คุยกับทูตโปรตุเกส ‘ฟรานซิสกู วาช ปาตตู’ ความสัมพันธ์ยาวนานกับไทย และ การคืนประชาธิปไตยตาม “โรดแม็ป”

คุยกับทูต ฟรานซิสกู วาช ปาตตู ฉลอง 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกส (3)

“ก่อนหน้านี้ผมมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและไทยไม่มากนัก ทราบเพียงว่าเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องเปลี่ยนความคิดจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อได้มาอยู่ที่นี่ เพราะประเทศไทยมีความสำคัญยิ่งกว่าเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว”

เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ฟรานซิสกู วาช ปาตตู (H.E. Mr.Francisco Vaz Patto) ตอบคำถามเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อบ้านเมืองของเราก่อนที่จะมาประจำประเทศไทยเกือบสามปีแล้ว

“ในโอกาสครบรอบ 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกสฉบับแรก ผมจึงจัดงานเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งที่กรุงลิสบอน เมืองหลวงของประเทศโปรตุเกสก็มีการจัดงานเฉลิมฉลองเช่นกัน เพื่อแสดงให้โลกได้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างโปรตุเกสและไทยที่ยืนยงมากว่า 500 ปีตราบจนทุกวันนี้”

“อันที่จริงคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-โปรตุเกสมากกว่าคนโปรตุเกส นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการต่อไปเพื่อให้คนโปรตุเกสได้รู้จักประเทศไทยตลอดจนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของเราให้มากยิ่งขึ้น” ท่านทูตกล่าว

“ดังเช่นงานเทศกาลไทย ซึ่งเปิดนิทรรศการอย่างยิ่งใหญ่ที่กรุงลิสบอนเมื่อไม่นานมานี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสที่กรุงเทพฯ และสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงลิสบอน”

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน ได้นำคณะนักนาฏศิลป์และนักดนตรีไทยจากกรมศิลปากรภายใต้โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในภูมิภาคยุโรปไปร่วมงานเทศกาลไทยของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ศาลาไทย ภายในสวนสาธารณะ Belem กรุงลิสบอน

มีการแสดงโขนชุดยกรบ การต่อสู้ด้วยพลองไม้สั้น รำชนไก่ ฟ้อนผาง การสาธิตวาดหน้าหุ่นให้แก่ผู้ที่สนใจ การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย การออกร้านขายอาหารไทยโดยชุมชนไทยในโปรตุเกส การสาธิตแกะสลักผักผลไม้ และสอนมวยไทยโดยค่ายมวยไทยท้องถิ่น

มีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานกว่า 10,000 คน

กิจกรรมข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมการทูตวัฒนธรรม ภายใต้โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในภูมิภาคยุโรปของกระทรวงการต่างประเทศโดยการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ระหว่างวันที่ 7-27 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาเนิ่นนาน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม

“โปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีจุดประสงค์คือการเผยแผ่ศาสนาและทำการค้าขาย อิทธิพลจากชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยา ที่เห็นได้ชัดคือขนมที่ทำจากไข่หลายชนิด รวมทั้งภาษาโปรตุเกสที่เข้ามาปะปนกับภาษาไทย ได้แก่ กัมประโด มาจากภาษาโปรตุเกสคือ compradore ปัง เรียกขนมปัง มาจาก Pao เลหลัง มาจาก leilao สบู่ มาจาก Sab?o กระดาษ มาจาก carta เป็นต้น”

ถามถึงช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต ท่านทูตตอบทันทีว่า

“การเข้าพิธีวิวาห์กับ ดร.เควิน คอลเลียรี่ (Dr. Kevin Colleary) ที่ประเทศโปรตุเกส เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว”

“แต่จากความทรงจำของผมขณะอายุเพียง 7 ขวบ ช่วงที่สำคัญในชีวิตคือประเทศโปรตุเกสเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงหลังการสิ้นสุดของการปกครองแบบเผด็จการและสงครามในอาณานิคมปี ค.ศ.1974 โปรตุเกสได้กลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย อันนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก หากประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย ผมก็อาจจะไม่ได้มาอยู่ที่นี่ เป็นและทำงานอย่างอื่นในโปรตุเกส ไม่ได้เป็นนักการทูตเช่นทุกวันนี้ เป็นเพราะเรามีบรรพบุรุษที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทำให้โปรตุเกสเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก นั่นคือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจ”

