‘พระยาเพชรปาณี’ สร้างสรรค์ลิเก ที่บ้านย่านป้อมมหากาฬ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ลิเก” อย่างที่มีเสื้อผ้าหน้าผม วิธีเล่น วิธีร้อง ประกอบกับทั้งดนตรี แบบที่เราคุ้นๆ กันในปัจจุบันนั้น เพิ่งเริ่มมีสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เองนะครับ

ว่ากันว่า “ลิเก” มีที่มาจากการสวดแขกตามประเพณีในศาสนาอิสลาม ซึ่งบางท่านก็ว่า เข้ามาพร้อมกับมุสลิม นิกายชีอะห์ หรือที่เรียกกันว่า แขกเจ้าเซ็น จากเปอร์เซีย (คืออิหร่าน) ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

แต่บางท่านก็ว่า เพิ่งรับมาพร้อมการกวาดต้อนแขกมุสลิมปัตตานี ขึ้นมาที่กรุงเทพฯ (พร้อมปืนใหญ่พญาตานี ที่ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม) เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 นี้เอง

ถึงแม้ว่าผมจะคล้อยตามไปยังข้อสันนิษฐานอันหลัง ที่ว่าเพิ่งมีในยุคกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 (เพราะไม่มีร่องรอยหลักฐานในสมัยอยุธยา) มากกว่า

แต่ต่อให้เราอิมพอร์ตตรงจากเปอร์เซียเข้ามาแล้ว ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาก็ไม่เห็นจะเป็นไร

เพราะการสวดแขกที่ว่านี้ต่างก็เรียกว่า “ดิเก” (หรือ “ดจิเก”) อันเป็นที่มาของคำว่า ลิเก ไม่ต่างกัน

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่า เมื่อ พ.ศ.2423 ได้จัดให้มีการสวดดิเกถวายหน้าพระที่นั่ง เนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม)

อย่างไรก็ตาม การสวดดิเกในครั้งนั้นก็ไม่ใช่ลิเกแบบที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน เพราะไม่ได้เล่นเป็นเรื่อง แต่เล่นเป็นจำอวดชุด เหมือนกับ “ลำตัด” ที่มีต้นกำเนิดมาจากการสวดแขกไม่ต่างกัน

ตรอกพระยาเพชรฯ ตรงข้ามวัดราชนัดดาราม เคยเป็นที่ตั้งวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ตัวอาคารตั้งอยู่ใกล้ป้อมมหากาฬ หลังกำแพงทางขวามือริมคลองโอ่งอ่าง ข้ามคลองไปเป็นภูเขาทอง (ภาพและคำบรรยายของศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ ในหนังสือลิเก พิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2539)

แต่ข้อสันนิษฐานนี้ไม่ใช่นักวิชาการในยุคหลังคิดขึ้นมาเอง อย่างน้อยข้อความในลายพระหัตถ์ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีโต้ตอบกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งถูกนำมารวบรวม แล้วตีพิมพ์ในภายหลังภายใต้ชื่อ “สาส์นสมเด็จ” ดูจะช่วยยืนยันถึงพัฒนาการดังกล่าวของลิเกในกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี ดังความที่ว่า

“เล่นยี่เกเป็นเรื่องต่างๆ เหมือนอย่างละคร ไม่เล่นเป็นชุดๆ เหมือนเมื่อแรกเกิดขึ้น การเกี่ยวกับแขกก็เป็นเพียงตีรำมะนา ตอนแขกรดน้ำมนต์เบิกโรงแล้วก็ใช้ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ แต่ชื่อที่เรียกว่า ยี่เก นั้น พวกมลายูเมืองปัตตานีเขาเรียกว่า ดิเก หมายถึงการขับร้องลำนำต่างๆ ไม่เกี่ยวแก่การรำเต้น พวกที่เล่นรำเต้นเขาเรียกว่า มายง เห็นจะตรงกับพวกที่เรียกว่า ละครแขก มาแต่ก่อน เรื่องตำนานยี่เกมีมาดังนี้”

พูดง่ายๆ ว่า “ลิเก” เมื่อแรกมีในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีลักษณะอย่างที่เราคุ้นเคยกันเลยสักนิด ไอ้การเล่นเป็นเรื่องอย่างละครนั้นเพิ่งมีเอาภายหลัง การแต่งกายแบบเว่อร์วังอลังการทั้งหลายก็ด้วย โดยทั้งหมดนั้นเพิ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เท่านั้น

