ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ปลดฮิญาบ – รัฐไทยอันตรายใต้เงื้อมมือกลุ่มสุดโต่ง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

หลังจากพระปัตตานีรวมตัวต่อต้านระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่ให้เด็กโรงเรียนอนุบาลปัตตานีเรียนหนังสือโดยแต่งตัวตามหลักศาสนาอิสลามได้ไม่กี่วัน

รัฐมนตรีศึกษาฯ ก็ออกคำสั่งที่เปิดทางให้วัดปลดฮิญาบของเด็กโรงเรียนนั้นไปทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้นคือยกเลิกระเบียบที่อนุญาตให้เด็กใส่ชุดตามหลักศาสนาเข้าเรียนอย่างสมบูรณ์

จากจุดตั้งต้นที่เด็กอนุบาลมุสลิมแต่งตัวไปเรียนตามกฎหมายที่กระทรวงศึกษาฯ กำหนด

ความไม่พอใจของคนพุทธบางส่วนกลายเป็นเหตุให้รัฐบาลจากการรัฐประหารยกเลิกกฎหมายที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2551 ถึงขั้นที่อนุญาตให้วัดกำหนดวิธีแต่งกายของเด็กอิสลามในโรงเรียนซึ่งอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ทั่วประเทศเกือบสิ้นเชิง

ขณะที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2551 ถึง 2557 เข้าใจความสำคัญของสิทธิในการศึกษาและเสรีภาพในการนับถือศาสนาจนยืนหยัดขจัดเงื่อนไขที่กีดกันเด็กศาสนาอื่นจากการเรียน คำสั่งของรัฐมนตรียุคนี้กลับหมุนนาฬิกาประเทศถอยหลังสู่ยุคที่ห้ามเด็กไม่ให้เรียนหนังสือได้ หากแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาออกมา

ไม่มีคำชี้แจงจากรัฐมนตรีว่าออกกฎหมายให้การแต่งกายบนที่ธรณีสงฆ์เป็นไปตามที่วัดสั่งเพราะอะไร เพราะถึงแม้มหาเถรสมาคมจะผลักดันเรื่องนี้จนมีมติตั้งแต่ปี 2554

แต่มติองค์กรศาสนานั้นไม่ใช่กฎหมาย และจะเป็นมหาเถรสมาคม, บาทหลวง หรือจุฬาราชมนตรี ก็ล้วนไม่มีอำนาจบังคับเรื่องทางโลกเหมือนกัน

ถ้ารัฐมนตรีอ้างว่าห้ามเด็กนักเรียนอิสลามแต่งตัวเพราะมติมหาเถรสมาคม ข้อเท็จจริงคือสมาคมต้องการเกินกว่าเครื่องแบบนักเรียนมาก

เพราะข้อเรียกร้องทั้งหมดคือวัดต้องเป็นผู้กำหนดระเบียบโรงเรียนและสถานที่ราชการบนที่ธรณีสงฆ์ และสงฆ์ต้องมีส่วนในการแต่งตั้งผู้บริหารทุกโรงเรียนและส่วนราชการ

หากเอามติมหาเถรสมาคมที่ 2/2554 เป็นตัวตั้ง รัฐบาลจะทำอย่างไรหากสมาคมของศาสนาอื่นขอกำหนดระเบียบและเลือกผู้บริหารของทุกหน่วยงานบนที่ดินตัวเองเหมือนคณะสงฆ์ไทย และถ้ารัฐทำตามทุกอย่างที่องค์กรศาสนาเสนอ ประเทศไทยจะต่างตรงไหนจากการปกครองด้วยกฎหมายศาสนาแบบรัฐอิสลาม?

