รายงานพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ/อนาคตใหม่ (?) หนีไม่พ้นวาทกรรม ‘ไพร่’

รายงานพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ

 

อนาคตใหม่ (?)

หนีไม่พ้นวาทกรรม ‘ไพร่’

 

“มาที่ตึกธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ สุขุมวิท ดูสภาพมนุษย์เงินเดือนรอบๆ มาทานอาหารช่วงพักเที่ยง ผมเรียกว่าไพร่สมัยใหม่ เราไม่ควรส่งลูกหลานเรียนเพื่อมามีสภาพเช่นนี้ครับ”

ข้างต้นนี้คือข้อความของ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (?) ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าถูกถล่มเละในโลกโซเชียล เพราะการใช้คำว่า “ไพร่สมัยใหม่” เท่ากับดูถูกมนุษย์เงินเดือน

กระทั่งเจ้าตัวต้องออกมาขอโทษ โดยอ้างว่าไม่ได้มีเจตนาจะดูถูกอาชีพนี้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีอยู่ แต่ต้องการสื่อว่าเราควรเรียนเพื่อเป็นผู้ประกอบการมากๆ ดีกว่าเรียนมาเหมือนๆ กันแล้วมาแย่งกันสมัครงาน

ในช่วงการเมืองร้อนระอุถึงกับต้องเผาบ้านเผาเมืองกินอาณาบริเวณตั้งแต่แยกราชประสงค์ไปจนถึงบริเวณรอบๆ นั้น ทุกคนทราบกันดีว่าพรรคการเมืองไหน สีไหน ที่เป็นเจ้าของวาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” ที่ปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชังทางชนชั้นในสังคมไทยอย่างสูงสุด

มาในปีนี้ 2561 วาทกรรม “ไพร่” ผุดโผล่ขึ้นมาอีก จากปากของคนที่เป็นถึงรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (?) ที่อ้างว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า (?)

วาทกรรมนี้สะกิดความรู้สึกของคนขึ้นมาอีกครั้ง และสะท้อนว่าความปรองดองคงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าวาทกรรมนี้ยังจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกครั้งในลักษณะปลุกให้คนรากหญ้าเกลียดชังคนชนชั้นอื่น ซึ่งเป็นวิธีหาเสียงที่รังแต่จะสร้างความแตกแยก

ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่คำพูดนี้มาจาก พล.ท.พงศกร เพราะว่าไปแล้วหากต่อจิ๊กซอว์กลับไป เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบและใกล้ชิดกับคุณทักษิณ ชินวัตร โดยได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งว่ากันว่าเข้ามารับตำแหน่งแบบอภินิหาร ก่อนจะถูกเด้งจากตำแหน่งในปี 2558 หลังจาก คสช.เข้าบริหารประเทศ

แม้ พล.ท.พงศกรจะออกมาแก้ตัวและขอโทษในภายหลังว่าไม่ได้ดูถูกอาชีพมนุษย์เงินเดือน อาชีพนี้ยังจำเป็นในการขับเคลื่อนประเทศ แต่นั่นก็น่าจะหลังจากได้ข้อคิดจากเสียงวิจารณ์ของหลายคน หาใช่เป็นความตระหนักรู้ด้วยตัวเองไม่

ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่า พล.ท.พงศกรไร้ความสามารถในการ “มองภาพใหญ่” อย่างรอบด้าน (ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับคนที่เป็นถึงรองหัวหน้าพรรค) ขาดความรู้ความเข้าใจว่า ในแต่ละสังคม ทุกอาชีพล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้งานหรือธุรกิจของสังคมนั้นๆ ขับเคลื่อนไป จะขาดใครไปไม่ได้ แม้แต่ฟันเฟืองที่เล็กที่สุด

รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (?) ผู้นี้อ้างว่า อยากให้คนไทยได้เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการมากๆ จะได้ไม่ต้องมาแย่งสมัครงานเป็นมนุษย์เงินเดือน

ก็ไม่เลว สำหรับความคิดที่อยากให้คนไทยมีทักษะเป็นผู้ประกอบการมากๆ แต่อย่าลืมว่าการจะเป็นผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ก็ต้องจ้างพนักงานมาช่วยอยู่ดี ตามขนาดของกิจการ ดังนั้น สุดท้ายแล้วผู้ประกอบการแต่ละรายก็ต้องมีลูกจ้างที่ต้องกินเงินเดือน

 

สตีฟ จ๊อบส์, บิล เกตส์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ประกอบการขนาดหลายหมื่นล้านไปจนถึงหลายแสนล้านดอลลาร์ ในทุกวันนี้ที่เด็กรุ่นใหม่อยากเอาอย่าง เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็ต้องจ้างมนุษย์เงินเดือนนับแสนคนมาช่วยขับเคลื่อนองค์กร แล้วคนที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้เขาก็ไม่เคยเห็นว่าลูกจ้างของพวกเขาเป็นไพร่สมัยใหม่ แต่เห็นว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่ช่วยให้องค์กรเจริญก้าวหน้า

ทั้งสตีฟ จ๊อบส์, บิล เกตส์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ถ้าว่ากันตามศัพท์สมัยใหม่ก็คือพวกอายุน้อย 100 ล้าน คือรวยตั้งแต่ยังเด็กและเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย ซึ่งเด็กทั่วโลกรวมทั้งเด็กไทยอยากเอาอย่าง โดยเฉพาะพวกที่ขี้เกียจเรียนมักนำมาเป็นข้ออ้าง