เมื่อแรกที่การละเล่นชนิดนี้แพร่หลายเข้าสู่สังคมคนกรุงเทพฯ ในวงกว้าง ก็จึงเกิดขึ้นหลายโรง หลายคณะ คล้ายๆ กับคณะตลกในปัจจุบัน

แต่โรงลิเกที่ได้ชื่อว่าสร้างสรรค์ และมักจะเชื่อกันว่าเป็นวิกลิเกเก่าแก่ที่สุดของสยาม แถมยังนำสมัยจนทำให้ ลิเกเกิดพัฒนาการมาจนมีรูปแบบที่เราคุ้นหูคุ้นตากันในปัจจุบันนี้ มีชื่อว่า “วิกลิเกพระยาเพชรปาณี”

%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%8104
ตัวลิเกคณะเพชรปาณี (ภาพเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ความอินดี้ของวิกพระยาเพชรปาณี ณ ขณะจิตนั้น เห็นได้ชัดจากเสื้อผ้าหน้าและผมของตัวละคร ซึ่งต่างไปจากลิเกคณะอื่น เพราะเดิมทีลิเกแต่งตัวธรรมดามีเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบน มีผ้าคาด เป็นเจ้าก็สวมสังเวียนปักขนนก แต่ลิเกวิกพระยาเพชรปาณี ได้ประดิษฐ์เครื่องแต่งกายเสียใหม่ให้ ชิคๆ คูลๆ เสียจนโดนใจผู้คนในสมัยนั้น

พระยาเพชรปาณีได้นำเครื่องแต่งกายข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง เครื่องแต่งกายแบบนี้ลิเกต้องสวมเครื่องยอดที่เรียกว่า ปันจุเหร็จยอด สวมเสื้อเยียรบับ นุ่งผ้ายก สวมถุงเท้าขาว ประดับนพรัตน์ราชวราภรณ์กำมะลอ ใส่สังวาลย์ แพรสายสะพายและโบว์แพรที่บ่า เป็นต้น จึงไม่แปลกอะไรที่บางทีก็มีคนเรียกลิเกของพระยาเพชรปาณี (และลิเกในยุคหลังลงมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้) ว่า “ลิเกทรงเครื่อง”

เกี่ยวกับเรื่องเครื่องแต่งตัวนี้ พระยาเพ็ชรปาณีทูล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า ที่ต้องให้ตัวลิเกทรงเครื่องเสียจนเว่อร์วังเบอร์นี้เป็นเพราะว่า

“แต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวย มักติดใจชอบไปดู มีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็มักพากันไปดูผู้หญิง ก็การตั้งโรงยี่เกเป็นข้อสำคัญอยู่ที่อยากให้มีคนชอบไปดูมาก จึงต้องคิดแต่งตัวยี่เกไปทางนั้น”
แต่ความอินดี้ของลิเกวิกนี้ยังไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะพระยาเพชรปาณีท่านยังได้นำเอาดนตรีเดิมๆ ของดิเกที่มีเฉพาะรำมะนา มาผสมกับปี่พาทย์เป็นเจ้าแรก (ซึ่งก็ได้กลายเป็นส่วนผสมอันกลมกล่อมของลิเกมาตราบจนทุกวันนี้) จนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงตรัสถามต่อไปด้วยว่า ทำไมลิเกวิกของพระยาเพชรปาณีจึงใช้แต่เพลงเชิดเป็นทั้งบทร้อง และกระบวนฟ้อนรำดูก็ไม่เอาใจใส่ให้เป็นอย่างประณีต

ซึ่งพระยาเพชรปาณีก็ทูลตอบแบบไม่มีเม้มกันเลยว่า

“คนที่ชอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำหรือปี่พาทย์ ชอบแต่ 3 อย่าง คือ ให้แต่งตัวสวยอย่าง 1 ให้เล่นขบขันอย่าง 1 กับเล่นให้เร็วทันใจอย่าง 1 ถ้าฝืนความนิยมก็ไม่ชอบดู”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงสรุปไว้ในลายพระหัตถ์ที่มีต่อสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“หม่อมฉันฟังอธิบายก็ต้องชมว่าแกช่างสังเกตและรู้จักจับความนิยมของคนดู จะติไม่ได้เพราะกิจที่เล่นยี่เกก็เพื่อจะหาเงินค่าดู เล่นอย่างใดจะได้เงินมากก็ต้องเล่นอย่างนั้น”

