เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : มาดมยุราชเวดากอง

ระหว่างวันที่ 4-8 มิถุนายนที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมขบวนศิลปินแห่งชาติไปงานฉลองเจ็ดสิบปีความสัมพันธ์ทางการทูตเมียนมา-ไทย ที่กรุงย่างกุ้ง

ท่านเอกอัครราชทูตคือ คุณจักร บุญหลง และภริยา พร้อมข้าราชการเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมฝ่ายไทยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายเมียนมาร่วมจัดพิธีเฉลิมฉลองซึ่งมีทั้งเวทีเสวนาและเลี้ยงรับรองเป็นอย่างดี

พิเศษคือ มีงานนิทรรศการแสดงศิลปกรรมร่วมระหว่างศิลปินไทยกับศิลปินเมียนมา ณ พิพิธภัณฑสถานเมียนมาที่กรุงย่างกุ้งอย่างอลังการยิ่ง

ฝ่ายไทยนั้นนอกจากกลุ่มศิลปินแห่งชาติซึ่งนำโดย กมล ทัศนาญชลี กับกลุ่มศิลปินแห่งชาติร่วมคณะอีกสิบคน และผลงานร่วมโดยเจ้าตัวไม่ได้ไปแล้ว

ยังมีฐาปนันดรศิลปิน คือ ฯพณฯ ท่านชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเรา ร่วมคณะไปด้วยทั้งโดยตัวและผลงานร่วมแสดงในงานเป็นพิเศษ

ฐาปนันดรศิลปิน เป็นตำแหน่งยกย่องท่านชวน หลีกภัย เพียงคนเดียวตำแหน่งเดียว ที่กระทรวงวัฒนธรรมมอบให้ ด้วยหมายถึงผู้สถาปนาหรือผู้ก่อเกิดตำแหน่งศิลปินแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ศิลปินแห่งชาติจึงเป็นสถาบันสภาปนาอันทรงเกียรติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

 

สมัยเริ่มแรกนั้นเป็นสมัยที่ท่านชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีประกาศยกย่องศิลปินแห่งชาติครั้งแรกสี่ท่านคือ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สาขาวรรณศิลป์

อาจารย์มนตรี ตราโมท สาขาคีตศิลป์

ม.ล.แผ้ว สนิทวงศ์ สาขานาฏศิลป์

อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ สาขาวิจิตรศิลป์

ปัจจุบันศิลปินแห่งชาติแบ่งเป็นสามสาขาคือ

สาขาทัศนศิลป์

สาขาวรรณศิลป์

สาขาศิลปะการแสดง

แต่ละสาขาแยกย่อยไปเป็นประเภทต่างๆ อีก เช่น ทัศนศิลป์ แยกประเภทเป็น จิตรกรรม ปฏิมากรรม หัตถกรรม ฯลฯ วรรณศิลป์ มีร้อยแก้ว ร้อยกรอง เป็นต้น ศิลปะการแสดง มีทั้งนักร้อง นักดนตรี นักแสดง ฯลฯ

ซึ่งซอยละเอียดไปจนถึงพื้นบ้านในทุกภาคทุกสาขาและทุกประเภทด้วย

 

ที่เมียนมาดูจะไม่มีตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ หากมีศิลปินระดับชาติมากมายหลากหลายสาขาและประเภท เป็นเอกลักษณ์และอลังการโอ่เกียรติภูมิได้เลยทีเดียว

งานศิลปะทั้งปวงเป็นอลังการของบ้านเมืองและเป็นภูมิของแผ่นดินโดยแท้ สมบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงไว้ในวรรคกวีว่า

ชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์

เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า

ศิลปะไทยกับเมียมานั้นปรากฏเป็นอลังการที่สุดคือองค์พระเจดีย์ ทั้งรูปทรงและสีทองเรืองอร่ามข้ามพ้นยุคสมัยเป็น “อมตาลังการ” ให้ได้ประจักษ์ตาเป็นสากลมาจนทุกวันนี้

พระเจดีย์ชเวดากองนั้นอาจกล่าวได้เลยว่า ชั่วชีวิตหนึ่งนี้ควรได้มาชมพระเจดีย์ชเวดากองสักครั้งก็ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาแล้ว

สมควรไปชมและนมัสการยามย่ำค่ำจะเป็นเวลาที่พระเจดีย์เปล่งประกายเจิดจรัสที่สุด

ท่านชวน หลีกภัย ปรารภกับเราว่า น่าเสียดายพระปฐมเจดีย์ของไทยเราซึ่งงดงามไม่แพ้ชเวดากอง แต่ขาดการทำให้อลังการได้เท่าเทียม

