เทศมองไทย : สงครามการค้า จีน-สหรัฐ และแมตธิว พอตทิงเกอร์

ยิ่งนับวันสภาพระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายิ่งกลายเป็น “คู่แข่ง” ในทาง “ยุทธศาสตร์” ไม่ใช่ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” มากขึ้นทุกที

ไม่ว่าในส่วนตัวของผู้นำ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกา จะอ้างว่าสนิทสนมชมชอบต่อตัวสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน มากมายเพียงใดก็ตามที

สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องของการทำสงครามการค้า แข่งกันตั้งกำแพงภาษี เพื่อกีดกันสินค้าของอีกฝ่ายหนึ่งออกจากตลาดของตนเอง ซึ่งส่อเค้าเป็นไปได้ว่าจะลุกลามบานปลาย กลายเป็นปัญหาของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมได้ในที่สุด

ผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้า ถ้าหากบานปลายกลายเป็น “สงครามการค้า” แบบเต็มรูปแบบขึ้นมาจริงๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ลำพังแค่ข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกในเวลานี้ ผลพวงที่จะเกิดขึ้นตามมาย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แน่นอน

นักวิเคราะห์หลายๆ คนแสดงทัศนะตรงกันว่า สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังสงครามการค้าที่กำลังก่อตัวอยู่ในเวลานี้ คือการ “ปิดสกัด” การพัฒนาไปสู่ความเป็นสุดยอดทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในทางด้านอุตสาหกรรมก้าวหน้าทั้งหลาย ที่สี จิ้น ผิง ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะทำให้สำเร็จให้ได้ภายในปี 2025 นี้

 

นั่นเป็นเพียงรูปธรรมในระดับ “ปรากฏการณ์” ที่เห็นได้ชัด แต่ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างมากที่ดำเนินไปแบบเงียบๆ แต่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันนี้

ตัวอย่างเช่น เรื่องยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” ที่ทรัมป์พูดถึงเอาไว้ในการประชุมสุดยอดตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค ที่นครดานัง ประเทศเวียดนามเมื่อปีที่แล้ว ที่เป็นการดึงเอาอินเดียตลอดจนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้วย ก็ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายขับเคี่ยวกับอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างชัดเจน

แมตธิว พอตทิงเกอร์ รองผู้ช่วยประธานาธิบดีและผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชีย ประจำทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หยิบยกเรื่อง “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” มาขยายรายละเอียดและความคืบหน้ากับผู้สื่อข่าวเมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา

รายละเอียดเพิ่มเติมของแผนยุทธศาสตร์ที่พอตทิงเกอร์บอกว่าอยู่ในขั้นตอนการนำมาปฏิบัติ ก็สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคี่ยวกันสร้างและสั่งสมอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี

แน่นอน ในมิติด้านความมั่นคง สิ่งที่ถูกตอกย้ำไว้เด่นชัดมากในยุทธศาสตร์นี้ ที่ให้ความสำคัญในการอำนวยให้ประเทศในภูมิภาค “ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่” สามารถปกป้องรักษาอธิปไตยของประเทศไว้ได้ และมีอิสรเสรีในการใช้ประโยชน์จากน่านน้ำและน่านฟ้าสากล “ซึ่งไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุม” ของชาติหนึ่งชาติใดนั้น

ไม่ว่าใครก็ตามคงคิดถึงปัญหาใหญ่ในทะเลจีนใต้ ที่กลายเป็นปมที่สางไม่ได้ แก้ไม่ตกตลอดมา

 

แต่ที่น่าสนใจกว่า เป็นมิติของยุทธศาสตร์ในเชิงเศรษฐกิจ “เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและรุ่งเรือง” ร่วมกันขึ้นในภูมิภาค ซึ่งพอตทิงเกอร์ชี้ว่า ส่งผลให้ประเทศอย่างไทยและชาติสมาชิกอาเซียนกลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญต่อสหรัฐอเมริกาขึ้นมา ทั้งในฐานะเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การผลิต และในแง่ของศักยภาพโดยรวมในฐานะตลาดและแหล่งลงทุน ที่น่าดึงดูดใจในอนาคตสำหรับนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

สิ่งซึ่งถือว่าเป็น “คำตอบ” โดยตรงของสหรัฐอเมริกาต่อโปรเจ็กต์ยักษ์ของจีนอย่าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ก็คือ โครงการพัฒนาและลงทุนด้านสาธารณูปโภคระดับ “คุณภาพสูง” ในภูมิภาค ที่พอตทิงเกอร์เล่าว่า กำลังมีการระดมเอา “กลไก” และ “เครื่องมือ” เดิมซึ่งเคยทำงานอยู่ใกล้ชิดกับรัฐบาลมาดำเนินการในด้านนี้

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี

 

แม้พอตทิงเกอร์จะยอมรับว่า ภายใต้ภาวะความขัดแย้งทางการค้าในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อไทยและอาเซียนอยู่บ้าง แต่ในระยะปานกลางและระยะยาวแล้ว สงครามการค้าอาจหมายถึงโอกาสสำหรับไทยและภูมิภาคนี้เลยทีเดียว

การค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคอาเซียนจะขยายตัวมากขึ้น กลายเป็นช่องทางใหม่เพื่อทดแทนการขาดหายไปของตลาดใหญ่อย่างจีน โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมไฮเทคและไอที พอตทิงเกอร์เชื่ออย่างนั้น พร้อมกับเปิดเผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานผู้แทนการค้ากำลังตระเวนเยือนประเทศในภูมิภาคนี้ เพื่อหาลู่ทางเพิ่มความร่วมมือเช่นนี้ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ที่ชวนให้เก็บไปคิดมากกว่านั้นก็คือ ตลอดเวลาที่พูดคุยกัน แมตธิว พอตทิงเกอร์ ไม่ได้พูดถึงเงื่อนไขการเมือง สิทธิมนุษยชน หรือประชาธิปไตยแม้แต่คำเดียวครับ