กรองกระแส /ทิศทาง แนวทาง การเมือง และการเลือกตั้ง ‘คสช.’ คือตัวตั้ง

กรองกระแส

 

ทิศทาง แนวทาง

การเมือง และการเลือกตั้ง

‘คสช.’ คือตัวตั้ง

 

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าทิศทางการต่อสู้ทางการเมืองอันจะเกิดขึ้นตามโรดแม็ปการเลือกตั้งไม่ว่าจะภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือจะเลื่อนไปอีกก็จะแวดล้อมอยู่กับ 2 ทิศทางอันสะท้อนเอกภาพและความขัดแย้งทางความคิดที่จะดำรงอยู่ในสังคมไทย

1 ระหว่างเอารัฐประหาร กับไม่เอารัฐประหาร

1 ระหว่างต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันมาจากกระบวนการรัฐประหาร กับความไม่ต้องการและตั้งเป้าหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันมาจากกระบวนการรัฐประหาร

1 ระหว่างการสืบทอดอำนาจ คสช. กับการไม่ยอมให้มีการสืบทอดอำนาจ คสช.

พรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ามา ไม่ว่าจะสามารถส่งคนลงสมัครครบทั้ง 350 เขตทั่วประเทศหรือไม่ว่าจะไม่สามารถส่งคนลงสมัครได้ครบทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ ก็ไม่สามารถหลีกรอดไปจาก 3 ประเด็นอันสะท้อนเอกภาพและความขัดแย้งทางความคิดนี้ได้อย่างเด็ดขาด

ในที่สุดแล้วก็จะเหลือพื้นที่เพียง 1 พรรคเอา คสช. กับ 1 พรรคไม่เอา คสช.

การเอา คสช. ครอบคลุมทั้งเรื่องเห็นด้วยกับรัฐประหาร เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญและเห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ การไม่เอา คสช. ครอบคลุมทั้งเรื่องไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญและไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ

ไม่ว่าจะเรียกนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ไม่ว่าจะเรียกนายกรัฐมนตรี “คนใน” ก็ตาม

 

แนวทาง พิชัย รัตตกุล

สรุปโดย “นักวิชาการ”

 

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ข้อเสนอในเชิงเรียกร้องของนายพิชัย รัตตกุล ต่อพรรคการเมืองทุกพรรคให้ก่อสร้างพันธมิตรในแนวร่วมที่ว่าจะเห็นด้วยกับพรรคทหาร หรือไม่เห็นด้วยกับพรรคทหาร นั้นอาจเหมือนกับเป็นการเรียกร้องโดยตรงต่อพรรคประชาธิปัตย์

แต่แท้จริงแล้วข้อเสนอของนายพิชัย รัตตกุล เท่ากับประมวลปัญหาและสรุปรวบยอดกลายเป็นผลึกในทางความคิด

สะท้อนความจัดเจนทางการเมืองไทยที่ตรงเป้าอย่างที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเมืองนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 การเมืองนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

อย่าได้แปลกใจหากว่าข้อเสนอของนายพิชัย รัตตกุล เมื่อประมวลมาเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริงที่คลี่คลายมาเป็นลำดับและแลเห็นอย่างเด่นชัดนับแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนก็คือ

เป็นการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร กับการปฏิเสธบทบาทของทหารในทางการเมือง

 

แนวทางเพื่อไทย

แนวทางอนาคตใหม่

 

พรรคเพื่อไทยมีความแจ่มชัดในทิศทางการเมืองนี้มาแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาแล้ว และยืนหยัดในทิศทางนี้แม้กระทั่งเมื่อหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การพิสูจน์จากการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 สะท้อนว่าประชาชน “ส่วนข้างมาก” เห็นด้วย

การพิสูจน์จากการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ยิ่งตอกย้ำยืนยันว่าประชาชน “ส่วนข้างมาก” เห็นด้วย

ทิศทางนี้เริ่มมีความเด่นชัดและดำเนินไปอย่างอึกทึกครึกโครมมากยิ่งขึ้นเมื่อพรรคอนาคตใหม่ได้หยิบเอาประเด็นรัฐประหาร ประเด็นรัฐธรรมนูญ และประเด็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. มาเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งอย่างค่อนข้างเป็นระบบ พร้อมกับเสนอแนวทางปฏิบัติในทางเป็นจริง

ทิศทางนี้แม้กระทั่งพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็แสดงความเห็นด้วย

เท่ากับเป็นการเสนอคำถามไปยังพรรคการเมืองอื่นโดยพื้นฐานว่าจะมีทิศทางของตนเองอย่างไร จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช.

การแยกจำแนกพรรคการเมืองออกเป็น 2 กลุ่ม 2 แนวทาง นั่นก็คือ กลุ่มเอาด้วยกับ คสช. กับกลุ่มไม่เอาด้วยกับ คสช. แนวทางสนับสนุนรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ และการสืบทอดอำนาจ กับแนวทางไม่สนับสนุนรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการสืบทอดอำนาจ จะทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น

ผ่านกระบวนการต่อสู้ทางความคิด ทางการเมือง ทางการจัดตั้ง อันจะไปชี้ขาดผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

 

ทิศทางเอา คสช.

ทิศทางไม่เอา คสช.

 

ยิ่งเครือข่ายพรรคการเมืองของ คสช. เปิดปฏิบัติการดูดอดีต ส.ส. โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทยอันเป็นคู่ปรปักษ์โดยตรงจะยิ่งตอกย้ำยืนยันแนวทาง 2 แนวทางนี้เด่นชัด

ในที่สุด คสช. จะกลายเป็นตัวหลักภายในกระบวนการของการเลือกตั้ง

ทาง 1 คสช. จำเป็นต้องใช้พลานุภาพทุกกระบวนท่าในทางการเมืองเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง เสริมความมั่นใจ ทาง 1 คสช. จำเป็นต้องใช้พลานุภาพทุกกระบวนท่าเพื่อบดขยี้และทำลายปรกปักษ์ทางการเมือง

ยิ่งการต่อสู้ทวีความเข้มข้นผ่านแต่ละปฏิบัติการจะยิ่งทำให้เกิดการเลือกข้าง

ในที่สุด หนทางที่เลือกก็จะมีเพียง เอาหรือไม่เอากับรัฐประหาร เอาหรือไม่เอากับรัฐธรรมนูญ เอาหรือไม่เอากับการสืบทอดอำนาจ

นั่นก็คือ เอาหรือไม่เอา คสช. ไม่มีหนทางประนีประนอม