื่อเวลาสติแตกกระเจิงจนจับความในหนังสือไม่ได้ ก็หันไปคว้าเล่มเก่าที่คุ้นเคยมาเปิดอ่านเพื่อปลอบประโลมใจ ว่าฉันยังอ่านได้เหมือนเดิม ใจเย็นๆ นะ ช้าลงก็ไม่เห็นเป็นไร อ่านไวอ่านช้าก็ถือว่าอ่านเหมือนกัน

ฉันพยายามไม่ใส่ใจกับอาการนี้มาก เพราะคิดขึ้นมาทีไรก็หดหู่ห่อเหี่ยว ได้แค่บอกตัวเองว่าไม่เป็นไรน่า มันก็แค่เพิ่มข้อแม้อีกข้อในชีวิตเท่านั้นเอง

 

หนังสือเล่มเก่าที่คุ้นเคยนั้นเป็นหนังสือชุดสายลับเกเบรียล อัลลอน บางเล่มฉันซื้อซ้ำเพื่อจะกระจายมันไปยังจุดต่างๆ ที่ฉันใช้ฝังตัวอ่านหนังสือได้อย่างทั่วถึง จากจำนวน 14 เรื่อง จึงไม่ได้มีเพียง 14 เล่ม ฉันพยายามเพิ่มทางเลือกอื่นๆ ให้ชีวิต เผื่อกรณีที่วันหนึ่งฉันสติแตกขึ้นมากับเกเบรียลแล้วก็ทนอ่านต่อไม่ไหว จะได้ไม่รู้สึกพังพินาศมากเกินไปนัก

แต่ก็หาไม่เจอ

หนังสือสำหรับฉันเหมือนเพื่อนเก่าแก่ เหมือนหมอนข้างที่เราจำขนาดของมันได้ ว่าต้องใช้อ้อมกอดกว้างแค่ไหนเวลาจะดึงมันเข้ามาชิดตัว เหมือนระยะห่างระหว่างเตียงนอนกับห้องน้ำ ที่ไม่ว่าจะสะลึมสะลือแค่ไหน เราก็ไม่เคยไปผิดทาง

มันคืออะไรที่เราสมควรไว้วางใจได้ถึงเพียงนั้น

หนังสือใหม่ๆ เหมือนเราเปลี่ยนร้านอาหารหรือที่พัก มันสนุก ดี และสร้างความตื่นเต้นไม่ซ้ำซาก แต่บางครั้งเราก็ต้องการความอุ่นใจแบบเดิมๆ จากร้านก๋วยเตี๋ยวปากซอย ร้านที่เราไปนั่งแล้วคนทำรู้เมนูประจำของเรา

และช้อนแรกที่ตักน้ำก๋วยเตี๋ยวเข้าปากก็เป็นคำตอบในตัวเอง ว่าทำไมเราถึงชอบร้านนี้

หนังสือเล่มนี้ของสตีเฟ่น คิง คือร้านก๋วยเตี๋ยวเช่นนั้น

 

“เราจะรู้ได้เสมอว่าอะไรคือความจริง เพราะเมื่อนำมันมากรีดตัวเองหรือใครสักคน คนผู้นั้นจะหลั่งเลือด”*

“เรื่องเล่าต่างฤดู” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นขนาดยาวสี่เรื่องที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงเริ่มต้นอาชีพนักเขียนของสตีเฟ่น คิง ประกอบไปด้วยเรื่องที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ อย่าง Rita Hayworth and the Shawshank Redemption (เมื่อเป็นภาพยนตร์ ได้ตัดชื่อริต้า เฮย์เวิร์ธ ออก) Apt Pupil และ The Body รวมถึงเรื่องสั้นๆ อีกเรื่องคือ The Breath Method

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการอ่านหนังสือหรือดูหนังซ้ำมันน่าสนุกตรงไหน รู้เรื่องทั้งหมดก่อนแล้ว แล้วจะหาความสนุกตื่นเต้นใดๆ ได้

โดยส่วนตัวของฉัน ความสนุกนั้นไม่ได้มาในความลุ้นระทึกเช่นการดูหนังที่เราไม่ได้รู้เรื่องย่อมาก่อน แต่มันสนุกแบบเก็บรายละเอียดระหว่างทาง ความต่าง ความคล้าย ความที่บทบรรยายแต่ละประโยคที่แปรเป็นภาพเคลื่อนไหว และเราได้รู้ว่าสตีเฟ่น คิง เขียนถึงความรู้สึกอันเป็นนามธรรม แสงแดดอ่อนอุ่น หรือหยดน้ำหยาดกระเซ็นได้เห็นเป็นรูปธรรมได้ขนาดไหน

“เราจะต้องสรรเสริญพวกผู้หญิงจริงๆ นะคุณสุภาพบุรุษ เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่พวกเธอเข้าอกเข้าใจมากพอที่จะไม่พยายามทำความเข้าใจ”*

เขาไม่ได้เขียนหนังสือออกมาเป็นห้วงๆ อย่างให้คนยกประโยคไปเป็นประโยคขายเด็ดๆ ได้แบบหน้าเว้นหน้า

แต่เรื่องเล่าต่างหาก เรื่องเล่าที่พาเราสู่อีกดินแดนหนึ่งที่ทั้งคล้ายและต่างจากสิ่งที่เราเคยพบเจอ

พลังของน้ำเสียงและการมีส่วนร่วมบางๆ ที่เชื่อมโยงผู้แพ้ ผู้อ่อนแอ ผู้คนอันไม่สมบูรณ์แบบในเรื่องเล่าเหล่านั้นต่างหากที่เกาะกุมหัวใจเรา

 

————————————————————————————————–

*ข้อความจากในหนังสือ