โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 133 : ขออย่าแค่เพียงชั่ววูบ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

การปลุกกระแสวันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ดูเข้าท่ากว่าปีก่อนๆ เริ่มจากสหประชาชาติกำหนดให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเน้นรณรงค์การลดและกำจัดขยะพลาสติก

ที่น่าสนใจคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปดึงกระทรวงต่างๆ รวม 20 กระทรวง ลดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟม ภายในหน่วยงานราชการหวังเป็นต้นแบบให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ขณะที่ภาคเอกชนแสดงท่าทีตอบรับการรณรงค์ครั้งนี้อย่างคึกคักไม่น้อยทีเดียว

หวังว่าการปลุกกระแสนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชั่ววูบ จบวันสิ่งแวดล้อมก็เป็นอันจบกันเหมือนเช่นปีที่ผ่านๆ มา

 

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าพลาสติกคือสิ่งประดิษฐ์ชิ้นเยี่ยมยอดของโลก ให้คุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ เพราะพลาสติกทดแทนการใช้วัสดุธรรมชาติแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไม้ เหล็ก อะลูมิเนียม กระดาษ ฯลฯ

ถ้าวันนี้ชาวโลกไม่มีพลาสติก พื้นที่ป่าไม้จำนวนเท่าไหร่จะถูกบุกรุกโค่นต้นไม้นำทำเป็นฝาบ้าน หลังคาคลุม ไปบดเป็นกระดาษห่อหุ้มอาหาร เป็นลังไม้ใส่ผัก ปลา ฯลฯ

ระเบิดภูเขาทำลายแหล่งธรรมชาติขุดหาแร่และโลหะอีกเท่าไหร่ เพื่อสกัดแร่โลหะมาแปรรูปเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ตู้เย็น โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ

พลาสติกจึงนับเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ชิ้นเยี่ยมยอด

ขณะเดียวกันเมื่อพลาสติกแปรสภาพเป็นขยะ ก็กลายเป็นตัวการสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงและลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

แต่ละปีขยะพลาสติกที่ถูกลมพัดหรือน้ำฝนชะลงสู่ท้องทะเลราว 9 ล้านตัน

ภายในปี 2593 ปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นในทะเลนาทีละ 60 ตัน

ขยะพลาสติกบางส่วนเป็นไมโครพลาสติก มีขนาดเล็กมาก เช่น เม็ดพลาสติกที่อยู่ในโฟมล้างหน้าหรือเครื่องสำอาง (plastic scrub) เส้นใยจากผ้าใยสังเคราะห์ที่ปล่อยออกจากเครื่องซักผ้า

ไมโครพลาสติกประเภทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลทำลายห่วงโซ่อาหาร เช่น แพลงตอน พืช ปลิงทะเล หอยสองฝา และไส้เดือนทะเล

แพลงตอนเหล่านี้กินไมโครพลาสติกเข้าไป เพราะไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นอาหารหรือไมโครพลาสติก

เมื่อสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น นกกินปลาหรือหอยที่มีแพลงตอนปนเปื้อนไมโครพลาสติก จะทำให้นกป่วยและตายในที่สุด เนื่องจากไมโครพลาสติกเข้าไปขัดขวางทางเดินอาหาร

ประเมินว่า ปีหนึ่งๆ ขยะพลาสติกคร่าชีวิตนกชายฝั่ง 1 ล้านตัว สิ่งมีชีวิตในทะเล 100,000 ตัว

ส่วนคนที่กินปลาและหอยซึ่งมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนเข้าไปสะสมในร่างกายมากๆ มีอาการเจ็บป่วยเป็นโรคเช่นกัน

 

สําหรับประเทศไทยช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละ 2 ล้านตัน การบริหารจัดการกับขยะให้กลับมาใช้ประโยชน์ทำได้แค่จิ๊บจ๊อยปีละ 5 แสนตัน

