ผู้เขียน | คำ ผกา |
---|---|
เผยแพร่ |
มีข่าวเล็กๆ เรื่อง บิลล์ เกตส์ โพสต์ภาพสายไฟพันกันอีรุงตุงนังในประเทศไทย อ่านพาดหัวข่าวก็สนุกดี มีทั้งคำบรรยาย เช่น “วิจารณ์จนต้องอาย” หรือ “ถึงกับจุกและอายไปทั่วโลก” หรือแม้กระทั่ง “ดังไกลไปทั่วโลก”
อันที่จริง ก่อนหน้าจะมีข่าวเรื่อง บิลล์ เกตส์ พูดถึงเรา ก็มีข่าวทำนองนี้ออกมาอยู่เนืองๆ เช่น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ โพสต์รูปถ่ายของตัวเองกับสายไฟเมืองไทยที่แสนอะเมซิ่ง ดังที่เห็นในรูปนี้
ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครออกมาอธิบายเหตุแห่งความอะเมซิ่งนี้ได้ว่า ไอ้ความพัลวันพัลเกนี้เกิดจากอะไร
แต่หากจะมองโลกในแง่ดีก็คือ ประเทศไทยและคนไทยเก่งมาก ที่มีสายอะไรต่อมิอะไรพันกันขนาดนี้ ไฟฟ้าบ้านเรายังสว่างไสว สัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ยังวิ่งได้ตามปกติ และยังไม่มีข่าวว่ามีใครตายหรือบาดเจ็บจากความพัลวันอันนี้
เพราะดูจากรูปหลายรูปที่มีคนเอามาโพสต์ในหน้าเว็บต่างๆ จะเห็นว่า ไอ้สายเจ้ากรรมเหล่านี้ บางทีโผล่มากลางบันไดที่ไหนสักแห่งที่เป็นคอนกรีต เรียกได้ว่าทะลุแท่งคอนกรีตออกมาเลยก็ดี
สายเจ้ากรรมเหล่านี้จะประกอบไปด้วยสายอะไรบ้างก็ช่างมันเถอะ แต่การที่เราคนไทยสามารถอยู่กับมันได้โดยไม่คิดจะไปร้องแรกแหกกระเชอให้ใครเขามาแก้ไข และลึกๆ แล้ว เราก็บอกตัวเองว่า
“ถ้าไม่พันกันแบบนี้แล้วจะให้เป็นยังไง” หรือบางทีเราก็บอกตัวเองว่า “โอ๊ย ถ้ารื้อแล้วทำใหม่คงเป็นเรื่องใหญ่ เลยเถิดเป็นพุ่มเป็นพวงมาขนาดนี้แล้วคงทำอะไรไม่ได้ ช่างมันเถอะ อย่าให้มาระเบิดตูมตามแถวบ้านเราเป็นใช้ได้”
ความพัลวันของสายอะไรต่อมิอะไรนี้ สำหรับฉันมันคือเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่น่าเอาไปจดทะเบียนเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก้เสียยิ่งกว่าโขน
ความเป็นไทยที่ว่าคือตลอดชีวิตแห่งการเป็นประเทศไทยเราไม่เคยเห็นการทำงานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็น foundation หรือสิ่งที่เป็นฐานราก
ฉันจะยกตัวอย่างแบบนี้ เวลาที่เราจะสร้างบ้านขึ้นมาสักหลัง เราจะมีโจทย์ว่า บ้านหลังนี้สำหรับผู้อยู่อาศัยกี่คน อายุเท่าไหร่บ้าง อุปนิสัยอย่างไร จากนั้นจึงนำมาสู่คำตอบว่าเราควรมีห้องนอนกี่ห้อง ห้องน้ำกี่ห้อง ห้องครัวใหญ่หรือเล็ก ฯลฯ
