ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ 7 : “เกาะของอาจารย์ชัยอนันต์กับเกาะนายสน” และ “ม่านไม่รู้ตัว” ของ John Rawls

ตอนที่แล้วได้เล่าเรื่อง “เกาะนายสน” หรือ “the Isle of Pines” นิยายที่เป็นผลงานของเฮนรี่ เนวิล นักคิดนักเขียนในศตวรรษที่สิบเจ็ดชาวอังกฤษ

และตอนท้ายของตอนที่แล้วได้ทิ้งไว้ว่า ถ้าจะเปรียบเทียบ “เกาะนายสน” ของเฮนรี่ เนวิล กับ “เกาะของอาจารย์ชัยอนันต์” จะพบความเหมือนและความต่าง

ความเหมือนก็คือ 1.คนติดเกาะร้าง 2.มีคนติดเกาะมากกว่าหนึ่งคน

ส่วนความต่างคือ 1.คนติดเกาะอาจารย์ชัยอนันต์มีแค่สองคน ส่วนคนติดเกาะนายสนมีห้าคน 2.คนสองคนที่ติดเกาะของอาจารย์ชัยอนันต์ อาจารย์ชัยอนันต์ไม่ได้ระบุเพศ สถานะทางสังคม แต่ปล่อยให้ปลายเปิด แล้วแต่คนจะคิด จะใส่คอนเทนต์เข้าไปเอง แต่คนห้าคนบนเกาะนายสน เฮนรี่ เนวิล ระบุเพศและสถานะทางสังคมไว้แล้ว…

คำถามคือ ระหว่างการระบุคอนเทนต์กับไม่ระบุ คุณคิดว่าอันไหนมันยากกว่ากันในการตอบคำถามที่ว่า “มีคนสองคนบนเกาะ มีการเมืองไหม?”

 

การไม่ระบุว่า คนสองคนเป็นใคร? มาจากไหน? เพศอะไร? ชนชั้นอะไร? นิสัยใจคอเป็นอย่างไร? ฯลฯ และให้ตอบว่า “คนสองคนนั้นอยู่บนเกาะ มีการเมืองไหม?” มันทั้งง่ายและยากในเวลาเดียวกัน

ที่ว่าง่ายก็คือ คนตอบสามารถใส่ “คอนเทนต์” (content) ลงไปได้ตามใจชอบ และก็ตอบไปตามเงื่อนไขของคอนเทนต์นั้นๆ

และแถมยังมีเสรีภาพที่จะจินตนาการตัวคอนเทนต์ได้ต่างๆ นานา

แต่ที่ยากก็คือ มันต้องคิดคอนเทนต์ไงล่ะครับ!

ของแบบนี้ บางทีจินตนาการไม่ออกจริงๆ ถึงแม้ว่าจินตนาการออก แต่มันก็มีความเป็นไปได้แบบนับไม่ถ้วนจนอาจจะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่คอนเทนต์ไหนดี

พูดง่ายๆ ก็คือ มีมากจนปวดหัว

แต่ถ้าไม่ใส่คอนเทนต์อะไรเลย เช่น เราไม่รู้ว่าคนสองคนนั้นเป็นใคร ไม่รู้ว่ามาจากไหน และไม่รู้ว่าเพศอะไร ชนชั้นอะไร? และก็ไม่รู้นิสัยใจคอด้วย อย่างนี้จะเอาอะไรเป็นคอนเทนต์?

การสมมุติให้มีมนุษย์สองคนติดอยู่บนเกาะและไม่รู้ถึงคอนเทนต์ในตัวของเขา การสมมุติแบบนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึงประเด็นสำคัญในทฤษฎีการเมืองของจอห์น รอลส์ (John Rawls : 1921-2002) นักปรัชญาชาวอเมริกันในศตวรรษที่ยี่สิบที่โด่งดังยิ่งจากตำราเรื่อง “ทฤษฎีความยุติธรรม” (A Theory of Justice) ในการหากฎเกณฑ์กติกาที่เที่ยงธรรมสำหรับทุกคนในสังคม

รอลส์บอกเราว่า ให้เราสมมุติว่าเรามาเริ่มตั้งต้นกันใหม่ คือ ไอ้สภาพที่เราเป็นอยู่ในสังคมขณะนี้น่ะ ให้เราสมมุติว่าทิ้งมันไป และมาอยู่ที่จุดตั้งต้นกันทุกคน

