อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : Indo-Pacific ยุทธศาสตร์ใหม่? Indo-Pacific ของอินเดีย

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

จริงๆ เราได้รับรู้นโยบาย Indo-Pacific ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งสาธารณรัฐอินเดียมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2018 นายกรัฐมนตรีท่านนี้ได้แสดงปาฐกถาเรื่องนี้ในพิธีเปิดการประชุมซัมมิต แชงกรีล่า ไดอะล็อก ครั้งที่ 17 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีผู้นำของประเทศต่างๆ กว่า 40 ประเทศเข้าประชุม

นายกรัฐมนตรีโมดีย้ำถึง (1)

“…ความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกแอฟริกาไปจรดชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา…นอกจากความกังวลเกี่ยวกับการขยายแสนยานุภาพทางทะเลของจีนแล้ว ภูมิภาคแห่งนี้ยังเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่อาจลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าระดับโลก เมื่อสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนต่างขู่จะเรียกร้องเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าของกันและกันเป็นมูลค่า 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐ…”

นายกรัฐมนตรีโมดี “…เรียกร้องให้ทุกประเทศได้มี “สิทธิเท่าเทียม” ในการใช้ประโยชน์จากน่านน้ำและน่านฟ้าสากล และควรแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ…” (2)

เขาย้ำอีกว่า (3) “…เราทุกฝ่ายควรมีสิทธิเท่าเทียมตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะไปใช้ประโยชน์จากท้องทะเลและผืนฟ้าซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง นั่นหมายความว่าจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการเดินเรือ การค้าขายที่ปราศจากอุปสรรคและการเจรจายุติข้อพิพาทที่ยึดกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก…”

มิหนำซ้ำยังมีการพาดพิงสาธารณรัฐประชาชนจีนกลายๆ มีการย้ำให้ทุกฝ่ายเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกัน และไม่ว่าประเทศเหล่านั้นจะเล็กหรือใหญ่ และมีแสนยานุภาพมากน้อยเพียงใดก็ตาม

 

ความเคลื่อนไหวของอินเดียในอาเซียน

นายกรัฐมนตรีโมดีได้เดินทางเข้าพบกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้สัญญาว่าจะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นที่เมืองซาบัง (Sabang) ซึ่งตั้งอยู่เป็นเกาะเล็กๆ ตรงปลายเหนือสุดของเกาะสุมาตรา ปากทางช่องแคบมะละกา (Malaca) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่คับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (4)

เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดียยืนยันว่ารัฐบาลสาธารณรัฐอินเดียมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกหรือสนามบิน

นายกรัฐมนตรีโมดีได้เดินทางเยือนสหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด

ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์และได้บรรลุข้อตกลงรับนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ว่าด้วยการขยายความร่วมมือระหว่างกองทัพทั้งสองชาติ รวมถึงจัดการซ้อมรบร่วมกัน

แน่นอน ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกิจการต่างประเทศติดตามเรื่อง Indo-Pacific ของรัฐบาลอินเดียอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นของประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย

 

พันธมิตรและความเป็นไปได้ของ Indo-Pacific

ความจริงแล้วสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มปรับยุทธศาสตร์มุ่งสู่มหาสมุทรอินเดียมากขึ้น โดยวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองบัญชาการภาคแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา (PACOM) ได้รับการขนานนามใหม่เป็นกองบัญชาการภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-PACOM)

ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงความสำคัญของสาธารณรัฐอินเดียและการขยายบทบาทของสหรัฐอเมริกาเข้าไปยังมหาสมุทรอินเดีย

คำว่า “อินโด-แปซิฟิก” นั้นเริ่มถูกใช้ในแวดวงการทูตและความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยพยายามที่จะทดแทนคำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” โดยเฉพาะญี่ปุ่นเองในวงการทูตและวงวิชาการนั้นได้ตอบรับแนวความคิดของสหรัฐอเมริกาเรื่อง Indo Pacific ทั้งในแง่การขยายบทบาทที่กว้างขึ้นในเชิงภูมิภาค

รวมทั้งบทบาทของญี่ปุ่นที่เน้นญี่ปุ่น-อาเซียน ทั้งการเพิ่มความช่วยเหลือด้านการศึกษา การฝึกอบรม การส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคเข้ามาในอาเซียน โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นจุดแข็งของญี่ปุ่นคืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

ความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม Indo-Pacific ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ใหม่ของรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย แต่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Look East ในอดีต และนโยบาย Act East ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นโยบายทั้งสองยังเป็นนโยบายที่ถูกตั้งคำถามจากภายนอกเสมอถึงรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงของรัฐบาลอินเดียต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสมอมาทำนองว่า

อินเดียเป็นนักคิดมากกว่านักปฏิบัติ คือ มองก็แล้ว ดำเนินการก็แล้ว แต่ไปไม่ถึงไหน

——————————————————————————————————–
(1) Sourabh Gupta, “Modi”s address charts turbulent seas into the Indo-Pacific” East Asia Forum 10 June 2018
(2) Ibid.,
(3) Ibid.,
(4) “อินเดียเล็งขยายบทบาทสู่ “อาเซียน” ตอกย้ำยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” MGR Online 9 มิถุนายน 2561