อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : สีสันที่ซีดจางไปตามกาลเวลา กับการสืบหาความจริงแท้ ของภาพแวนโก๊ะห์ ที่(อาจจะ)ถูกค้นพบใหม่ในไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ภาพวาด The Bedroom (1888) ของ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์, สีฟ้าบนผนังที่ปรากฎในภาพวาดในปัจจุบันอาจจะเกิดจากการซีดจางของสี

เมื่อไม่นานมานี้ มีเรื่องเด่นประเด็นร้อนที่เป็นที่สนอกสนใจในแวดวงศิลปะบ้านเรา รวมถึงลุกลามไปถึงเหล่าบรรดาชาวบ้านร้านตลาดและคนทั่วไปที่อยู่นอกวงการศิลปะไปด้วยเลย

นั่นก็คือข่าวที่อดีตนักร้องหญิงชื่อดังของไทยอย่าง หฤทัย ม่วงบุญศรี หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ อุ๊ หฤทัย (แต่ถ้าเป็นแฟนเพลงรุ่นข้าพเจ้าก็คงจะรู้จักเธอในชื่อ อุ๊ เปเปอร์แจม แหละนะ)

โดยข่าวรายงานว่า เมื่อหลายปีก่อน เธอซื้อภาพวาดเก่าเหมาโหลในราคาหลักพันบาทจากร้านขายของเก่าแห่งหนึ่ง เพื่อเอามาประดับบ้าน

แต่ในเวลาต่อมา เธอสงสัยว่าหนึ่งในภาพวาดเหล่านั้น อาจเป็นผลงานของหนึ่งในจิตรกรเอกผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh) ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนก็เป็นได้!

ถ้าจะให้วิเคราะห์ว่าภาพวาดนี้เป็นของแวน โก๊ะห์ จริงๆ หรือไม่นั้นก็ออกจะเฝือไปเสียหน่อย เพราะเท่าที่ผ่านมา ก็มีผู้เชี่ยวชาญในวงการศิลปะมากหน้าหลายตา ออกมาวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้เอาไว้มากโขแล้ว

แต่ถ้าจะไม่พูดถึงเสียเลยก็ออกจะเป็นการเสียของเกินไป เพราะไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เราก็ถือโอกาสเกาะกระแสกันบ้างอะไรบ้างก็แล้วกัน

โดยเราขอหยิบยกเอาประเด็นหนึ่งที่คนตั้งข้อสังเกตและถกเถียงเกี่ยวกับภาพวาดต้องสงสัยภาพนี้ นั่นก็คือ สีของภาพวาด ซึ่งเป็น “ภาพทิวทัศน์” ภาพนี้จืดจางและหม่นมัวเกินไป ไม่เหมือนภาพทิวทัศน์ภาพอื่นๆ ที่แวน โก๊ะห์ วาดขึ้น ที่มีสีสันสดใสเจิดจ้าแม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานแล้ว

ทำให้หลายคนฟันธงไปว่า ภาพวาดที่คุณอุ๊ หฤทัย ครอบครองอยู่นั้น ไม่น่าจะเป็นของแวน โก๊ะห์ จริงๆ ดังที่เธอว่า

แต่ถ้าจะให้เราฟันธงไปเสียอย่างนั้นเลย ก็ดูออกจะเป็นการด่วนสรุปไปเสียหน่อย

เพราะเรื่องราวหลายหลากในโลกนี้ ต่างก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้เพียงน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม

และอันที่จริง จะว่าไป ถึงแม้โดยส่วนใหญ่ ภาพวาดของแวนโก๊ะห์จะมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นตรงสีสันสดใส มีชีวิตชีวา แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพิถีถันและใส่ใจในการเลือกใช้สีและวัสดุที่ใช้ในการวาดภาพของจิตรกรเอกผู้นี้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ในปัจจุบัน ภาพวาดของแวน โก๊ะห์ แทบทุกภาพ จะยังคงมีสีสันที่สดใสอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสีที่เห็นในภาพจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเลย

เพราะโดยปกติ สีของภาพวาดนั้นก็เป็นสสารที่ย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อมรอบข้างตามปกติอยู่แล้ว

สีสันในภาพวาดที่เราเห็นว่ามันสดอยู่แล้ว เดิมทีในอดีต มันอาจจะเคยสีสดกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สีแดง ที่ในอดีตอาจเคยสดกว่า เมื่อผ่านกาลเวลามาแล้วมันก็อาจจะซีดจางลง หรือหายไปจากภาพวาดเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น ในการวิเคราะห์ภาพวาดเก่าแก่โบราณ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักวิจัยเองก็ต้องรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าไปในการวิเคราะห์ด้วย

ดังตัวอย่างที่ปรากฏในหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของแวน โก๊ะห์ อย่างภาพวาด The Bedroom (1888) นั่นเอง

โดยในปี 2013 มีการตั้งข้อสมมติฐานที่อยู่บนพื้นฐานของการตรวจสอบและค้นคว้าเป็นเวลาหลายปี ทั้งจากความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทพลังงานรายใหญ่ของโลกอย่าง Shell และเหล่าผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะห์ (Van Gogh Museum) ด้วยการตรวจสอบโดยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนไมโครสโคป และเครื่องเอ็กซเรย์ฟลูออเรสเซนต์สเปกโทรมิเตอร์ (เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณธาตุองค์ประกอบในสารตัวอย่าง) จนได้ข้อสันนิษฐานว่า สีดั้งเดิมบนผนังในภาพวาดนี้ ไม่น่าจะใช่สีฟ้าอ่อน (ภาพ 1) แต่น่าจะเป็นสีม่วงอ่อน (ภาพ 2) มากกว่า ที่ปัจจุบันปรากฏเห็นเป็นสีฟ้าอ่อนในปัจจุบันนั้น น่าจะเป็นเพราะสีเดิมซีดจางลงนั่นเอง

