เพลงตุลาคม กับ ในความแปรเปลี่ยนของยุคสมัย

เดือนตุลาคม เป็นวาระแห่งการรำลึก สำหรับคนรุ่นวัยหนึ่ง

ยิ่งเป็นวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 2519 ย่อมมีความพิเศษ อย่างน้อยผมก็เห็นหนังสือ 2 เล่ม ที่ระบุว่าตีพิมพ์เพื่อร่วมรำลึก

พายุฝน บนผาจิ-ผาช้าง ของ ไหมลี กับ เส้นทางเพลงเพื่อชีวิต ความคิด ความใฝ่ฝัน ของ ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์

สำหรับผม ขณะคิดว่า คงร่วมรำลึกเงียบๆ เช่นหลายปีหลัง มงคล อุทก หว่อง คาราวาน ส่งข่าวคราวแจ้งว่า กำลังจัดทำอัลบั้มเพลงชุดพิเศษ เป็นรวมเพลงรำวงในป่า

ชื่อชุด กินตั๊บ กินพุง กินตั๊บ

ร่วมในบรรยากาศการรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม

เพราะเหตุการณ์นองเลือดคราวนั้น เป็นจุดเริ่มให้เกิดเพลงพวกนี้

ชื่อชุดอิงมาจากเพลงที่ผมเขียน กินพุง กินตับ ผมจึงมีชิ้นงานร่วมรำลึกไปด้วยโดยปริยาย

อันที่จริง หว่อง คาราวาน คงหมายถึงแนวความคิดรวมๆ เป็นเพลงรำวงที่มีจังหวะแบบฟ้อนสามัคคีของลาวยืนพื้น รำวงไทยไทย เสียงกลองที่มาจากรำโทน ถูกแทนด้วยคำว่า โทน ป๊ะ โทนโทน…

แต่แบบลาว สหายชาวนาแทนด้วยคำ กินพุง กินตับ กิน…

เรื่องของเรื่องคือเมื่อนักดนตรีเพื่อชีวิต สองวง คาราวาน กับ โคมฉาย ออกจากเมืองในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไปถึงป่าเขตภูซาง อุดรธานี เลย เป็นที่ตื่นเต้นยินดีของบรรดาสหาย ได้พบสัมผัสศิลปิน ผู้ปฏิบัติงานวัฒนธรรมในเมือง มีชื่อเสียงไม่น้อย ทั้งหวังว่าชีวิตป่าจะมีสีสันเพิ่มขึ้นยามบันเทิง

แต่อยู่ไปสักพัก นักดนตรีเพื่อชีวิตก็ได้รู้ว่า สหายเก่าพื้นถิ่นอีสาน โดยเฉพาะที่มาจากชาวนาชาวไร่ มีเพลงของพวกเขาเองซึ่งคุ้นหูคุ้นลิ้น เป็นเพลงลูกทุ่ง แต่ยามนี้มันเป็นเพลง ต้องห้าม ในสถานการณ์สู้รบ ด้วยเนื้อหาหมกมุ่นวนเวียนอยู่กับความรัก ความอกหักซ้ำซาก อาจบั่นทอนจิตใจและชวนให้เพริดหลง

พวกเขาจึงหันไปฟังเพลงลาวปฏิวัติ ที่ภาษา คำร้อง ทำนอง ไม่ห่างจากเพลงลูกทุ่งนัก

โดยเฉพาะเพลงรำวง ที่จังหวะโยนเนิบกว่า เพลงรำวงไทย ฟ้อนเคลื่อนก้าวไป และหยุดหันมาสบตาฟ้อนอยู่กับที่ ก่อนก้าวต่อไป สลับกันตลอดเพลง

เพลงของผู้นำวัฒนธรรมจากเมือง แค่ฟังได้แต่ไม่อาจจับใจ

นักดนตรีเพื่อชีวิต เหมือนถูกบีบให้เริ่มสร้างงานปฏิวัติรับใช้สหาย ที่เพลงรำวง ในป่าเขามันเป็นภาคบันเทิงที่ทุกคนรอคอย เพราะตัวได้กระโดดเข้าร่วมสนุก ในฐานะผู้แสดงบนเวที นักดนตรีจากเมืองจึงต้องเรียนรู้กลองจังหวะรำลาว

สหายชาวนาครูฝึก แนะนำให้จำเสียง ไม่โทนป๊ะโทนโทน แต่เป็น กินพุง กินตั๊บ กินพุง กินตั๊บ กิน…

