โจรกับเหี้ย ถูกด่าคำไหนเจ็บกว่ากัน “มนัส สัตยารักษ์” เปิดอก ปมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

สัปดาห์นี้เห็นทีต้องคุยเรื่อง “กึ่งส่วนตัว” อย่างหนีไม่พ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน ถูกกล่าวถึงว่าผลิตตำรวจโจร

คำต่อคำจากคอลัมน์ “สายล่อฟ้า สะบัดปากกา กล้าได้กล้าเสีย” ใน น.ส.พ.ไทยรัฐ ประจำวันพุธที่ 14 กันยายน 2558 ตอนหนึ่งมีดังนี้…

“ว่ากันว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจนั้นสั่งสอนให้ตำรวจออกมาแบบไม่ค่อยรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่กลับไปสร้าง “ค่านิยม” ที่ไม่ถูกทิศทาง

กลายเป็นว่าตำรวจไทยนั้นรอบรู้ทุกอย่างแต่ไม่รู้จักหน้าที่และภารกิจ

จึงไม่แปลกที่มีการผลิตตำรวจที่ทำให้ตำรวจไทยกลายเป็นตำรวจโจรมากเข้าไปทุกที เพราะเรียนรู้เรื่องชั่วๆ มากกว่าเรื่องดีๆ”

ผมซึ่งเรียนจบปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จึงรู้สึกเจ็บใจที่โรงเรียนของผมถูกดูหมิ่นเหยียดหยามรุนแรงกันง่ายๆ เช่นนี้ แค่อาศัยคำ “ว่ากันว่า…” เป็นหลักฐาน!

ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 22.30 น. ก็มี MATICHON ONLINE โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. แสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ระบุตอนหนึ่งว่า “รู้สึกสะเทือนใจที่สื่อด่าสถาบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่มีหลายท่านได้เคยเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาแล้ว…ฯลฯ”

และตอนท้ายเปรียบเทียบว่า “…ถ้าสื่อมวลชนใจกว้างพอ ยอมรับกันได้มั้ยถ้าผมจะขอวิจารณ์กลับบ้างว่า สื่อมวลก็มีไม่ดีไม่น้อยเหมือนกัน…”

แต่สื่อ MGR ONLINE ถอดคำพูดมาตรงตัวว่า “…สื่อมวลชนก็มีเหี้ยไม่น้อยเหมือนกัน” ใช้คำว่า “เหี้ย” แทนคำว่า “ไม่ดี” นั่นเอง

ผมก็สะดุ้งอีกครั้ง เพราะตัวผมเองก็ได้ชื่อว่าเป็น “สื่อ” กับเขาด้วย อย่างน้อยก็ในแผ่นป้าย “ทำเนียบศิษย์เก่าเกียรติยศ สาขาสื่อสารมวลชน” ของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ

เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ พล.ต.อ.สมยศ ต้องถูกถล่มด้วยสื่อต่างๆ อย่างสาดเสียเทเสียในฐานะที่เป็นตำรวจให้สัมภาษณ์มีคำหยาบ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ระหว่างการถูกหาว่าเป็นโจรกับถูกหาว่าเป็นเหี้ย ข้อไหนจะร้ายแรงกว่ากัน

ถ้าข้อความที่ “สายล่อฟ้า” เขียนเป็นความถูกต้อง และข้อความที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง สันนิษฐานถูกต้อง ผมก็มีโอกาสจะได้เป็นทั้งโจรและเหี้ย หรือเป็นทั้งสองอย่าง

มีความสับสนเกิดขึ้นในสังคมบ้านเราอันสืบเนื่องมาจากการตีความแล้ววิวาทะโต้เถียงกันในเรื่องต่างๆ มากเหลือเกิน ตัวอย่างใกล้ตัวชัดเจนอีกหนึ่งเรื่องก็คือกรณีของ “MV เที่ยวไทยมีเฮ” ซึ่งเอาตัวทศกัณฐ์ในโขนมาเล่นประกอบโฆษณา แล้วมีผู้โจมตีว่าเอาของสูงมาเหยียบย่ำเล่นตลกอย่างต่ำ

ผมดู MV นี้แล้วไม่เห็นเป็นการดึงของสูงลงมาต่ำตรงไหน เพียงแต่นึกเสียดายอยู่ในใจว่าน่าจะทำให้ดีกว่านี้และหงุดหงิดบ้างที่ตลกด้าน-ไม่มีเฮ ผมชอบโขนในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมบันเทิงคลาสสิคอย่างหนึ่งของไทย ชอบท่าเต้นเป็นหมู่ที่เรียกกันว่าท่า “ตรวจพล” นั่นคือตอนที่กำลังจะยกทัพนั่นเอง

ผมตั้งชื่อลูกชายว่า “ตรวจพล” ตรงตัวเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะคลั่งโขนถึงขนาดเห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ผมแค่ชอบความพร้อมของหมู่คนเต้นในเครื่องแต่งกายที่สวยงามเท่านั้น