ในปี ค.ศ.1910 มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์และจัดตั้งการปกครองแบบสาธารณรัฐ ตั้งแต่นั้นมาการเมืองโปรตุเกสดำเนินไปอย่างไร้เสถียรภาพ เกิดการปฏิวัติรัฐประหารทั้งจากฝ่ายทหารและพลเรือนมาโดยตลอด

จนกระทั่งวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1974 เกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบเผด็จการในโปรตุเกส ที่เรียกว่าการปฏิวัติดอกคาร์เนชั่น (The Carnation Revolution) เป็นการทำรัฐประหารครั้งแรกในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เพื่อล้มล้างระบอบเผด็จการชาตินิยมโปรตุเกส เอสตาโด โนโว (The Estado Novo dictatorship) ที่ปกครองประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ.1933

ส่งผลให้โปรตุเกสเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสังคมนิยมฟาสซิสต์เป็นระบอบประชาธิปไตย

ประชาชนจำนวนมากได้นำดอกคาร์เนชั่นสีแดงมาแจกให้ทหารติดปลายกระบอกปืน เพื่อเป็นการให้กำลังใจและสนับสนุนการโค่นล้มอำนาจเผด็จการครั้งนี้อย่างท่วมท้น

การปฏิวัติครั้งนี้จึงได้ชื่อว่า “การปฏิวัติคาร์เนชั่น” (Carnation Revolution) ที่เปิดประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ให้กับโปรตุเกส ส่วนพวกที่เคยอพยพหนีเผด็จการไปอยู่ตามประเทศต่างๆ อันเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ก็ย้ายกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง

หลังจากนั้นจึงเป็นยุคแห่งการพัฒนาของโปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือ EEC ซึ่งก็คือสหภาพยุโรป หรือ EU ในปัจจุบัน ทำให้โปรตุเกสได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในยุโรปและสังคมโลก

กลับมาสู่การเมืองการปกครองของไทย เกี่ยวกับแผนคืนประชาธิปไตยตาม “โรดแม็ป”

“ผมมีความสุขที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2019 คือต้นปีหน้าตามที่รัฐบาลประกาศ และกลับมาเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้ง และมีประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ เช่นเดียวกับโปรตุเกสดังที่ได้กล่าวมาแล้ว”

“เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนไทยและประเทศไทย เมื่อตัดสินใจเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย” ท่านทูตกล่าว

“ในระบอบประชาธิปไตย เราต้องเคารพในหลักการทั้งหมด รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตลอดจนสิทธิในการทำงานเนื่องจากเป็นความจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ให้มีความเป็นอิสระและเป็นธรรม (free and fair) อันเป็นงานส่วนหนึ่งของผม ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างไรสำหรับประเทศไทย และสำหรับเราทุกคน”

“โปรตุเกสเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งที่สะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรมมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 แม้ในบางช่วงเรามีวิกฤตเศรษฐกิจ หรือบางครั้งเราไม่พอใจต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล แต่เรามีทางออกและทางออกนี้ใช้เวลา 4 ปี นั่นคือการเลือกตั้ง เราสามารถลงคะแนนเสียงเพื่อคัดค้านนโยบายหรือผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกในสังคมทั้งหมด”

“โปรตุเกสเป็นประเทศเอกราช นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1128 เกือบพันปีในปัจจุบัน ขณะเดียวกันโปรตุเกสก็มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมายาวนานถึง 507 ปี ครั้งกรุงศรีอยุธยา เราทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาในหลายด้านและมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น โปรตุเกสจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยจะเกิดขึ้นตามกำหนดดังที่รัฐบาลได้ประกาศไว้อย่างหนักแน่นชัดเจนและไม่มีการเลื่อนต่อไปอีก ยกเว้นแต่จะมีเหตุการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้น”

ท่านทูตโปรตุเกส กล่าวตอนท้ายว่า

“ประชาธิปไตยอาจจะมีปัญหาในบางอย่าง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับระบอบอื่นๆ แล้ว ก็ถือว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด เป็นระบอบการปกครองที่เคารพมนุษย์มากที่สุด และเป็นระบอบการปกครองที่มนุษย์มีศักดิ์ศรีมากที่สุด การรัฐประหารในประเทศไทยปี ค.ศ.2014 จนถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ตอนนี้ได้เวลาสำหรับการเลือกตั้งแล้ว เพราะเมื่อประชาชนต้องการเป็นประชาธิปไตย จึงต้องมีการเลือกตั้ง ก็เท่านั้นเอง”