ศัลยา ประชาชาติ : บิ๊กดีลชิงไฮสปีด 2 แสนล้าน “ซีพี” เต็งจ๋า “BTS-ปตท.” พร้อมชน

ดูจากโฉมหน้า 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เข้าแถวซื้อซองประมูลวันแรก เริ่มจะเห็นเค้าลางว่าใครจะร่วมขบวนตีตั๋วลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาท รับสัมปทาน 50 ปี คุมโปรเจ็กต์เมกะเวิลด์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาของรัฐบาล คสช.

ว่ากันว่าจากนี้ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เปิดขายเอกสารประกวดราคา จะมีเอกชนไทย-เทศซื้อซองมากสุดไม่เกิน 10-12 ราย

ที่เปิดหน้าเปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็คือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS), บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซีพี), บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

บจ.เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (EnCo) บริษัทลูกของ ปตท., บจ.อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น และ บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ผู้รับเหมาจากประเทศจีน ที่ซื้อซองเป็นกลุ่มแรก

นอกจากนี้ยังมี บมจ.ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ผู้ร่วมทุนของบีทีเอส ซึ่งจะยื่นในนามกิจการร่วมค้า BSR ที่เหลืออาจจะมี บมจ.ช.การช่าง กับบริษัทรับเหมาจากจีน ที่จะไม่ยอมตกขบวนรถไฟหัวจรวดสายนี้

ส่วนบริษัทยุโรปยังไร้วี่แวว อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่จะเข้าร่วมงานระบบในรูปแบบซับคอนแทร็กเตอร์ จึงไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าแต่แรก

“เอกชนที่จะร่วมทุนกันยื่นประมูลในรูปแบบกิจการร่วมค้าจะต้องซื้อเอกสารทุกราย ส่วนบริษัทที่เป็นซับคอนแทร็กเตอร์ เช่น งานระบบ ไม่ต้องซื้อเอกสารก็ได้” คำอธิบายของนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

 

ถึงนาทีนี้แม้ยังไม่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าใครจะผนึกกำลังกับใคร จนกว่าจะถึงวันยื่นซองวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ แต่ดูจากรายชื่อผู้ซื้อเอกสาร ประสบการณ์และสถานะการเงินแล้ว คาดว่าจะมี 3 กลุ่มตบเท้าเข้าร่วมกระดานประมูล

กลุ่มแรก “BSR” มีบีทีเอสของเจ้าพ่อรถไฟฟ้า “คีรี กาญจนพาสน์” เป็นโต้โผ ยังผนึกกำลังเหนียวแน่นกับ “ซิโน-ไทยฯ” ธุรกิจรับเหมาตระกูลชาญวีรกูล และยักษ์พลังงาน “ราชบุรีโฮลดิ้ง” ล่าสุดอาจจะมี “ยูนิคฯ และซิโนไฮโดร” สองพันธมิตรที่ลุยตอกเข็มรถไฟฟ้ามาหลายสายมาร่วมแจม

ส่วน ปตท.ที่คุยกันมานานหลายเดือน ก็เป็นไปได้สูงจะร่วมผูกปิ่นโต แค่รอเคาะสูตรร่วมลงทุน

กลุ่มที่ 2 “ซีพี”” ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่แสดงความสนใจจะช่วยรัฐบาลลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมกับ บจ.อิโตชู คอร์ปอเรชั่น ที่ทำธุรกิจครบวงจรใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น มีระบบโลจิสติกส์และเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก และกลุ่มซิติกฯ หนึ่งในบริษัทใหญ่สุดของรัฐบาลจีน

อาจจะมี ช.การช่าง กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) มาเติมเต็ม เพราะซีพีแม้มีทุกอย่างครบเครื่อง แต่ยังขาดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ขณะที่ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” บอสใหญ่ ช.การช่าง ถึงจะมีงานล้นมือ แต่ลึกๆ คงไม่ยอมตกขบวนไฮสปีดประวัติศาสตร์

ส่วนกลุ่มที่ 3 ว่ากันว่า “ปตท.” อาจยอมทุ่มสุดตัวเป็นแกนนำเสนอตัวประมูลเอง หากเขย่าสูตรลงทุนกับบีทีเอสไม่ลงตัว ด้วยการแยกวงยื่นประมูลต่างหาก

ส่วนจะมีใครร่วมเป็นพันธมิตร ยังฝุ่นตลบ

 