ความขัดแย้งกันใน MV ชิ้นนี้แตกดอกออกช่อบานปลายไปหลากหลายประเด็นได้อย่างเหลือเชื่อ กลายเป็นเรื่องลบหลู่ มีการแต่งเพลงฉ่อยและแต่งกลอนต่อว่าต่อขาน มียกพวกแถลงข่าว และมีการขอโทษขอโพย และยอมแก้ไข

หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยคอมเมนต์ว่า ทำไมจะต้องแต่งกลอนตอบโต้กัน ทำไมจะต้องเอาครูบาอาจารย์และศิลปินแห่งชาติมาโต้แย้งการท่องเที่ยว และทำไมจะต้องไปกราบขอโทษขอโพยในเมื่อไม่ได้ทำผิดอะไร ฯลฯ

ฮือฮากันไปทั่วเป็นเวลานานกว่าจะซาแล้วก็เงียบลงโดยไม่มีข้อยุติให้ฟันธงลงไปได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงทำนายได้ว่า วันดีคืนดีเหตุการณ์ทำนองนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก

ข้อเสนอให้ยุบเลิกโรงเรียนนายร้อยตำรวจมีมานานแล้วตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียนปีที่ 4 แล้วก็เงียบไปเนื่องจากไม่มีเหตุผลมากพอ หรือไม่มีหน่วยงานรองรับภารกิจ หรือพอใจแล้วที่ได้ด่า ก็ไม่ทราบได้ แต่ก็มีความพยายามจากหลายฝ่ายตลอดมาที่จะยุบและเลิก

ครั้งหนึ่งสมัย พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น เป็น อ.ตร. ได้มีกลุ่มนักวิชาการพยายามจะเสนอการวิจัยว่า ตำรวจที่ทุจริตส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องจากนายตำรวจมีค่านิยมที่ต้องมีรถเก๋งขี่ เป็นเหตุให้ต้องทุจริต ฯลฯ

พล.ต.อ.มนต์ชัย ในฐานะเจ้าพนักงานการพิมพ์ ห้ามพิมพ์เอกสารที่ไม่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการดังกล่าวออกจำหน่ายจ่ายแจก มิฉะนั้นจะฟ้องร้องเอาผิดตามกฎหมาย

ปลายปี 2557 ต่อเนื่องต้นปี 2558 ในช่วงที่กระแสปฏิรูปตำรวจกำลังแรง ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ แห่ง ม.รังสิต ก็เสนอให้ยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกโดยเหตุผลว่า “นำเด็กอายุเพียง 10 กว่าขวบมาฝึกแบบทหาร…ควรใช้บุคลากรที่จบปริญญาอายุ 20-22 ปีและมีวุฒิภาวะมากพอมาเป็นตำรวจ” ตีพิมพ์ในบทความ น.ส.พ.กรงเทพธุรกิจ

ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นเท็จหรือไม่เป็นความจริง ผมได้เขียนแสดงความติดเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 2 หรือ 3 หนในคอลัมน์นี้แต่ต้นปี 2558 แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผมไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้บัญชาการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจยกพวกมาประท้วงที่สำนักงาน น.ส.พ.ไทยรัฐ นอกจากจะเป็นภาพที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของ คสช. แล้ว ท่านจะไม่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนแต่อย่างใด

ท่านจะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่ของ สตช. ทั้งอดีตและปัจจุบัน เพราะหลายท่านมีแผลเป็นแผลใหญ่ ย่อมไม่ต้องการให้แผลเหวอะหวะออกไปอีกจากฝีมือของสื่อ

สื่อมืออาชีพระดับสูงส่วนใหญ่มีความเป็นธรรม เมื่อเผชิญหน้ากันได้จับมือพูดคุยกันเราจะโกรธเขาไม่ลง ทำให้เราไม่รู้ว่าที่ “ว่ากันว่า…” นั้นผิดหรือไม่ มีโทษทางอาญาและทางแพ่งเพียงใด สถาบันของท่านก็โดนเหยียบย่ำต่อไปอีกเป็นนิรันดร์

ผมขอสนับสนุนให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ต้องการให้ความยุติธรรมเป็นผู้บอกว่าอะไรผิด-อะไรถูก มากกว่า

ทุกอาชีพไม่ว่าจะจบจากสถาบันใดจะมีคนทำผิดได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าตำรวจเรียนจบแล้วภาระหน้าที่ทำให้เขาทั้งหมดต้องติดต่อกับประชาชน ในขณะที่ผู้จบสถาบันอื่นเผชิญหน้ากับประชาชนเพียงไม่กี่คน ข่าวเชิงลบของตำรวจจึงมากกว่าคนในอาชีพอื่น

ถ้าจะว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจผลิตโจร ก็อาจพูดด่าว่าสถาบันการศึกษาอื่นก็ผลิตโจรได้เช่นกัน เพราะแทบจะทุกอาชีพมีคนทำผิดได้เสมอ การทำผิดไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันการศึกษา

ตำรวจมีที่มาหลากหลาย ขณะเดียวกันนักเรียนนายร้อยตำรวจก็อยู่ในหน่วยงานหลากหลาย

ในกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันนี้ก็มีอัยการและตุลาการที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาก่อนหลายสิบท่านเช่นกัน