ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | วิกฤติศตวรรษที่ 21 |
เผยแพร่ |
วิกฤติประชาธิปไตย (9)
รู้จักแอร์โดอานผู้โด่งดังเทียบ “เคมาล บิดาชาวเติร์ก”
ตุรกีใหม่สร้างผู้นำที่โดดเด่นและโด่งดังทั่วโลกอยู่ 2 คน
คนแรกคือ “เคมาล บิดาชาวเติร์ก” (1881-1938) เป็นผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีในปี 1923
เขาล้มล้างซากเดนของระบอบกาหลิบแห่งออตโตมานอย่างสิ้นเชิง ล้มเลิกศาล ศาสนา ทำให้ความเชื่อสิ่งเร้นลับต่างๆ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย สร้างระบบโรงเรียนที่เป็นโลกวิสัย เปลี่ยนภาษาเขียนตุรกีจากอักษรอารบิกแบบชาวอาหรับ มาเป็นอักษรโรมันแบบตะวันตก
ยอมรับประมวลกฎหมายพลเรือนจากสวิตเซอร์แลนด์ และให้สตรีมีสิทธิในการเลือกตั้ง และสร้างตุรกีใหม่ที่เป็นอิสระเข้มแข็งพร้อมกับความชอบธรรมของกองทัพในการเข้ามาแทรกแซงการเมือง
อีกผู้หนึ่งได้แก่ เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan เกิด 1954) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ล้มล้างลัทธิเคมาล นำตุรกีไปสู่หนทางใหม่ในศตวรรษที่ 21
แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นทั้งหมด
มีบางสิ่งที่เขาปฏิเสธลัทธิเคมาล ได้แก่ รัฐแบบโลกวิสัย เป็นรัฐที่ยอมรับการถือศาสนา เห็นว่าศาสนาเป็นเครื่องมือในการรวมพลังของชาติ
ปฏิเสธบทบาทของกองทัพในการแทรกแซงทางการเมืองที่เป็นเหมือนการ “แช่แข็ง” ประเทศ
แต่ก็มีหลายสิ่งที่แอร์โดอานยอมรับและพัฒนาต่อจากลัทธิเคมาลได้แก่เรื่องชาตินิยมต่อต้านคอมมิวนิสต์ รักษาความเป็นอิสระของประเทศ รัฐนิยม การมีรัฐบาลเข้มแข็ง ดูแลทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ประชานิยมจากเบี้องบน
และมีที่แอร์โดอานทำนอกเหนือจากลัทธิเคมาล ได้แก่ การนำประเทศตุรกีให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนสมัยจักรวรรดิออตโตมาน
แอร์โดอานมีคุณสมบัติ พื้นเพทางครอบครัว ประสบการณ์วัยเยาว์ ครอบครัว และบริบทโลก ที่สนับสนุนให้เขาขึ้นมาเป็นผู้ปกครองที่โดดเด่นของประเทศ
ในด้านคุณสมบัติ แอร์โดอานเป็นนักปฏิบัติ
การเป็นนักปฏิบัติของเขาแสดงออกในท่าทีและสถานการณ์ต่างๆ ตลอดชีวิตทางการเมืองที่โชกโชนของเขา
เขาปรับเปลี่ยนท่าทีและการปฏิบัติไปตามสถานการณ์ใหม่ตลอดเวลา
ซึ่งทำให้เขาสามารถรักษาสมดุล ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป
ทั้งสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นต่อได้หลายต่อหลายครั้ง
และเขาสามารถรักษาอำนาจต่อเนื่องได้เป็นเวลานานกว่า 15 ปี (ตั้งแต่ 2003-2018)
เทียบชั้นได้กับวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
และคาดว่าจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมิถุนายน 2018 ตัวอย่างการเป็นนักปฏิบัติของเขา เช่น แอร์โดอานถือศาสนาอิสลามและสำนึกในหน้าที่ต่อพระเจ้า
แต่เขาก็ไม่คิดที่จะให้พรรคการเมืองของเขากลายเป็นพรรคเคร่งศาสนา