คล้ายกับว่า หากเรากำลังวิ่งแข่งกันอยู่ บางคนวิ่งนำ บางคนวิ่งรอง บางคนวิ่งตาม บางคนอยู่ตรงกลาง บางคนรั้งท้าย บางคนวิ่งไม่ได้ด้วยซ้ำ

แต่สมมุติให้ทิ้งสภาพที่แตกต่างได้เปรียบเสียเปรียบเหล่านี้ไป และมาเริ่มที่จุดสตาร์ต ซึ่งจุดสตาร์ตที่รอลส์สมมุติให้ทุกคนกลับมาอยู่ที่จุดเดียวกันนี้ รอลส์เรียกมันว่า

“original position”

 

และ ณ “จุดตั้งต้น” รอลส์ให้เราสมมุติอีกว่า เราไม่รู้ว่าเราจะเกิดมาแล้วเป็นอย่างไร

เช่น ไม่รู้ว่าเราจะเกิดเป็นหญิงหรือชายหรือเพศที่สามสี่ห้า

ไม่รู้ว่าเราเกิดมาแล้วจะฉลาดมากหรือน้อยหรือปัญญาอ่อน

ไม่รู้ว่าเราจะเกิดเป็นคนผิวสีอะไร

ไม่รู้ว่าเราจะแข็งแรงตัวโตตัวเล็กหรือพิการ วิ่งเร็ววิ่งช้า เล่นกีฬาเก่งหรือไม่เก่ง เล่นดนตรีเก่งหรือไม่เก่ง มีอัจฉริยภาพ หรือเป็นคนกลางๆ ฯลฯ

พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่รู้คอนเทนต์เกี่ยวกับตัวเราเลย

และสภาพที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเราเลย ณ จุดตั้งต้นนี้ รอลส์เปรียบสภาพของคนที่อยู่ในสภาพไม่รู้นี้ว่าเหมือนกับมี “ม่านแห่งความไม่รู้” (veil of ignorance) มาคลุมตัวเราเอาไว้

คล้ายๆ กับว่า เรา ณ ขณะนี้ ย่อมรู้ว่าตัวเราเพศอะไร รู้ว่าเรียนหนังสือได้ระดับไหน ทำงานได้ระดับไหน วาดฝันไว้ว่าอยากเป็นอะไร หรือบางคนอายุมากแล้ว และประสบความสำเร็จก็อาจพอใจในชีวิตและความสามารถและเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้ตนมาถึงจุดนี้ได้

แต่คนที่ล้มเหลวก็คงคิดว่าสังคมนี้ไม่ยุติธรรม

แต่จู่ๆ รอลส์ก็เอาผ้าวิเศษผืนใหญ่ ที่ใหญ่ราวกับผ้าม่านมาคลุมตัวทุกคน พอคลุมแล้ว เราก็จะลืมว่าเราคือใคร เป็นอะไร อย่างไร?

ที่จริงม่านนี้น่าจะชื่อ “ม่านไม่รู้ตัว” ดีกว่านะครับ

และรอลส์ก็บอกให้เราถามตัวเราเอง ณ จุดตั้งต้นและอยู่ภายใต้ม่านไม่รู้ตัวนี้ว่า เราอยากให้กฎเกณฑ์กติกาในสังคมที่เราจะมีชีวิตอยู่นั้นมีหน้าตาอย่างไร?

รอลส์เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้จากความคาดหวังของมนุษย์ในสภาวะสมมุตินี้แหละคือ “ทฤษฎี” ที่จะนำพาให้ผู้คนพบกับความยุติธรรมในสังคมได้

ท่านผู้อ่าน (เอาเฉพาะคนไม่เคยอ่านทฤษฎีของรอลส์มาก่อนนะครับ ห้ามโกง!) ลองเล่นเกมของรอลส์กันไหมครับ?

 

ลองจินตนาการตัวคุณเองให้มาอยู่ที่ “จุดตั้งต้นและอยู่ภายใต้ม่านไม่รู้ตัว” แล้วลองคิดตามที่รอลส์ขอ แล้วส่งผลทางความคิดของคุณมาที่ [email protected] เพื่อแลกเปลี่ยนกันและกัน และทดสอบดูว่าผลลัพธ์ที่ได้จะนำพาให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้ตามที่รอลส์บอกไว้ไหม?