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มีใครสักกี่คนในโลกนี้ที่จะทำได้อย่างนั้นโดยไม่อดตายไปเสียก่อนระหว่างรอที่จะประสบความสำเร็จ เพราะจากสถิติที่วิจัยกันมาเกือบครึ่งที่ล้มเหลวเพราะมองโลกสวยเกินไป คิดว่าจะเป็นสตีฟ จ๊อบส์ หรือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กกันได้ง่ายๆ

เคล็ดลับของการเป็นผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จหรือเสี่ยงน้อยที่สุด (กรณีที่ไม่ได้เป็นทายาทสืบทอดกิจการของครอบครัว) ก็คือทำงานเป็นลูกจ้างเขาไปก่อน เพื่อเรียนรู้ของจริง เพื่อให้ได้รู้ขั้นตอนและวิธีการทำธุรกิจ จากนั้นจะต่อยอดพลิกแพลงอย่างไรก็อยู่ที่กึ๋น

อีกอย่าง ถ้าโลกนี้หรือประเทศนี้มีแต่เถ้าแก่ มีแต่ผู้ประกอบการ หรือมีผู้ขายมากกว่าผู้ซื้อ แล้วสินค้าและบริการที่ผลิตออกมาจะเอาไปขายใคร ที่สำคัญ ถ้าทุกคนไม่ยอมเป็นลูกจ้างใคร แล้วเราจะเอาแรงงานจากไหนมาช่วยทำงานหรือขยายกิจการ

หากพิจารณาเนื้อแท้เศรษฐกิจแล้ว มนุษย์เงินเดือน (หรือเงินรายวัน) นี่แหละที่ช่วยให้เศรษฐกิจสะพัดเป็นวงกว้างจากการที่พวกเขาใช้จ่าย

 

สําหรับพรรคอนาคตใหม่ (?) นี้ เห็นหลายคนฮือฮาและตั้งความหวังไว้มากเพราะเป็นของใหม่ ถ้าเปรียบไปก็เหมือนหุ้น IPO หรือบริษัทที่เพิ่งนำหุ้นออกขายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นบริษัทมหาชน หรือที่เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น

ธรรมชาติของหุ้น IPO นั้นจะมีการเก็งกำไรสูงมาก เล่นแล้วเร้าใจได้กำไรดี หุ้นบางตัวเข้าเทรดวันแรกในตลาดหุ้น ราคาพุ่งขึ้น 50-70% จากราคาจองก็มี (หุ้นไอพีโอไม่ถูกกำหนดราคาเพดานหรือฟลอร์)

นักลงทุนที่อยากได้กำไรงาม ก็ต้องหาทางซื้อหุ้นในราคาจองก่อนเข้าเทรดในตลาดให้ได้

ใครได้หุ้นไอพีโอราคาจอง รับรองว่าโอกาสขาดทุนแทบไม่มี เพราะราคาหุ้นไอพีโอส่วนใหญ่มักถูกกำหนดราคาสูงกว่าพื้นฐาน ซึ่งผู้กำหนดราคาก็คือที่ปรึกษาทางการเงิน ที่หลายครั้งก็ไม่สามารถประเมินราคาได้น่าเชื่อถือเสมอไป เพราะข้อมูลที่นำมาประกอบการกำหนดราคา เป็นผลประกอบการสั้นๆ ก่อนเข้าตลาดหุ้นแค่ 2-3 ปี เผลอๆ ข้อมูลล่าสุดของปีสุดท้ายนั้นอาจถูกตกแต่งให้ดูดีเป็นพิเศษก่อนเข้าตลาด

ที่สำคัญที่สุด คนที่จะรู้ว่ามูลค่าแท้จริงของหุ้นควรจะเป็นเท่าไหร่ก็คือเจ้าของกิจการ

ยิ่งราคาหุ้นขึ้นไปมากเท่าไหร่ มูลค่าความมั่งคั่งของบริษัทก็ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

นักลงทุนประเภทวีไอ (value investor) หรือนักลงทุนระยะยาวที่เน้นคุณค่าแท้จริงของหุ้นมักจะหลีกเลี่ยงหุ้นไอพีโอ ไม่เข้าไปไล่ซื้อในกระดาน หรือถ้าได้ในราคาจองมา ก็มักจะรีบขายทิ้งในไม่กี่วัน จากนั้นจะรอดูในระยะยาวเพื่อหามูลค่าแท้จริงของมัน เพราะตามหลักแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งพื้นฐานของบริษัท (กำไร-ขาดทุน) จะสะท้อนราคาที่ยุติธรรมหรือควรจะเป็นออกมาเอง

แต่สำหรับแมลงเม่าที่เข้าไปไล่ซื้อตอนที่ราคาสูงมากแล้วก็มักจะขาดทุนปางตาย เพราะ “เจ้ามือ” เริ่มทิ้งของ

 

กรณีของพรรคอนาคตใหม่ (?) อาจได้เปรียบเพราะเป็นของใหม่ ยังไม่มีใครเห็นผลงานมาก่อน จึงสดใหม่ยิ่งกว่าหุ้นไอพีโอ เพราะหุ้นไอพีโออย่างน้อยก็ต้องมีผลประกอบการอย่างน้อย 2-3 ปีมาเป็นตัวเทียบเคียงเพื่อตีราคา

เมื่อไม่มีเกณฑ์ชี้วัดอะไรมาอ้างอิง ก็อาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมซื้อในราคาสูงกว่า “ราคายุติธรรม” หรือ fair value ค่อนข้างมาก

แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผลประกอบการจะเป็นตัวบอก fair value ใครซื้อสูงกว่า fair value มากไปก็เจ๊ง