เพราะเห็นว่าศาสนาเป็นเรื่องของส่วนบุคคล และการจับพรรคการเมือง “บวช” เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
ท่าทีและการปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ชนชั้นนำตุรกีและมหาอำนาจตะวันตกยอมรับว่าเขาเป็นผู้มีวิวัฒนาการทางความคิดที่ควรเปิดโอกาสให้เขาทำงาน
ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมของสงครามอิรัก 2003 ที่สหรัฐกดดันตุรกีอย่างหนัก ทั้งด้วยการติดสินบน (เป็นเงินช่วยเหลือนับหมื่นล้านดอลลาร์) และการข่มขู่
แต่เขาก็สามารถเอาตัวรอดมาได้
และทำให้ตุรกีกลายเป็นผู้ชนะแท้จริงในสงครามนี้
หรือในช่วงที่เขาถูกกระแสต่อต้านคัดค้าน คะแนนเสียงของพรรคตกต่ำ
เขาได้พลิกเกมกลับขึ้นมาชนะการเลือกตั้งได้
คุณสมบัติเด่นในตัวของแอร์โดอานอีกประการได้แก่ การที่เขาเป็นคนมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง มีความเป็นผู้นำ หรือบารมีในตัว มีวิสัยทัศน์ มีความกล้าหาญที่จะแสดงท่าทีและจุดยืนของเขา ทำให้เขาโดดเด่นเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่ประชาชนและหมู่มิตร
เช่น การขึ้นมาท้าทายต่อลัทธิเคมาลที่เป็นเหมือนศาสนาใหม่ในตุรกี
การยืนกรานประกาศความเป็นอิสระของตุรกี ที่มหาอำนาจตะวันตกต้องให้ความสนใจ และถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ถือว่าเป็น “ของตาย”
ท้ายสุดเขาเป็นผู้มีวาทศิลป์ สามารถจูงใจผู้คนได้เป็นเลิศ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศย้ายสถานทูตสหรัฐจากกรุงเทลอาวีฟมาที่กรุงเยรูซาเลม ที่ชาวปาเลสไตน์ถือเป็นนครหลวง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวมุสลิมทั่วโลก โดยเสียงคัดค้านจากกลุ่มประเทศอาหรับที่นำโดยซาอุดีอาระเบียไม่ได้แข็งขันมาก เนื่องจากกำลังญาติดีกับอิสราเอลเพื่อต่อต้านอิหร่าน แอร์โดอานได้ยืนขึ้นคัดค้านอย่างดุเดือด
เขาปราศรัยว่า “ถ้าหากเราสูญเสียเยรูซาเลม เราก็จะไม่สามารถป้องกันเมดินา (เมืองสำคัญทางศาสนาอิสลามในซาอุฯ) ได้ ถ้าเราสูญเสียเมืองนี้ เราก็จะไม่สามารถป้องกันเมืองเมกกะ (เหมือนเมืองหลวงของอิสลาม) ได้ เมื่อเมกกะล่มจม เราก็จะสูญเสียหินดำกะบะห์”
ด้วยคำพูดง่ายๆ นี้ เขาได้แสดงฐานะของตุรกีในการเป็นตัวแทนต่อต้านแกนสหรัฐ-อิสราเอล ไม่ใช่ซาอุฯ อีกต่อไป
และชาวมุสลิมทั่วไปก็คงรู้สึกสะเทือนใจไม่น้อย
ในด้านพื้นเพครอบครัวของแอร์โดอาน เขามีพื้นเพจากชนบท ในจังหวัดริเซที่ค่อนข้างเคร่งศาสนา อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ติดทะเลดำ
ต่อมาอพยพมาอยู่ที่เขตคาซิมปาชา กรุงอิสตันบูล ซึ่งแอร์โดอานเกิดที่นั่น (เขตนี้มีสโมสรฟุตบอลชื่อดังของตุรกี แอร์โดอานได้เข้าร่วมเล่นในทีมคาซิมปาชานี้ด้วย)
ในช่วงเยาว์วัยแอร์โดอานอยู่กับบิดาและครอบครัวที่เมืองริเซ มีอาชีพเป็นยามชายฝั่ง จัดอยู่ในชนชั้นคนงาน
จนแอร์โดอานอายุได้ 13 ปี ครอบครัวจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่กรุงอิสตันบูล
แต่เขาก็มักกลับไปเยี่ยมจังหวัดเก่าที่ให้พลังทางจิตวิญญาณของเขาเนืองๆ