จากนั้นนำมาสู่การเขียนแบบบ้านว่าเพื่อตอบสนองหน้าที่ใช้สอยนั้นกับงบประมาณที่มีอยู่ บ้านควรมีพื้นที่เท่าไหร่ จะทำกี่ชั้น จากนั้นก็นำไปสู่การคำนวณว่าด้วยบ้านสเกลนี้ ต้องการการวางฐานรากอย่างไร เพื่อรองรับน้ำหนักของอะไร
จากนั้นนำมาสู่การเขียนผังของระบบท่อน้ำ ท่อไฟ สายไฟ การวางสายก๊าซหุงต้ม การวางจุดของปลั๊ก สวิตซ์-ทั้งหมดนี้ต้องผ่านการคิด กลั่นกรอง ทบทวน มีวิสัยไปถึงอนาคตอย่างน้อยห้าปีว่า ประชากรในบ้านจะเป็นอย่างไร และควรวางระบบเหล่านั้นไว้รองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร อีกทั้งคิดว่าจะออกแบบระบบให้ง่ายต่อการดูแล ซ่อมแซมอย่างไร
การคิดแบบนี้ เราเรียกว่าคิดตั้งแต่ต้นจนจบ
ก่อนที่จะไปพูดถึงในระดับประเทศ ขอยกตัวอย่าง “ความพังของการคิดไม่จบ” ในสเกลเล็กๆ ให้ฟัง
สัปดาห์ที่แล้วไปต่างจังหวัดแล้วไปพักในเกสต์เฮ้าส์ที่เรียกตัวเองว่าเป็นโฮมสเตย์ หน้าตาข้างนอกดูเก๋ไก๋ เรโทร มีมุมให้ถ่ายรูปลงไอจีเป็นการท่องเที่ยวในสไตล์ฮิปสเตอร์ได้ทุกมุม ทั้งภาพวาดแขวนผนัง กระเบื้องลายย้อนยุค โต๊ะ เก้าอี้ ที่ดู “ฮิป” จัดมากๆ
แต่ปรากฏว่าเมื่อต้องเข้าไปพักจริงๆ สิ่งก่อสร้างทั้งมวลในห้องพักมันทั้งพังทั้งผิดที่ผิดทางไปหมด
ตั้งแต่การเอาผ้าเช็ดตัวมาม้วนเป็นรูปหงส์ตัวเล็กตัวน้อยไว้เกลื่อนเตียงไปหมด (โอ้ นี่หรือคือความฮิป ศิลปะการม้วนผ้าขนหนูให้เป็นรูปหงส์)
ไม่เพียงเท่านั้น ห้องน้ำถูกแบ่งออกเป็นสองห้อง (เพื่อ?) แล้วทั้งสองห้องไม่มีที่แขวนผ้าเช็ดตัว ไม่มีที่วางสบู่ แชมพู ทิศทางของฝักบัวอยู่ในตำแหน่งที่ต้องไปยืนบนชักโครก ตัวถึงจะโดนน้ำจากฝักบัว
จากห้องนอนไปห้องน้ำมีบันไดหนึ่งขั้นที่มีสัดส่วนผิดมนุษย์ คือ ความสูงเท่าบันไดสองขั้น
ที่พีกที่สุดคือ อ่างล้างหน้า ทำเป็นปูนเปลือยที่ไม่ใช่ปูนเปลือย แต่เป็นปูนซีเมนต์ดิบๆ ในสัดส่วนที่ทั้งอัปลักษณ์ ทั้งใช้งานไม่ได้จริง แถมยังอยู่โผล่ไปให้เห็นช่องตึกที่เหมือนถูกทุบไว้ค้างๆ คาๆ เลยให้เห็นคอมเพรสเซอร์แอร์ และยังดูดเอากลิ่นอาหารจากห้องครัวขึ้นมาอีก
ไม่นับมีไส้เดือนเลื้อยมาไต่เล่นตรงอ่างล้างหน้าที่แสนอุจาดนั้นตลอดเวลา
เมื่อฉันทักท้วงไปกับเจ้าของโรงแรม ได้คำตอบว่า “อ๋อ เราเป็นโฮมสเตย์นะคะ” – คำตอบนี้ก็แสนจะไทย เพราะเรามักจะรับมือกับการ “ทักท้วง” หรือคำตำหนิ ด้วยเทคนิคการตอบคำถามแบบ “ไปไหนมาสามวาสองศอก”
ลักษณะที่ฉันเห็นว่าไทยมากคือ เรามีวิธีคิดที่เน้นความสำคัญของ finishing เหมือนโรงแรมแห่งนี้ เห็นการติดรูปภาพที่ผนัง เน้นลายกระเบื้องข้างนอก เน้นสีสันของโต๊ะเก้าอี้ที่มองผาดๆ แล้วเป็นฮิปสเตอร์
