การศึกษา / รื้อ ‘ทีแคส’ ปี 2562 ระวังเปิด ‘แผลเก่า’ การศึกษาไทย

การศึกษา

 

รื้อ ‘ทีแคส’ ปี 2562

ระวังเปิด ‘แผลเก่า’ การศึกษาไทย

 

ในที่สุดก็ต้องปรับ หลังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เริ่มใช้ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปี 2561 เป็นปีแรก แต่กลับพบสารพัดปัญหาเดิมๆ ที่พยายามแก้ไขมานานกว่า 50 ปี ทั้งระบบอืด ระบบล่ม กั๊กที่นั่ง ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

ไม่เท่านั้น ยังทำให้เด็กและผู้ปกครองเกิดความเครียด เพราะสอบถึง 5 รอบ นานกว่า 10 เดือน!

ปัญหาหนักสุดที่ทำให้เด็กรุมกระหน่ำ ทปอ. ในโซเชียลไม่หยุดคือ การให้กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เข้าร่วมรับตรงในทีแคส รอบ 3 ทำให้เด็กที่เลือกสอบแพทย์ สามารถเลือกได้ถึง 7 คณะ/สาขา เพราะนับกลุ่ม กสพท เป็น 1 คณะ ต่างกับเด็กที่เลือกเรียนในสาขาอื่น ที่เลือกได้ตามสิทธิเพียง 4 คณะ/สาขา

ร้ายกว่านั้น เด็กกลุ่ม กสพท กลับสอบติดคณะเด่นในมหาวิทยาลัยดัง ซึ่งหลายคนหมายปอง

ดราม่ายาวๆ จึงเกิดขึ้น แก้กั๊กสิทธิไม่ได้ แถมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เด็กเก่งแย่งที่เรียนเด็กอื่นๆ เช่นเคย แต่ก็เพราะระบบเปิดช่อง ให้ใช้สิทธิเต็มที่ เรื่องนี้จึงโทษเด็กไม่ได้…

ถึงขั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโรงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปทบทวนข้อผิดพลาดและหาแนวทางปรับเปลี่ยนระบบให้ดีกว่าเดิม

 

ขณะที่ ทปอ. เองก็ยอมรับความจริงว่าทีแคสรอบ 3 และ 4 มีปัญหา ล่าสุดสั่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริง ผลดี ผลกระทบ ปัญหาของทีแคส เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนในการพัฒนาการทำงานในปี 2562

ชุดแรก คือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของระบบการคัดเลือกทีแคส ปีการศึกษา 2561 มีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นประธาน

คณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562 มีนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็นประธาน

และคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศทีแคส ปีการศึกษา 2562 มี นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เป็นประธาน

คณะกรรมการทั้ง 3 ชุดจะแลกเปลี่ยนข้อมูล ตัดสินใจ กำหนดแนวทางการดำเนินการทีแคสปี 2562 ให้เสร็จเป็นรูปเป็นร่างภายใน 3 เดือน

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธาน ทปอ. การแก้ปัญหาครั้งนี้ บอกว่าจะยึดหลัก 3 ประการ คือ

  1. ถือนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
  2. หาแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายในการสมัครให้มากที่สุด

และ 3. ให้มีการทำประชาพิจารณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักเรียน ผู้ปกครอง มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคม

โดยขณะนี้ ทปอ.ได้มีการรวบรวมข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อระบบทีแคส และนำมาพิจารณาในการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส ปี 2562 คณะกรรมการทั้งหมดเป็นอดีตอธิการบดี และเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษา มีนักวิชาการคนไทยที่มีความรู้เรื่องการมีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องด้านออนไลน์และ Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการระดมความคิดเห็น ทั้งอดีตและปัจจุบัน จะนำมาดำเนินการในการพิจารณา

“ที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาอยู่แล้ว แต่เพราะเป็นทีแคสครั้งแรก อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งรอบหน้าจะมีการปรับปรุงแน่นอน คาดว่าในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 จะดำเนินการเช่นเดิมแต่อาจเปลี่ยนช่วงเวลาให้เหมาะสม”

นายสุชัชวีร์กล่าว

 

