นิธิ เอียวศรีวงศ์ : โครงสร้างอันอยุติธรรม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด หลายคนนำภาพของปู่กออี้มาลงในเฟซบุ๊กของตน ภาพถ่ายบ้าง ภาพเขียนบ้าง ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงจ้องมองภาพนั้น แล้วซึมไป เฉพาะศิลปินเพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถเอาอารมณ์สะเทือนใจนั้นมาใช้สร้างสรรค์อะไรได้

ผมเดาไม่ถูกหรอกว่า ในท้ายที่สุดแล้วปู่จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร เงินค่าชดเชยที่ปู่ได้มา เมื่อต้องนำมาใช้นอกเขตป่าก็แทบไม่มีความหมายอะไร เช่น จะซื้อที่พอแมวดิ้นตายสักผืนก็ไม่พอ ยังไม่พูดถึงว่าแล้วจะอยู่กินต่อไปอย่างไร ชีวิตของปู่อยู่มาได้เพราะสองอย่างคือป่าและชุมชน บัดนี้ไม่มีป่าให้อยู่ และชุมชนก็ต้องแตกสลายลง ต่างคนต่างอยู่ เพราะต้องกระจัดพลัดพรายกันไปหมด ลูกชายปู่ก็มาสูญหายไร้ร่องรอย เหลือแต่ลูกสะใภ้และหลานตัวเล็ก จะเอาชีวิตรอดนอกเขตป่าได้อย่างไร

แม้กระนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายมีความหมายเพียงเท่านี้ละหรือ

ความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้กระมังที่ทำให้ “ยายฉิม” ต้องติดคุกเพราะเข้าไปเก็บเห็ดในป่า ซึ่งถูกกฎหมายกำหนดให้เป็นป่าประเภทใดประเภทหนึ่งที่ชาวบ้านใกล้เขตป่าไม่อาจใช้ประโยชน์ได้เลย ทำให้ “ป้าน้อย” พนักงานทำความสะอาดของห้างสรรพสินค้าต้องติดคุกเพราะเก็บเอาซาลาเปาที่ห้างกำลังจะทิ้งอยู่แล้ว กลับมาฝากลูกน้อย ทำให้แกนนำชาวลำพูนต้องติดคุก เพราะนำชาวบ้านเข้าไปทำกินบนพื้นที่ดิน “รกร้างว่างเปล่า” แต่บังเอิญมีผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ไหนสักแห่ง ทำให้และทำให้และทำให้ คนเล็กคนน้อยอีกมากต้องติดคุก

และทำให้ 8-90% ของผู้ต้องโทษในเรือนจำของไทยล้วนเป็นคนจน หากดูจากตัวเลขแล้ว ทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดูไม่น่าจะเป็นธรรมเลย

ส่วนใหญ่ของคนจนไม่รู้กฎหมาย ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ใช้ในการต่อสู้คดีไม่ได้ อันเป็นเหตุที่สมควรแล้ว เพราะไม่มีใครพิสูจน์ความรู้หรือไม่รู้ของใครได้ แต่ปัญหาเรื่องคนจนล้นคุกไม่ได้เกิดจากผู้ไม่รู้กฎหมาย ปัญหาใหญ่อยู่กับผู้ที่รู้กฎหมายต่างหาก บางคนถือว่ารู้ดีกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ เช่น เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม, อาจารย์สอนกฎหมาย, สื่อ และสมาชิกของสภานิติบัญญัติทุกประเภท

ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถูกคนรู้กฎหมายเหล่านี้ช่วยกันพยุงเอาไว้ในนามของความยุติธรรมตามกฎหมาย

แต่การอำนวยความยุติธรรมในเมืองไทยนั้น กระทำขึ้นท่ามกลางโครงสร้างอันอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง หรือวัฒนธรรม ล้วนอำนวยความอยุติธรรมให้แก่คนจำนวนมาก

ความยุติธรรมตามกฎหมายนั้นมีความจำเป็นแก่บ้านเมืองแน่ แต่ความยุติธรรมตามกฎหมายไม่ได้แขวนไว้บนฟ้า หากเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้กับชีวิตจริงของผู้คน ซึ่งมีชีวิตอยู่ภายใต้โครงสร้างอันอยุติธรรม ผู้อำนวยความยุติธรรมจำเป็นต้องสำเหนียกในเรื่องนี้ให้ดี และแท้จริงแล้วกฎหมายไทยได้แฝงความยืดหยุ่นไว้ภายในมากพอสมควร เพื่อทำให้ผู้อำนวยความยุติธรรมสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ ด้วยสำนึกอย่างเต็มเปี่ยมถึงโครงสร้างอันอยุติธรรม

