ฉบับประจำวันที่ 22-28 มิถุนายน 2561

ก่อนที่ พี่น้อง “จึงรุ่งเรืองกิจ”+”จุฬางกูร” จะแยกย้ายสร้างอาณาจักรธุรกิจของตนเอง
พวกเขาเคยอยู่ ใต้ร่มธุรกิจ เดียวกัน
นั่นคือการทำร้านซ่อมเบาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์
ในนาม “บริษัทสามมิตร”
เมื่อใหญ่โตขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Summit Auto Industry ในปี 2515
“สามมิตร” จึงถือเป็น จุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ของตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ”+”จุฬางกูร”
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่นายสุริยะ จึ่งรุ่งเรืองกิจ หวลคืนสู่สนามการเมือง
จะฟื้นชีวิต “สามมิตร”ขึ้นมาอีกครั้ง
แต่ได้นิยามให้ต่างจาก “สามมิตร”เดิม
ด้วยการให้ความหมายว่านี่คือการรวมตัวของ 3 ส.
คือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ +สมศักดิ์ เทพสุทิน +สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
เป้าหมายทำกิจกรรมทางการเมือง หนุน พรรคพลังปกระชารัฐ ที่มีจุดยืนเคียงข้างรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ขณะที่ “จึงรุ่งเรืองกิจ”อีกคนหนึ่ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในฐานะหลาน”อา”ของนายสุริยะ
หลังจากประสบความสำเร็จ ในการนำบริษัท ไทยซัมมิทกรุ๊ป ผงาดในธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ของโลก มีฐานการผลิตอยู่ใน 7 ประเทศทั่วโลก
เข้าซื้อกิจการบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โอกิฮารา ผู้ผลิตแม่พิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลก
ในปี 2560 ทำสัญญาผลิตตัวถังรถยนต์ 5 แสนคัน/ปี ป้อนบริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
จนถูกจับตามองว่า ไทยซัมมิท กำลังก้าวสู่ “อนาคตใหม่”ทางด้านรถยนต์ไฟฟ้า ของโลก
และเมื่อนายธนาธร ตัดสินใจก้าวสู่การเมือง
ก็ได้นำภาพ “อนาคตใหม่”มาเป็นสัญญลักษณ์ และชื่อของพรรคที่สร้างขึ้น
เพื่อสื่อถึง การเมืองของคนรุ่นใหม่ แนวทางใหม่ ไม่อยู่ในโลกการเมืองเดิมอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำ”สามมิตร”มาวางเคียงคู่กับ”อนาคตใหม่” ย่อมสัมผัสถึงความแตกต่างชัดเจน
“สามมิตร”สร้างพรรคด้วยการดึงเอานักการเมืองในเวทีเดิมมาเป็นฐาน
และมีจุดยืนสนับสนุน รัฐบาลทหารโดยเปิดเผย
แตกต่างจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศปรับภูมิทัศน์การเมืองไทยใหม่ มุ่งกระจายอำนาจ เคารพสิทธิมนุษยชน
ยึดหลักพลเรือนอยู่เหนือทหาร ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจอย่างเด็ดขาด
อา”สุริยะ”และหลาน”ธนาธร”จึงเหมือนเดินคนทาง
และมีโอกาสที่จะปะทะทางความคิดและการขับเคลื่อนกำารเมือง อย่างหลีกเลี่ยงยาก
น่าสนใจ บนเส้นทาง สร้างดาวคนละดวง
และด้วยแนวทางเก่าแบบอนาล็อค และใหม่อย่างดิจิตอล
ใครจะสำเร็จ ใครจะล้มเหลว
———————