นายสมคิด ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงระบบทีแคส ปี 2561 เปิดประชุมนัดแรกทันที พร้อมบอกว่า จะต้องมาดูข้อเท็จจริงต่างๆ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับระบบทีแคส โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ เช่น การรับสมัครทีแคสรอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน ทำไมเว็บไซต์การรับสมัครของ ทปอ. ถึงล่ม สาเหตุเกิดจากอะไร ที่สำคัญจะดูตัวเลขจำนวนสมัครทีแคสรอบที่ 3/1 และรอบที่ 3/2 ว่ามีเท่าไหร่ จำนวนการสมัครในรอบ 4 การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์ ทำไมตัวเลขมาสมัครถึงไม่มาก ทั้งที่ ทปอ. คิดว่ารอบแอดมิสชั่นส์เป็นรอบจริงที่เด็กจะมาสมัครจำนวนมาก แต่เด็กกลับมาสมัครรอบที่ 3 มากกว่า

นอกจากนี้จะดูประเด็นการรับรอบที่ 1 คัดเด็กจากแฟ้มสะสมงานหรือพอร์ตโฟลิโอ รับเด็ก 100-200 คน แต่คัดเลือกเหลือ 5 คน รอบที่ 2 การรับแบบโควต้า ไม่ให้มีการสอบ มหาวิทยาลัยไหนละเมิดไปสอบบ้าง รอบที่ 3 เด็กผ่านการคัดเลือกและมีคุณสมบัติครบ แต่มหาวิทยาลัยไม่เอาเลย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล เพราะไม่ใช่เรื่องของความคิดเห็น

 

ขณะที่นายชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาฯ บอกว่า ทีแคส ปี 2562 ต้องคำนึงถึงผลดีที่จะต้องเกิดกับนักเรียน ผู้ปกครองและมหาวิทยาลัยเป็นหลัก

เบื้องต้นจะคงรูปแบบการคัดเลือกไว้จำนวน 5 รอบเหมือนเดิม เพราะการรับสมัครในแต่ละรอบมีวัตถุประสงค์และข้อดีที่แตกต่างกันไป ส่วนเรื่องระยะเวลาในการดำเนินการทีแคสปัจจุบันยาวเกินไป โดยใช้เวลา 10 เดือน จะปรับลดให้เหลือเพียง 5 เดือน

เริ่มประมาณเดือนมกราคม สิ้นสุดในต้นเดือนมิถุนายน

ถ้าจะต้องปรับลดระยะเวลาให้สั้นลงอาจจะต้องขอความร่วมมือจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในการจัดทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT เร็วขึ้น แต่ก็จะต้องการศึกษารายละเอียดต่างๆ ว่าจะปรับลดระยะเวลาในช่วงใดได้บ้าง ขณะเดียวกันคณะกรรมการพัฒนาระบบฯ จะต้องศึกษาค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีการใช้จ่ายในระบบทีแคสค่อนข้างมาก ที่สำคัญการยืนยันสิทธิก็ต้องปรับ เบื้องต้นเห็นว่าให้โอกาสยืนยันสิทธิเพียงรอบใดรอบหนึ่ง และจะขอสละสิทธิ เพื่อไปสมัครรอบถัดไปไม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาการกั๊กที่นั่ง ไม่ให้เด็กใช้สิทธิฟุ่มเฟือย

ส่วนรอบ 3 การรับตรงร่วมกัน เด็กทุกคนจะมีสิทธิเลือกเรียนใน 4  สาขา รวมถึงผู้สมัครกลุ่ม กสพท ด้วย และจะมีการประกาศผลสอบที่เด็กติดเพียง 1 ที่ ดังนั้น เด็กจะต้องตัดสินใจให้ดีก่อนจะเลือกคณะ

ขณะที่คณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศฯ ชุดของ นพ.ชัยเลิศ จะประชุมคณะกรรมการนัดแรกวันที่ 4 กรกฎาคม โดยดูใน 2 เรื่อง ปัญหาเซิร์ฟเวอร์ และระบบเว็บไซต์การสมัครว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน

ภายใต้สโลแกนที่ ทปอ. บอกย้ำๆ ว่า 1 คน 1 สิทธิ ลดเหลื่อมล้ำ ต้องจับตาว่าคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด จะแก้ไขปัญหาทีแคสได้สะเด็ดน้ำแค่ไหน

แต่ก็ต้องระวังว่าจะเป็นการกลับไปเปิดแผลเก่า ‘เด็กทิ้งห้องเรียน’ หาก ทปอ. ตัดสินใจเริ่มกระบวนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่เดือนมกราคม…

ส่วนเด็กทีแคส ปี 2561 ยังต้องลุ้นต่อว่ารอบ 4 รอบแอดมิสชั่นส์ ซึ่งดีเดย์ประกาศผลวันที่ 4 กรกฎาคม จะมีเรื่องวุ่นๆ อีกหรือไม่