พูดง่ายๆ ว่ายอมจ่ายเงินสำหรับความงามภายนอก แต่ไม่ใส่ใจงาน “ฐานราก” งาน “โครงสร้าง”
ไม่ทุ่มเทพลังงานไปกับการ “คิด” ในส่วนที่เป็น “สาระ” ของงาน
เช่น เราไม่ต้องการผ้าเช็ดตัวรูปหงส์ แต่เราต้องการห้องน้ำ ต้องการอ่างล้างหน้าที่ทำหน้าที่พื้นฐานของมันได้อย่างถูกต้อง
(นี่ยังเว้นไม่พูดถึงการออกแบบเลย์เอาต์ห้องนอนที่ผิดทุกข้อ)
หันกลับมาดูประเทศไทย กรุงเทพฯ ที่เราก่นด่ากันเรื่องน้ำท่วม ก็เกิดมาจากการที่นับตั้งแต่ก่อกำเนิดกรุงเทพฯ มาเผชิญกับน้ำท่วม โรคระบาด หรือปัญหาอื่นใดก็ตาม เราไม่เคยคิดเรื่องการวางระบบ หรือสร้างระบบ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าทั้งหมดนี้ผ่านการคิดและการวางแผนมาแล้วตั้งแต่ต้นจนจบ
เช่น ป่านนี้เรายังไม่มีท่อน้ำทิ้งที่แยกกับท่อน้ำฝน ไม่แยกกันไม่เป็นไร
เรายังไม่รู้ว่าท่อแต่ละท่อ เชื่อมโยงกันอย่างไร เขาคิด คำนวณอะไรกันมาด้วยโจทย์อะไร มันจึงเชื่อมกันแบบนั้น หรือเราไม่อาจทำความเข้าใจการเชื่อมต่อของคลอง ถนน ซอยใดๆ ในกรุงเทพฯ ได้ว่า วิธีคิดเบื้องหลังของการเชื่อมต่อทั้งหมดนั้นคืออะไร?
ถ้ากรุงเทพฯ เป็นบ้าน ก็คงเป็นบ้านที่ไม่มีสถาปนิก ไม่มีวิศวกร ที่มาอ่านโจทย์ แล้วออกแบบเมือง วางระบบของเมืองว่าทำไมถนนต้องเป็นแบบนี้ ทำไมคลองต้องเป็นแบบนั้น แล้วการก่อสร้าง ต่อเติมใดๆ ในอนาคตจะต้องยืนอยู่บนพิมพ์เขียวหลักอะไร ใครจะขุดท่อ ถมคลอง สร้างถนน วางเสาไฟ ต่อสายเคเบิลเพิ่ม ยังไงก็ต้องอิงกับพิมพ์เขียวหลักนี้ เพื่อจะได้ไม่ไปสร้าง ขุด ถม อะไรต่อมิอะไรที่สุดท้ายแล้วไปบล็อกระบบกันเอง
และด้วยพิมพ์เขียวหลักนี้มันควรนำไปสู่การกำหนด พ.ร.บ. เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดใน กทม. ว่าอะไรสร้างได้ อะไรสร้างไม่ได้ และต้องสร้างอย่างไร ถมที่ได้สูงเท่าไหร่ บนเงื่อนไข ข้อบังคับอะไรบ้าง และก็อย่างที่เรารู้กัน กฎหมายมี พ.ร.บ. มี แต่ไม่รู้ว่ามีผลบังคับใช้ได้จริงแค่ไหน
เมื่อบ้านเมืองเราถูกสร้างอย่างไร้พิมพ์เขียวเช่นนี้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่เราจะมีเสาไฟ และมีสายไฟบวกสายสารพัดเคเบิลและสายโทรศัพท์ และสายอื่นๆ ที่นิยามลงไปไม่ได้ว่าสายอะไร สายของใคร พัลวันพัลเกอย่างชนิดที่ใครๆ ก็ต้องอึ้ง ทึ่ง เสียว เมื่อได้เห็น
เพราะมันคือการมีชีวิตอยู่แบบไม่เคย “คิดยาว”
พวกเราเป็นมนุษย์คิดสั้น อาการคล้ายๆ กับเวลาเราสร้างบ้านแต่ไม่ได้คิดเผื่อว่าเราจะตั้งทีวี ตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ ตั้งหม้อหุงข้าวไว้ที่ไหน พอถึงเวลา เราก็อุ้มทีวีเข้าบ้าน อุ้มตู้เย็นเข้าบ้าน อุ้มหม้อหุงข้าวเข้าบ้าน อุ้มเตารีด อุ้มเตาอบ ไมโครเวฟ เข้าบ้าน แล้วก็วางมันลงในที่ที่เราอยากวาง