ขยะเหลือ 1.5 ล้านตัน กองทิ้งกระจายทั่วหมู่บ้าน ป่าละเมาะ ทุ่งนา กระจุกอยู่ในลำคลอง แม่น้ำ และลอยฟ่องอยู่กลางทะเล

ปรากฏการณ์ขยะพลาสติกอย่างนี้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศเจริญแล้ว เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศกำลังพัฒนา อยู่บนภูเขาสูง บนเกาะกลางมหาสมุทรสุดขอบฟ้า

รัฐบาลชุดนี้ประกาศให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ จึงถือเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว และภาคเอกชนตอบรับให้ความร่วมมือลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง

หลายบริษัทคุยโขมงว่าแต่ละปีรณรงค์ปลุกกระแสซื้อสินค้าไม่ใส่ถุงพลาสติกได้หลายล้านใบ

แต่ถึงกระนั้นคนไทยยังใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วรวมทั้งใช้โฟมใส่อาหารปีละ 45,000 ล้านชิ้น

คนไทยผลิตขยะเฉลี่ยต่อคนต่อวันสูงที่สุดในอาเซียน 1.76 กิโลกรัม

 

ทะเลไทยมีขยะพลาสติกมากที่สุดติดอันดับ 6 ของโลก

สถิตินี้ตอกย้ำความล้มเหลวโครงการรณรงค์เลิกลดใช้พลาสติกของบ้านเรา

การเลิกลดใช้พลาสติกจึงเป็นไปได้ยากที่จะสร้างความสำเร็จในระดับกว้างถ้าจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ซึมเข้าในสายเลือดของคนทั้งประเทศ

นิสัยรักความสะดวก เอาสบาย เมื่อไปซื้อของก็ให้แม่ค้าพ่อค้าใช้ถุงพลาสติกหรือโฟมใส่อาหาร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกระดับชั้นสังคม

การทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางยังเห็นเป็นเรื่องปกติ

ขยะเกลื่อนกระจายในหนองน้ำ คูคลอง แม่น้ำ ทะเล เป็นสิ่งประจักษ์ชัด

ระบบการคัดแยกขยะแทบใช้ไม่ได้ผลในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

 

สภาพเช่นนี้รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมและลดปริมาณการเกิดขยะพลาสติก

เริ่มตั้งแต่กระบวนการเก็บภาษีถุงพลาสติกในบางประเภท เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หลอดดูดอาหาร หรือโฟมใส่อาหาร

ร้านค้าทุกแห่งต้องเลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าฟรีๆ

ใครอยากได้ถุงต้องซื้อเอา

เงินรายได้จากการขายถุงพลาสติก ส่วนหนึ่งต้องหักภาษีนำเข้ากองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ทดแทนการใช้พลาสติก

ส่วนขวดพลาสติกก็เช่นกัน ต้องมีระบบมัดจำขวด จะคืนเงินให้ต่อเมื่อลูกค้านำขวดกลับมาที่ร้านหรือจุดรับคืน

รัฐบาลต้องเปิดทางให้ผู้ประกอบการที่มีความสามารถจัดเก็บขยะเข้ามาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำขยะออกจากชุมชนให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุดและนำไปคัดแยกรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่

โรงงานรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพสูงต้องได้รับการสนับสนุนด้านภาษี ความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆ

โรงเรียนทุกแห่งต้องมีหลักสูตรการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้นักเรียนคิดประเด็นสร้างสรรค์ในการลดเลิกใช้พลาสติก

รัฐสนับสนุนชุมชนจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อเก็บขยะและทำหน้าที่เป็นหน่วยรณรงค์ปลุกสำนึกการคัดแยกขยะแต่ละประเภท

ถ้ารัฐบาลเป็นตัวกลางจัดทำกระบวนการจนครบวงจรอย่างต่อเนื่อง มั่นใจได้ว่าขยะพลาสติกจะลดน้อยลงแน่นอน