ฟุตบอลโลก กับเผด็จการท่านผู้นำ : มุสโสลินี กับแชมป์โลกครั้งแรกของอิตาลี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยุโรปได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจากการปกครองโดยราชวงศ์ต่างๆ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย หรือการปกครองโดยศาสนจักรที่ลดบทบาทลงไปอย่างมาก ที่สวนทางกับความรุ่งเรืองของการปกครองแบบเผด็จการ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา

บุคคลอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนี, นายฟรันซิสโก ฟรังโก แห่งสเปน หรือเบนิโต มุสโสลินี แห่งอิตาลี ซึ่งก็คือบรรดา “ท่านผู้นำ” คนสำคัญของยุโรป ก็ขึ้นมามีบทบาทในวงการเมืองในช่วงเวลานี้นั่นแหละครับ

และก็น่าสนใจด้วยว่า ทั้งสามคนที่ว่ามานี้ต่างก็เห็นช่องทางในการใช้ “ฟุตบอล” เป็นสื่อในการโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาเหมือนกันทั้งหมด

โทษฐานที่ฟุตบอลเป็นกีฬาซึ่งเป็นที่นิยมของคนหมู่มากในช่วงขณะนั้น บรรดาท่านผู้นำทั้งสามคนที่ว่าก็จึงต่างมีแนวคิดที่จะใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือที่ใช้แสดงให้โลกได้เห็นว่าประเทศภายใต้การชี้นำของพวกเขามีดีอย่างไรบ้าง?

ผ่านระบบ ระเบียบ ทีมเวิร์ก และน้ำใจนักกีฬา ที่แสดงออกผ่านทีมฟุตบอลประจำชาติของพวกเขานี่เอง ซึ่งในท้ายที่สุดทั้งสามประเทศที่ว่าก็กลายเป็นชาติยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอลมาจนกระทั่งทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะนับเฉพาะในยุคที่บรรดาท่านผู้นำทั้งสามคนที่ว่านั้นยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะต้องยอมรับว่าทีมชาติอิตาลีในกำกับของมุสโสลินีนั้น เป็นชาติที่ประสบความสำเร็จในแง่ของถ้วยรางวัลมากที่สุด เพราะพวกเขาสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกติดต่อกันได้ถึงสองครั้งคือในปี ค.ศ.1934 และ 1938 เลยทีเดียว

 

ตั้งแต่อิตาลีเริ่มมีการแข่งขันฟุตบอลลีกเมื่อปี 1898 เขาก็แข่งแยกกันเป็นแคว้นๆ นะครับ

จนกระทั่ง “ท่านผู้นำ” หรือที่เรียกในภาษาอิตาลีว่า “อิล ดูเช่” (Il Duce) มุสโสลินีก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจในเวทีการเมืองอิตาลีโดยเบ็ดเสร็จในปี 1922 รูปแบบการแข่งขันก็ค่อยเปลี่ยนไป

เพราะกฎบัตรวิอาเรจโจ้ (Viareggio Charter) ที่ว่ากันว่าเป็นกฎบัตรที่เปลี่ยนเกมฟุตบอลอิตาลีให้กลายเป็นกีฬาของฟาสซิสต์ ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 1926 แล้วพัฒนาจนเป็นการแข่งขันระบบลีกแบบที่เรียกกันว่า “เซเรีย อา” (Serie A)

โดยเริ่มแข่งกันทั้งประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อฤดูกาล 1929-1930 ที่อำนาจของอิล ดูเช่คนนั้นกำลังเบ่งบวมคับประเทศที่มีรูปร่างคล้ายรองเท้าบู๊ตนี่เอง

ดังนั้น จึงเห็นอย่างได้ชัดเจนว่า การแข่งขันฟุตบอลระบบลีกแบบนี้ได้ผูกโยงเอาแว่นแคว้นต่างๆ รวมเข้ามาเป็นชาติ (ประเทศอิตาลีเกิดจากการรวมตัวของแคว้นต่างๆ ในยุคกลาง เช่น ฟลอเรนซ์ โรม เวเนเซีย เนเปิล เป็นต้น โดยเพิ่งถูกรวมเข้าเป็นราชอาณาจักรอิตาลีโดยพระเจ้าวิกตอริโอ เอมานูเอเล่ ที่ 2 เมื่อปี 1861 หรือเพียง 60 ปีเศษก่อนการขึ้นมามีอำนาจของมุสโสลินีเท่านั้น) ซึ่งก็ดูจะได้ผลดีมากเลยทีเดียว

และในเมื่อมุสโสลินี (ที่ปกครองประเทศด้วยระบบฟาสซิสต์ หรือเผด็จการท่านผู้นำ) พยายามที่จะใช้ฟุตบอลในการแสดงให้โลกเห็นว่าระบบการปกครองแบบท่านผู้นำของเขานั้นเป็นระเบียบ และมีประสิทธิภาพที่ประเสริฐเพียงไรแล้ว

มันมีอะไรที่จะใช้เป็นเวทีสำหรับโชว์ศักยภาพที่ว่าได้ดีไปกว่า “ฟุตบอลโลก” กันเล่าครับ?

