หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’สัตว์หายาก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งมีประชากรกระทิงจำนวนมาก พวกมันไม่ใช่สัตว์ป่าหายาก พบเจอได้ง่าย แต่พวกมันก็ยังเป็นเป้าหมายของการล่าเพื่อเอาเขา

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘สัตว์หายาก’

 

ผมไม่เคยพบเห็น “โคไพร” หรือ “กูปรี”

เคยเห็นเพียงวัวแดงและกระทิง ซึ่งเป็นญาติๆ ของกูปรีเท่านั้น

ในหนังสือ “สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง” ซึ่งจัดพิมพ์โดยกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ในปี พ.ศ.2521 บรรยายข้อมูลโคไพรไว้ว่า

“กูปรี หรืออีกชื่อหนึ่งคือโคไพร เป็นวัวป่าชนิดหนึ่ง โตเต็มวัยจะมีความสูงราว 5-6 ฟุต เมื่อยังอ่อน ลำตัวออกสีเทา เมื่อโตเต็มที่แล้วจะเป็นสีเทาเข้มจนเกือบดำ เท้าทั้งสี่มีสีขาวหม่นคล้ายใส่ถุงเท้า มีเหนียงใต้คอยาวมาก เหนียงตัวผู้ยาวกว่าตัวเมีย สันกระดูกหลังหักลงเป็นโหนก เขาของกูปรีตัวผู้ตรงปลายจะแตกออกเป็นพู่ ตัวเมียเขาเล็กกว่า และปลายไม่แตกเป็นพู่

กูปรีอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูง หากินตามป่าโปร่ง ป่าเต็ง ป่ารัง นิสัยค่อนข้างเปรียว ชอบกินหญ้าและใบพืชบางชนิด ฤดูผสมพันธุ์เริ่มประมาณเดือนเมษายน ตั้งท้องราว 9-10 เดือน จะตกลูกประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม

กูปรีเคยมีมากในเขมรและลาว ในไทยมีผู้พบเห็นบ้างในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ

เข้าใจว่าหมดไปจากประเทศไทยแล้ว”

 

ผมเคยเห็นกูปรีที่ยังมีชีวิตในหนังสารคดี ที่นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นำมาเผยแพร่ ในฐานะของสัตว์ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว

ครั้งที่ผมเริ่มทำงานในแวดวงสัตว์ป่า กูปรีคล้ายจะเป็นเครื่องหมายของสัตว์ป่าที่เราไม่มีวันได้พบเห็นอีก แม้ว่าอาจมีอาศัยอยู่บ้างตามชายแดน ติดแนวเขตเพื่อนบ้าน แต่จากการเฝ้าติดตามอย่างเอาจริงของหลายๆ คน ข้อมูลที่ได้ดูเหมือนว่ากูปรีสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว

แต่อีกนั่นแหละ มีข่าวการพบเห็นหรือร่องรอยกูปรีเกิดขึ้นเสมอๆ

โดยเฉพาะในผืนป่าอนุรักษ์ทางภาคอีสานที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา

ข่าวการพบกูปรีเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่แล้วหายไป เหมือนพวกมันจะปรากฏตัวขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นไม่ว่าจะเฝ้ารอติดตามอย่างไรก็ไม่พบอีก

ทุกครั้งที่ข่าวการพบเห็นกูปรีเกิดขึ้น ผมไม่รีรอที่จะเดินทางไปหา

ไปเพื่อรู้ว่านี่คล้ายเป็นภาพในความฝัน

ลืมตาตื่นเมื่อไร ภาพนั้นก็หายไป

 

อาจมีคนไม่มากนักหรอก ตื่นเต้นดีใจกับข่าวการพบร่องรอยกูปรี

สัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม หรือแมลงสักตัวหายไปจากธรรมชาติ คล้ายยังเป็นเรื่องไกลตัว

“ป่าทางโน้นเป็นป่าต่ำ หน้าฝนน้ำมากป่าโดนน้ำท่วม สัตว์ป่าจึงอพยพมาทางป่าบ้านเราซึ่งมีระดับความสูงกว่า”

หลายปีก่อนในป่าอนุรักษ์แถบจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งให้ข้อมูล

ข้อมูลนี้ทำให้เรามีความหวัง

จากนั้น มีข่าวน่ายินดีจากผืนป่าภูจองนายอย

แม้ว่าข่าวการพบเห็นเพียงชั่วครู่ หรืออย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ย่อมน่ายินดีกว่าการพบว่า

กูปรีหมดไปจากโลกนี้แล้ว

 