จากพื้นเพครอบครัวดังกล่าว ปลูกฝังคำสอนให้เป็นคนดีในศาสนาอิสลาม ไม่พูดคำหยาบ เป็นต้น
และจากการที่มีพื้นเพทางชนบทและอยู่อย่างด้อยโอกาส ทำให้เขาเข้าใจลึกซึ้งถึงความรู้สึกของผู้คนเหล่านี้ ที่ต้องการสร้างชีวิตของตนให้ดีขึ้น โดยช่วยเหลือกันและกัน และมีศรัทธาในศาสนา ทั้งในชนบทและกรุงอิสตันบูลได้เป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของแอร์โดอานและพรรคของเขา
ในด้านประสบการณ์วัยเยาว์ แอร์โดอานหารายได้เสริมด้วยการขายน้ำมะนาว เป็นต้น ตั้งแต่ยังเด็กมีชีวิตที่ “ติดดิน” เรียนรู้เกมแห่งชีวิตว่าชัยชนะทำให้อยู่รอดและมีฐานสูงขึ้นได้
นอกจากนี้ เขายังชอบเล่นกีฬาฟุตบอลได้ดีจนเกือบเป็นอาชีพ
กีฬานี้สอนเขาให้รู้จักการเล่นเป็นทีมที่ทรงพลัง
ในด้านครอบครัว ภรรยาของเขา เอมีน แอร์โดอาน (เกิดที่นครอิสตันบูล 1955 เดิมชื่อซีมาล กูลบาราน มีเชื้อสายอาหรับ) เป็นนักเคลื่อนไหวตั้งแต่เมื่อยังศึกษาอยู่
เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “สมาคมสตรีอุดมการณ์” มีแนวคิดชาตินิยม
ทั้งสองพบกันในกิจกรรมเคลื่อนไหวและแต่งงานกันในปี 1978 มีลูก 4 คน เป็นหญิงสองชายสอง
เกือบทุกคนยกเว้นลูกชายคนโตได้รับการศึกษาขั้นสูงในสหรัฐ
ลูกชายสองคนของแอร์โดอานโตขึ้นเป็นนักธุรกิจระดับสูงของตุรกี
ลูกสาวคนโตทำงานด้านอาสาสมัครเป็นครู ลูกสาวคนเล็กไปเรียนปริญญาโทด้านธุรกิจที่อังกฤษอีกด้วย เป็นนักธุรกิจและเคลื่อนไหวทางการเมืองในพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาของบิดา โดยจับตาเสียงสะท้อนจากต่างประเทศ แต่งงานกับนักธุรกิจชื่อดังและเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี
หลังแต่งงานกันแล้ว เอมีน แอร์โดอาน เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุดของเขา
ลูกทั้งหญิงและชายก็เข้าร่วมทางการเมืองสนับสนุนบิดาของตน
นางแอร์โดอานได้เคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีและผู้ด้อยโอกาสในหลายด้านด้วยกัน
เช่น ส่งเสริมสตรีให้มีโอกาสการศึกษาในโรงเรียน ต่อต้านการบังคับแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก ต่อต้านการทารุณเด็ก การใช้แรงงานเด็ก ไปจนถึงการสนับสนุนสตรีให้มีบทบาททางธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ต่างๆ เช่น ตั้งกลุ่ม “ทูตอาสาสมัคร” การเคลื่อนไหวของเธอมีส่วนสำคัญในการสร้างคะแนนเสียงจากสตรีตุรกี
นอกจากนี้ เธอยังได้เคลื่อนไหวช่วยเหลือมุสลิมทั่วโลกที่ตกทุกข์ได้ยาก เช่น กรณีชาวโรฮิงญาในพม่า ทำให้ตุรกีและสามีของเธอเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวมุสลิม
อย่างไรก็ตาม สื่อตะวันตกนิยมรายงานข่าวว่าเอมีนเป็นนักช้อปตัวยง โดยเฉพาะการซื้อของเก่ามูลค่าสูง เช่น ซื้อของเก่ามูลค่ากว่า 37,000 ปอนด์ที่กรุงวอร์ซอ โปแลนด์
ในด้านบริบทโลก ได้แก่
ก) การเฟื่องขึ้นของศาสนาอิสลามซึ่งเกิดจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ การปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน (1979) ที่ส่งผลสะเทือนทั่วโลกมุสลิม