ยิ่งวันก็เห็นบอกว่าจะมีเลือกตั้ง การคิดถึงกฎเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคมน่าจะดีนะครับ จะได้ช่วยกันเผยแพร่ไปให้บรรดานักการเมืองพรรคต่างๆ ได้ลองพิจารณา เห็นหลายพรรคคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ

ที่จริง “การพูดถึงคนบนเกาะ โดยไม่มีคอนเทนต์ของอาจารย์ชัยอนันต์” หรือการกลับมาที่จุดเริ่มต้นและตกอยู่ภายใต้ “ม่านไม่รู้ตัว” ของรอลส์นี้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีคอนเทนต์อะไรเหลืออยู่จริงๆ

เพราะถ้าตัดอะไรที่เป็นผลผลิตของสังคมวัฒนธรรมไปแล้ว สิ่งที่น่าจะยังคงเหลืออยู่ก็คือธรรมชาติมนุษย์ไงล่ะครับ

ธรรมชาติที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทางสังคมใดๆ ไม่มีวัฒนธรรมจารีต ความเชื่อ บรรทัดฐาน ชนชั้น หรือความอัตคัดยากแค้นอย่างที่เกิดขึ้นในบางสังคม หรือความอุดมสมบูรณ์ในบางสังคม ไม่มีความยากแค้นทางภูมิอากาศหรือความรื่นรมย์สุขสบายตามภูมิประเทศบางที่ แต่มีแต่ธรรมชาติเพียวๆ เลย

เมื่อมาถึงจุดนี้ บางคนคงถึงบางอ้อ! และพอจะเห็นคำตอบหรือเหตุผลว่าทำไมนักคิดนักเขียนทางการเมืองจำนวนหนึ่งถึงชอบใช้ “เกาะ” เป็นฉากเดินเรื่องในงานเขียนของพวกเขา

ขณะเดียวกันแม้ว่ารอลส์จะไม่ได้ใช้ “เกาะ” แต่เขาชวนให้เราจินตนาการกลับไปที่จุดตั้งต้นและอาการที่ตกอยู่ในม่านไม่รู้ตัว ซึ่งการขอให้คนอ่านงานของเขาจินตนาการขนาดนั้นก็นับว่าน่าจะยากกว่าการใช้ “เกาะ” เป็นฉากเดินเรื่อง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่งานเขียนของรอลส์ไม่ใช่นวนิยาย

แต่งานของเขาเป็น “ตำราปรัชญา” แท้ๆ เลย

และเขาคาดหวังให้คนที่จะอ่าน “A Theory of Justice” ของเขาคือผู้รักในความรู้เรื่องความยุติธรรมอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็นักเรียนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยของเขา ซึ่งก็คือฮาร์วาร์ด (Harvard)

 

หลายคนที่อ่านมาตั้งแต่ตอนที่แล้ว อาจจะตงิดๆ เพราะอยากรู้ว่า ตกลงแล้วในนิยาย “the Isle of Pines” เฮนรี่ เนวิล ให้จอร์จในฐานะที่เป็นผู้ชายคนเดียวบนเกาะนอนกับสาวคนไหนก่อนในทั้งหมดสี่คน คราวที่แล้วได้บอกคอนเทนต์ของสาวๆ ทั้งสี่ไปแล้ว แต่จะขอทวนให้อีกครั้ง

สาวทั้งสี่มีดังนี้คือ 1.ลูกสาวของเจ้านายของจอร์จ 2.สาวรับใช้สองคน และ 3.สาวผิวดำที่เป็นทาส

คำตอบคือ จอร์จเลือกที่จะนอนกับสาวรับใช้ทั้งสองก่อน และในการร่วมหลับนอนกับสาวใช้ทั้งสองนี้ จอร์จกระทำในสองลักษณะคือ ทั้งในแบบลับๆ และในแบบเปิดเผย

คำถามคือ ทำไมเขาต้องทำแบบนั้น?

ทำแบบนั้นแล้วได้อะไร?

หรือเขาหวังผลอะไรที่จะตามมาที่เกี่ยวข้องกับการหลับนอนกับสาวอีกสองคนที่เหลือไหม?

และเวลาเขานอนกับสาวรับใช้ทั้งสอง เขานอนทีละคน หรือพร้อมๆ กัน?

เฮนรี่ เนวิล เท่านั้นที่จะตอบได้

แต่กระนั้น ใครก็ห้ามไม่ให้คุณลองตอบไม่ได้!

โอ้! Harold Lasswell เจ้าพ่อรัฐศาสตร์กระแสหลักแห่งศตวรรษที่ยี่สิบได้กล่าวไว้ว่า “Politics is who gets what, when, how.” และอาจารย์ชัยอนันต์ก็เคยสอนพวกเราไว้!