หว่อง คาราวาน เหมือนจะเข้าใจสภาพได้เร็วกว่าใคร เพลงรำวงแบบจังหวะรำลาวจึงพรั่งพรู

ใส่เนื้อหาที่กระทบกระทุ้ง เพราะหยิบจับเอาเรื่องราว ในถิ่นใกล้ตัว กระทั่งอยู่ในวิถีชีวิต เช่น หน่อไม้หนุนช่วยการปฏิวัติ สารพัดมีมากมายหลายอย่าง… เพลงจักจั่น เมืองเลย พบกันวันปีใหม่…

จากนั้นงานบันเทิงจึงกระหึ่มไปด้วย กินตั๊บ กินพุง กินตั๊บ

เมื่อเคลื่อนขึ้นสู่ภาคเหนือ เหล่านักดนตรีเพื่อชีวิตได้พบว่า ในหมู่คนลัวะเมืองน่าน ชื่นชอบรำวงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะฟ้อนรำลาว แต่ละหมู่บ้านจะมีกลอง ทำเองชั้นดี ตีกระหึ่มชนิดเขย่าภูเขา มากกว่า 1 ใบ รำวงกันรอบละยาวๆ จนแทบแขนห้อย จนฟ้าแจ้งคาตา

หากเป็นงานบันเทิงระดับเขต กลองที่ระดมกันมาจากแต่ละบ้าน กระหน่ำจนอกใจไส้พุงสะเทือน

กินตับ กินพุง กินตับ กิน…

สาวรุ่นนุ่งผ้าถุงดอกดวงสดแจ่มละลาน แต่งหน้าเติมสีสดใส ออกมาฟ้อนกันเป็นขบวน เคลื่อนโยกไหวหวานส่ายพลิ้ว ภาพบางภาพจึงปรากฏให้ผมเขียน…

หมอกจาง เหลียวไปทางหัวไร่ ลึกลงไปน้ำน่านไหลล่อง ป่าดงเขียวสุดตาแล ทั้งภูแวจบภูแหลมทอง จิบเหล้าฝีมืออาวจอง หนุ่มสาวสวยเอยน่ามอง โยกส่ายตามกลอง ร้องกล่อมภูผา

ฟังเสียงเพลงบรรเลงขับร้อง เสียงกลองขยับ กินตับ กินตับ กินพุง กินตับ…

อันที่จริงในปีซึ่งเพื่อนพ้องหลายคนทยอยกันละลาโลก บางคนถูกรุกรุมด้วยโรคภัย กับส่วนที่ถูกกวาดไปอยู่อย่างโดดเดี่ยว เมื่อก้าวผ่านประตูความชรา ผมเคยเขียนเพลงปลุกปลอบ ยามรำลึกเดือนตุลาคม

ปลอบคนเคยผ่านเหตุการณ์พลิกเปลี่ยนประวัติศาสตร์ กระทั่งเตลิดไปสู่สมรภูมิสงคราม โชกโชนกับชีวิต

ผมไม่คิดถึงจอมยุทธ์ อาจเห็นแค่ความเป็น นักดาบ

แต่เมื่อเป็นนักดาบในยุคสมัยของการใช้ปืน มือปืน บางทีเพลงปลุกปลอบ อาจพลิกเป็นยั่วเย้ย นักดาบที่ต้องฝึกฝนเคี่ยวกรำ เรียนรู้สั่งสมบทเรียน พิสูจน์กันในสนามจริง เข้าใจในศิลปะเด็ดขาด ประณีตเรียกขานเป็นเพลง เป็นเรื่องเฉพาะคนอาจตกยุค ขณะปืน ใครเข้าใจการใช้งาน ก็สามารถเหนี่ยวไกและเห็นผล

ผมเองก็เป็นคนรุ่นนั้น เพลงจึงไปไม่พ้นการปลุกปลอบ กระทั่งยั่วเย้ย ตัวเอง

ดิ่งลึกในทางฝัน เก็บร้อยจันทร์พันหมื่นดาว พราวใสธารกวี วักดื่มอาบใจทระนง…คนรุ่นผมไม่น้อยเป็นเช่นนี้ แล้วก็ต้อง…คว้าดาบจรจากนครถึงไพรพง ส่ำเสียงร่ำร้องส่ง แผ่นดินร้ายร้อนภัยคุกคาม ลุยเข้าประจัญฟาดฟันไม่เคยครั่นคร้าม ทำศึกกร้านกรำ สง่างามทุกชัย ทุกพ่าย…

ในความแปรเปลี่ยนของยุคสมัย คนพวกนี้ก็กลายเป็นนักดาบแก่ มีบาดแผลเก่าๆ ให้แอบไปเลียอย่างเดียวดาย

ตามวีถีปกติของชีวิตที่เคยเป็นมา