ข) การเฟื่องขึ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ กลุ่มบริกส์ ประจวบกับการเสื่อมถอยของสหรัฐและตะวันตกที่ติดหล่มในมหาตะวันออกกลาง และเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ไม่ได้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเหมือนเดิม
ค) เกิดกระแสชาตินิยมรุ่งเรืองขึ้นทั้งในสหรัฐและยุโรป เป็นแนวคิดที่คล้ายกับของแอร์โดอาน
ทุกวันนี้แอร์โดอานจึงไม่ได้กังวลเรื่องผู้นำตะวันตกจะโจมตีเขาว่าเป็นผู้เผด็จการเหมือนเดิม เพราะเขามีเพื่อนมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
นายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลกับการแยกตัวจากแอร์บาคาน
แอร์โดอานชนะการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลโดยเป็นตัวแทนของพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาในปี 1994 อย่างไม่มีใครคาดคิด
การก้าวสู่ตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ เป็นสัญญาณว่าพลังของศาสนาอิสลามและการเฟื่องอำนาจของแอร์โดอานเป็นสิ่งที่ต้านทานไม่ได้
ในช่วงนี้มีผู้แสดงสำคัญต่อแอร์โดอานสองคนที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ เนจเมตติน แอร์บาคาน (Necmettin Erbakan 1926-2011) นักการเมืองเคร่งมุสลิมคนสำคัญของตุรกีที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศอาหรับด้วย
และจูเนด ซับซู (Cuneyd Zabsu) เกิด 1954 ในครอบครัวนักการเมืองหลายรุ่น ลี้ภัยรัฐประหารไปเติบโตที่เยอรมนี และเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง
ต่อมาเดินทางกลับตุรกี ได้พบกับแอร์โดอานตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และทั้งสองถูกชะตากัน
ซับซูเห็นว่าแอร์โดอานเหมาะที่จะเป็นผู้นำประเทศ และได้เข้าสนับสนุนอย่างเต็มที่
โดยวางมือจากด้านธุรกิจลงชั่วคราว เป็นตัวเชื่อมแอร์โดอานกับเหล่านักธุรกิจ และให้คำปรึกษาต่างๆ โดยเฉพาะในกิจการต่างประเทศ
กลับมากล่าวถึงแอร์บาคาน เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นสูง ได้รับการศึกษาจบปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมเครื่องกล
หันมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 1969 ประกาศ “วิสัยทัศน์แห่งชาติ” ที่เป็นแนวทางการเมืองของเขา
แต่เส้นทางการเมืองของแอร์บาคานต้องเผชิญอุปสรรคขวากหนาม
เนื่องจากถูกต้องห้ามทางการเมืองจากกองทัพ ที่เห็นว่าเขามุ่งสนับสนุนการฟื้นศาสนาอิสลามและต่อต้านตะวันตกมากเกินไป
พรรคการเมืองหลายพรรคที่เขาก่อตั้งล้มลุกคลุกคลาน เขาถูกจับกุมขึ้นศาลและติดคุก
อย่างไรก็ตาม เขาเป็นผู้ที่มีหลักการมั่นคง เดินหนทางสันติ เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนทั้งหลาย
แม้แต่กองทัพที่กำราบเขาอยู่เนืองๆ หลังการรัฐประหารนองเลือด 1980 กองทัพได้เปิดทางให้แอร์บาคานตั้งพรรคการเมืองอิสลามใหม่ขึ้น ชื่อว่า “พรรคสวัสดิการ” (ก่อตั้งปี 1983) เพื่อให้มาคานอิทธิพลกับพรรคฝ่ายซ้าย