 

หลังจากที่มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่างฟุตบอลโลกถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1930 เราก็อาจจะจัดแบ่งได้ว่า ฟุตบอล 3 ครั้งแรก (อุรุกวัย 1930, อิตาลี 1934 และฝรั่งเศส 1938)

เป็นฟุตบอลโลกยุคบุกเบิก ที่อะไรๆ ก็ดูยังไม่พร้อมไม่ลงล็อกเท่าไหร่นัก ก่อนที่โลกจะเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

จนทำให้การแข่งขันที่จะจัดขึ้น 4 ปีครั้ง ต้องหยุดชะงักดังกึ้กไปถึง 12 ปี แล้วค่อยกลับมาเริ่มแข่งขันกันใหม่ในปี 1950 คือหลังจากที่มหาสงครามครั้งนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ที่สำคัญก็คือ การแข่งขันทั้งสามครั้งที่ว่านั้น อิตาลีมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญมันทั้งสามครั้งเลยทีเดียว

แม้ว่าอิตาลีจะไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกวัยก็จริงอยู่ แต่มุสโสลินีก็มีความพยายามที่จะให้ฟุตบอลโลกจัดแข่งที่อิตาลี ตั้งแต่ในการจัดแข่งครั้งแรกแล้วนะครับ

แน่นอนว่าในท้ายที่สุด สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ได้เลือกที่จะยกตำแหน่งเจ้าภาพตกให้กับอุรุกวัย ซึ่งก็ทำให้มุสโสลินีโกรธจนกระทั่งขอถอนทีมชาติอิตาลีออกจากการแข่งขันครั้งนั้นเลยทีเดียว

แต่อิล ดูเช่ ของมวลมหาประชาชนชาวอิตาลีในครั้งนั้นก็ยังไม่ละพยายามเพียงเท่านั้น เพราะในมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1934 อิตาลีก็สามารถแย่งตำแหน่งเจ้าภาพจากสวีเดนมาได้อย่างฉิวเฉียด แม้จะถูกมองว่าไม่เหมาะสมสำหรับการเป็นเจ้าภาพ เพราะมีระบบการปกครองแบบฟาสซิสต์ และหัวรุนแรง

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่อิตาลีจะได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนั้นท่ามกลางข่าวลือเกี่ยวกับการยัดเงินใต้โต๊ะให้กับ FIFA และการข่มขู่โดยทั้งตัวมุสโสลินีเอง และสมาคมฟุตบอลของอิตาลีด้วย

ผลกระทบที่ตามมาอย่างหนึ่งการที่อิตาลีได้รับตำแหน่งเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนั้นก็คือ การที่ชาติอย่างอาร์เจนตินาไม่กล้าที่จะส่งตัวผู้เล่นชุดที่ดีที่สุดของตนเองมา

เพราะกลัวว่าจะถูกพวกอิตาเลียนฉกผู้เล่นตัวเก่งของพวกเขาไป

ตามนโยบายที่พวกอิตาเลียนใช้ดึงกลุ่มคนที่มีความสามารถกลับมาถือสัญชาติอิตาลี ตามนโยบายการสร้างชาติให้แข็งแกร่งของมุสโสลินี โดยมีคำเรียกคนพวกนี้ว่า “ออริอุนดี้” (oriundi)

ส่วนการที่นักฟุตบอลจะเป็น “ออริอุนดี้” ได้ในสมัยโน้น มีเกณฑ์ง่ายๆ อยู่สามประการ อย่างแรกก็คือ การเล่นอยู่ในลีกระดับชาติของพวกอิตาลี ส่วนประการที่สองก็คือการสืบประวัติย้อนกลับไป 3 รุ่นแล้วพบว่ามีเชื้อสายอิตาเลียนไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และเกณฑ์ข้อสุดท้ายก็คือ พวกเขาจะไม่สามารถลงแข่งขันกับชาติดั้งเดิมของพวกเขาได้

ในประเทศอาร์เจนตินา มีชาวอิตาเลียนอพยพเข้าไปอยู่มากเลยทีเดียว ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

ในขณะที่ทัพอิตาลีก็ถูกวิจารณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่าไม่แฟร์เอาเสียเลย จนเฮดโค้ชของทัพอัซซูรี (Azzuri, ชื่อเรียกฟุตบอลทีมชาติอิตาลี) ในขณะนั้นอย่างวินเซนต์ ปอซโซ่ (Vincent Pozzo) ต้องออกมาประกาศว่า