หลายสิบปีมาแล้วผมเคยได้ยินนักวิชาการด้านกฎหมายอเมริกันพูดว่า กฎหมายไทยนั้นก้าวหน้ามากในแง่เปิดให้ตุลาการสามารถเลือกโทษได้หลายอย่าง ให้เหมาะแก่ผู้กระทำผิด ทั้งเพื่ออนาคตของเขาและชีวิตจริงท่ามกลางโครงสร้างอยุติธรรมของเขา

แต่ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจหรอกว่า การเปิดให้ผู้พิพากษาใช้วิจารณญาณส่วนตนในการลงโทษ เป็นความก้าวหน้าอย่างไร

เมื่อได้ฟังคำรำพึงทำนองนี้ของผม เพื่อนซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายคนหนึ่งท้วงว่า ตรงกันข้ามกับที่ผมประเมินความก้าวหน้าของกฎหมายไทย ในวงการผู้พิพากษาไทยกลับใช้สิ่งที่เรียกว่า “ยี่ต๊อก” ซึ่งเป็นอัตราโทษที่ผู้ใหญ่กำหนดลงมาว่า โทษตามความผิดในกฎหมายข้อนั้นข้อนี้ควรมีระวางอัตราโทษเท่าไร ดังนั้น ผู้พิพากษาโดยเฉพาะชั้นผู้น้อย จึงไม่อาจใช้วิจารณญาณของตนเอง ตามที่กฎหมายเปิดช่องเอาไว้ได้

ผมเข้าใจดีว่า แม้วิจารณญาณของผู้พิพากษามีความสำคัญ แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามใจชอบล้วนๆ ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะมีกฎหมายไว้ทำไม แต่กรอบกว้างๆ นั้นกฎหมายได้ระบุไว้แล้ว ผู้พิพากษาไม่อาจใช้วิจารณญาณเอาผิดเป็นถูกได้ ส่วนจะลงโทษอย่างไรจึงจะเหมาะแก่ชีวิตของจำเลยที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอันอยุติธรรม กฎหมายก็ระบุเผื่อไว้แล้ว

“ยี่ต๊อก” มีขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐาน แต่กฎหมายเจตนาจะไม่ให้มีมาตรฐานที่ตายตัวเกินไปเช่นนี้ไม่ใช่หรือ

อันที่จริงก็ไม่ใช่เหมาะแก่ชีวิตของจำเลยคนเดียว ยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตอื่นๆ ที่เกาะเกี่ยวกันกับจำเลยด้วย เช่น ลูกเล็กจะไม่มีคนดูแล ไปจนถึงพ่อแก่แม่เฒ่าที่อาจต้องถูกทิ้งขว้างเพราะผู้ดูแลไปติดคุกเสีย

โทษนั้นต้องรับแน่ แต่เหตุควรบรรเทายังมีอีกมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้าย แต่ไม่เหลือทางเลือกในชีวิตมากนัก

แม้แต่ให้ผู้พิพากษาอาจใช้วิจารณญาณได้โดยไม่ต้องมี “ยี่ต๊อก” ก็ยังให้น่าสงสัยว่า ผู้พิพากษามีความรู้ความเข้าใจโครงสร้างอันอยุติธรรมในสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน

ในประเทศไทยเราเริ่มฝึกนักกฎหมายกันตั้งแต่เมื่อเด็กเพิ่งจบมัธยมปลาย แม้มีวิชา “ทั่วไป” สอนในมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง แต่ก็มีน้อยมากจนไม่เพียงพอที่จะให้ผู้เรียนได้สำนึกในความอยุติธรรมหลายด้านที่แฝงอยู่ในโครงสร้างต่างๆ พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ เช่น จบกฎหมายมาโดยไม่รู้เลยว่าคนจนเขามีชีวิตอยู่กันอย่างไร ไม่เฉพาะแต่กลุ่มที่อยู่ใต้เส้นความยากจนของสภาพัฒน์เท่านั้น แต่รวมคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปด้วย

ว่าที่จริง ไม่เฉพาะแต่ระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ไม่สนใจคนจน การศึกษาไทยทั้งระบบนั่นแหละ ไม่สนใจคนจนเลย เป็นคนแปลกหน้าในหลักสูตรการศึกษาไทยเสียยิ่งกว่าคนต่างประเทศเสียอีก เราแทบไม่ได้ผลิตความรู้เกี่ยวกับคนจนออกมามากไปกว่าความสนใจพิเศษของนักวิชาการบางคน มหาวิทยาลัยมีสถาบันศึกษา, ศูนย์ศึกษา และหลักสูตรเฉพาะด้านต่างๆ หลายด้าน แต่ไม่มีสักมหาวิทยาลัยเดียวที่มีสถาบันศึกษาคนจน

