เครื่องมือ ตรวจสอบ รูป รส กลิ่น เสียง โผฐฐัพพะ “ทฤษฎี” กับปฏิบัติ

ประหนึ่งว่า เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เป็นกิจของโลกและของโลกย์ ประหนึ่งว่า เรื่องสะอาด เรื่องสงบ เรื่องสว่าง เป็นเรื่องในทางธรรม

โลก และ ธรรม แบ่ง “สาม ส.” ออกจาก “สาม ก.”

เพราะเรื่องกินสัมพันธ์กับความอร่อย เอมโอช เพราะเรื่องกาม สัมพันธ์กับความสุขในทางเนื้อหนัง เพราะเรื่องเกียรติสัมพันธ์กับสังคมและการยกย่อง

อย่างที่เรียกกันว่าเป็น “โลกธรรม”

แต่ในความเป็นจริง ระหว่าง “สาม ก.” และ “สาม ส.” เป็นองค์เอกภาพ และหากบรรลุถึงเป้าหมายแห่ง “สาม ส.” ก็สามารถไปทำความเข้าใจกับ “สาม ก.” อย่างรู้เท่าทัน

ไม่หลงใหลได้ปลื้ม ไม่เตลิดเพริดกู่ไม่กลับ

ประเด็นยังอยู่ที่ความเข้าใจในเรื่องของ “โลก” ประเด็นยังอยู่ที่ความเข้าใจในเรื่องของ “สติ” และความรู้เท่าทันต่อ “ปัญหา”

นั่นก็อยู่ที่ว่าเหยียบเข้าใกล้พรมแดนแห่ง “สาม ส.” มากน้อยเพียงใด

การทำความเข้าใจต่อเรื่องของว่างและความว่าง จำเป็นต้องเริ่มต้นจากจุดของ กิน กาม เกียรติ เป็นสำคัญ หากไม่รู้เท่าทันอย่างถ่องแท้ก็ยากที่จะเหยียบไปยังพรมแดนแห่ง “สาม ส.” ได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

ต้องอ่าน

ฉะนั้น แม้จะเกี่ยวข้องกับ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ก็มีสติสัมปชัญญะมันก็เลยไม่เกิดความทุกข์ ถ้าไม่ระวัง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี้ จะเป็นทางมาของความทุกข์

หรือเป็นตัวความทุกข์เองไปในที่สุด

มันคือวุ่น ไม่ว่าง ตกนรกทั้งเป็น เพราะไม่เห็นว่า เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี้เป็นของว่าง เพราะเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี้มันก็รวมอยู่ในคำว่าโลก

และก็ได้บอกแล้วว่า โลกนี้เป็นของว่างโดยประการทั้งปวง

ทีนี้เมื่อไปหลงว่า ไม่ใช่ของว่าง ก็คือเป็นของยึดถือ พอเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ มากระทบจิต จิตก็กระเพื่อมเป็น ราคะ โทสะ โมหะ เพราะไม่มองเห็นว่า เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นั้นเป็นของว่าง

เพราะไม่มีปัญญาพอ หรือว่าเพราะมีสติไม่พอ ไม่ดึงเอาปัญญามาทันท่วงที ไม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องว่าง

เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงดูโลกโดยความเป็นของว่าง”

รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมารมณ์ 6 อย่างนี้เป็นของโลก นี่เป็นภาษาธรรมะ ภาษาธรรมะเมื่อจะระบุไปยังสิ่งที่เรียกว่าโลกแล้วก็แจกเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมารมณ์ 6 อย่างนี้

คือสิ่งที่เรารู้สึกได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวกาย ทางจิตใจ นั้นแหละคือโลกทั้งหมดนั้นเป็นของว่าง

ทีนี้ถามว่า “ปฏิบัติ” อย่างไร

เราจะต้องแบ่งออกเป็นตอนๆ คือ ในขณะปกติ ในเวลาที่ไม่มีอะไรมารบกวนอย่างนี้ หรือเวลาอื่นก็ตามที่ไม่มีอะไรรบกวน

เราต้องเหลือบตาดูมันบ้าง คือ พิจารณาดูมันให้เห็นเป็นของว่างนั่นเอง

อาตมาไม่อยากใช้คำว่า “วิปัสสนา” เสียแล้วเดี๋ยวนี้เพราะว่ามันมีความหมายเลอะเทอะเป็นอย่างอื่นไปแล้ว

จึงใช้คำว่า “เหลือบตาดู” มันบ้าง

การที่เหลือบตาดูมันบ้างนั่นแหละ คือ “วิปัสสนา” ดูว่าโลกนี้เป็นของว่างอย่างไร ดูมันให้ละเอียด

ดูมันให้ลึกซึ้ง ดูมันในที่สงบ สงัด จนเห็นชัดว่า โลกนี้เป็นของว่าง

นี้เรียกว่า เรามี “วิปัสสนา” มี “ปัญญา” แล้วซักซ้อมไว้เรื่อยๆ ให้มันชำนิชำนาญไว้เรื่อยในทางนี้

ทีนี้ก็มีการทดสอบว่า ปัญญาอย่างที่ว่านี้หรือวิปัสสนาอย่างที่ว่านี้มันมาทันท่วงทีเมื่อเราเห็นรูป ฟังเสียง ลิ้มรส ฯลฯ หรือเปล่า ในชั้นแรกๆ เราจะเห็นว่าเราแพ้มันทุกที คือ มันมาช้าไปทุกที มันรักเสียก่อนหรือมันโกรธเสียก่อนทุกที

ทีนี้เราก็เร่งมันให้เร็ว พยายามฝึกสติโดยวิธีไหนก็ตาม ที่เรียกว่าเป็นการฝึกสติ หัดสติให้สมบูรณ์ ไม่ให้ขี้เผลอ ให้มากขึ้นและดีขึ้น

สิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกนอกเหนือจากความจริงที่ว่า “โลก” นี้ “ว่าง” ก็คือ การเตือนให้ตระหนักในความสัมพันธ์ระหว่าง

“ปริยัติ” กับ “ปฏิบัติ”

นั่นก็คือ ทฤษฎีจะเป็นเรื่องไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงหากไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิบัติอย่างเป็นจริง

การปฏิบัติต่างหากที่เป็นเครื่อง “ทดสอบ”

ไม่เพียงแต่ทดสอบต่อลักษณะ “สัจธรรม” ของตัวทฤษฎีเท่านั้น หากแต่ยังทดสอบและยกระดับให้เจ้าตัวที่นำทฤษฎีมาเป็นเครื่องมืออีกด้วย

“ปฏิบัติ” จึงเป็นหินลองทองให้กับ “ทฤษฎี”