คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : กินเจ : ศีลธรรมมาทีหลัง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเคยเสนอว่าพิธีกรรมกินเจ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ของไทยนั้น สัมพันธ์กับพิธีกรรม “นวราตรี” ของอินเดีย ก็โดยเฉพาะการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์และทรมานตนต่างๆ

รากเหง้าของพิธีกรรมกินเจ มีผู้วิเคราะห์ไปหลายทาง เช่น พิธีบูชาดาวทั้งเก้าในศาสนาเต๋า พิธีลับของอั่งยี่ หรือแม้แต่ได้รับอิทธิพลจากศาสนามณีในจีนเอง

เราอาจแบ่งการกินเจออกเป็นสองแบบ คือ

แบบแรก ได้แก่ การกินเจอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ได้แก่ การกินเจของนักพรตเต๋า (นิกายฝ่ายเหนือ) หรือการกินเจของพุทธศาสนิกชนและนักบวชในฝ่ายมหายาน อาจสมาทานเป็นบางช่วงแต่ส่วนใหญ่ก็กินกันตลอดชีวิต

กินเจอีกแบบ คือกินเจตามเทศกาล ซึ่งมีกำหนดเก้าวัน ได้แก่ เทศกาลกินเจในเดือนเก้าของจีน อย่างที่กำลังปฏิบัติกัน

ในการกินเจแบบเทศกาลก็ยังแบ่งย่อยๆ ไปอีกนะครับ เช่น กินเจแบบเต๋าทางใต้ที่มีการทรงเจ้า กินเจของเต๋าทั่วๆ ไป กินเจตามโรงเจของพุทธศาสนา และกินเจตามสะดวก คือ ไม่มีพิธีกรรมอะไรและทำเป็นส่วนตัว

pypyypt

กินเจแต่เดิมเป็นพิธีกรรมของ “กลุ่มคน” เช่น กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน ที่บ้านผมที่ระนองนั้น ไม่ใช่ศาลเจ้าทุกศาลจะมีเทศกาลกินเจนะครับ จะมีก็แต่ศาลเจ้าของคนจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นเต๋านิกายฝ่ายใต้

ส่วนศาลเจ้าหรือสมาคมจีนอื่นค่อยๆ ทำตามกันในภายหลัง

ที่สำคัญคือ ศาลเจ้าเหล่านี้ แม้ว่าจะสามารถประกอบพิธีกินเจได้ เช่น การอัญเชิญเทพมาในช่วงเทศกาล การ “เลี้ยงบริวารทหารพระ” (โข้กุ้น) ฯลฯ แต่นอกเทศกาลศาลเจ้าเหล่านี้ไม่ได้ “กินเจ” นะครับ

งานแซยิดหรืองานวันเกิดเทพและงานเทศกาลอื่นๆ เขากิน “ชอ” หรือเนื้อสัตว์กัน ส่วนเทพเจ้านั้น แล้วแต่ว่าเป็นเทพระดับไหน มีทั้งเซ่นไหว้ด้วยเจและชอ

และที่จริงคนจีนทางใต้เรียกเทศกาลนี้ว่า เจี๊ยะฉ่าย แปลว่า “กินผัก” ไม่ใช่กิน “เจ” ซึ่งมีความหมายแปลว่า “อุโบสถศีล” ในพุทธศาสนาก็ได้

ที่ผมอยากบอกคือ นั่นแสดงให้เห็นว่ากินเจ โดยเฉพาะในลักษณะเทศกาล เป็น “พิธีกรรม” จริงๆ ครับ คือ ไม่ได้มีเป้าหมายหลักที่ “ศีลธรรม” (เพราะปกติก็กินเนื้อ แสดงว่า การกินเจไม่ค่อยเกี่ยวกับการละเว้นชีวิต เป็นพิธีกรรมเพื่อชำระหรือละเว้นดังที่กล่าวมา)

