กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “ใครฆ่ารถไฟฟ้า” ใครมอบความหายนะให้มัน?

หนุ่มสาวคู่รักคู่หนึ่ง ไปทานอาหารค่ำกันที่ภัตตาคารสุดหรู ใจกลางเมือง

คืนนี้เป็นคืนที่ทั้งสองคบหาดูใจกันมาครบหนึ่งเดือน

อาหารเลิศรส ดนตรีคลอเบาๆ จิบแชมเปญใต้แสงเทียน

ทั้งสองสบสายตากันเป็นระยะๆ

ประหนึ่งว่า คืนนี้จะเป็นอีกคืนที่อยู่ในความทรงจำของเราสองไปอีกนานแสนนาน

แชมเปญที่วางไว้ก็ใกล้จะหมดขวดแล้ว

แก้มฝ่ายหญิงเริ่มแดง ด้วยไอร้อนของแชมเปญ ที่ทำปฏิกิริยากับร่างกาย

ชายหนุ่มเอ่ยปาก “เรากลับกันเถอะ”

ฝ่ายหญิงไม่ตอบอะไร ได้แต่ยิ้มและพยักหน้า

ทั้งสองขึ้นรถสุดหรูของฝ่ายชาย และขับออกไปด้วยความรวดเร็ว

จนรถมาจอดที่ “คอนโดฯ” ของฝ่ายชาย

ทั้งคู่หันมาสบตากัน แววตาของชายหนุ่มบ่งบอกถึงความ “ตื่นเต้น”

ชายหนุ่มเอ่ยปากถามหญิงสาวคู่รัก

“คุณสนใจจะดูจรวดของผมมั้ย”

 

“ปีเตอร์ ทีล (Peter Thiel)” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท “เพย์พาล (Paypal)”

ฟินเทค (Fintech) เจ้าแรกๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จมหาศาล

และเป็นผู้เขียนหนังสือขายดี ชื่อว่า “From Zero to One”

เคยบอกเอาไว้ในหนังสือว่า

“โลกใบนี้ต้องการรถยนต์ที่บินได้ แต่เรากลับได้ 140 ตัวอักษร”

งง ใช่มั้ยครับ แหะๆ พวกคนฉลาดๆ เวลาพูดอะไรก็จะเป็นแบบนี้แหละครับ

เขียนแล้วอ่านรู้เรื่องคนเดียว

จริงๆ แล้ว ปีเตอร์ ทีล นั้นมีความอัดอั้นกับกระแสบริษัทเกิดใหม่

หรือที่เรียกว่า “สตาร์ตอัพ (Start-Up)” ที่ประเทศอเมริกาอยู่ไม่น้อย

เขาคิดว่า บริษัทอย่าง “ทวิตเตอร์ (Twitter)” ที่เป็นช่องทางให้คนได้สื่อสารกันผ่าน 140 ตัวอักษร

หรือแม้แต่บริษัทอย่าง “เฟซบุ๊ก (Facebook)” เอง ที่มีวิศวกรเก่งๆ มากมาย

แต่กลับใช้ความรู้ความสามารถไปกับปัญหาที่ไม่ช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น

“ทำอย่างไรให้คนกดลิงก์โฆษณาได้มากขึ้น”

“ปุ่ม “sign in จะเป็นสีอะไรดี ทำให้คนอยากสมัครเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้น (ปัจจุบันสรุปว่าเป็นสีเขียว)”

ปีเตอร์ ทีล คิดว่า เรามีสิ่งเหล่านี้มากพอแล้ว ที่คนเราใช้กันอยู่ในอินเตอร์เน็ต

กลับกัน โลกนี้จะดีขึ้นได้ เราควรมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันมากกว่าแค่ “โลกไซเบอร์”

เช่น รถที่บินได้ หรือ ยาอายุวัฒนะ

ในมุมมองของ ปีเตอร์ ทีล ที่จริงแล้ว

โลกใบนี้ต้องการคนแบบ “โทนี่ สตาร์ต” ในหนังเรื่อง “ไอรอน แมน”

