สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (3) จากสามย่านสู่ลานโพธิ์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ตอน 1 2

“ตื่นเถิดเสรีชน          อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน  หรือทนคลื่นกระแสเรา”
รวี โดมพระจันทร์

สําหรับนิสิตปี 1 ในปี 2516 ที่สนใจเรื่องการเมืองและสังคมนั้น การเคลื่อนไหวในกรณีทุ่งใหญ่และกรณีเก้านักศึกษารามฯ เป็นเสมือนกับ “การรับน้องใหม่” อย่างแท้จริง เพราะการเคลื่อนไหวชุดนี้เริ่มขึ้นในช่วงของการเปิดการศึกษาภาคแรกพอดี

แม้ชีวิตจริงของนิสิตปี 1 พวกเราจะยังอยู่ภายใต้ระบบโซตัส… ว้าก เชียร์…เชียร์ ว้าก! เริ่มทำให้พวกเราในรุ่นบางส่วนเริ่มคุยกันเอง และขณะเดียวกันก็เริ่มแสดงท่าทีไม่ตอบรับกับกิจกรรมเช่นนั้น

หลังจากเริ่มเรียนสักระยะ พวกเราก็เริ่มจับกลุ่มกันเองในรุ่นมากขึ้น

ว่าที่จริงก็คงเป็นภาวะปกติของสังคม เมื่อคนหมู่มากต้องมาอยู่ร่วมกัน ก็จะเกิดสภาพของการแสวงหามิตรใหม่โดยปริยาย

สภาพของสถานศึกษาใหม่เช่นนี้บังคับให้พวกเราต้อง “เรียนรู้ผูกมิตร” กับเพื่อนใหม่ที่มาจากแหล่งต่างๆ

เสรีภาพหายไปไหน?

ห้องเรียนต่างไปจากการเรียนในช่วงมัธยมปลายอย่างสิ้นเชิง

ใครถ้าคิดว่าปริญญาตรีคือการต่อยอดของมัธยมปลายแล้ว ขอให้เลิกความคิดเช่นนั้นได้เลย

การเรียนในมหาวิทยาลัยแตกต่างไปจากแบบแผนในโรงเรียนอย่างมาก (และมากๆ) ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะสาระของการเรียนมีลักษณะเฉพาะด้านมากขึ้น…

สาระของวิชารัฐศาสตร์เป็นสิ่งที่เราแทบไม่เคยรับรู้มาก่อนเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1 นิสิตทุกคนจะเรียนวิชา “หลักรัฐศาสตร์” ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในชั้นเรียนก็คือ “สิทธิเสรีภาพ” และก็เกิดความฉงนอย่างมากว่า เราเรียนเรื่องเสรีภาพ แต่เรากลับไม่มีเสรีภาพเลย ไม่ว่าจะในคณะ หรือในประเทศก็ตาม

ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะเรียนเรื่องเสรีภาพไปทำไม

เสรีภาพในคณะถูกพันธนาการอยู่กับระบบอาวุโส ภายใต้วาทกรรมว่าสิทธิของรุ่นพี่เป็น 100 และสิทธิของน้องใหม่เป็น 0

อีกทั้งชีวิตทางสังคมในคณะอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบอาวุโส บันไดหน้าตึก 1 ของคณะรัฐศาสตร์ นิสิตปี 1 ห้ามเดินขึ้น… โต๊ะกลางโรงอาหาร เป็นโต๊ะของพี่ปี 4 นิสิตปีอื่นๆ ห้ามนั่ง… นิสิตปี 1 ต้องแต่งเครื่องแบบ

พวกเราที่มีความคิดในแบบ “กบฏ” เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ และขณะเดียวกันก็กลายเป็นคำถามในระดับประเทศว่า สิทธิธรรมของรัฐบาลทหารในการปกครองประเทศคืออะไร

ทำไมทหารมีอำนาจมากกว่าพลเรือน แล้วรัฐบาลทหารมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลพลเรือนจริงหรือ

และที่สำคัญก็คือ รัฐบาลทหารมีสิทธิอะไรที่จะเอาเสรีภาพไปจากพวกเรา?