แต่มีเป้าหมายเช่นการเซ่นสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การชำระมลทิน (กินเจในภาคใต้เน้นเรื่องนี้มาก) หรือแม้แต่แสดงถึงความโศกเศร้าก็ได้ (ปกติชาวจีนไม่กินเจและไม่นุ่งขาวล้วนนะครับ กินเจก่อนการมาของพุทธศาสนามีนัยยะด้านความโศกเศร้า แสดงออกถึงการไว้ทุกข์ หรือการ “บำเพ็ญตน” ซึ่งหมายถึงการสละความสุข)

แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้คนกล่าวถึงเป็นสิ่งแรกเมื่อกินเจ คือ กินเจเพื่อบุญกุศล เพราะได้มีเมตตาจิตละเว้นชีวิตสัตว์

ซึ่งผมคิดว่าเป็น มโนทัศน์ทางศีลธรรมที่เติมเข้ามาทีหลังในพิธีกินเจ “ตามเทศกาล”

ที่จริงการเติมมิติทางศีลธรรมเข้าไปในพิธีกรรมโบราณนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป เช่น แต่เดิมคนเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษ ก็ด้วยความนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถให้คุณโทษแก่ผู้ที่ยังอยู่

ต่อมาก็นำแนวคิดเรื่อง ความ “กตัญญู” สวมทับลงไป ว่าเซ่นไหว้เพื่อความกตัญญู เป็นการระลึกคุณ

แม้แต่พิธีเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ลอยกระทง (ซึ่งถ้านับแต่เดิมคือลอยโขมดหรือบูชาผีน้ำ) เรายังลากไปอธิบายเรื่องความกตัญญูต่อธรรมชาติได้ในภายหลัง

ไม่ได้แปลว่าคนดึกดำบรรพ์ไม่รู้จักความกตัญญูนะครับ แต่ความกตัญญูในปัจจุบันเป็นความคิดทางศาสนาที่พัฒนาระบบจริยธรรมเชิงสังคมมาแล้ว

หมายความว่าศาสนา (ในความหมายถึงศาสนาปัจจุบัน) พยายามที่จะสร้างศีลธรรมเพื่อกำกับความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่ซับซ้อนกว่าสังคมชนเผ่า (ซึ่งนับถือศาสนาแบบดึกดำบรรพ์)

ศีลธรรมแบบศาสนาดึกดำบรรพ์นั้นตรงไปตรงมา เช่น เกิดและงอกเงยคือดี และตายคือไม่ดี

อะไรที่นำไปสู่การเกิดและงอกเงยจึงดี และอะไรที่นำไปสู่ความตายจึงไม่ดีหรือไม่ “สะอาด”

แต่ในขณะเดียวกัน คนโบราณก็รู้ว่า เพราะตายจึงมีเกิด เพราะเกิดจึงมีตาย

ตายกับเกิดจึงแยกกันไม่ออก

การบูชายัญด้วยชีวิตสะท้อนความตรงไปตรงมานี้ ฆ่าเพื่อให้ตายแล้วจึงจะเกิดชีวิตใหม่ เมื่อฆ่าแล้วก็กินเพื่อจะผลิตเชื้อชีวิต

ฆ่า กิน เกิด จึงดำเนินมาด้วยกัน

ความรู้สึกสงสารสัตว์หรือเมตตาธรรมในนิยามปัจจุบันจะมีในคนดึกดำบรรพ์หรือไม่ผมไม่ทราบ ถ้าเราคิดว่าเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติก็อาจมีได้กระมัง แต่ทั้งนี้ทัศนะที่มีต่อโลกและสัตว์ของคนโบราณก็คงไม่เหมือนที่เรามีแน่ๆ

เพราะเราเกิดมาในกรอบคิดทางศาสนาปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นแว่นที่เราใช้มองโลกและชีวิตโดยเฉพาะมิติทางศีลธรรม