 

เมื่อสมัยที่ผมเพิ่งเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย “สแตนฟอร์ด” ในปี 2011

ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนบริษัท “เทสลา” รถยนต์ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง

เป็นโชว์รูมที่ตกแต่งแบบง่าย มีรถเทสลา จอดอยู่ตรงกลาง 2 คัน

และแน่นอน เรื่องราวของชายผู้นี้ ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ขนานนามเขาเป็น “ไอน์สไตน์คนที่สอง”

ชายหนุ่มวัยกลางคนอายุสี่สิบนิดๆ ที่มีชื่อว่า “อีลอน มัสก์”

ผู้ก่อตั้งบริษัท ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีของ “มนุษยชาติ” ถึงสองบริษัท

หนึ่งคือ “เทสลา (Tesla)” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สมรรถนะสูง ที่ใครๆ เห็นก็ต้องอยากได้

สองคือ “สเปซเอ็กซ์ (SpaceX)” ผู้ผลิตจรวดราคาย่อมเยา เป้าหมายพามนุษย์ไป “ดาวอังคาร”

ปัจจุบัน อีลอน มัสก์ ใช้เวลา “สี่วัน” ต่อสัปดาห์ ทำงานที่ “สเปซเอ็กซ์”

และอีก “สามวัน” ทำงานที่ “เทสลา”

บริษัทหนึ่ง ก็น่าจะเหนื่อยแย่แล้ว

ทำสองบริษัทเลยหรอ จะไหวได้อย่างไร ไม่เหนื่อยหรอ

ชาย “บ้างาน” ผู้นี้เคยแอบบ่นไว้ในหนังสือ “ชีวประวัติ” ของเขาว่า

“การกินข้าวเป็นอะไรที่เสียเวลาชีวิตมากๆ ถ้ามีใครสักคนที่คิดค้นวิธีการให้คนสามารถทำงานได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องกินข้าว ผมจะขอบคุณมาก”

แทนที่จะบอกว่าเหนื่อย อยากได้เวลาพักผ่อนมากขึ้น

กลับเป็น อยากได้เวลาทำงานมากขึ้น ไม่อยากจะกินข้าว

บ้าไหมล่ะครับเนี่ย เนิร์ดสุดๆ เลย

 

หลายๆ ท่าน คงจะรู้จักชื่อ “โทมัส อัลวา เอดิสัน”

ผู้ประดิษฐ์ “หลอดไฟ” ดวงแรกของโลกกันได้บ้าง

เอดิสันนั้นมีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณปี 1850 ถึงปี 1930

ที่น่าสนใจคือ ยุคที่เอดิสันมีชีวิตอยู่นั้น เป็นยุคที่ “นักประดิษฐ์” ชื่อดังอีกหลายท่านมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็น อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบล ผู้สร้างโทรศัพท์เครื่องแรกของโลก

หรือแม้แต่ “นิโคลา เทสลา” ผู้คิดค้นทฤษฎีเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า

แนวคิดต้นแบบของการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในปัจจุบัน

ช่างเป็นยุคสมัยที่น่าตื่นเต้นจริงๆ

คงจะไม่ต่างจากยุคนี้ ที่พวกเราเองก็ตื่นเต้นกับพลังของ “อินเตอร์เน็ต” ที่ทำให้โลกใบนี้เล็กลงอย่างไม่น่าเชื่อ

ในยุคที่ “การใช้ไฟฟ้า” เฟื่องฟูมากๆ ในช่วงปี 1900 นั้น

เชื่อมั้ยครับว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” ก็ได้ถือกำเนิดมาแล้วตั้งแต่ยุคนั้น

พร้อมๆ กับ “รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน”

ในยุคสมัยหนึ่ง รถยนต์ไฟฟ้า มีออกมาวิ่งบนท้องถนน มากกว่า “รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน” ด้วยซ้ำไป

ที่จริง รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนี้ อย่างที่หลายๆ คนตื่นเต้นกับบริษัท “เทสลา” ของ “อีลอน มัสก์”