หากมองย้อนกลับไปก็คงต้องกล่าวว่า พวกเราเริ่มเป็น “กบฏ” ทั้งการต่อต้านกับระบบเก่าในคณะ และคัดค้านระบบการเมืองเก่าของทหารในประเทศ

ซึ่งในสภาพเช่นนี้ทำให้รุ่นพี่ที่เป็นพวกกบฏหรือพวกพี่โซตัสใหม่เริ่มมองเห็นพวกน้องปี 1 อย่างพวกเรา

ผมคิดว่าในสถานการณ์ขณะนั้นก็คือต่างฝ่ายต่างมองหาเป้าหมายตัวบุคคลอันนำไปสู่กระบวนการแสวงหา “สมาชิกใหม่”

พวกเราเองที่ไม่นิยมกิจกรรมแบบเก่าก็อยากแสวงหาทางออกที่จะไม่ต้องอยู่กับห้องเชียร์และ “วัฒนธรรมว้าก” ของระบบเก่า

พี่คนแรกที่ผมพบและเข้ามาชวนคุยด้วยคือ พี่สันโดษ เต็มแสวงเลิศ นิสิตปี 4 (ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ กระทรวงแรงงาน)

หลังจากคุยกันได้สักระยะหนึ่ง พี่ก็ชวนผมไปพบกับพี่คนอื่นๆ ทำให้ผมได้มีโอกาสพบกับบรรดากบฏในคณะ หรือพวก “โซตัสใหม่สาขารัฐศาสตร์” ซึ่งมักจะเป็นพวกปี 3 และ 4 ของคณะ

หนึ่งในนั้นคือพี่ธเนศวร์ เจริญเมือง (ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

แล้วก็เริ่มคุยถึงกิจกรรมการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ดังได้กล่าวแล้วว่า นอกจากจะมีเรื่องทุ่งใหญ่เป็น “หัวเชื้อ” อย่างดีแล้ว การลบชื่อนักศึกษารามคำแหงก็เป็น “ชนวน” อย่างสำคัญ

เพราะทั้งสองประเด็นนี้ได้กลายเป็นการ “สร้างเงื่อนไข” อย่างมีนัยสำคัญที่นำไปสู่การรวมตัวประท้วงของนิสิตนักศึกษาในเวลาต่อมาอย่างไม่น่าเชื่อ

เดินขบวนครั้งแรก!

เพื่อนๆ ในรุ่นที่มีความเห็นต่อระบบโซตัสคล้ายๆ กันก็เริ่มรวมตัวกันมากขึ้น แม้จะยังต้องเข้าห้องเชียร์ แต่พวกเราก็เริ่มค่อยๆ ปลีกตัวเข้าร่วมกับพี่สายโซตัสใหม่มากขึ้น

ผมเริ่มมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมของบรรดานักเคลื่อนไหว ที่หลายครั้งพวกเขายกมาเปิดเวทีคุยกันที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และก็เป็นการคุยกันแบบไม่ต้องกลัวใครมาแอบฟัง… คุยกันในที่แจ้งแบบเห็นได้ชัดที่บริเวณสนามหญ้าใต้ต้นไม้ข้างตึก 1 ปัจจุบัน เรียกว่าไม่ต้องกลัวใครแอบถ่ายรูปเลย!

และเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่คุยกันตอนนั้นก็คือ การเตรียมเคลื่อนไหวประท้วงการตัดสินใจของอธิการบดีรามคำแหงที่ลบชื่อนักศึกษาออก แล้วการเคลื่อนไหวก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นโดยมีจุฬาฯ เป็นจุดเริ่มที่สำคัญจุดหนึ่ง

การเดินขบวนจากจุฬาฯ ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครั้งนั้นถือเป็นวาระสำคัญ เพราะในขณะนั้นประเทศยังคงปกครองด้วยระบอบทหาร และหลังรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ความเพลี่ยงพล้ำสำคัญมาจากการที่รัฐบาลพยายามปกป้องกรณีการล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ในปี 2515

และในกรณีนี้มีเสียงประชาชนตอบรับกับการตรวจสอบของนิสิตอย่างมากด้วย

หนังสือของชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขายดีอย่างไม่น่าเชื่อ และยิ่งข้อมูลการล่าสัตว์ขยายวงไปสู่ความรับรู้ของประชาชนมากเท่าใด ความชอบธรรมของรัฐบาลก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น

และยิ่งไปลบชื่อนักศึกษาที่เขียนข้อความเสียดสีลงหนังสือด้วยแล้ว ก็ยิ่งกลายเป็น “โอกาสทอง” ให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหารเปิดการชุมนุมครั้งใหญ่

ซึ่งการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุด นับจากการชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 เป็นต้นมา…

วัฒนธรรมการประท้วงของคนหนุ่มสาวเริ่มขึ้นจริงๆ แล้วในสังคมไทย

คำถามก็คือ แล้วพลังของนิสิตนักศึกษาจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร และสำหรับผมแล้ว การเดินขบวนครั้งนี้เป็นครั้งแรกของชีวิตนิสิต แม้ว่าการเดินขบวนครั้งแรกในชีวิตจะเกิดในวัยเด็ก ด้วยคำสั่งของรัฐบาล เด็กนักเรียนทั่วประเทศเปิดการเดินขบวนประท้วงคำตัดสินศาลโลกต่อกรณีปราสาทพระวิหารในปี 2505…

ผมเดินขบวนครั้งแรกในชีวิตตามคำสั่งของท่านจอมพล!

