กรองกระแส / สมรภูมิเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี กำหนดโดย คสช.

กรองกระแส

 

สมรภูมิเลือกตั้ง

ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี

กำหนดโดย คสช.

 

ไม่ว่าการรุกในเรื่องการพิจารณายุบพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าการรุกในเรื่องการส่งคนไปปฏิบัติการดูดอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย

นั่นคือ การตระเตรียมก่อนการเลือกตั้ง

หากย้อนไปดูการจัดตั้ง 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 1 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ก็จะเห็นการจัดระเบียบในทางการเมืองอย่างเด่นชัด

เด่นชัดว่าคนของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยันนายประชา ประสพดี ล้วนถูกถอดถอนโดยกระบวนการของ สนช. ล้วนถูกคิดบัญชีโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เด่นชัดว่า สปช. หรือแม้กระทั่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อนำไปสู่การร่างแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติล่วงหน้าเป็นเวลา 20 ปี

เด่นชัดว่าจะกำหนด “รัฐธรรมนูญ” อย่างไรให้กระบวนการรัฐประหารไม่เสียของ

คำว่าไม่เสียของในที่นี้ความหมายที่ตรงตัวอย่างที่สุดก็คือ การทำให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งโดยเฉพาะเหนือต่อพรรคเพื่อไทย

 

ปฏิบัติการการเมือง

ตามพิมพ์เขียว คสช.

 

อาจกล่าวได้ว่านับแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา คือการก่อรูปขึ้นของแนวรบอันบัญชาการมาจาก คสช. อย่างมั่นคงแข็งแรง

1 การยื้อ ถ่วง หน่วง ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อพร้อม

แม้จะมี พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศและบังคับใช้ แต่ก็ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ออกมา แม้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ด้วยมติท่วมท้น แต่ก็ต้องมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 57/2557 ฉบับที่ 3/2558 ยังดำรงคงอยู่ อันเท่ากับพรรคการเมืองไม่สามารถจัดทำกิจกรรมใดๆ ในทางการเมืองได้

1 การชิงความได้เปรียบด้วยการเดินสายหาเสียง ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลไปตามพื้นที่ต่างๆ ในทางการเมือง ประสานเข้ากับการเจรจาต่อรองในทางการเมืองเพื่อดึงอดีต ส.ส. เข้าร่วมโดยตั้งเป้าอยู่ที่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นหลัก

นี่คือการสร้างพันธมิตรในแนวร่วมอันเข้มแข็ง มั่นคง โดยประกาศเป้าหมายอย่างแจ่มชัดเพื่อการสืบทอดอำนาจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

พันธมิตรแนวร่วม

พันธมิตร คสช.

 

บนเส้นทางการเมืองเริ่มมีความเด่นชัดเป็นลำดับ พรรคการเมืองถูกเสนอคำถามและหนทางเลือกเด่นชัดและแหลมคมเป็นลำดับ

จะเป็นฝ่ายเดียวกับ คสช. หรือยืนอยู่ตรงกันข้าม

หากยืนอยู่ตรงกันข้าม ชะตากรรมก็จะเป็นแบบเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยประสบมาแล้วนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

ยุทธศาสตร์ก็คือ ทำอย่างไรให้ได้ชัยชนะเหนือพรรคเพื่อไทย

ยุทธวิธีก็คือ กระทำทุกวิถีทางเพื่อลดทอนกำลังและความแข็งแกร่งไม่เพียงแต่ของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากแม้กระทั่งพรรคการเมืองใดก็ตามที่เอนเอียงไปในเส้นทางเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย

นั่นก็คือ หากไม่เป็นฝ่ายเดียวกันก็จะถูกทำลาย

ระหว่างเส้นทางจากนี้เรื่อยไปจนถึงการเลือกตั้ง ซึ่งหากมิใช่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ก็อาจจะเลยไปถึงเดือนพฤษภาคม 2562 คำตอบอันจำเป็นต้องเลือกจะแบ่งสันให้พรรคการเมืองต่างๆ จำเป็นต้องเลือกเพียง 2 หนทางเท่านั้น

นั่นก็คือ จะเอากับ คสช. หรือจะไม่เอากับ คสช.

แน่นอน ความได้เปรียบอย่างเด่นชัดย่อมเป็นฝ่ายของ คสช. เพราะไม่เพียงแต่มี 250 ส.ว. อยู่ในมือ หากแต่ยังมีกฎกติกาต่างๆ ที่ร่างมาด้วยมือ

 

โอกาสเหลืออยู่

ของพรรคการเมือง

 

กระบวนการของ คสช. นั่นแหละที่จำกัดทางเลือกทางการเมืองให้เหลืออยู่เพียง 2 เส้นทางใหญ่ เหลือทางที่ 3 น้อยเป็นอย่างยิ่ง

รัฐธรรมนูญก็มาจาก คสช. ประกาศและคำสั่งก็มาจาก คสช.

พรรคการเมืองบางพรรคอาจพยายามเสนอการต่อต้านทั้งความไม่ชอบธรรมและสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณซึ่งดำรงอยู่ในพรรคเพื่อไทย แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า การต่อต้านเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาแล้ว

และได้รับการพิสูจน์จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 และการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 แล้วว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์หรือพฤษภาคม 2562 จะพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่าผลจะเป็นอย่างไร

กระนั้น แนวรบที่เด่นชัดอย่างยิ่งเป็นลำดับก็คือ แนวรบระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางของ คสช. กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนแนวทางของ คสช.

ผลของการเลือกตั้งจะพิสูจน์ทราบว่าในที่สุดแล้วประชาชนต้องการอะไร