ว่าตามจริง

ระหว่างวัวแดง กระทิง กูปรี เก้ง หมูป่า กระจง กวางผา และสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมถึงเหล่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน แมลง และเหล่าชีวิตเล็กชีวิตน้อย ทั้งที่เรามองด้วยตาเปล่าเห็นและไม่เห็น ไม่ได้มีความสำคัญหรือมีบทบาทหน้าที่มากหรือน้อยกว่ากัน

ป่าไม่ได้หมายถึงแค่ต้นไม้หรือสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง

มีการศึกษา และพบกับความจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชีวิตในป่าต่างๆ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างสอดคล้องเป็นระบบ

ผมพบตัวเองในป่าที่มีข่าวการพบร่องรอยกูปรีทุกครั้ง

ขณะเฝ้ารอ ผมพบกับอีกหนึ่งความจริง

ดูเหมือนว่าสิ่งใดที่ “หายาก” มีจำนวนน้อย หรือกำลังจะสูญเสีย

เรามักดิ้นรน ทุ่มเท เพื่อไขว่คว้ามาให้ได้เสมอ

 

เวลาในป่า จะสอนมากมายหลายอย่าง

เมื่อเฝ้ารอสัตว์หายาก สิ่งที่ได้รู้จักมากขึ้นคือสิ่งต่างๆ ซึ่ง “หาง่าย” และอยู่ใกล้ๆ ไม่ว่าจะเป็นนก แมลง ดอกไม้ และอื่นๆ การทำความรู้จักกับสิ่งหาง่ายเหล่านี้ จำเป็นไม่น้อย

อีกทั้งสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าคือ ทำความเข้าใจและยอมรับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับชีวิตรอบๆ

นี่อาจทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า คนถางป่าทำไร่ ไม่ได้ทำลายโลกมากกว่าคนใส่สูท เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมผู้ปล่อยก๊าซทำลายโอโซน

คนทำประมงด้วยเครื่องมืออย่างอวนรุน ก็มีส่วนทำร้ายทะเลพอๆ กับเจ้าของศูนย์การค้า ที่สร้างทะเลปลอมๆ

ชาวประมงจับฉลามขึ้นมาตัดครีบแล้วปล่อยลงทะเล ก็ไม่ได้โหดร้ายกว่าคนมีเงินซึ่งบริโภคซุปหูฉลามในราคาแพง

 

ในธรรมชาติมีความงาม

ท้องทะเล ภูเขา แม้แต่ในถ้ำอันมืดมิด ความงดงามคือจุดเริ่มต้น

แต่เราคงต้องไปให้พ้นเพียงแค่ความงดงาม

เราต้องเข้าใจว่า “รอยตีน” ของเรามีผลกับชีวิตอื่นๆ

เราต่างเป็นแค่ “คนแปลกหน้า” รวมถึงเป็นผู้มารบกวน เมื่อเข้าไปในถิ่นอาศัยสัตว์

ไม่ว่าจะเป็นใคร “รอยตีน” มีส่วนทำร้ายความสัมพันธ์อันเกี่ยวข้องของชีวิตในธรรมชาติ

ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งอันแตะต้องไม่ได้ ที่นี่ได้รับการออกแบบมาให้รองรับการถูกรุกล้ำจากคนได้ในระดับหนึ่ง

ทุกชีวิตมีหน้าที่ฟื้นฟู ดูแล และจัดการให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ควร

ป่าถูกทำลาย แหล่งรองรับน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ไม่มีเหลือ

ภาวะน้ำท่วมเมือง จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น

เหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ หรือเป็นสิ่งที่คนไม่รู้

คล้ายกับว่า หลายสิ่งหลายอย่าง

เราก็ทำไปทั้งที่รู้

 

เป็นเวลานานมาแล้ว

ผมใช้เวลาเกือบทั้งหมดทำความรู้จักกับชีวิตในป่า

ถึงวันนี้ ผมไม่ “ตื่นเต้น” นักกับข่าวการพบเห็นสัตว์ป่าหายาก

เช่นเดียวกับการพบเจอสัตว์ หรือชีวิตสายพันธุ์ใหม่ๆ แต่ทำให้รู้ว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นและมีอยู่แล้วในธรรมชาติ รอให้คนไปค้นพบ

ผมยังอยู่บนเส้นทางของการตามหาสัตว์หายาก

นี่เป็นเส้นทางที่บางครั้งผมก็เดินเลยจุดหมาย

บางครั้งก็ไปไม่ถึง

เพราะมันเป็นการตามหาสิ่งซึ่งอยู่ในใจ

ผ่านมาเนิ่นนานหลายปี

บนความเข้าใจว่า “รู้จัก” ตนเองมากขึ้น

ผมไม่แน่ใจนักหรอกว่า จะตามหา “สัตว์หายาก” ตัวนั้นพบแล้ว