แน่นอนว่ารัฐมนตรีศึกษาฯ มีอำนาจเลิกระเบียบกระทรวงได้ตามใจ

แต่การที่รัฐให้วัดมีอำนาจเรื่องเครื่องแบบนักเรียนจะสร้างเหตุยุ่งยากสองข้อ

ข้อแรกคือ รัฐทำให้คณะสงฆ์ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคของสังคมพหุวัฒนธรรม

ข้อสองคือ รัฐทำให้วัดขัดแย้งกับมุสลิมทั้งที่แต่งและไม่แต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม

ขณะที่ความไม่พอใจของคนพุทธบางส่วนที่เด็กอนุบาลปัตตานีมาเรียนในชุดตามหลักศาสนานั้นเป็นเรื่องในรั้วโรงเรียนที่ลามเป็นเรื่องวัด

คำสั่งของรัฐมนตรีเสี่ยงจะทำให้ความขุ่นมัวของคนหยิบมือเดียวที่อนุบาลปัตตานีลุกลามเป็นความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนสองศาสนาทั้งแผ่นดิน

ด้วยการตัดสินใจของรัฐมนตรีเพื่อสนองแรงกดดันทางการเมืองในพื้นที่ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าคนพุทธเห็นด้วยกี่คน

รัฐบาลทำลายโอกาสที่คณะสงฆ์จะเป็นตัวอย่างของการสร้างสังคมเปิดซึ่งเป็นทิศทางของทุกสังคมในโลกสมัยใหม่

มิหนำซ้ำยังผลักให้วัดเผชิญความไม่พอใจจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางศาสนาในสังคม

คำถามคือ ทำไมรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารจึงคิดว่าความเป็นโรงเรียนบนที่ธรณีสงฆ์เป็นเหตุให้ต้องยกอำนาจเรื่องเครื่องแบบนักเรียนให้วัดตามที่คนบางกลุ่มต้องการ?

ใครๆ ก็รู้ว่าคุณประยุทธ์เปลี่ยนรัฐมนตรีศึกษาฯ ไปสามคนในสี่ปี และนอกจากนายพลที่เป็นรัฐมนตรีช่วยตั้งแต่วันแรกที่คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ รัฐมนตรีคนอื่นก็อยู่ในตำแหน่งราวหนึ่งปีเท่านั้น การแต่งตั้งคนที่ไม่พร้อมเรื่องงานจึงอาจเป็นเหตุของเรื่องนี้ แต่ไม่ควรที่ความเขลาของรัฐมนตรีจะสร้างปัญหาให้กับสังคม

โดยปกติแล้วคำว่า “ที่ธรณีสงฆ์” ทำให้คนเข้าใจว่าหมายถึงที่ดินของวัดซึ่งวัดจะทำอะไรก็ได้ตามใจ แต่ที่จริงที่วัดหรือวัดมาจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม วัดและที่วัดจึงเป็นสาธารณสมบัติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่คิดแม้แต่นิดเดียวว่าที่คือกรรมสิทธิ์ของพระแบบเจ้าสัวหรือเจ้าที่ดินเอกชน

ด้วยวิถีชีวิตที่ไกลวัดของคนปัจจุบัน คำว่า “โรงเรียนบนที่ธรณีสงฆ์” ชวนให้นึกถึง “โรงเรียนวัด” ซึ่งเอื้อให้เกิดมโนภาพว่าวัดเป็นเจ้าของโรงเรียน, เจ้าอาวาสคุมเด็กสวดมนต์ทุกเช้า ส่วนคณะสงฆ์จัดงบฯ อุปถัมภ์นักเรียน ทั้งที่จริงๆ โรงเรียนวัดคือโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาฯ เช่าที่วัดมาจัดการเรียนการสอนเท่านั้นเอง

บันทึกของนักเรียนอนุบาลปัตตานี กรณีไม่สามารถคลุมฮิญาบเรียนได้
จาก Facebook : Soraya Jamjuree

พูดอย่างตรงไปตรงมา วัดสัมพันธ์กับโรงเรียนบนที่ธรณีสงฆ์ในฐานะเจ้าที่ดินซึ่งอาจอยู่ในเขตวัดหรือไกลออกไปตามที่มีผู้บริจาค แต่โรงเรียนวัดหรือโรงเรียนบนที่ธรณีสงฆ์นั้นเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนั้นโรงเรียนก็จ่ายค่าเช่าให้วัดโดยงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน

ถ้าการเช่าที่วัดกลายเป็นสาเหตุให้กระทรวงศึกษาฯ อนุญาตให้วัดกำหนดเรื่องเครื่องแบบนักเรียนอนุบาลได้ จะทำอย่างไรหากเจ้าที่ดินรายอื่นขออำนาจเรื่องการตั้งเงื่อนไขในการรับเด็กเข้าเรียนลักษณะเดียวกัน?

