เมนูข้อมูล : โหยหา “อำนาจประชาชน”

ในการนำคณะรัฐมนตรีไปเยือนจังหวัดพิจิตร เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์พูดกับประชาชนที่มาต้อนรับในเรื่อง “เลือกตั้ง” ยาวทีเดียว จนหากจะตีความว่าฝากฝังประชาชนคงไม่ผิด

สาระใหญ่ที่ “ผู้นำรัฐประหาร” ฝากให้ประชาชนช่วยคือขอให้ทุกคนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

“ให้เลือกคนที่มีความเชื่อมั่น อย่าเลือกคนที่มีความคุ้นเคยใกล้ชิดอย่างเดียว ถ้าไม่ดีก็เลือกคนอื่น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า พรรคใดได้มากก็ตั้งรัฐบาล หากได้คนแบบเดิมมาแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ไปคิดกันเอาเองแล้วกัน

ฟังแล้วให้ความรู้สึกว่า เริ่มผ่อนคลายให้โอกาสที่ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจมากขึ้น จากก่อนหน้านั้นที่มีแต่ท่าทีเป็นห่วงแบบรุนแรงใน 2 เรื่องคือ ความขัดแย้งยังไม่หมดไป เลือกตั้งมาแล้วความวุ่นวายจะเกิดขึ้นอีก และผลเลือกตั้งจะได้นักการเมืองหน้าเดิมๆ

ห่วงหนักขนาดที่การสื่อสารคล้ายจะบอกว่า หากตัดสินใช้สิทธิเลือกแบบเดิมๆ จะ “ยังใม่ให้เลือกตั้ง”

วันนี้ท่าทีเริ่มเบาลงเป็น “ก็ไปคิดเอาเองก็แล้วกัน” สะท้อนว่าเริ่มคิดได้แล้วว่า “ประชาชนคิดเองได้”

และคงไม่ใช่เฉพาะ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่เริ่มรู้แล้วว่า “ในโลกเสรีแบบนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมบริหารจัดการประเทศได้ง่ายกว่า”

ประชาชนส่วนใหญ่นับวันยิ่งรู้สึกโหยหารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ผลสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “ความสนใจของประชาชนต่อการเมืองไทยวันนี้”

คำตอบมากที่สุดคือ ร้อยละ 39.48 สนใจการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลว่าอยากให้มีการเลือกตั้ง เป็นทางออกที่ดีให้กับบ้านเมือง อยากรู้วันเลือกตั้งที่แน่นอน อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มาจากเสียงของประชาชนจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ร้อยละ 33.41 สนใจการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีปัญหาหลายเรื่องที่ยังแก้ไม่ได้ อยากให้ดำเนินการอย่างจริงจัง ผลงานยังไม่เข้าตา ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ร้อยละ 27.11 สนใจการตั้งพรรคการเมืองใหม่

ในคำถามที่ว่า “ประชาชนคิดว่ารัฐบาลใหม่ที่จะได้หลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร” มากที่สุดคือร้อยละ 51.45 คิดว่า “ดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา” เพราะมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนได้มีโอกาสใช้สิทธิใช้เสียง มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นตัวแทนของประชาชน มีบทเรียนจากที่ผ่านมา น่าจะทำงานได้ดี

ร้อยละ 42.30 คิดว่า “เหมือนเดิม” ที่คิดว่าจะ “แย่กว่ารัฐบาลเดิม” มีแค่ร้อยละ 6.25

ภาพจากผลโพลชุดนี้สะท้อนชัดเจนว่า ความเชื่อที่ว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารรวมถึงกลไกอำนาจรัฐอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่สามารถประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็นได้

แม้จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวอะไรเพื่อให้เกิดรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ก็เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อให้ “รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร” พ้นวาระไป

“กุมภาพันธ์ 2562” น่าจะเป็นใจที่จดจ่อนั้น

และน่าสนใจตรงนี้ ระหว่างพรรคที่ชัดเจนว่า “สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร” กับ “พรรคที่ชัดเจนว่าเชื่อมั่นในอำนาจประชาชน”

ประชาชนส่วนใหญ่จะตัดสินใจเลือกใครเข้ามาบริหารประเทศ