“ถ้าพวกเขาตายให้กับอิตาลีได้ พวกเขาก็ลงเตะให้กับอิตาลีได้”

 

แน่นอนว่าในทัพอัซซูรียุคนั้น ก็มีกองหลังอย่างลุยส์ มอนติ (Luis Monti) และกองหน้าอย่างไรมุนโด้ ออร์ซี (Raimundo Orsi) ที่โอนสัญชาติมาจากอาร์เจนตินา ไม่ต่างอะไรกับเมื่อคราวที่อิตาลีได้แชมป์ฟุตบอลโลกหนล่าสุดที่เยอรมนีเมื่อปี 2006 พวกเขาก็มีชาวอาร์เจนไตน์ที่เป็นออริอุนดี้อย่างเมาโร คาโมราเนซี (Mauro Camoranesi) เป็นกำลังสำคัญ

ส่วนการตัดสินในบอลโลกอิตาลี 1934 หนนั้นก็ถูกลือกันไปทั้งบางว่ามีกลิ่นทะแม่งๆ กันแทบจะทุกแมตช์การแข่งขัน อิตาลีผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย หลังจากที่ในรอบแรกพวกเขาสามารถถล่มชาติที่เรียกว่าฟุตบอลว่าซ็อกเกอร์อย่างสหรัฐอเมริกาไป 7-1 แล้วก็ไปพบกับสเปน

ซึ่งนับว่าเป็นแมตช์อัปยศประจำการแข่งขันบอลโลกครั้งนี้เลยทีเดียว เพราะนอกจากจะมีการเล่นตุกติกกันแทบจะตลอดทั้งแมตซ์แล้ว ยังเล่นกันอย่างรุนแรงทั้งสองฝ่าย

จนมีผู้เล่นกองกลางของอิตาลีคนหนึ่งถึงกับขาหักกลางเกม

แต่ผลการแข่งขันก็ยังจบกันลงด้วยสกอร์ 1-1 จนทำให้ต้องมีแมตช์ล้างตาในวันถัดไปแทน

ว่ากันว่า มุสโสลินีใช้อำนาจบังคับให้สเปนไม่ใช้ผู้เล่นตัวจริงลงสนามเลยทั้ง 11 ตัว แถมแมตช์ล้างตาครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะ 1-0 ของอิตาลี จากลูกยิงที่ปลายเกือกของตำนานทีมชาติอิตาลี และสโมสรอินเตอร์ มิลาน อย่างจูเซ็ปเป้ เมียซซ่า (Guiseppe Meazza)

ซึ่งฟังดูก็ไม่น่าจะมีอะไรนะครับ ถ้าการตัดสินไม่ต้องผ่านการเห็นชอบแบบกลายๆ จากมุสโสลินี และทั้งสองประตูที่สเปนยิงได้ในแมตช์นั้น ถูกนับเป็นโมฆะทั้งหมด

อิตาลีผ่านออสเตรียในรอบรองชนะเลิศไปท่ามกลางข่าวที่ว่า มุสโสลินีได้เชิญกรรมการตัดสินชาวสวีดิชในนัดนั้นไปกินดินเนอร์ก่อนวันแข่งขัน

และข่างการล็อกผลบอลรอบเดียวกันอีกคู่ ซึ่งเป็นการตะบันแข้งกันระหว่างเชโกสโลวะเกียกับเยอรมนี (สมัยยังไม่แยกค่ายเป็นตะวันตกและตะวันออก) ผ่านผู้ตัดสินชาวอิตาเลียนที่เป่าเข้าข้างเชโกสโลวะเกีย (ที่อิตาลีน่าจะเอาชนะได้ง่ายกว่าในนัดชิงชนะเลิศ) จนชนะไป 3-1 และเข้าชิงกับอิตาลี โดยมีมุสโสลินีและคณะฟาสซิสต์เต็มยศของพวกเขาเข้าไปเป็นสักขีพยาน

แน่นอนว่าฟุตบอลโลกในบ้านตัวเองครั้งนั้น อิตาลีได้ถ้วยจูลล์ ริเมต์ (Jule Rimet) อันเป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศในยุคนั้นกลับไปนอนกอด แต่ตำแหน่งแชมป์โลกครั้งแรกของทัพอัซซูรี ถูกมองว่าได้มาภายใต้ร่มเงาของเผด็จการท่านผู้นำของมุสโสลินี ซึ่งก็ชวนให้ไม่รู้สึกสง่าผ่าเผยเท่าไหร่นัก

จึงเป็นเรื่องตลกร้ายดีนะครับ ที่ท่านผู้นำอีกคนในสมัยนี้ให้สัมภาษณ์ว่าจะเชียร์อิตาลี ทั้งๆ ที่ฟุตบอลโลกรัสเซีย 2018 หนนี้ อิตาลีไม่ได้มาตามนัดแท้ๆ