คำถามนี้มาพร้อมกับการลาออกของอธิการบดีรามคำแหง และการรับนักศึกษาทั้งเก้าคนกลับเข้าเรียน

ปรากฏการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของขบวนนักศึกษาไทยภายใต้ระบอบทหาร

และประเด็นที่ถูกทิ้งไว้ก่อนการประกาศยุติการชุมนุมก็คือ รัฐบาลจะต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า…

คำประกาศนี้ท้าทายต่อรัฐบาลของจอมพลถนอมเป็นอย่างยิ่ง!

สงครามเย็นในรัฐศาสตร์

หลังจากการชุมนุมใหญ่ผ่านไป ชีวิตพวกเราในคณะภายใต้ระบบโซตัสเริ่มไม่ปกติมากขึ้น

พวกเราเริ่มรู้สึกว่าเราต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารมาแล้วที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วทำไมเราจะต้องยอมรับต่อระบอบอำนาจนิยมในคณะ

ทัศนะเช่นนี้ทำให้พวกเราที่เริ่มขยับตัวเป็น “นักกิจกรรม” มีท่าทีต่อต้านระบบโซตัสมากขึ้น

รอยร้าวในรุ่นและระหว่างน้องใหม่กับรุ่นพี่เริ่มขึ้นเมื่อพวกเราที่เป็นนิสิตปี 1 โหวตไม่รับการจัดงานบอลล์ของรุ่นพี่

การประกาศเช่นนี้เท่ากับส่งสัญญาณถึงท่าทีของน้องปี 1 อย่างชัดเจนที่ปฏิเสธต่อระบอบเก่าในคณะ

การตัดสินใจครั้งนี้จึงเป็นดังการ “ประกาศสงครามโซตัส” เพราะเท่ากับบอกว่าน้องใหม่รุ่นนี้ตัดสินใจไม่รับระบบอาวุโสแบบเก่า

แต่ก็มิได้หมายถึงทุกคนในรุ่นคิดเหมือนกันหมด เป็นเพียงแต่พวกเราสามารถ “ระดมเสียง” ให้มาในทิศทางของโซตัสใหม่ได้มากขึ้น

และพวกเราก็มีปฏิสัมพันธ์น้อยลงกับรุ่นพี่ที่มีความคิดต่าง ซึ่งทำให้ภูมิทัศน์ในคณะรัฐศาสตร์เป็นแบบยุคสงครามเย็นที่มีการแบ่งโลกออกเป็น “2 ค่าย” ระหว่างโซตัสใหม่กับโซตัสเก่าอย่างชัดเจน

ผลเช่นนี้ทำให้มีการประกาศของรุ่นพี่บางกลุ่มที่จะไม่รับน้องที่เป็นพวกกบฏในงานรับน้องใหม่

แน่นอนว่าชื่อผมติดอยู่เป็นหนึ่งในนั้น

ผมก็ประกาศกับเพื่อนๆ ไปว่าผมก็จะไม่ร่วมการรับน้องในแบบของพี่พวกนั้น

ผมมาคณะเป็นปกติในวันนั้น ช่วงเช้ามีงานรับน้องในส่วนกลาง ผมก็ไปเดินเล่นส่วนกลาง แล้วก็มาเดินดูเขารับน้องกันในคณะช่วงบ่าย

ผมกลายเป็นนิสิตใหม่ในยุคนั้นที่ไม่เคยผ่านพิธีรับน้องของพวกโซตัสเก่า แล้วก็ไปคุยอยู่กับพวกพี่โซตัสใหม่

ชีวิตของการเป็น “กบฏโซตัส” เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว

งานรับน้องใหม่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ห้องเชียร์ยังคงเป็น “สถาบันหลัก” ของระบบโซตัส

กบฏอย่างพวกเราเริ่มมีข้ออ้างที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ และหันหลังให้กับการเชียร์

เพราะหลังจากความสำเร็จของการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว กิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มโซตัสใหม่ดูจะมีความเข้มข้นมากขึ้น

การเสวนาทางการเมืองในกลุ่มพวกเราก็มีมากขึ้นด้วย แต่ดูจะไม่มีใครคาดคิดว่าหลังจากการชุมนุมใหญ่ในเดือนมิถุนายนผ่านไป การชุมนุมใหญ่ครั้งใหม่จะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด

สู่ลานโพธิ์

ในวันที่ 5 ตุลาคม 2516 กลุ่ม “เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ได้ล่ารายชื่อกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนจำนวน 100 คน และยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่โดยเร็ว และในการเคลื่อนไหวต่อมาด้วยการแจกใบปลิว