ในการเคลื่อนไหวการเมืองที่เด็ดเดี่ยวนี้ ได้นำคนหนุ่มสาวผู้มีศรัทธาเข้าร่วมด้วย หนึ่งในนั้นได้แก่แอร์โดอานที่เห็นว่าเขาเป็นทางออกของประเทศ และได้สร้างผลงานเป็นที่ “เข้าตา” ของแอร์บาคาน
แอร์โดอานได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสาขาพรรคการเมืองอิสตันบูล
แต่มีความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งสอง โดยแอร์โดอานได้ชื่อว่าเป็นคนหนุ่มทันสมัย
ส่วนแอร์บาคานและคณะที่คุมอำนาจแบบรวมศูนย์เป็นพวก “คณะกรมการเมือง”
และแอร์โดอานได้รับเป็นตัวแทนพรรคในการลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอิสตันบูลจากมติพรรค ไม่ใช่ความเต็มใจของแอร์บาคานที่เห็นว่าเขาหาเสียงแบบออกนอกลู่นอกทางไป
ต่อมาในปี 1996 พรรคสวัสดิการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง สามารถตั้งรัฐบาลผสมโดยแอร์บาคานได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เป็นประวัติการณ์ของการเมืองตุรกีสมัยใหม่ แต่ก็อยู่ไม่นาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 1997 กองทัพได้ขับรถถังออกมา “ก่อรัฐประหารแบบหลังสมัยใหม่” กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง
หลังจากกรณีนี้ไม่นานนัก ขณะที่แอร์โดอานได้ปราศรัยแก่มวลชน เขาได้อ้างบทกวีในสมัยจักรวรรดิออตโตมาน “มัสยิดคือค่ายทหารของเรา / โดมคือหมวกเหล็ก / หอคอยคือดาบปลายปืน / และผู้มีศรัทธาคือทหารของเรา”
โดยมีการเปลี่ยนถ้อยคำเล็กน้อย ที่สำคัญได้แก่ การกล่าวสำทับว่าอิสลามเป็นเข็มทิศของเขา และผู้ที่พยายามจะขัดขวางการสวดมนต์ในตุรกีจะต้องเผชิญกับการระเบิดของภูเขาไฟ
บางคนวิเคราะห์ว่าเป็นการตั้งใจยั่วยุกองทัพของแอร์โดอาน
ซึ่งกองทัพก็ “งับเหยื่อ” นี้ แอร์โดอานถูกจับในข้อหาว่าก่อความเกลียดชังทางศาสนาและถูกตัดสินลงโทษจำคุก และตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แต่การกระทำดังกล่าวกลับเป็นการเพิ่มคะแนนนิยมให้แก่แอร์โดอาน โดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินเลยไป ประชาชนหลายพันคนเดินไปส่งเขาถึงหน้าประตูคุก
ระหว่างที่ติดคุกอยู่นั้น ซับซูได้มาเยี่ยมแอร์โดอานหลายครั้ง และหว่านล้อมให้แอร์โดอานปลีกตัวจากแอร์บาคาน หันมายอมรับทุนนิยมเสรีและการเข้าร่วมสหภาพยุโรป จนที่สุดแอร์โดอานตัดสินใจตามนั้น แอร์โดอานและซับซู กับผู้นำอีกหลายคนได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาในปี 2001 โดยซับซูได้เป็นที่ปรึกษาใหญ่ของแอร์โดอาน แต่ในปี 2008 เขาวางมือจากการเมือง หันมาทำธุรกิจอย่างจริงจัง ตั้งบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งให้คำปรึกษาแก่บริษัทในเยอรมนี ยุโรป และสหรัฐหลายบริษัท แต่เขาก็ยังคงเกี่ยวพันกับแอร์โดอานเป็นการส่วนตัว
ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงพรรคความยุติธรรมและการพัฒนากับการขึ้นสู่อำนาจของแอร์โดอานที่ทุกฝ่ายจำต้องยอมรับ