“7รายที่ซื้อซองวันแรก คือโต้โผที่จะยื่นประมูล บีทีเอสยังไงก็ต้องร่วม เพราะเป็นธุรกิจหลักของเขาอยู่แล้ว และคงไม่ร่วมกับ BEM ธุรกิจในเครือ ช.การช่าง เพราะเป็นคู่แข่งกัน ซึ่งบีทีเอสมีประสบการณ์ด้านรถไฟฟ้ามายาวนาน มีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง มีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ บมจ.ยูซิตี้ บริษัทในเครือจะมาช่วยซัพพอร์ต ส่วนซีพีก็คาดหวังโครงการนี้ไว้สูง เพราะมีที่ดินในพื้นที่ภาคตะวันออกในมือจำนวนมาก และมีธุรกิจหลากหลาย รวมถึงธุรกิจอสังหาฯ

สำหรับ “ปตท.” นั้น ที่อาจจะเลือกโดดร่วมวงประมูล ส่วนหนึ่งเพื่อสนองนโยบายรัฐ เพราะมีเงินล้นหน้าตัก อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมัน เช่น อสังหาฯ อย่างโครงการสมาร์ทซิตี้ในแนวเส้นทางรถไฟ กับไฮสปีด เทรน เป็นต้น

“กลุ่ม ปตท. จะเป็นตัวแปรในการลงทุนและอาจพลิกให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นเป็นผู้ชนะประมูล และรัฐบาลหวังจะใช้ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศ เป็นแกนนำในการประมูลโครงการประวัติศาสตร์” แหล่งข่าวจากคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ย้ำ

“กลุ่มธุรกิจที่จะเป็นแกนนำและร่วมลงทุนในโครงการนี้ ต้องเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจริงๆ และต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า ในการจับมือเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนในครั้งนี้ เพราะหัวใจของโครงการไม่ใช่กำไรในการบริหารที่ดินเชิงพาณิชย์อย่างเดียว แต่หากใครชนะประมูลก็จะได้ใช้โครงการนี้เป็น Trophy หรือเป็นโครงการอนุสรณ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เป็นผลงานสำหรับใช้อ้างอิงในอนาคต”

แหล่งข่าวกล่าว

 

ฟาก “อิตาเลียนไทยฯ” พี่ใหญ่วงการรับเหมาก็สู้ยิบตา กำลังเดินเกมเพื่อจะมีส่วนร่วมกับการประมูลโครงการ โดยเดินสายเจรจาทั้งซีพี-บีทีเอส-ปตท. ซึ่งก่อนหน้านี้ “เปรมชัย กรรณสูต” บอสใหญ่ระบุว่า กำลังเจรจากับพันธมิตรไทยและต่างชาติจากจีน

ส่วนความเคลื่อนไหวของรับเหมารายอื่น นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ กล่าวว่า จะร่วมกับบีทีเอสและราชบุรีโฮลดิ้งยื่นประมูลในนามกิจการร่วมค้า BSR และกำลังเจรจากับพันธมิตรรายอื่นๆ ทั้งไทยและต่างชาติ เช่น ปตท. แต่ยังไม่ได้ข้อยุติสัดส่วนการลงทุน เพราะการร่วมลงทุนจะต้องพิจารณาเป็นรายโครงการ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูบริษัทลงทุน 15% สำหรับโครงการนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

ขณะที่นายนที พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ยูนิคฯ กล่าวว่า บริษัทซื้อซองประมูลมาศึกษารายละเอียด ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจจะเข้าร่วมหรือไม่ หรือจะร่วมทุนกับใคร เพราะยังเร็วเกินไป ซึ่งที่ผ่านมายูนิคฯ ได้ร่วมกับซิโนไฮโดร ก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

ด้านเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ยังไม่มีชื่อบริษัทในเครือซื้อซองประมูล แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2558 ทางไทยเบฟสนใจจะลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน เนื่องจากมีที่ดินติดหาดชะอำนับหมื่นไร่รองรับ ส่วนซีพีสนใจจะลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง แต่เพราะรัฐกำลังผลักดันการพัฒนาอีอีซี จึงทำให้รถไฟความเร็วสูงสายของซีพีได้รับการขับเคลื่อนก่อน

 

สําหรับความคืบหน้าเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 ก.ม. ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. นำเสนอโครงการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP อนุมัติแล้ว โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

การลงทุนเป็นรูปแบบ PPP net cost (สัมปทาน) เป็นโมเดลเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนงานโยธาและงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ พร้อมได้สิทธิเดินรถและพัฒนาพื้นที่ภายในสถานีและโดยรอบเป็นระยะเวลา 50 ปี ทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 100,125 ล้านบาท

นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาไม่น้อยสำหรับ “บิ๊กดีล-บิ๊กมูฟ” ของบรรดา “บิ๊กธุรกิจ” ชั้นแถวหน้าของไทย ที่กำลังลงขันกันลงทุน “เมกะโปรเจ็กต์” ของรัฐบาลทหาร ก่อนเสียงระฆังการเลือกตั้งจะดังขึ้นในเร็วๆ นี้