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกจับกุม… พวกเขาถูกจับกุมในข้อหามั่วสุม และการชุมนุมในที่สาธารณะ และต่อมามีการตั้งข้อหาเพิ่มว่าด้วยความผิดต่อความมั่นคงภายในของรัฐ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116)

ซึ่งผลของการจับกุมครั้งนี้ได้กลายเป็นชนวนของการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การชุมนุมเริ่มต้นที่ “ลานโพธิ์” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิสิตนักศึกษากลุ่มต่างๆ ได้ทยอยเข้าร่วมด้วย โดยมี “พี่เสก” (รศ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) เป็นแกนนำ

พวกเราที่จุฬาฯ คุยถึงการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาโดยตลอด แม้จะเป็นช่วงสอบ แต่ทุกคนก็พอจะเดาได้ว่าการเคลื่อนไหวใหญ่กำลังจะมาถึง ยิ่งมีข่าวว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ตัดสินใจหยุดสอบแล้ว พวกเราตระหนักดีว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหนุนช่วยการเคลื่อนไหวนี้

แล้วการชุมนุมหน้าเสาธงจุฬาฯ ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง…

มีอาจารย์ในคณะเคยเล่าว่า ในการประท้วงการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 การชุมนุมของนิสิตจุฬาฯ ก็เริ่มต้นขึ้นที่หน้าเสาธงนี้เช่นกัน

แล้วขบวนของนิสิตจุฬาฯ ก็เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัย ผมตัดสินใจปลดเนคไทของนิสิตปี 1 ออก แล้วเอาเสื้อ รด. สวมทับ พร้อมกับแบกป้ายรูป “กำปั้น” นำขบวน ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงทั่วโลก

เมื่อขบวนถึงธรรมศาสตร์แล้วเห็นได้ชัดว่านักเรียน นักศึกษา และประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมหาศาล…

ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ ถ้าการชุมนุมในเดือนมิถุนายนว่าใหญ่แล้ว การชุมนุมครั้งนี้ใหญ่กว่ามากๆ และก็คึกคักเป็นอย่างยิ่ง

ผมไม่เคยเห็นสภาพเช่นนี้มาก่อนเลย ต้องยอมรับว่าภาพของผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมหาศาลเช่นนี้ปลุกเร้าความตื่นตัวทางการเมืองของคนในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง

และในฐานะของนิสิตปี 1 ที่เพิ่งเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยแล้ว ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของผมอีกเลย

ภาพของ “พี่เสก” ที่ยืนไฮด์ปาร์กที่ลานโพธิ์… ภาพของคนจำนวนมหาศาลที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์…

ภาพของผู้คนที่ยืนหยัดร่วมกันในการเรียกร้องหาประชาธิปไตย ทุกคนมีความเห็นตรงกันชัดเจนว่า หมดเวลาของรัฐบาลทหารแล้ว

ชัยชนะของพลังนักศึกษาประชาชน

สถานการณ์ความรุนแรงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อาจจะมีเงื่อนงำและความซับซ้อนในตัวเองอย่างมาก

แต่การตัดสินใจใช้มาตรการทางทหารกับการสลายฝูงชนที่มีจำนวนมหาศาล และประชาชนไม่ยอมแพ้แล้ว ความพ่ายแพ้ก็จะย้ายไปอยู่กับฝ่ายทหารที่เป็น “ผู้ปราบปราม” เสียเอง

และเห็นได้ชัดว่าพลังอำนาจทางทหารที่ใช้เพื่อการสงคราม เมื่อต้องเผชิญกับประชาชนที่มีจิตมุ่งมั่นแล้ว การปราบปรามบนท้องถนนด้วยยุทธวิธีทางทหาร ยิ่งกลายเป็นสัญญาณของความพ่ายแพ้ทางการเมือง และขณะเดียวกัน กองทัพก็หมดสิ้นความชอบธรรมในฐานะของการเป็นรัฐบาล

14 ตุลาคม 2516 จบลงด้วยชัยชนะครั้งใหญ่ของนิสิต นักศึกษา ประชาชน อย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในการเมืองไทย เป็นชัยชนะในการโค่นล้มรัฐบาลทหารที่ผมได้มีโอกาสเห็น และเป็นประจักษ์พยานกับตัวเองถึงสิ่งที่เรียกว่า “พลังมหาประชาชน”

พวกเราในฐานะนิสิตรัฐศาสตร์ปี 1 นำพาชัยชนะครั้งนี้กลับเข้าสู่คณะ พวกเรารู้สึกร่วมกันว่าถึงเวลาของความเปลี่ยนแปลงแล้ว

เราล้มรัฐบาลทหารได้ ทำไมจะล้มระบอบเก่าในคณะไม่ได้!