ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ 8 : “เกาะของอาจารย์ชัยอนันต์กับเกาะนายสน” และทฤษฎีเฟมินิสต์ของ Kate Millet

เมื่อราว พ.ศ.2520 ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชได้ออกข้อสอบสำหรับนิสิตรัฐศาสตร์ชั้นปีที่หนึ่ง คำถามคือ “มีคนสองคนอยู่บนเกาะ มีการเมืองไหม?”

ผมเป็นหนึ่งในนิสิตที่ต้องตอบข้อสอบข้อนี้ เวลาผ่านไปสี่สิบกว่าปี ข้อสอบข้อนี้ก็ยังฝังอยู่ในความทรงจำของผม

ในตอนที่แล้ว ผมได้เปรียบเทียบ “เกาะ” ของอาจารย์ชัยอนันต์กับเรื่องราวบน “เกาะ” ในนวนิยายชื่อ the Isle of Pines ของเฮนรี่ เนวิล นักเขียนนักคิดชาวอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดต่อสิบแปด

ทั้งอาจารย์ชัยอนันต์และเฮนรี่ เนวิล ใช้ “เกาะ” และ “คนติดเกาะ” เป็นหัวใจของเรื่อง

แต่จะต่างกันตรงที่ของอาจารย์ชัยอนันต์ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากไปกว่านั้น

ส่วนของเนวิล คนที่ติดเกาะมีอยู่ห้าคน เป็นชายหนึ่ง หญิงสี่

ผู้ชายชื่อจอร์จ ไพน์ (George Pine) และรายละเอียดเกี่ยวกับหญิงสี่คนคือ คนหนึ่งเป็นลูกสาวของเจ้านายของจอร์จ อีกสองคนเป็นหญิงรับใช้

ส่วนคนสุดท้ายเป็นทาสผิวดำ

 

เนวิลเขียนให้ตัวละครบนเกาะมีอะไรกันตามประสาชาย-หญิง

โดยจอร์จเริ่มมีเซ็กซ์กับสองสาวรับใช้ก่อน และเนวิลอธิบายต่อว่า ในการมีอะไรกันนั้น จอร์จจงใจที่จะมีอะไรกับสองสาวทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

ส่งผลให้ลูกสาวเจ้านายที่ชื่อ “ซาราห์ อิงลิช (Sarah English)” เกิดอารมณ์และต้องการที่จะเข้าสู่การปฏิบัติการอย่างนั้นบ้าง

และหลังจากที่จอร์จมีอะไรกับซาราห์แล้ว ทาสสาวผิวดำชื่อ “ฟิลลิปปา” ก็เห็นฉากพิสดารและก็เกิดมีความต้องการที่จะมีส่วนร่วมด้วยบ้าง หรือถ้าจะเอาตามคำของผู้แต่งก็คือ

เมื่อทาสสาวเห็น ก็ “longed also for her share” นั่นคือ “ขอด้วย” แต่เนวิลเขียนว่า ฟิลลิปปาจะต้องได้รับการยินยอมจากสาวสามคนที่มีอะไรกับจอร์จก่อนหน้านี้ หลังจากที่ได้รับการอนุมัติแล้ว เธอก็ยั่วยวนจอร์จจนกระทั่งเขามีอะไรกับเธอ และเสร็จสมอารมณ์หมายกับเธอเหมือนกับที่เสร็จสมกับสาวอื่นๆ ที่เหลือบนเกาะ ซึ่งก็มีแค่สามคน

มีผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับฉากนี้ว่า ผู้เขียนซึ่งก็คือ เฮนรี่ เนวิล ได้สะท้อนถึงการก้าวข้ามหรือละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีต่างๆ

ซึ่งปรกติแล้วการกระทำหลายอย่างในฉากตอนนี้เป็นสิ่งที่ต้องห้ามในสังคม ถ้าจะถามว่าสังคมไหน

ที่แน่ๆ ก็คือ สังคมอังกฤษที่เนวิลเกิดและเติบโตมา

แต่สำหรับสังคมอื่นๆ ส่วนใหญ่ในยุโรป การกระทำเหล่านี้ก็น่าจะเป็นเรื่องต้องห้าม การกระทำหรือพฤติกรรมที่ว่านี้ได้แก่อะไรบ้าง?

 

เริ่มต้นจากการที่จอร์จมีอะไรกับสองสาวรับใช้!