จะเตรียมนักกฎหมายและผู้พิพากษาอย่างไรให้เข้าใจโครงสร้างอันอยุติธรรม นอกจากสถาบันการศึกษาที่ผลิตนักกฎหมายต้องคิดแล้ว ผมคิดว่าความหลากหลายของผู้พิพากษาก็มีความสำคัญ ดังที่ในหลายประเทศไม่ได้รับผู้พิพากษาจาก “สาย” เดียวเช่นนี้ (จบปริญญาทางกฎหมาย สอบเนฯ สอบเข้าเป็นผู้พิพากษา) แต่อาจรับนักกฎหมายจากหลายสายงาน เช่น ทนายความผู้มีชื่อเสียง (ซึ่งมักเคยเผชิญกับคดีเหยื่อของโครงสร้างอันอยุติธรรมมาแล้ว) เป็นต้น

ไม่เฉพาะแต่ผู้พิพากษา ตัวระบบของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นับตั้งแต่ตำรวจไปถึงราชทัณฑ์ ไม่เปิดพื้นที่ให้แก่โครงสร้างอันอยุติธรรมไว้เลย เกือบหรือกว่าครึ่งชีวิตของปู่คออี้นับตั้งแต่เกิด คงไม่รู้เลยว่าตนอาศัยอยู่ในรัฐชาติไทย เมื่อเราเริ่มออกโฉนดในสมัย ร.5 ก็มุ่งหมายเฉพาะที่ดินในเขตเมือง ที่ดินในชนบทยังไม่ได้รับการรับรองกรรมสิทธิ์จากรัฐ แต่ได้รับรองกรรมสิทธิ์จากประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีกำลังเพียงพอจะออกโฉนดได้ทั่วถึง

ปู่คออี้และชุมชนกะเหรี่ยงจะแสดงเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตป่าอุทยานได้อย่างไร ตัวท่านเองก็คงไม่ทราบว่าภูมิลำเนาของตนกลายเป็นเขตอุทยานฯ ผู้ขีดเส้นเขตอุทยานฯ ก็ไม่เคยรู้ว่ามีปู่คออี้และชุมชนกะเหรี่ยงอยู่ในนั้น กฎหมายที่ดินที่ออกกันมาไม่เคยมีภาพของคนที่มีชีวิตในป่าหรือบนยอดเขาเลย เราจะอำนวยความยุติธรรมในโครงสร้างอันอยุติธรรมนี้ได้อย่างไร ดูน่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารต้องเข้าไปเจรจาต่อรองกับชุมชนกะเหรี่ยง หาทางออกที่พอรับได้ทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อคำตัดสินของศาลออกมาในลักษณะนี้เสียแล้ว ฝ่ายบริหารก็ไม่ต้องทำอะไรอีก (นอกจากเผาบ้านและยุ้งข้าวเขาอีกรอบหนึ่ง และใช้กำลังขับไล่ชุมชนออกมาจากเขตอุทยานฯ)

ว่ากันให้ถึงที่สุด การเมินเฉยต่อโครงสร้างอันอยุติธรรม ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น สังคมไทยทั้งสังคมนั่นแหละที่ต่างเมินเฉยกันพร้อมหน้า สื่อกับคนชั้นกลางร่วมกันเรียกร้องให้เพิ่มโทษผู้ละเมิดกฎหมาย แต่กลับวางเฉยต่อความไร้ประสิทธิภาพในการบังคับใช้ เท่ากับยิ่งเปิดช่องให้แมลงตัวใหญ่บินหลุดจากใยแมงมุมได้ง่ายขึ้น เหลือแต่เหยื่อของโครงสร้างอันอยุติธรรมเท่านั้นที่ต้องรับโทษหนักที่สื่อและคนชั้นกลาง (รวม ส.ส. ที่เป็นผู้ออกกฎหมายด้วย) ตราขึ้นไว้ใช้แก่คนอื่น

ไม่ว่าในสังคมอะไร ก็ล้วนมีโครงสร้างอันอยุติธรรมแฝงฝังอยู่ในระบบทั้งสิ้น จะแตกต่างกันในแต่ละสังคมก็เพราะลักษณะเฉพาะของสังคมนั้นๆ การหลับตาให้มันทำให้การผ่อนคลายในวันข้างหน้ากลายเป็นความรุนแรง

โดยเฉพาะบุคคลซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทุกระดับ ควรคำนึงถึงโครงสร้างอันอยุติธรรมให้ดี จะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างไร จึงจะไม่ซ้ำเติมความอยุติธรรมที่เขาได้รับอยู่ให้หนักยิ่งขึ้น