ปริศนาโบราณคดี : แง่มุมจากงานประชุมกวีอาเซียนที่มาเลเซีย กับ ‘วงการกวีไทย’ ในรอบ2ทศวรรษ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1

จาก “สุนทรภู่” ถึง “ชาร์ลี แชปลิน”

ในประเทศไทย เมื่อราว 200 กว่าปีก่อน มีมหากวีผู้หนึ่งใช้นามปากกาว่า “สุนทรภู่” (1786-1855 A.D.) มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (หรือกรุงเทพมหานคร) เขาเป็นกวี 4 แผ่นดิน ระหว่างรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 ปีนี้ (2016) เพิ่งครบรอบ 230 ปีชาตกาลของเขา และเมื่อ 20 ปีก่อน ในปี 1996 เขาได้รับการเสนอรายชื่อให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลกด้านวรรณศิลป์ จาก Unesco

งานของมหากวีสุนทรภู่ เป็นงานที่อมตะ กินใจผู้อ่านมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าเขาจะเขียนเนื้อหาประเภทใด

ยุคสมัยของเขาเป็นยุคราชาธิปไตย ประเทศไทยยังมีชื่อว่า Siam มีการปกครองระบอบกษัตริย์รวมศูนย์อำนาจ

สุนทรภู่ต้องทำงานรับใช้ใน Royal Court ด้วยการเขียนบทกวีถวายแด่พระราชโอรส พระราชธิดาของรัชกาลที่ 2 และ 3 เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเชิงสั่งสอนกิริยามารยาท ข้อควรระวังในการดำรงชีวิต ข้อควรปฏิบัติในการวางตัวให้สมกับเป็นผู้ดีมีชาติตระกูล

ดูเหมือนว่างานเหล่านั้น ไม่น่าจะมีความน่าสนใจอะไรมากนัก เพราะเป็นงานที่เขียนตามคำสั่ง ดูอึดอัด ขาดจินตนาการ และเสรีภาพทางความคิด

นอกจากนี้แล้ว สุนทรภู่ยังได้รับมอบหมายให้เขียนบทกวีอีกประเภทหนึ่งคือ พวกนิทานคำกลอนสนุกๆ กล่อมนอน สุภาษิตสอนใจ บทละครประโลมโลกย์เพื่อความบันเทิงเริงรมย์ สำหรับ Royal Family

เมื่อเทียบกับสภาพปัจจุบันแล้ว งานเหล่านั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากการได้ชมภาพยนตร์ Hollywood ผสมกับละครแนว Period ทั้ง Comedy และ Tragedy คือสนุกสนานครบทุกรส

มีวรรณคดีเรื่องหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังมากคือ “พระอภัยมณี” ตัว Hero หรือพระเอกมีเมียหลายคน ได้เมียทั้งนางยักษ์ นางเงือก ไปจนถึงราชินีแห่งแคว้นตะวันตก

แต่สุนทรภู่กลับมิได้สร้างให้พระอภัยมณี เป็น Hero ที่เก่งกาจสารพัดด้านแต่อย่างใด

กลับกลายเป็นแค่ Playboy ที่รักสนุกไปวันๆ และมีความสามารถพิเศษแค่ “การเป่าปี่” ร่ายมนต์ให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม ไม่ค่อยสนใจที่จะปกครองบ้านเมือง ออกผจญภัยไปอย่างไร้จุดหมาย และมักจะพ่ายแพ้ เสียรู้ต่อข้าศึกศัตรูเสมอ

นี่คือบุคลิกภาพของมนุษย์ในชีวิตจริง ที่มิได้มีอะไรเลิศเลอสมบูรณ์แบบ แม้จะเป็นกษัตริย์หรือเจ้าชายก็ตาม

หากแต่เสน่ห์และความสำเร็จของบทกวีเรื่องนี้ อยู่ที่การพยายามสอดแทรกคติธรรมคั่นเป็นระยะๆ ทุกฉากทุกตอน สะท้อนถึงความเจ็บปวด ผิดหวัง ถูกหลอก พ่ายแพ้ กว่าจะรู้ว่าชีวิตคืออะไร

เป็นละครที่เอาจิตวิญญาณของมนุษย์ปุถุชนไปแทรกอยู่

แม้ว่าจุดประสงค์ในการแต่งนั้น เพื่อสนองและรับใช้ผู้อ่านในสังคมศักดินา ไม่ได้แต่งให้ชาวบ้านทั่วไปอ่าน แต่กลับกลายเป็นงานเขียนที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับสามัญชน

อนึ่ง งานกวีนิพนธ์ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากงานศิลปะแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินสาขาไหน กวี จิตรกร คีตกวี นักร้อง หรือนักแสดง ดังนั้น ขออนุญาตนำเสนองานศิลปะอีกตัวอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน นั่นคือ นักแสดงละครตลกใบ้หน้าขาวนาม Charlie Chaplin

ผู้สร้างสรรค์ศิลปะในแขนงละคร Comedy ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ความตลกโปกฮา ตลกเจ็บตัว แต่ศิลปินได้สอดแทรกอารมณ์สะเทือนใจ มีความเข้าใจชีวิตของคนรากหญ้า ที่เมื่อผู้คนได้ดูละครของ Charlie Chaplin แล้วถึงจะขำ แต่ก็รู้สึกเจ็บปวดในขณะเดียวกัน เพราะสะท้อนภาพสังคมชนชั้นล่าง ผู้ด้อยโอกาส สลัม ความยากจน ความลำบากผลักให้ตัวละครต้องไปปล้นจี้ชิงทรัพย์ผู้คน เรียกได้ว่า เขาสามารถสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ผู้เสพต้อง “หัวเราะทั้งน้ำตา” (หัวร่อร่า น้ำตาริน คือคำนิยามที่นักเขียนรางวัลศรีบูรพา “ธีรภาพ โลหิตกุล” เคยตั้งเป็นชื่อหนังสือ)

ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งศิลปินระดับโลก ที่ยากจะหาใครทัดเทียมได้ และเราจะเห็นได้ว่าในบั้นปลายชีวิตของ Charlie Chaplin ก็ต้องลี้ภัยการเมืองจากสหรัฐอเมริกา ไปอาศัยอยู่ที่เมืองเวอเวย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยข้อหาว่าฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์

 

บรรยากาศวงการกวีไทยในรอบสองทศวรรษ

สิ่งที่อยากจะแลกเปลี่ยนกันในสัมมนาเวทีกวีอาเซียนครั้งนี้ คืออยากจะบอกเล่าถึงบรรยากาศการเขียนกวีของประเทศไทยในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ว่าได้มีความครุ่นคิดถึงบทบาทการนำเสนอเนื้อหาระหว่าง Individual กับ Society อย่างไรบ้าง

แนวโน้มการนำเสนอเนื้อหาที่เน้นหนักไปในทาง Individual หรือ Society นั้น พบว่าบทกวีที่ได้รับการตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ ทั้งแนวนิตยสารการเมือง และแนวนิตยสารแฟชั่นสำหรับผู้หญิง แต่เดิมเคยแยกแนวทางและบทบาทออกจากกันโดยสิ้นเชิง

กล่าวคือ บทกวีที่เน้นเรื่องความรัก ความรู้สึกส่วนตัว มักส่งไปยังนิตยสารแนวแฟชั่นสตรี ส่วนบทกวีที่มีอุดมการณ์การทางเมือง การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เพื่อประชาธิปไตย มักได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารที่วิคราะห์ข่าวการเมือง จนเป็นที่เข้าใจกันดีถึงแนวทางที่แบ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง

ถึงขนาดมีการขนานนาม ผู้เขียนกวีแนวความรักเพ้อฝันหรือแนว “สายลมแสงแดด” ว่าผู้เขียนนั้นไม่ใช่ “กวี” หากแต่เป็นแค่ “นักกลอน” คือมีความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ได้ แต่ขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสาธารณะ เพราะเน้นแต่การเอาเรื่องส่วนตัวมานำเสนอ

ในขณะที่กวีผู้เขียนบทกวีแนวรับผิดชอบต่อสังคม จะได้รับการเรียกขานว่า “กวี” (ไม่ใช่เป็นแค่นักกลอน) ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นผู้มีจิตสำนึก มีอุดมการณ์ เสียสละความสุขส่วนตัว ไม่นำเอาความทุกข์ของตัวเองมาร้องแรกแหกกระเชอให้ใครๆ รับรู้ มุ่งหน้าแต่จะเสนอเรื่องราวที่เป็นข่าว ซึ่งสังคมต้องการวีรชนผู้กล้ามาต่อสู้กับอธรรม

แต่ปัจจุบันพบว่า กระแสเรื่องการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์สองขั้วที่แตกต่างกันคือ ระหว่างเนื้อหาที่เน้นความรักๆ ใคร่ๆ หรือเรื่องส่วนตัว กับการมีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมนั้น เริ่มลดความเข้มข้นและถูกแบ่งแยกน้อยลงมากกว่าเดิมในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

เนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป จากการรัฐประหารของคณะทหารที่ยึดอำนาจ ทำให้การแสดงออกของกวีฝ่ายผู้มีจิตสำนึกทางการเมือง ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างอิสระเหมือนในอดีต

เนื้อหาที่กวีเขียนออกมาจึงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา ต้องใช้สัญลักษณ์แบบอ้อมๆ เนื่องจากมีกฎหมายมาตรา 44 ใช้บังคับเอาผิดต่อบุคคลผู้มีความคิดเห็นต่างต่อรัฐบาลทหาร

เพื่อนกวีที่เคยร่วมอุดมการณ์กันมาถูกปั่นหัว ในลักษณะแบ่งแยกแล้วปกครอง จนความสัมพันธ์แตกสลาย กลายเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง เสื้อเหลืองกลายเป็นพวกอนุรักษนิยม เป็นคนดี เกลียดคนโกง กลัวผีทักษิณจนขึ้นสมอง

อีกกลุ่ม มีแนวคิดเสรีนิยม ต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบเผด็จการ แต่ถูกมองว่าเป็นขี้ข้าทักษิณ

“ทักษิณ” คือบุคคลที่คนไทยยังมิอาจก้าวข้าม

โชคดีที่ในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ facebook ทำให้บุคคลที่เป็นทั้งกวีมืออาชีพ และบุคคลที่ไม่ใช่กวี (กวีสมัครเล่น เขียนเพราะใจรัก) ต่างใช้หน้า wall ใน facebook ของตนเองเป็นเวทีระบายออกซึ่งบทกวีที่พวกเขารู้สึกอึกอัดคับข้องใจต่อการปกครองโดยรัฐบาลทหาร

ส่วนมากเป็นบทกวีสั้นๆ เพียง 1-2 บท ไม่มีการตั้งชื่อหัวเรื่อง ไม่มีการใช้นามปากกา แต่เป็นทางออกอย่างหนึ่งของการส่งสัญญาณไปยังเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันที่มีความอึดอัดคับข้องใจเหมือนๆ กัน และต่างก็ถูกปิดกั้นไม่ให้มีเวทีแสดงออก ไม่ว่าการตีพิมพ์ในนิตยสารกระแสหลัก หรือเวทีการอ่านบทกวีต่อสาธารณชน

 

กล่าวโดยสรุป สำหรับทรรศนะส่วนตัวของดิฉันแล้ว ดิฉันมีประสบการณ์ (และเชื่อว่ากวีทุกคนก็เช่นเดียวกันกับดิฉัน) เริ่มต้นมาจากการฝึกฝนฝีมือเขียนบทกวีที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรัก อารมณ์ปรารถนา สมหวัง อกหัก จากบาดแผลของความรัก

และต่อมาก็พยายามที่จะก้าวออกจากวังวนที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวนั้น มารับใช้สังคมในวงที่กว้างขึ้น

เช่น นำเสนอมุมมองในแง่ของการเรียกร้องประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันในด้านสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี ดิฉันก็ยังเห็นว่าบทกวีที่มุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ความผิดหวัง ก็ยังเป็นบทกวีที่มีเสน่ห์อยู่ไม่น้อย ถ้าหากกวีผู้นั้นเขียนชนิดขั้น “ถึงอารมณ์” และเขียนออกมาจากความจริงใจ ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียนไปตามขนบ

หมายความว่า หากตัวกวีผู้นั้นไม่เคยมีความรัก แต่พยายามจะเค้นเขียนถึงความรัก เขียนอย่างไรก็ย่อมไม่ใช่ เป็นได้เพียงแค่คนมีฝีมือ มีชั้นเชิง เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ

หรือหากกวีหรือศิลปินผู้นั้นนอกใจทรยศต่อคนรัก ไม่เคยรู้คุณค่าของรักแท้ ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ทอดทิ้งคนใกล้ตัว แต่กลับพยายามที่จะไปยืนชูธงแกว่งไกวเรียกร้องประชาธิปไตยตะโกนกู่หาเสรีภาพนอกบ้าน เพื่อแสวงหาชื่อเสียงหรือการยอมรับจากสังคม งานเขียนของเขาไม่ต่างอะไรไปจากงานศิลปะอันจอมปลอม เสแสร้ง หาได้มีคุณค่าแต่อย่างใดเลย

ฉะนั้นแล้ว กาลเวลา และจิตวิญญาณที่หาญกล้าเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าบทกวีของใครมีคุณค่าคงอยู่อย่างอมตะมากกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแนว Individual หรือ Society ก็ตาม