และหากตรงนั้นไม่มีปลั๊ก เราก็แค่เอาปลั๊กพ่วงมาพ่วงเข้าหากันไปเรื่อยๆ
สุดท้าย บ้านก็จะแออัดไปด้วยสายอะไรต่อมิอะไร พร้อมกับอุปกรณ์ประดามีที่ไม่อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ แล้วดูเหมือนเราไม่เคยกลัวว่ามันมีความเสี่ยงจะเกิดระเบิดตูมตามอะไรขึ้นมา
ไม่เพียงแต่กรุงเทพฯ เกือบทุกเมืองในประเทศไทยก็เป็นเช่นนั้น (ขณะได้แต่ภาวนาว่าเมืองใหม่ที่ยังไม่มีอะไรอลหม่านมากเท่ากรุงเทพฯ จะไหวตัวทัน และเริ่มทำผังเมืองแบบคิดให้เป็นระบบ คิดให้จบ คิดอย่างมีการวางแผนไว้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะเละตุ้มเป๊ะและสายเกินไป)
สิ่งที่เราต้องทบทวนจากภาพสายไฟที่ บิลล์ เกตส์ ถึงกับต้องเอ่ยถึงคือ การแก้ไขวิธีคิดแบบไทยๆ ที่มีชีวิตอยู่แบบขอไปที
และดูเหมือนเราจะไม่เคยเชื่อในวิชาการ “ออกแบบ” เราคิดว่าการออกแบบเป็นงานศิลปะ แต่เราไม่คิดว่าการออกแบบที่ดี มาจากกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ก่อนจะเกิดการวางแผนที่ดี เมื่อคิดดี วางแผนดี ต้องลงทุนกับโครงสร้างที่ฐานรากของมันให้สมบูรณ์แบบเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำในส่วนที่เป็นสิ่งก่อสร้างอันมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
พูดง่ายๆ คือ การทำงานแบบนี้เป็นการทำงานจากข้างในไปหาข้างนอก ทำงานจากส่วนที่อยู่ใต้ดินให้เป๊ะแล้วค่อยไปทำส่วนที่อยู่บนดิน เหมือนการสร้างบ้านที่งานระบบที่ฝังอยู่ใต้ดิน ฝังอยู่ในผนัง ต้องเป๊ะ ต้องถูกต้อง ต้องเนี้ยบที่สุด ส่วนงานทาสี งานแปะกระเบื้องเป็นงานสิวๆ ที่อยู่ข้างนอก จะแก้ จะเปลี่ยนยังไง ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมันไม่ใช่งานโครงสร้าง
ความอลหม่าน พัลวันพัลเกของสังคมไทย และคนไทยทุกวันนี้มาจากความเป็นไทยที่ชอบทำงานจากข้างนอกเข้าไปหาข้างใน (หรือจริงแล้วไม่เคยสนใจสิ่งที่อยู่ข้างในเลยด้วยซ้ำ) ชอบงานทาสี งานแปะกระเบื้อง งานใส่คิ้ว ใส่บัว งานซื้อรูปสวยๆ มาติดผนัง แต่ไม่สนใจงานฐานราก งานเสาเข็ม งานโครงสร้าง
พูดง่ายๆ เป็นสังคมสนใจเปลือก ชอบแปะอะไรข้างนอกให้สวย หวือหวาอลังการ ส่วนไส้ในจะเน่า จะพัง จะกลวงอย่างไร ไม่สำคัญ และเป็นสังคมที่ไม่ลงทุนกับการสร้างฐานราก แต่มักง่ายเอามาแต่ส่วนยอดของงานสำเร็จรูปของคนอื่นมาก๊อบปี้ใช้ไปวันๆ