ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
ฉัตรสุมาลย์ แห่งคอลัมน์ธรรมลีลา
เตรียมข้อเขียน “การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ” ล่วงหน้าไว้ 3 ตอน
นำเสนอไปเพียง 1 ตอน (ฉบับ 22-28 มิถุนายน 2561)
“ฉัตรสุมาลย์” แจ้งมายัง “มติชนสุดสัปดาห์” ขอนำเสนอข้อเขียน “พิเศษ” แทรกเข้ามา
“ระลึกถึงท่านอาจารย์
พล. ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร”
ที่จากไปเมื่อ 20 มิถุนายน 2561
“ฉัตรสุมาลย์” เป็นกัลยาณมิตร พล.ต.อ.วสิษฐมาร่วม 20 ปีก่อน
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้นำเสนองานวิจัยเรื่องการค้นพบ “กบิลพัสดุ์ 2”
พล ต.อ.วสิษฐสนใจและได้เข้ามาติดตามงานจนกลายเป็นกัลยาณมิตรดังกล่าว
แม้กระทั่งเมื่อออกบวชแล้ว ทุกครั้งที่พบท่านธัมมนันทา
พล.ต.อ.วสิษฐจะนั่งลงกับพื้นและกราบ 3 ครั้ง
แม้ท่านธัมมนันทาจะห้ามท่านอย่างไรก็ไม่ได้
และจะทำเช่นนี้ทุกครั้ง
ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 พล.ต.อ.วสิษฐก็ได้ปฏิบัติตามเดิม
สะท้อนถึงความ “สม่ำเสมอ”
และดูจะไม่มีปัญหาในประเด็นพุทธบริษัท 4 ที่อึมครึมในสังคมพุทธไทยมาโดยตลอด
เมื่อ พล.ต.อ.วสิษฐซึ่งป่วยโรคมะเร็งตับ อาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาลตำรวจ
ท่านธัมมนันทาไปเยี่ยม
มีบทสนทนาระหว่างท่านธัมมนันทากับ พล.ต.อ.วสิษฐ น่าสนใจ
และถูกนำมาถ่ายทอดใน “ระลึกถึงท่านอาจารย์ พล. ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร”
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า พล.ต.อ.วสิษฐปฏิบัติธรรมและเป็นอาจารย์ด้านสมาธิมาอย่างยาวนาน
อย่างตอนหนึ่ง ท่านธัมมนันทาถามว่า ที่ส่งกายโพธิสัตว์มาเยี่ยมท่านนั้น มาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์วสิษฐยิ้ม และตอบว่า “มา เอาสลากยามาให้ด้วย”
ในสลากยานั้น เขียนว่า “ชิศรี”
ท่านธัมมนันทาก็นึกไม่ออกว่าคืออะไร แต่บอกว่าใช้เป็นองค์ภาวนาได้
กลับมาถึง “วัตร” แล้วจึงนึกออกว่า น่าจะเป็น “ชินศรี” คือพระพุทธเจ้านั่นเอง
มีอีกหลายประเด็นที่เป็นการ “สื่อ” ถึงกันในทางจิต
โปรดพลิกอ่านที่หน้า 69
นั่นเป็นปฏิสัมพันธ์ทางพุทธ
ส่วนกับ “อิสลาม” นั้น
มีบทความ “คุณูปการ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้”
จาก อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) มาร่วมนำเสนอด้วย ใน “มติชนสุดสัปดาห์”
เพื่อยืนยัน พล.ต.อ.วสิษฐเอาใจใส่และพยายามจะแก้ปัญหาความไม่สงบ และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนมาตลอด
และเมื่อปี 2551 พล.ต.อ.วสิษฐได้เขียนนวนิยาย “พรมแดน”
ลงเป็นตอนๆ ใน “มติชนสุดสัปดาห์”
จะถือว่าเป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายของ พล.ต.อ.วสิษฐ ก็คงได้
เพื่อสะท้อนแนวคิดการร่วมกันแก้ปัญหาผ่านหลักธรรมของพุทธ-อิสลาม, คนพุทธ-มุสลิม
แม้ในช่วงปลายชีวิต
“วสิษฐ เดชกุญชร” จะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับบุคคลหลายกลุ่ม หลายความเชื่อ
และได้แสดงจุดยืนของตนโดยเด่นชัด
แต่สำหรับ “วสิษฐ เดชกุญชร-มติชนสุดสัปดาห์” แล้ว
สิ่งที่ผูกพันสูงสุดต่อกัน ยัง “เหมียนเดิม”
นั่นคือ “ผูกพันทางวรรณกรรม”
วสิษฐ เดชกุญชร คือศิลปินแแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม 2541
ผลงานมักจะถูกระบุ “พิมพ์ครั้งแรก ที่มติชนสุดสัปดาห์” เสมอ
และแน่นอน ทำผู้อ่านติดงอมแงม เรียกเรตติ้งสูงสุดเสมอ
โดยเฉพาะนวนิยายชุดองค์กรลับต่อต้านผู้ก่อการร้าย
ที่ “ธนุส นิราลัย” กับ “ลำเพา สายสัทกุล” ร่วมผจญภัย ผ่าน สารวัตรเถื่อน, แม่ลาวเลือด, หักลิ้นช้าง, อวสานสายลับ, บ่วงบาศ, ประกาศิตอสูร
ขณะที่นวนิยายอื่นๆ ที่พิมพ์ที่อื่นบ้าง เช่น ดงเย็น, จันทน์หอม, ลว.สุดท้าย, สารวัตรใหญ่, สันติบาล, เลือดเข้าตา, เบี้ยล่าง, พรมแดน ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงไม่ต่างกัน
การจากไปของ “วสิษฐ เดชกุญชร” สำหรับ “มติชนสุดสัปดาห์”
จึงเป็นการสูญเสีย “นักเขียน” ยิ่งใหญ่
สมควรลดธงครึ่งเสา-อาลัย