รอย อัตถนิยมใหม่ ความรักของวัลยา และปีศาจ จาก เสนีย์ เสาวพงศ์

บทสุดท้ายของหนังสือเล่มเล็ก “อัตถนิยมกับจินตนิยม” เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้อภิปรายและตอบคำถามในเชิงเสนอวิธีการสร้างสรรค์ศิลปะและวรรณคดี

เหมาะสมหรือที่จะหันไปยึดแนว “คลาสสิก” ในการสร้างสรรค์ “วรรณคดี” ปัจจุบัน

คำตอบของเราก็คือ เป็นไปไม่ได้ เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ส่วนจะใช้จินตนิยมและอัตถนิยมเก่าก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะเป็นแบบวิธีการที่ปลายโต่งไปคนละข้าง

กล่าวคือ จินตนิยมเน้นแต่อัตวิสัย ส่วนอัตถนิยมเน้นแต่ภววิสัย

“อัตถนิยมใหม่” คือ แบบอันเหมาะสมและสอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน

“อัตถนิยมใหม่” ควรจะเป็นแนวทางของนักเขียนของเรา แนวทางนี้ก็กำลังแตกหน่อออกใบ

หน่อและใบของอัตถนิยมในขณะนั้นก็คืองานเขียนที่เป็นจินตนิยมที่ก้าวหน้า หรือจินตนิยมทางปฏิวัติ

ลักษณะพิเศษ คือธาตุแท้ด้านหนึ่งของอัตถนิยมใหม่

และอัตถนิยมใหม่ที่แท้ก็คือ การรวมเอาลักษณะพิเศษที่ดีของอัตถนิยมและจินตนิยมเข้ามานั่นเอง

แม็กซิม กอร์กี้ เป็นผู้คิดคำว่า “อัตถนิยมใหม่” หรือ “อัตถสังคม” หรือ “อัตถสังคมนิยม” ขึ้นเมื่อมีการประชุมสมัชชานักเขียนแห่งโซเวียตสมัยที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2487

และได้กล่าวคำปราศรัยตามสำนวนแปล ทวีป วรดิลก ว่า

เรื่องนิยายก็คือการคิดประดิษฐ์ขึ้น การคิดประดิษฐ์หมายถึงการหยิบยกเอาความคิดมูลฐานจากองค์รวมของความเป็นจริงมาทำให้เป็นรูปเป็นเรื่องขึ้นโดยการใช้ภาพพจน์

นี่คือวิธีการที่เราได้ “อัตถนิยม” มา

แต่ถ้าหากในการหยิบยกเอาความคิดมูลฐานขึ้นมาจากความเป็นจริงดังกล่าว เราเพิ่มเติม-เพื่อยังความสมบูรณ์ให้แก่ความคิดนั้นๆ โดยใช้ตรรกะแห่งสมมุติฐาน ความปรารถนา ความเป็นไปได้ เพิ่มเข้าไปอีกกับภาพพจน์นั้นๆ เราก็จะได้ “โรแมนติก” ซึ่งอยู่ที่พื้นฐานของเรื่องนิยายนั้นๆ

มันก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปลุกเร้าทัศนคติในทางปฏิวัติต่อความเป็นจริงขึ้นมา

ทัศนคติที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ในทางปฏิบัติ

คำกล่าวของ แม็กซิม กอร์กี้ นี้ คือการปรับประสานจากอนุศาสน์ของมาร์กซ์ที่ว่า นักปรัชญาโดยทั่วไปทำความเข้าใจโลก แต่เราทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงโลก

เมื่ออนุศาสน์เหล่านี้ตกมาถึงมือของ “ชดานอฟ” ก็ปรากฏเป็นแนวทาง หลักการแห่ง “อัตถนิยมใหม่” อย่างเป็นจริงเป็นจัง

ต้องอ่านจากสำนวนแปล ทวีป วรดิลก

การที่จะเป็น “วิศวกรผู้สร้างวิญญาณมนุษย์” หมายความว่า จะต้องยืนโดยเท้าทั้ง 2 ตรึงอยู่อย่างมั่นคงบนพื้นฐานของชีวิตที่เป็นจริง

ทั้งนี้ หมายถึงว่า ได้ตัดขาดออกมาเสียจากโรแมนติกแบบเก่าซึ่งแสดงให้เห็นแต่ชีวิตที่ไม่มีอยู่จริง พระเอกที่ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

นำผู้อ่านเตลิดออกไปจากชีวิตที่เป็นจริงที่มีแต่ความเป็นปฏิปักษ์และกดขี่นานาประการ

เข้าไปสู่โลกแห่งความฝันอันเพ้อเจ้อ

วรรณคดีของเราที่ยืนตรึงอยู่อย่างมั่นคงบนพื้นฐานปรัชญาวัตถุนิยมนั้นไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อโรแมนติก แต่เป็นโรแมนติกแบบใหม่

ลัทธิโรแมนติกปฏิวัติ

ไม่ว่าจะเป็นจินตนิยมเมื่อมีคำว่า “ใหม่” เติมเข้ามาก็ดำเนินไปในแนวทาง จินตนิยม “ปฏิวัติ” ไม่ว่าจะเป็นอัตถนิยมเมื่อมีคำว่า “ใหม่” เติมเข้ามาก็ดำเนินไปในแนวทางอัตถนิยม “ปฏิวัติ”

นี่คือสิ่งที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนไว้ใน “อัตถนิยมและจินตนิยม”

ในความเป็นจริง “ความรักของวัลยา” และ “ปีศาจ” คืองานทดลอง งานภาคปฏิบัติภายหลังจากตกผลึกในทางความคิดผ่าน “อัตถนิยมและจินตนิยม” นั่นเอง

นั่นก็คือ การนำเอาปรัชญา “วัตถุนิยม” มาประสานเข้ากับ “ศิลปะ”

นั่นก็คือ การเขียนนวนิยายอย่างมี “เป้าหมาย” ในทางความคิด ในทางการเมือง โดยมีเป้าหมายในการสะท้อนการปะทะ ขัดแย้งในทางความคิดและในทางการเมือง

มี “การเมือง” ดำรงอยู่อย่างไรบ้างในงานเขียน