ถ้าที่ดินของศาสนาเป็นเหตุให้ออกระเบียบที่กระทบสิทธิทางการศึกษาและเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้ จะทำอย่างไรหากโรงเรียนคาทอลิกให้เด็กพุทธถอดพระเครื่องหรือสัญลักษณ์ศาสนาก่อนเล่าเรียน?

หนึ่งในปฐมเหตุให้กระทรวงศึกษาฯ ตั้งโรงเรียนบนที่วัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน และด้วยเหตุที่ชุมชนหล่อเลี้ยงวัดผ่านทอดกฐิน, ใส่ซอง, เช่าเมรุ ฯลฯ วัดจึงเก็บค่าเช่าจากโรงเรียนในอัตราถูกมาก เพราะการศึกษาคือสาธารณประโยชน์สู่ความงอกเงยของชุมชนซึ่งเป็นคุณต่อวัดในบั้นปลาย

ทำไมวัดสมัยร้อยกว่าปีที่แล้วแนบแน่นกับชุมชนจนช่วยให้ลูกหลานคนในบริเวณนั้นมีโอกาสเรียนหนังสือยิ่งขึ้น ขณะที่ในปี 2561 วัดกับชุมชนจึงแยกตัวจากกัน หลงลืมว่าที่ดินของวัดพึงใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และการเรียนของเด็กคือประโยชน์สาธารณะที่วัดไม่ควรได้ชื่อว่าขัดขวางทุกกรณี

สถานะของพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไรหากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จดจำว่าวัดและพุทธบริษัทบางส่วนร่วมมือกันขจัดความเป็นอิสลามให้พ้นหูพ้นตาโดยใช้การเรียนของเด็กมุสลิมเป็นเครื่องมือ?

นอกจากรัฐมนตรีศึกษา จะมีคำสั่งที่เอื้อต่อการปลดฮิญาบในอนุบาลปัตตานีเพื่อตอบสนองคนพุทธที่ไม่พอใจเมื่อเด็กห้าขวบมาเรียนตามกติกาที่กฎหมายกำหนด คำสั่งดังกล่าวยังมีผลต่อ “โรงเรียนบนที่ธรณีสงฆ์” ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของโรงเรียนรัฐ

จนน่าวิตกว่าการปลดฮิญาบจะลุกลามไปทั้งแผ่นดิน

บันทึกของนักเรียนอนุบาลปัตตานี กรณีไม่สามารถคลุมฮิญาบเรียนได้
จาก Facebook : Soraya Jamjuree

เท่าที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานระบุ ประเทศไทยปี 2553 มีโรงเรียนบนที่ธรณีสงฆ์ 21,125 แห่ง โดยเป็นโรงเรียนประถมและมัธยมอย่างละ 20,907 และ 218 แห่ง ตามลำดับ คำสั่งให้วัดร่วมกำหนดเครื่องแบบนักเรียนจึงทำให้เด็กมุสลิมเสี่ยงถูกปลดฮิญาบก่อนเข้าเรียนในโรงเรียนร้อยละ 67 จาก 31,424 แห่งทันที

คำถามที่คนไทยทุกคนควรถามคือ สมควรหรือที่ความไม่พอใจของคนบางกลุ่มในโรงเรียนอนุบาลปัตตานีจะเป็นกฎเกณฑ์ระดับกระทรวงที่ผลักดันให้วัดขัดแย้งกับคนอิสลามทั้งที่แต่งและไม่แต่งตัวตามหลักศาสนา

หรือแม้คนพุทธซึ่งไม่เห็นว่าการแต่งกายควรเป็นเหตุในการกีดกันโอกาสทางการศึกษาเล่าเรียน

นักวิชาการบางคนอธิบายว่าคนพุทธไม่ให้เด็กโรงเรียนอนุบาลปัตตานีแต่งตัวตามหลักศาสนาเพราะกลัวอิสลามจะครอบงำคนพุทธ

แต่การแต่งกายไม่เกี่ยวกับการครอบงำ เพราะต่อให้สามจังหวัดจะเคยห้ามเด็กมุสลิมสวมฮิญาบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมาหลายสิบปี จำนวนประชากรพุทธในพื้นที่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

