ยานใหญ่ ยานแคบ : เสถียร โพธินันทะ

เสถียร โพธินันทะ ระบุว่าถ้าถือตามหลักของพระธรรมบริสุทธิ์แล้วทุกคนสามารถจะเลือกวิถีของตนได้ตามทำนองคลองธรรม

สาวกยานไม่ได้ห้ามหวงใครไม่ให้ปรารถนาพุทธภูมิ

ในพระไตรปิฎกเรามีเรื่องการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์มากมายที่เรียกว่า “ชาดก” และ “จริยปิฎก” ใครจะปรารถนาพุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ อรหันตภูมิ ก็มีเสรีจะปรารถนาได้ของเรามีพร้อมทั้งแนวปฏิบัติเสร็จ

มหายานเป็นแต่นำเอาหลักการบำเพ็ญเพื่อพุทธภูมิขึ้นมาประกาศมากกว่าของเราเท่านั้น

ส่วนข้อที่ว่า สาวกยานไม่สามารถละธรรมุปาทานได้ก็ไม่เป็นความจริง แต่สาวกยานซึ่งเป็นคำเรียกกว้างๆ ของบรรดานิกายต่างๆ ของฝ่ายนี้ มหายานต้องหมายเอานิกายสาวกยานบางนิกาย เช่น สรวาสติวาท เป็นต้น ซึ่งก็เป็นจริงอย่างเขาว่า

แต่ถ้าสาวกยานนิกายเถรวาทอย่างที่เรานับถือกันอยู่แล้วมิได้เป็นอย่างว่าเลย

ในบาลีอลคัททูปมสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย มูลปัญนาสก์ ก็มีพระพุทธดำรัสตรัสสอนพวกสาวกยานนี่แหละว่า แม้แต่ธรรมซึ่งเปรียบด้วยพ่วงแพก็ต้องละเสีย นับประสาอะไรกับอธรรมซึ่งจะไม่ต้องละ

ในขุททกนิกายก็มีหลายแห่งแสดงถึงหลักธรรมศูนยตา เช่นพระพุทธวัจนะที่ตรัสแก่โมฆราชมานพว่าให้พิจารณาโลกโดยความเป็นสูญ

หรือภาษิตของพระสารีบุตรเถระที่ว่า อายตนะภายในภายนอกเป็นของสูญ เป็นต้น

แม้อาจารย์ในมหายานเองก็มิได้เห็นด้วยกับหลักการที่กล่าวว่า ละกิเลสาวรณะได้ แต่ละธรรมาวรณะไม่ได้ เช่นอาจารย์กีรติกล่าวว่า ผู้ที่ละกิเลสวรณะได้ เขาก็ละธรรมาวรณะได้ด้วย

ปรัชญาศูนยตาวาทินของนาคารชุนก็ได้อาศัยหลักจากเรื่องอนัตตาของสาวกยานนี่เองเป็นปทัฎฐาน พระพุทธวัจนะส่วนใหญ่ที่ฝ่ายมาธยมิกอ้างก็ยกมาจากพระสูตรของสาวกยานและทฤษฎีศูนยตาที่พ้นจากส่วนสุดทั้ง 2 หลักละอัตถิตาแลนัตถิตาเล่า

เราก็จักพบในคัมภีร์บาลีขุททกนิกายซึ่งเป็นบ่อเกิดของปรัชญามาธยมิกส่วนหนึ่งด้วย

มหายานฝ่ายมาธยมิกยุคต้นมิได้ดูหมิ่นติเตียนสาวกยาน หรือจัดการแบ่งระยะกาลพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ว่า ยุคไหนทรงแสดงธรรมเป็นปริยาย ยุคไหนทรงแสดงธรรมเป็นนิปปริยายเช่นพวกมหายานในยุคหลังเลย

ฉะนั้น ปรัชญามาธยมิกจึงยังคงรักษาพระพุทธมติดั้งเดิมไว้ได้บริสุทธิ์กว่ามหายานฝ่ายอื่น

ข้อปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ของฝ่ายมาธยมิกก็ปฏิบัติไปตามลำดับแห่งศีล สมาธิ ปัญญา เห็นแจ้งในอริยสัจเช่นเดียวกับฝ่ายเถรวาท

มิได้มีข้อปฏิบัติอะไรชนิดที่เรียกว่าสูงยิ่งกว่าอริยสัจไปเลย

แม้พระสูตรของฝ่ายมาธยมิกเช่นพระสูตรจำพวกปรัชญาปารมิตาก็ไม่มีเรื่องชนิดที่เต็มไปด้วยอภินิหารอย่างเหลือเฟือเช่นพระสูตรของมหายานฝ่ายภูตตถตาวาทิน

ส่วนมหายานโยคาจารเล่า แม้จะมีทฤษฎีหลายข้อที่ฝ่ายสาวกยานไม่มี เช่นเรื่องสัมโภคกาย เป็นต้น ก็ยังคงไม่ห่างไกลจากพระพุทธมติไปนัก ดังเราจักเห็นได้ตรงที่โลกสมุฏฐานของฝ่ายโยคาจารตั้งอยู่ที่ตรงอาลยวิญญาณอันเกิดดับ สืบสันตติไม่ขาด

สาวกของฝ่ายโยคาจารรุ่นหลังมักพูดว่า ฝ่ายสาวกญาณมีความรู้แต่วิญญาณ 6 เท่านั้น ยังมีธรรมาวรณะไม่อาจหยั่งทราบถึงวิญญาณที่ 7 ที่ 8 ก็เป็นเรื่องน่าขบขันในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้พูด เพราะในปกรณ์ฝ่ายโยคาจารเองก็รับว่า ได้บัญญัติมนินทรีย์หรือมโนธาตุเป็นวิญญาณที่ 7 อาลยวิญญาณเล่าก็คือภวังคจิตของฝ่ายอภิธรรมเถรวาทนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ยังจะมีอะไรพิเศษมาข่มฝ่ายเถรวาทอีกเล่า

ในอภิธรรมมัตถวิภาวินีของฝ่ายเถรวาทได้ให้อรรถแก่คำว่าจิตว่า “ชื่อว่าจิตเพราะทำให้วิจิตรหรือเพราะภาวะแห่งตนวิจิตร หรือเพราะอันกรรมกิเลสสั่งสม หรือเพราะรักษาไว้ซึ่งตน อันกรรมกิเลสสั่งสม (เทียบด้วยพีชะใหม่)

“หรือเพราะสั่งสมซ่างสันดานแห่งตน (เทียบด้วยพีชะที่มีอยู่เดิม) หรือเพราะมีอารมณ์วิจิตร”

แท้จริงแล้วเป้าหมายของเสถียร โพธินันทะ ในการเรียบเรียง “ปรัชญามหายาน” มิได้ต้องการแยกตนไปฝักฝ่ายมหายาน หากเพียงแต่ต้องการสร้างความเข้าใจ “ร่วม”

เป้าหมายแท้จริงก็คือ เป็นการสมานระหว่างโพธิสัตวยานกับสาวกยาน

การนำเสนอ “บทวิจารณ์” ในบทสุดท้ายของหนังสือสะท้อนความปรารถนาอย่างแท้จริงของเสถียร โพธินันทะ ออกมาครบถ้วน