ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคา : มุมมองของอินเดีย ตอนที่ 1

จรัญ มะลูลีม

ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคา (The Mekong-Ganga Cooperation) หรือ MGC เป็นความร่วมมือในเวทีภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนเส้นทางลุ่มแม่น้ำแม่โขงกับแม่น้ำคงคาในด้านวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว การขนส่งและการโทรคมนาคม

MGC มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน ผู้วางนโยบายและนักวิชาการโดยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ข้ามเขตแดนในประเทศต่างๆ ของภูมิภาค

ในมุมมองของอินเดียปฏิสัมพันธ์กับประเทศ MGC เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดียและเป็นโอกาสแห่งการส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับประเทศที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคา

มีความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ถูกนำมากล่าวถึงและอินเดียก็มองไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่เหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านวัฒนธรรม การศึกษา และภายใต้นโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy)

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญจะมุ่งไปที่การเชื่อมต่อการพัฒนาสาธารณูปโภคด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคที่เป็นที่ตั้งของแม่น้ำแม่โขง-คงคา

 

ที่มา

ความคิดว่าด้วยความร่วมมือแม่น้ำแม่โขง-คงคา (MGC) ได้รับการนำเสนอโดยอินเดียพร้อมๆ กับ 5 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2000 ที่นครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว ความร่วมมือดังกล่าวอินเดียให้ความสำคัญกับประเทศเมียนมา กัมพูชา ไทย ลาวและเวียดนาม

นโยบายมองตะวันออกแสดงถึงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตามมโนทัศน์ของอินเดียที่มีต่อโลกและต่อตำแหน่งแห่งที่ของอินเดียในฐานะประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของโลก

นับตั้งแต่เริ่มนโยบายอินเดีย ASEAN อินเดียได้เริ่มขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทวิภาคีหลายด้านทั้งในระดับภูมิภาคและข้อเสนอในอนุภูมิภาคเพื่อให้การขับเคลื่อนดังกล่าวประสบความสำเร็จในอนาคต

MGC มีจุดมุ่งหมายให้มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างอินเดียกับรัฐที่อยู่ติดกับลุ่มแม่น้ำแม่โขงซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม

นอกจากนี้ อินเดียยังมุ่งที่จะทำให้การติดต่อกับทั้ง 5 ประเทศมีความเข้มแข็งในด้านสาธารณูปโภคและด้านกายภาพ ทั้งนี้ จะรวมทั้งถนน รถไฟ การเชื่อมต่อทางอากาศ ข่าวสารและเทคโนโลยี การโทรคมนาคม รวมไปถึงการศึกษา วัฒนธรรม และทักษะการติดต่อสื่อสารในการพัฒนาการบริหารจัดการ

ในอีกทางหนึ่งข้อเสนอของ MGC ก็เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ในช่วงเวลานี้ที่เป็นความพยายามของประเทศแห่งลุ่มแม่น้ำคงคากับรัฐที่อยู่ติดกับชายฝั่งแม่น้ำแม่โขง

MGC มุ่งเข็มการลงทุนไปที่การท่องเที่ยวใน 5 ประเทศ การทำวิจัยร่วมกันในรูปแบบของศิลปะและการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักเขียนและศิลปิน การให้ทุนการศึกษาและการช่วยเหลือทางการเงินแก่ทีมนักวิจัยด้านความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา

ทั้งนี้ ได้มีการเร่งรัดการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตกกับโครงการทางหลวงทรานส์เอเชีย (East West corridor project and The Trans-Asian highway) โดยเน้นการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีสาธารณูปโภค และให้มีการบริการทางอากาศเพิ่มขึ้น

รวมทั้งการเชื่อมต่อกับภูมิภาคของประเทศที่เป็นสมาชิก MGC

 

ความคิดนี้เกิดขึ้นระหว่างที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณไปเยือนอินเดียในเดือนกรกฎาคมปี 2000

ในช่วงเวลานั้นชื่อที่จะนำมาใช้คือโครงการลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคา สุวรรณภูมิ ซึ่งในทางอารยธรรมมีความคล้ายคลึงกับอินเดียที่มีความพยายามเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมการศึกษากับ 5 ประเทศริมฝั่งแม่น้ำแม่โขงที่อยู่ใน ASEAN

ในอีกไม่กี่วันต่อมาที่กรุงเทพฯ หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ASEAN ประเทศจากลุ่มแม่น้ำแม่โขง 5 ประเทศกับอินเดียก็ให้การยอมรับโครงการนี้

ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าแม่น้ำคงคาและแม่น้ำแม่โขงเป็นสองแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเอเชีย โครงการนี้จึงถูกทำให้ใหญ่ขึ้นบนพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างสองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับประเทศริมฝั่งแม่น้ำแม่โขงที่ขยายตัวออกไปแสดงให้เห็นผ่านมวลชนของทั้งสองภูมิภาคที่ปรากฏให้เห็นทางกายภาพ ทางความคิด ทางด้านประเพณี ทางศาสนา ตลอดไปจนถึงนิสัยด้านอาหารการกิน

พลังขับเคลื่อนนี้เป็นไปตามการนิยามใหม่ของอินเดียที่มีต่อประเทศต่างๆ ริมฝั่งแม่น้ำแม่โขงในทางเศรษฐกิจของโลก โดยไม่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนด้านอัตลักษณ์ต่อประเทศเหล่านี้แต่อย่างใด

 

โครงการ MGC จึงเป็นอีกความร่วมมือหนึ่งของประเทศอินเดียที่ผ่านมาทางนโยบายมองตะวันออกกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีโครงการ BIMSTEC (ข้อเสนออ่าวเบงกอลเพื่อความร่วมมือทางเทคนิคและทางเศรษฐกิจ) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีขึ้นในปี 1997 นอกจากนี้ BIMSTEC ยังหมายถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างบังกลาเทศ-อินเดีย-เมียนมา-ศรีลังกา และประเทศไทยอีกด้วย และเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับมาก่อน

อินเดียยืนยันว่าการติดต่อกับประเทศริมฝั่งแม่น้ำแม่โขงจะต้องมีความยั่งยืนและมั่นคง ซึ่งสมาชิก MGC จะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีทางประวัติศาสตร์มาเป็นที่ตั้ง

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่อยู่ภายใต้การปักหมุดของ MGC นั้นต้องพิจารณาถึงการแข่งอิทธิพลระหว่างจีนและอินเดียในพื้นที่นี้ด้วย ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วบทบาทของจีนยังมีอยู่มากในประเทศอย่างเช่น พม่า ลาว และเวียดนาม ซึ่งในเรื่องนี้อินเดียยังตามหลังจีนอยู่

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2000 ที่กรุงเทพฯ ประเทศบางประเทศของ MGC เรียกร้องให้โครงการนี้ใช้ชื่อว่า “โครงการความร่วมมือลุ่มแม่น้ำแม่โขง-คงคา” โดยตัดคำว่า “สุวรรณภูมิ” ออกเพื่อให้เป็นไปตามความเกี่ยวข้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แท้จริงของโครงการ

สำหรับอินเดียแล้ว การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการศึกษาจะเป็นเรื่องแรกๆ ของโครงการ ตามมาด้วยการสนับสนุนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศที่มีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีแม่น้ำแม่โขง-คงคาเป็นสายน้ำแห่งชีวิต