คำอธิบายอีกแบบคือ คนพุทธเป็นประชากรส่วนน้อยในสามจังหวัดชายแดน และการที่เด็กอนุบาลแต่งตัวตามหลักศาสนาทำให้อิสลามเปลี่ยนจากสิ่งที่ถูกกดทับ (Absence) เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ (Presence) ซึ่งทำให้คนพุทธบางกลุ่ม “ตระหนัก” ว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อยยิ่งขึ้นจนเกิดความรู้สึกปกป้องตัวเองขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ต่อให้ปลดฮิญาบจากเด็กอนุบาลหรือหมุนพื้นที่ไปสู่ยุคสมัยที่ข้าราชการไม่ให้บริการชาวบ้านที่แต่งตัวแบบอิสลามหรือพูดมลายู การยกสถานะคนพุทธให้เป็นคนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้สำเร็จ

และแค่ออกไปตามตลาดหรือท้องถนน ความเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ก็จะปรากฏตลอดเวลา

ภายใต้ความพอใจของคนบางกลุ่มต่อการปลดฮิญาบในโรงเรียนอนุบาล การตัดสินใจดังกล่าวคือหลักฐานว่ารัฐยินยอมให้กลุ่มสุดโต่งทางศาสนามีอำนาจเหนือชายแดนใต้ยิ่งขึ้นไปแล้ว ส่วนคำสั่งให้วัดร่วมกำหนดเครื่องแบบนักเรียนชี้ว่ารัฐไม่คุ้มครองการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดอีกต่อไป

บันทึกของนักเรียนอนุบาลปัตตานี กรณีไม่สามารถคลุมฮิญาบเรียนได้
จาก Facebook : Soraya Jamjuree

ไม่ว่าผู้นำรัฐบาลจะรู้เรื่องนี้หรือไม่ รัฐมนตรีศึกษาฯ ทำให้ความขัดแย้งแนวราบที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มสุดโต่งในพื้นที่ยกระดับเป็นความขัดแย้งแนวดิ่งระหว่างคนต่างศาสนานอกพื้นที่ออกไป

เพราะเมื่อวัดยุ่งกับเรื่องการแต่งกายที่เป็นทั้งหลักศาสนาและอัตลักษณ์ ความไม่ลงรอยก็จะเป็นปัญหาระหว่างคนพุทธกับมุสลิม

ไม่มีใครไม่รู้ว่ารัฐบาลกับมหาเถรสมาคมมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เพราะความวุ่นวายกรณีสมเด็จช่วง, จับสึกสามพระพรหม หรือข่าว “ล้วงย่ามพระ” ล้วนเป็นเรื่องการใช้อำนาจรัฐซึ่งกระทบมหาเถรสมาคมทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ทางแก้ของปัญหานี้คือรัฐต้องปฏิบัติต่อมหาเถรสมาคมโดยให้เกียรติมากขึ้น ไม่ใช่ทำตามข้อเรียกร้องที่สร้างปัญหาระยะยาวแล้วคงพฤติกรรมต่อพระผู้ใหญ่แบบที่เคยเป็นมา

แม้ความขัดแย้งในชายแดนใต้จะดำรงอยู่มานับสิบปีจนมีผู้เสียชีวิตราว 7,500 ตน และมีผู้เกี่ยวข้องอย่างต่ำสามชั่วคน แต่รอยร้าวทางความรู้สึกยังไม่ได้ลุกลามถึงขั้นเป็นปัญหาอัตลักษณ์ของคนในชาติทั้งหมด

ขณะที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีเรื่องให้วัดคุมอิสลามเป็นเงื่อนไขที่ครบถ้วนในการนำสังคมไทยสู่ทิศที่น่ากังวล

โดยพื้นฐานแล้วคนพุทธกับคนมุสลิมไม่มีอะไรให้ขัดแย้งกัน ความแปลกแยกทางความรู้สึกเป็นบาดแผลที่ถูกสร้างจากกลุ่มสุดโต่งที่มีในศาสนาทั้งหมด

แต่คนพุทธกับคนมุสลิมส่วนใหญ่ไม่เคยขัดแย้งกันในชีวิตจริง

รัฐจึงไม่ควรให้ท้ายกลุ่มสุดโต่งในการกำหนดวาระและนโยบายอย่างการปลดฮิญาบอิสลาม