ผมคิดว่า อาหารจากเลือดเนื้อสัตว์กลายเป็นบาป เมื่อเราเข้าสู่สังคมปศุสัตว์ที่มีอาหารเหลือเฟือและมีทางเลือกอื่นๆ

รวมทั้งการพยายามแยกอาหาร “บริสุทธิ์” ทางศาสนาออกจากของไม่บริสุทธิ์ซึ่งมีนัยยะทางชนชั้นและ พรรคพวกแฝงอยู่ด้วย (พราหมณ์กินมังสวิรัติ-ศูทรกินเนื้อ, พุทธ ไชนะกินมังสวิรัติ-ฮินดูกินเนื้อ)

กินเจในฐานะพิธีกรรมเชิง “ละเว้น” หรือ “ตาย” (จากความสุขต่างๆ ทางผัสสะ และเพศ) มีรากอยู่ในความคิดดึกดำบรรพ์ ถ้าย้อนไปในจีนดูเหมือนการกินเจมีมาตั้งแต่โบราณแล้ว แต่เกี่ยวพันกับศาสนาลึกลับของชาวบ้านซึ่งจะพัฒนาเป็นศาสนาเต๋าภายหลัง

“กินเจหนึ่งมื้อ หมื่นชีวิตรอดตาย” ซึ่งกลายเป็นคำขวัญช่วงเทศกาลกินเจ เป็นมโนทัศน์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ทำให้เทศกาลกินเจกลายเป็นกิจกรรมทางศีลธรรมยอดนิยมในปัจจุบัน

เอาเข้าจริงผมว่าที่กินเจค่อยๆ ขยายตัวไปทั่วประเทศคงไม่ใช่แค่ความเลื่อมใสแนวคิดมหายาน แต่เพราะอิทธิพลของลัทธิพิธี (cult) กินเจทั้งหลายที่มีอยู่ในไทย เช่น ลัทธิอนุตรธรรม ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิม ตำหนักทรงต่างๆ ที่เผยแพร่ความดีงามของการกินเจอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งกินเจกลายเป็นที่นิยมขนาดนี้ในปัจจุบันได้ เพราะตัวมันเองมีลักษณะหลายอย่าง เช่น สอดคล้องกับแนวทางรักษาสุขภาพ เป็นหลักปฏิบัติที่ “ง่าย” แล้วได้คุณค่าทางศีลธรรมมาก (เมตตา,ได้บุญ) และยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อด้านโชคชะตา เช่น กินสะเดาะเคราะห์ กินแล้วเฮง ฯลฯ

ในขณะเดียวกันก็เป็น “โอกาสทางธุรกิจ” อย่างสำคัญไม่ว่าจะในแวดวงความเชื่อหรือไม่ก็ตาม เป็นช่วงเวลาปล่อยของและอะไรต่อมิอะไรทางการตลาด

ล่าสุดผมเห็นอาหารสุนัขสูตรเจที่โฆษณาว่า “สุนัขของคุณก็กินเจด้วย”

มิตรสหายสัตวแพทย์บอกว่า ที่จริงอาหารสุนัขที่ไม่มีโปรตีนจากสัตว์ก็มีอยู่แล้ว สำหรับบางตัวที่มีปัญหาสุขภาพ

แต่ผมไม่คิดว่าจะถูกนำมาใช้โฆษณากินเจอย่างนี้

มีเมตตากรุณาต่อสัตว์นั้นดีแน่ครับ ผมอนุโมทนา แต่ถ้าเราตระหนักว่า โดยรากฐานมันก็เป็นพิธีกรรมอันหนึ่ง เราคงคลายความยึดมั่นว่า การกินจะช่วยให้เราดีกว่าคนอื่นหรือมีบุญกุศลพิเศษมากมาย คนกินเจหรือไม่กินเจสำหรับผมไม่ต่างกัน

คนกินเจจะได้ไม่แซะคนไม่กินเจ และคนไม่กินเจก็ได้ไม่แซะคนกินเจ

ปากใครปากมันครับ