แต่มันเคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

คำถามคือ “แล้วทำไมมันถึงหายไปจากท้องถนน” ล่ะ

บุคคลผู้มอบความหายนะให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในยุคนั้น

เขามีชื่อว่า “เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford)”

เพราะเขาคิดออกว่า จะผลิตรถยนต์ปริมาณมากๆ วันละหลายร้อยคันได้อย่างไร

ทำให้ “ราคา” ของรถนั้น ถูกลงอย่างไม่น่าเชื่อ

และเขาเลือกจะใช้วิธีการผลิตนี้กับ “รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน”

สร้างเป็นรถยนต์ที่ปฏิวัติวงการเดินทาง มีชื่อว่า “ฟอร์ด โมเดล T” เป็นที่นิยมไปทั่วโลก

และเป็นชัยชนะของ “รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิต “น้ำมัน” และ “รถยนต์ใช้น้ำมัน” ที่ยิ่งใหญ่ ครองโลก มาจนถึงปัจจุบันนี้

ในภาษาธุรกิจ เรียกว่า “Barrier to Entry” สูงมาก เนื่องจากการลงทุนที่สูงลิบ พฤติกรรมมนุษย์ที่คุ้นชิน

รวมไปถึงเหตุผลทาง “การเมือง” ที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีข้อได้เปรียบ

ใครที่คิดจะทำ “ธุรกิจรถยนต์” มาแข่งกับอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่เหล่านี้

จึงต้องมีความ “กล้า” และ “บ้าบิ่น” อยู่มากทีเดียว

 

“อีลอน มัสก์” อาจจะเป็นคนคนนั้น ที่ถูกส่งมา “ปฏิวัติ” วงการรถยนต์

เมื่อรู้ว่า ไม่ค่อยมีที่พึ่ง ทำเล็กๆ อาจจะเจ๊งได้ ไม่คุ้ม ก็ต้องทำใหญ่ วัดกันไปเลย

เขาตั้งโรงงานผลิตเองทุกอย่างจากศูนย์

ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ แบตเตอรี่ หรือแม้แต่แท่นชาร์จไฟที่เรียกว่า “Super Charger”

ทำเองทั้งหมด เพื่อที่จะ “ลดต้นทุน” แถมควบคุมคุณภาพได้อย่างที่ต้องการ

“เทสลา โมเดล 3” มียอดสั่งซื้อทะลุกว่า “แสน” คัน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

โลกทั้งโลกตอนนี้ พุ่งสายตาไปที่ “สายการผลิต” ของเทสลา

ตอนนี้ “ลุ้น” ว่า จะสามารถ “ผลิต” รถส่งได้ตามที่สัญญาไว้ในปี 2018 หรือไม่

อีลอน มัสก์ ก็ออกมาให้ข่าวติดตลกว่า ตอนนี้เขาย้าย “ออฟฟิศ” และ “ห้องนอน” ไปอยู่ใน “โรงงานผลิตรถ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ใครที่ชื่นชอบ “รถยนต์ไฟฟ้า” ก็คงต้องเอาใจช่วยชายผู้ “บ้าบิ่น” ผู้นี้ กันต่อไป

 

ทาลูลา ไรลีย์ (Talulah Riley) ดาราดัง แฟนสาวของ อีลอน มัสก์

ได้รับคำเชื้อเชิญจากเขาว่า “คุณอยากจะดูจรวดของผมมั้ย” ในค่ำคืนโรแมนติก

เขิน อาย หน้าแดง แต่ก็ตอบ “ตกลงค่ะ”

เมื่อเปิดประตูเข้าไปในห้องของ “อีลอน มัสก์”

ก็พบกับ “จอคอมพิวเตอร์” ขนาดใหญ่ มีรูป “จรวด” ของบริษัท “สเปซเอ็กซ์” ที่ อีลอน มัสก์ ภูมิใจนำเสนอ

“นี่ไง จรวดของผม เจ๋งไหมล่ะ”

…………

โคตรเนิร์ดครับ คนนี้ บอกเลย