ประเด็นแรกที่ควรกล่าวถึงคือ การมีเพศสัมพันธ์แบบนี้คือ “เซ็กซ์หมู่” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “orgiastic sex” การมีเพศสัมพันธ์แบบนี้ถือว่า “มักมากในกามคุณ” เพราะตามบรรทัดฐานสังคม คนเราควรมีอะไรกับคนที่ตนรักเพียงคนเดียว หรือถ้ามีคนรักมากกว่าหนึ่ง ก็ให้ทำทีละคน ไม่ใช่รวมหมู่สู้ตายกันแบบนี้

การรวมหมู่สู้ตายเป็นอะไรอื่นไม่ได้นอกจากต้องการความหฤหรรษ์มากขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี เข้าใจว่า แม้สังคมทุกวันนี้ก็ยังมีบรรทัดฐานแบบนี้อยู่

และยิ่งถ้าย้อนกลับสังคมอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ด-สิบแปดของเนวิล ก็ยิ่งน่าจะเคร่งครัดกว่าปัจจุบันมาก

 

ประเด็นต่อมาคือ ในนวนิยายกำหนดให้จอร์จอยู่ในชนชั้นที่สูงกว่าสาวรับใช้ ดังนั้น การมีอะไรกับสาวรับใช้จึงถือว่าไม่สมควรตามบรรทัดฐานจารีตของสังคมอังกฤษในสมัยของเนวิล ซึ่งเพศสัมพันธ์แบบนี้ถือว่า “ข้ามชั้นวรรณะ” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “cross-class” เป็นสิ่งต้องห้ามไม่ควรกระทำในสังคม แต่บนเกาะ…ทำแล้ว…ทำไมหรือ?

นอกจากการมีเพศสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อสองระหว่างจอร์จกับสองสาวรับใช้แล้ว การที่เนวิลเขียนให้ซาราห์ไปแอบดูคนทั้งสามทำอะไรกันในที่ลับก็เข้าข่ายที่เขาเรียกว่า “พวกถ้ำมอง” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “voyeurism” อันหมายถึง คนที่ชอบแอบดูคนเขามีอะไรกัน เพราะการแอบดูจะเร้าอารมณ์ตัวเองมากกว่าการได้ดูอย่างเปิดเผย คนแบบนี้หากได้ดูอย่างเปิดเผยก็จะไม่รู้สึกหฤหรรษ์เท่ากับการได้แอบดู ดังนั้น คนแบบนี้จะต้องแอบดูเสมอ หากไม่ได้แอบดูจะไม่มีอารมณ์

ซึ่งการต้องแอบดูเท่านั้นถึงจะมีอารมณ์นี้ ตามบรรทัดฐานสังคมก็ดี หรือทางการแพทย์ก็ดี ถือว่าเป็นเรื่องเบี่ยงเบนจากค่าปรกติ

แต่เนวิลก็ให้การแอบดูเป็นเรื่องเกิดขึ้นและตอบสนองตัณหาความรู้สึก…บนเกาะ…ทำแล้ว…ทำไมหรือ?

 

นอกจาก “เซ็กซ์ข้ามชนชั้น” แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างจอร์จกับฟิลลิปปานั้นเข้าข่ายละเมิดสามขั้นเลย คือ หนึ่ง ข้ามชนชั้น สอง ข้ามผิวข้ามเชื้อชาติ สาม มีอะไรกับทาส! ถือว่าอาการหนักอย่างยิ่ง

ถ้ามันเกิดขึ้นในสังคมอังกฤษ หรือสังคมทั่วไปที่ได้ชื่อว่า “อารยะ” ในยุคนั้น และแน่นอนว่า เมื่อ “เซ็กซ์หมู่” ขยายตัวไปจนรวมคนทั้งห้าเข้าด้วยกัน มันก็เข้าข่ายละเมิดสิ่งที่ต้องห้ามอย่างสุดขีด

และแน่นอนว่า มันต้องลงเอยเป็นการมีผัวมีเมียมาก

หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “polygamy” ไม่ใช่ “monogamy” หรือ “ผัวเดียวเมียเดียว”

หลังจากที่หญิงสาวทั้งสี่ตกเป็นเมียของนายจอร์จ ไพน์ ถ้าบนเกาะนั้นมีทะเบียนสำมะโนครัว ก็หมายความว่าหญิงทั้งสี่ก็จะต้องใช้นามสกุลของจอร์จ ไพน์

แต่บนเกาะไม่มีรัฐ ไม่มีสังคม (ยังไม่มี) แต่หญิงทั้งสี่น่าจะถือได้ว่าเป็นครอบครัวเดียวกันกับจอร์จไปแล้ว ซึ่งตามหลักการใช้ภาษาอังกฤษ เวลากล่าวถึงคนในสมาชิกครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง เขาก็จะเติมตัว “s” เข้าไปข้างหลังนามสกุลของผู้ชายหรือผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว

เช่น อย่างที่เคยยกตัวอย่างไปแล้วว่า หากเราเจอคำว่า “the Smiths” ก็ให้เข้าใจได้ว่า มันหมายถึงคนในครอบครัวของนายสมิธ

ในแง่นี้ บนเกาะนั้นมันจึงเกิด “the Pines” ขึ้นมา

ซึ่งผมเดาว่า เฮนรี่ เนวิล ผู้แต่งเรื่องนี้ ตั้งชื่อเรื่องว่า “the Isle of Pines” ก็น่าจะมีส่วนที่ต้องการสื่อความหมายว่า “เกาะนี้เป็นเกาะของครอบครัวไพน์” นั่นเอง

ถ้าคิดลึกๆๆๆ ผู้อ่านที่ฉลาดๆๆๆๆ คงคิดต่อไปได้นะครับว่า จาก “the Isle of Pines” มันสามารถจะโยงไปถึงอะไรอีกได้บ้าง!?

และอย่างที่เคยกล่าวไว้ในตอนก่อนๆ (ตอน 5) ถึงประวัติและบริบทของเฮนรี่ เนวิล ผมจะขอนำมากล่าวไว้ ณ ตอนนี้อีกครั้งนะครับ

 

“เฮนรี่ เนวิล เกิดเมื่อปี ค.ศ.1620 ยามเมื่ออังกฤษเริ่มเกิดสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ.1642 เขาเป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุ 22 ปี สงครามกลางเมืองอังกฤษเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายพระมหากษัตริย์ และผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะขุนนางและทหารจะต้องเลือกข้าง ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงความขัดแย้งเหลือง-แดงในวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมา ที่แม้แต่คนในครอบครัวเดียวก็เห็นต่างแตกแยกรุนแรงไปทั่ว คนที่ไม่อยากเลือกข้างก็ต้องถูกบังคับให้เลือกข้างกลายๆ

คำถามที่ทิ้งไว้ในตอน 5 คือ “เฮนรี่ เนวิล ผู้เป็นนักเขียนและมีอายุ 24 ปีในตอนเริ่มเกิดสงครามกลางเมือง เขาอยู่ฝ่ายไหน?

และการเลือกอยู่ฝ่ายไหนมีอิทธิพลต่อการเขียนเรื่องเกาะสวาทหาดสวรรค์ของเขาหรือไม่?”

ลองเดาดูนะครับ! ห้ามโกงโดยการไปค้น แต่ควรจะลองตีความจากที่ผมเล่ามาโดยใช้ตรรกะเหตุผลและความเข้าใจของตัวคุณเอง

และส่ง “คำเดา” นั้นมาที่ [email protected] และอธิบายเหตุผลมาด้วยนะครับว่าทำไมคุณถึงตอบเช่นนั้น

 

นัยสำคัญของ “เกาะ” (โดยเฉพาะเกาะที่ไม่มีคนอยู่มาก่อน) คือ ที่ที่ปราศจากกฎเกณฑ์กติกา ไม่มีจารีตประเพณีใดๆ ไม่มีรัฐ ศาสนา และยังไม่มีสังคมเสียด้วยซ้ำ

แต่คนห้าคนที่มาติดเกาะใน “the Isle of Pines” นวนิยายของเฮนรี่ เนวิล เติบโตและอยู่ใน “สังคม” มาก่อน

แต่ “คนสองคน” ที่อยู่บนเกาะของ “อาจารย์ชัยอนันต์” เราไม่รู้เลยว่าคนสองคนนั้นเกิดและเติบโตและอยู่ในสังคมมาก่อนที่จะมาอยู่บนเกาะหรือเปล่า? แล้วจะตอบข้อสอบของอาจารย์ชัยอนันต์ยังไงดี?

ตกลงแล้ว บนเกาะของอาจารย์ชัยอนันต์ “มีการเมืองไหม?”

แล้วจากฉากโล้สำเภากันวุ่นวายใน “the Isle of Pines” ของเนวิล มันเป็นเรื่องการเมืองหรือเปล่า?

นักเฟมินิสต์ชื่อดังอย่างเคต มิลเลต (Kate Millet) จะตอบว่า เรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องการเมือง!

ส่วนอาจารย์ชัยอนันต์จะเห็นอย่างไรในประเด็นนี้ ตอนปีหนึ่งผมไม่ทราบ

กว่าจะทราบก็ต้องปีสามโน่น ตอนเรียนวิชาความคิดทางการเมืองไทยกับท่าน