ในช่วงเปลี่ยนมาสู่ศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมเคมีเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล และผลิตสีวาดภาพอันหลากหลายออกมาขายเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่เคยผลิตและผสมสีกันเองในสตูดิโอ ศิลปินเริ่มหันมาซื้อสีวาดภาพสำเร็จรูปมาใช้ ซึ่งดูๆ ไปก็น่าจะสะดวกดี

แต่ข้อเสียก็คือ พวกเขาไม่รู้ว่าสีเหล่านี้จะมีความคงทนถาวรแค่ไหน ซึ่งบางสีก็อาจคงทนอยู่ได้นาน แต่บางสีก็อาจมีอายุสั้นก็เป็นได้

ซึ่งสิ่งนี้ก็อาจเกิดขึ้นกับสีม่วงที่แวน โก๊ะห์ ใช้วาดภาพผนังห้อง ในภาพห้องนอนในเมืองอาร์ลส์ หรือภาพ The Bedroom ของเขา อาจเพราะสีแดงที่เป็นส่วนผสมในสีม่วงอ่อนในภาพซีดจางจนเลือนหายไปหมดเสียก่อน (ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในตอนที่แวนโก๊ะห์ยังมีชีวิตอยู่เลยด้วยซ้ำ) เหลืออยู่แต่สีฟ้าอ่อนดังที่เห็นในภาพ

และในหลักทฤษฎีสี สีม่วง (ที่อยู่บนผนังห้อง) กับสีเหลือง (ที่อยู่บนเตียงนอนและเก้าอี้) นั้นเป็นสีคู่ตรงข้ามกัน ซึ่งตามหลักทฤษฎีแล้ว มันจะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

ดังนั้น ผนังสีม่วงจึงทำให้ภาพนี้นุ่มนวล ไม่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงแข็งกระด้างแบบในภาพที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งคู่สีที่ถูกค้นพบนั้นบ่งบอกถึงความต้องการของศิลปินในการแสดงออกถึงความรู้สึกสงบ กลมกลืน และอารมณ์แห่งการพักผ่อน นั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้สีคู่ตรงข้ามในภาพนี้ แสดงให้เห็นว่าแวน โก๊ะห์ ทำงานโดยยึดหลักทฤษฎีศิลปะตามแบบแผนในยุคนั้น

ภาพจำลองสีสันดั้งเดิมของภาพ The Bedroom ในระบบดิจิตอล ที่แสดงให้เห็นว่าผนังห้องในภาพดั้งเดิมอาจจะเป็นสีม่วงอ่อน

ถึงแม้ว่าเขาจะขึ้นชื่อในด้านการใช้สีสันสดใสมีชีวิตชีวา แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็วาดภาพโดยยึดตามหลักทฤษฎีสี ซึ่งถูกเขียนเป็นตำราขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ศิลปินหลายคนก็อ่านตำรานี้

แต่มีน้อยคนที่จะใช้สีสันได้อย่างกล้าหาญและโดดเด่นดังเช่นที่แวน โก๊ะห์ ทำ

ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้นี่เอง ที่อาจเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว แวน โก๊ะห์ อาจจะเป็นศิลปินผู้ทำงานอย่างมีระเบียบแบบแผนสูงมาก ซึ่งล้มล้างความเชื่อที่ว่า เขาเป็นแค่ศิลปินอารมณ์รุนแรงที่ปาดป้ายสีสันลงบนผ้าใบไปตามความรู้สึก แต่อันที่จริงแล้ว แวน โก๊ะห์ อาจเป็นศิลปินที่มีความรู้ ทักษะ และพื้นฐานในการทำงานศิลปะอย่างสูง ทั้งในด้านการใช้องค์ประกอบและสีสัน และทำงานด้วยการวางแผนอย่างรอบคอบมากกว่าจะทำไปตามสัญชาตญาณแต่เพียงอย่างเดียว

อนึ่ง ภาพจำลองสีสันดั้งเดิมของภาพ The Bedroom ที่ทำขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบดิจิตอล จากการวิจัยครั้งนี้ ถูกจัดแสดงเคียงคู่กับภาพวาดของจริง ในนิทรรศการที่จัดขึ้นพิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะห์ อีกด้วย

อนึ่ง บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาเขียนขึ้นเพื่อสรุป ตัดสิน หรือฟันธงในเรื่องนี้แต่อย่างใด ผมเพียงแต่ยกกรณีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ศิลปะขึ้นมาเปรียบเทียบ เพื่อชวนคิดเล่นๆ สนุกๆ เสียมากกว่า

ส่วนประเด็นที่ว่า ภาพของคุณอุ๊ หฤทัย นั้นจะเป็นภาพของแวน โก๊ะห์ จริงหรือไม่นั้น ก็ต้องแล้วแต่วิจารณาณของแต่ละคน หรือไม่ก็คงต้องปล่อยให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์นั่นแหละนะ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://nyti.ms/2sZEsbj