น่าสนใจนะครับ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ผู้ทรงความรู้ทางด้านดนตรีการ และนาฏศิลป์ระดับเกียรตินิยมเหรียญทองอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า การแสดงต่างๆ เหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมได้ ไม่เหมือนใครๆ ในสมัยนี้ที่แค่แต่งตัวเป็นทศกัณฐ์ด้วยชุดโขนไปแคะขนมครกก็ผิดแล้ว?

on-history

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระยาเพชรปาณีคงจะได้นำคณะลิเกของท่าน ไปเปิดการแสดงตามสถานที่ หรืองานเทศกาลต่างๆ ไม่ต่างไปจากคณะลิเกในปัจจุบันนี้

ภาพถ่ายใบเดียวของวิกลิเกพระยาเพชรปาณี คือภาพที่ถูกนำมาทำเป็นโปสการ์ด ถ่ายโดย นาย เจ. แอนโตนิโย (J.Antonio) เจ้าของร้านถ่ายรูปในกรุงเทพฯ ที่เข้ามาในสยามยุค ร.5 และพิมพ์หนังสือนำเที่ยวกรุงเทพฯ และสยามที่ชื่อ “Traveller Guide to Bangkok and Siam” เมื่อปี พ.ศ.2447

ถึงแม้ในหนังสือเล่มนี้จะไม่พูดเรื่องวิกลิเก และไม่มีภาพโปสการ์ดนี้ประกอบอยู่ในเล่ม แต่ก็พูดเรื่องภูเขาทอง และงานเทศกาลภูเขาทอง ในขณะที่บนโปสการ์ดแผ่นนี้ก็มีคำอธิบายภาพเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นไทยได้ว่า “มุมหนึ่งในงานเทศกาลวัดพระเกศ”

จึงเป็นไปได้ว่า นายอันโตนิโย น่าจะไปงานเทศกาลแล้วไปถ่ายรูปในงานนั้นมาทำโปสการ์ดแผ่นนี้ขึ้น หมายความว่า วิกลิเกของพระยาเพชรปาณีได้มีการเคลื่อนย้ายไปเปิดการแสดงในงานเทศกาลภูเขาทองด้วยเช่นกัน เพราะงานเทศกาลดังกล่าว เป็นงานชั่วคราวไม่ได้จัดตลอดทั้งปี

ส่วนวิกลิเกถาวรของพระยาเพชรปาณีตั้งอยู่ที่หน้าวัดราชนัดดา ซึ่งก็คือบริเวณบ้านของท่านเอง ดังมีหลักฐานปรากฏในลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังความที่ว่า

“เมื่อพระยาเพชรปาณี (ตรี) ตั้งโรงเล่นยี่เกให้คนดูอยู่ที่บ้านหน้าวัดราชนัดดา แกเชิญหม่อมฉันไปดูครั้งหนึ่ง และมานั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาเล่น”

ดังนั้น เมื่อผมอ้างถึงข้อความที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างถึงพระยาเพชรปาณี พระองค์ทรงทราบด้วยการเสด็จไปที่วิกลิเกที่บ้านของพระยาคนนี้ด้วยตัวของพระองค์เองเลยนะครับ ไม่ใช่ไปดูมาจากที่อื่น

ส่วนบ้านของพระยาเพชรปาณี ที่ว่าอยู่ตรงหน้าวัดราชนัดดานั้น ก็คือบริเวณที่ปัจจุบันเป็น “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ที่แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “ตรอกพระยาเพชร” ซึ่งก็หมายถึงพระยาเพชรปาณีนั่นแหละ ไม่ใช่ใครอื่น พื้นที่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบันจึงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่เป็นศูนย์กลางการกำเนิดลิเกไทย อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในอดีต

การที่รัฐท่านจะไล่ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ไปทำเป็นสวนสาธารณะ จึงไม่เพียงเป็นการไม่เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ชุมชน

แต่ยังเป็นการไม่เห็นคุณค่าของร่องรอยหลักฐานพลังการสร้างสรรค์ของสังคมไทยในอดีตด้วย

แต่ก็ไม่แปลกอะไรนะครับ เพราะรัฐท่านเคยอยากให้คนในสังคมรู้จักสร้างสรรค์เสียเมื่อไหร่กัน?