ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคา : มุมมองของอินเดีย (จบ)

จรัญ มะลูลีม

ความสำคัญของความร่วมมือลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคา (MGC)

MGC มีความสำคัญสำหรับอินเดียเพราะตามโครงการนี้อินเดียสามารถเข้าสู่ตลาด ASEAN ด้วยการส่งเสริมให้เกิดผลกำไรทางเศรษฐกิจ การขนส่งและการพัฒนาสาธารณูปโภคและความมั่นคงทางพลังงานร่วมกัน

โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกและทางหลวงทรานส์เอเชียเป็นหนึ่งในความพยายามเชื่อมต่อกันของ 6 ประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการขนส่ง

อินเดียได้เริ่มขั้นตอนแรกตามทิศทางนี้แล้ว และกำลังมุ่งสร้างถนนที่เชื่อมต่อกับตามู (มาณีปูร) ไปยังกาเล็มโย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อเข้าสู่เมียนมา

โครงการนี้ยังได้นำเสนอมาตรการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการเชื่อมต่อทางอากาศ ความสำคัญของ MGC สำหรับนโยบายมองตะวันออกของอินเดียก็คือการพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ หุบเขาพรหมบุตร (Brahmaputra) ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในอนาคตของสมาชิก MGC

หากว่าการค้าและอุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรืองอยู่ในภูมิภาคโดยรวม การค้าทางบกผ่านเมียนมาไปยังสมาชิก MGC ก็จะเป็นการส่งเสริมอินเดียไปในตัว

อินเดียค่อนข้างจะให้ความหวังกับความรุ่งเรืองของ MGC ด้วยเหตุนี้อินเดียจึงสนับสนุนการทำวิจัยร่วมกันในด้านวัฒนธรรม สื่อสารมวลชนและการศึกษา และเห็นพ้องต้องกันที่จะทำให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายการศึกษามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในด้านการท่องเที่ยว MGC ได้ศึกษาถึงยุทธศาสตร์เพื่อการมีตลาดร่วมกัน นำเสนอคู่มือการลงทุนด้านการท่องเที่ยวของ MGC ให้ความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนในพื้นที่ ขยายการคมนาคม และการเชื่อมต่อด้านการขนส่ง

พร้อมกับสนับสนุนการท่องเที่ยวด้านศาสนาและวัฒนธรรมอย่างครอบคลุม

 

พื้นที่ความร่วมมือในมุมมองของอินเดีย

MGC จะย้ำถึง 4 พื้นที่ความร่วมมือ ซึ่งจะรวมถึงการท่องเที่ยว การศึกษา การเชื่อมโยงการขนส่งเพื่อเป็นฐานทางการค้าและการลงทุนที่มั่นคง

ในการประชุม MGC ครั้งที่ 6 ที่กรุงนิวเดลีในปี 2012 ประเทศริมฝั่งแม่น้ำแม่โขงทั้งหมดต่างก็หวังให้อินเดียขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของตนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในวันที่ 16 กันยายน ปี 2015 อินเดียกับกัมพูชาได้มีบันทึกความเข้าใจด้านการท่องเที่ยวและข้อเสนอว่าด้วยความร่วมมือกับสมาชิก MGC โดยมีโครงการเร่งด่วน 5 รายการที่อินเดียจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ อินเดียได้มอบเงินจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐแก่กัมพูชาเพื่อยกระดับให้กัมพูชาเป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ อินเดียได้สนับสนุนกัมพูชาในด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2004

นอกจากนี้ ยังมีโครงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดโรคมาลาเรีย การเกษตร การส่งเสริมบทบาทของสตรี

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2016 ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศ MGC มุ่งความสนใจไปที่โครงการความร่วมมือที่สนับสนุนโดยอินเดีย รวมทั้งการสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งทอที่เสียมราฐ (Siem Reap) ในประเทศกัมพูชา และศูนย์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา (Nalanda University) ของอินเดีย

 

ประเทศ MGC มีความเห็นร่วมกันที่จะผลักดันโครงการความร่วมมือเฉพาะด้าน อย่างเช่น การสร้างกลุ่มเครือข่าย การฝึกทรัพยากรมนุษย์และการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาอีก 15 ทุน การศึกษาในวิชาต่างๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมแก่ประเทศริมฝั่งแม่น้ำแม่โขง

ในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอความคิดหลากหลายเพื่อพัฒนาความร่วมมือลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจเอกชนในโครงการความร่วมมือต่างๆ ด้วยการกระจายโครงการให้ทุนการศึกษาให้มากขึ้นแก่ประเทศ MGC และขยายความร่วมมือในด้านที่อินเดียมีความเชียวชาญ เช่น วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ต่อมาอินเดียได้ประกาศให้ทุนการศึกษาอีก 50 ทุนแก่ประเทศ MGC ในด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว วิศวกรรม การจัดการ การฝึกครู การกำกับภาพยนตร์ ทั้งการกำกับแสงเสียงและการแสดงบนเวที ทุนดังกล่าวเป็นทุนเพื่อเติมจากทุน 900 ทุนการศึกษาที่มอบให้แก่สมาชิก MGC ทุกปี

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์เพื่อความเป็นเลิศและการพัฒนาซอฟต์แวร์และการฝึกงาน รวมทั้งการใช้กฎหมายตลาดการเงิน การข่าว การโทรคมนาคมและเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของสมาชิก MGC

มีโครงการเร่งด่วนสามโครงการในประเทศลาว และสองโครงการในเมียนมาที่กำลังอยู่ในการพิจารณา ในขณะที่ 5 โครงการในกัมพูชาและ 5 โครงการในเวียดนามได้ถูกนำมาปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว

 

สําหรับปฏิสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมอินเดียได้จัด International Buddhist Conclave เป็นครั้งที่ 5 โดยประเทศ MGC เป็นแขกรับเชิญ

การประชุมมีขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 ตุลาคม ปี 2016 ที่กรุงนิวเดลี พาราณสี และสารนาถ

มีผู้มาเข้าร่วม 275 คน จาก 39 ประเทศ

รวมทั้งประเทศ MGC อย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม

ทั้งนี้ อินเดียและเมียนมาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาการเดินทางตามรอยพระพุทธบาท และกำหนดจุดการติดต่อเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ MGC

มหาวิทยาลัยนาลันทา (Nalanda University) ได้รับการส่งเสริมให้เป็นสถาบันชั้นนำที่จะเน้นประวัติศาสตร์เอเชียและประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคา

ในการประชุม ACCC (คณะกรรมการความร่วมมือการเชื่อมโยง ASEAN บวกอินเดีย) ที่กรุงสุราการ์ตา (Surakarta) อินโดนีเซียเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2017 ได้มีการสนับสนุนให้ขยายทางหลวงสามเส้นทางที่มุ่งสู่ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม และการสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

จึงอาจกล่าวได้ว่า MGC คือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอินเดีย กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ในด้านการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา การขนส่งและการคมนาคม

แม่น้ำคงคาและแม่น้ำโขงเป็นสายแม่น้ำแห่งอารยธรรม ทั้งนี้ สมาชิก MGC มุ่งหวังให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแม่น้ำใหญ่ทั้งสองนี้

มีความร่วมมือสำคัญอื่นๆ อีกที่รออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดความยากจนที่มีอยู่ในสมาชิก MGC หลังการก่อตั้ง MGC จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านเกิดขึ้นทั้งในด้านการท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรม การขนส่ง การคมนาคม

ด้วยการเข้ามาเกี่ยวข้องของอินเดียกับ MGC มีสิ่งที่อินเดียยังจะต้องทำอยู่อีกหลายด้านภายใต้นโยบายปฏิบัติการตะวันออก ด้วยเหตุนี้อินเดียจึงมุ่งความเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของแม่น้ำสำคัญของโลกอย่างเช่นแม่น้ำแม่โขง-คงคา

โดยเฉพาะความเชื่อมโยงทางกายภาพกับสมาชิก MGC จะมีส่วนช่วยให้อินเดียเคลื่อนเข้าสู่ ASEAN ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการความร่วมมือที่หลากหลายที่อินเดียมีทั้งศักยภาพและมีประสบการณ์อยู่ในปัจจุบัน