เจดีย์ชเวดากองเป็นพระเจดีย์ทรงมอญสัณฐานดั่งทรงกระดิ่ง ซึ่งดูได้ทั่วไปในเจดีย์ภาคเหนือของไทยเรา เช่น เจดีย์พระธาตุหริภุญไชยที่ลำพูน และพระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น

เจดีย์นครปฐมเป็นพระเจดีย์ทรงลังกามีสัณฐานดั่งองค์ระฆัง มีบัลลังก์สี่เหลี่ยม มีปล้องไฉน ปลียอดและเม็ดน้ำค้างหรือลูกแก้วบนยอดสุด

ส่วนเจดีย์ทรงมอญจะมีซุ้มชฎาครอบยอดสุด

เจดีย์ชเวดากองนั้นอลังการยิ่งตรงมีพระเจดีย์บริวารรายรอบล้อมบนลานกว้าง สมอย่างวรรคกวีคำโคลงในนิราศนรินทร์ที่ว่า

 

เจดีย์ระดะแซง   เสียดยอด

ยลยิ่งแสงแก้วเก้า   ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์

หากเจดีย์ที่รายระดะแซง เสียดยอดอยู่รอบล้อมพระมหาเจดีย์ชเวดากองนี้เป็นสีทองอร่ามระยับจับตาจับใจยิ่งนัก

สมควรที่คนทั้งโลกจะต้องไปชม

 

เคยเขียนโคลงชมชเวดากองเมื่อครั้งไปเขียนแผ่นดินเมียนมาไว้แล้ว ไปครั้งนี้ต้องเขียนอีกด้วยอดใจไม่ไหว คราวนี้เห็นชเวดากองเป็นอย่าง “มาดมยุรา”

คือองค์มหาชเวดากองนั้นแลคือ พญานกยูง ส่วนเจดีย์รายนั้นเป็นดั่งแพนหางพร้อมจะขยับขยายร่ายรำดังบทกวีที่ยกมานี้

และมยุราหรือนกยูงนั้นเป็นดังสัญลักษณ์ของกษัตริย์พม่าแต่โบราณด้วย

 

นอกจากนครย่างกุ้งแล้ว คณะเรามีโอกาสได้ไปเยือนเมืองสิเรียม ซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำสิเรียมอันกว้างใหญ่ไม่น่าเชื่อด้วยต้องนั่งรถข้ามสะพานยาวถึงราวสองกิโลเมตร แล้วผ่านเมืองสิเรียมซึ่งเป็นเมืองชนบทอันกว้างขวางมุ่งไปปลายทางที่ฝั่งน้ำอีกฟากเมืองเพื่อนั่งเรือข้ามไปไหว้พระเจดีย์กลางน้ำอันอร่ามอยู่บนเกาะกลางน้ำ กะทัดรัดเหมือนเรือลอยช้อยระชด ณ กลางน้ำนั้น

ได้ความรู้ว่า คำ “สิเรียม” นั้นเป็นคำที่คนไทยเรียกกัน คำเมียนมาคือ “ทันลิน” โดยที่คำนี้มีความหมายตรงกันกับชื่อประเทศใหม่ว่า “เมียนมา” หรือเมียนหม่านั่นเอง

คือ ทัน = มาหรือหม่า แปลว่า เข้มแข็งหรือแกร่งไกร

ลิน = เมียน แปลว่า รวดเร็วหรือว่องไว

สัมพันธ์เมียนมา-ไทย จงก้าวหน้าแกร่งฉไกรและยิ่งใหญ่สมนามไทยเมียนมาเทอญ

 

มาดมยุราชเวดากอง

ภิวันท์ชเวดากอง   พระทองทิพย์

ลอยระยิบระยับเยี่ยมโพยมหน

เมลืองมลังปลั่งทองผ่องภูวดล

มิ่งมหามงคล   ผคมคำ

ละช่อชั้น  หลั่นเรียง  ระเบียงระบาย

เจดีย์ราย  อร่ามช้อย  ระชดฉ่ำ

เนรมิต  ปรมัตถ์  พระสัจธรรม

อันประจักษ์  อยู่ประจำ  ทรงสำแดง

คือความเป็นธรรมดา  สามัญลักษณ์

ให้ตระหนักสิ่งซึ่ง  พึงเสาะแสวง

ความสงบ  ความงาม  ความเปลี่ยนแปลง

เจิดแจรง  แจ่มจรัส  ณ  ใจเรา

ละยอดเหยียดเสียดซอนจะฟ้อนฟ้า

ราวจะร่ายลีลา   สลักเสลา

มยุราเริงธรรมในลำเนา

พริ้งลำเพา  รำแพน…งามแสนงาม ฯ