คำ ผกา : วางถุงกาวก่อนแล้วค่อยคุยกัน

คำ ผกา

อาจเป็นเพราะในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยและคนไทยใช้พลังงานเกือบทั้งหมดไปกับเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเราคือเรื่อง การเมืองการปกครอง นับตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 2549

คนไทยกลุ่มหนึ่งรวมทั้งตัวฉันเองก็หมกมุ่นทุ่มเทคิดแต่เรื่อง เมื่อไหร่ประชาธิปไตยจะกลับคืน

ส่วนคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งก็หมกมุ่นเรื่อง ทำอย่างไรจะเอาทักษิณและพวกออกจากสังคมไทยให้จงได้

เราหมกมุ่นเรื่องนี้หนักมากจนบางครั้งไม่ได้ติดตามอัพเดตข้อมูลข่าวสารเรื่องอื่นๆ ที่อาจไกลตัวออกไป

เช่น ล่าสุด ข้อถกเถียงต่อประเด็นการจะเอายาบ้าออกจากบัญชียาเสพติด (ซึ่งฉันเห็นว่าก่อนอื่นเอาคำว่า ยาบ้า ออกไปจากยาชนิดนี้เสียก่อน เพราะการตั้งชื่อมันว่ายาบ้าทำให้เกิดกระบวนการสร้างตราประทับ และตัดสินผู้เสพไปเรียบร้อยแล้วว่าพวกเขาจะต้องกลายเป็นบ้า คุ้มคลั่ง-เราคงลืมไปว่าในโลกนี้มีคนคลุ้มคลั่งโดยไม่ต้องเสพยาอยู่ไม่น้อย)

การที่คนไทยจำนวนมาก ออกมา “ประณาม” นโยบายนี้ทันที และดูเหมือนจะช็อกมาก คล้ายๆ กับมีคนมาบอกเราว่าต่อไปนี้ “ขี้” คือสิ่งที่กินได้และมีประโยชน์ ประมาณนั้นเลย

เรื่องนี้ทำให้ฉันตระหนกมากว่า องค์ความรู้เกี่ยวยาเสพติดของสาธารณชนไทยนั้นไม่ได้อับเดตไปไกลกว่าสมัยประธานาธิบดีนิกสันประกาศสงครามกับยาเสพติดครั้งแรกในโลกเลย

สิ่งที่เรารู้จักกันว่าเป็นยาเสพติดในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฝิ่น กัญชา เฮโรอีน ถูกบรรจุให้เป็นสิ่งเสพติดที่ผิดกฎหมายเมื่อร้อยปี และสงครามกับยาเสพติดเกิดขึ้นแล้วประมาณห้าสิบปี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากประกาศสงครามกับยาเสพติดกันมาห้าทศวรรษ ไปเพียงแต่อเมริกา แต่ทุกประเทศทั่วโลกที่ดำเนินนโนบายนี้ด้วยใฝ่ฝันคือ free drug society หรือ สังคมปลอดยาเสพติด ประเทศที่ทำสงครามกับยาเสพติดรุนแรงมาก เช่น รัสเซีย เม็กซิโก-แต่ผลกลับกลายเป็นว่า ทุกประเทศที่ทำสงครามกับยาเสพติดนั้นพ่ายแพ้ ย่อยยับ

จำนวนผู้เสพยาในคุกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาเฟีย เจ้าพ่อค้ายาเพิ่มขึ้น เพราะพอมันผิดกฎหมายก็เป็นของแพง ทำกำไร ใครๆ ก็อยากค้า ยิ่งค้าของผิดกฎหมายได้ ก็ยิ่งกลายเป็นผู้มีอิทธิพล สถิติอาชญากรรมพุ่ง การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็พุ่ง การวิสามัญก็เพิ่ม การยัดคดียาเสพติดให้ศัตรูทางการเมืองก็มี

งบประมาณที่ใช้ในการทำสงครามกับยาเสพติดนั้นก็สูงเสียจนน่าใจหาย

เม็กซิโกนั้น ตั้งแต่ประกาศสงครามปี 2006 มีคนตายจากสงครามนี้ไป 60,000 คน

ในระหว่างห้าสิบหกสิบปีที่เขาทำสงครามกับยาเสพติด ก็มีนักวิชาการ นักกฎหมาย นักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชน นักสังคมวิทยา มานุษยวิทยา หมอ จิตแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ก็ทำงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับผู้ติดยายา ปัญหาสังคม ฯลฯ ไปด้วย

สุดท้าย นักวิชาการเหล่านี้ก็ค้นพบว่า วิธีที่จะจัดการกับปัญหายาเสพติดที่ดีที่สุดคือวิธีที่เรียกว่า Harm Reduction หรือ การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งหมายถึง

“การช่วยให้ผู้ติดยาเสพติด (ส่วนใหญ่เป็นชนิดฉีด) สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยยังคงใช้ยาเสพติดหรือสารทดแทนในขณะที่ยังไม่สามารถหยุดใช้ยาเสพติดได้ทันที ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้เสพ (เช่น ฉีดยาผิดที่จนพิการ ฉีดยาเกินขนาดจนช็อกเสียชีวิต ติดเชื้อ HIV ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี อันเกิดจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันในหมู่ผู้เสพ) ครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม (กรณีเกิดอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันตรายจากการแพร่เชื้อที่เกิดจากการทิ้งเข็มฉีดยาที่ใช้แล้ว) รูปแบบการดำเนินงานมีหลายแนวทาง เช่น การให้ความรู้ สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ติดยาและครอบครัว การให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว การให้สารเมทาโดนทดแทนระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดอาการขาดยาและลงแดงในผู้ติดเฮโรอีน การมีศูนย์รับปรึกษาปัญหาสุขภาพและปัญหาอื่นๆ (drop in center) ซึ่งในต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย มีการจัดสถานที่และอุปกรณ์สะอาดให้ผู้ติดยาสามารถเข้าไปฉีดยาเสพติดได้เพื่อความปลอดภัย (แต่ศูนย์ไม่ได้จัดเตรียมยาเสพติดให้ มีแต่บุคลากรที่สามารถดูแลความปลอดภัยและให้คำแนะนำในการฉีดและอุปกรณ์) การจัดอาสาสมัครเข้าไปให้คำปรึกษาและบริการเข็มสะอาดให้กับผู้ติดยาในชุมชน (outreach program) การให้บริการเข็มและอุปกรณ์ฉีดยาที่สะอาดในร้านขายยาและให้คำปรึกษาโดยเภสัชกร หรือโปรแกรมการแลกเข็มใช้แล้วกับเข็มสะอาด”

https://www.gotoknow.org/posts/403838

Ethan Nadelmann นักวิชาการด้านยาเสพติดและนักเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปนโยบายยาเสพติด กล่าวบนเวที Ted Talk ว่า

“มันไม่เคยมีสังคม “ปลอดยาเสพติด” เลยนับตั้งแต่มีโลกใบนี้ สังคมเราได้ใช้ “ยากระตุ้นหรือกล่อมประสาท” มาโดยตลอดเพื่อจัดการกับความเจ็บปวด เพื่อเพิ่มกำลังวังชา เพื่อความสัมพันธ์ทางสังคม หรือแม้แต่เพื่อสื่อสารกับพระเจ้า ความปรารถนาของมนุษย์ในการ “กล่อม” ประสาทและจิตสำนึกของตัวเอง อาจเป็นความปรารถนาพื้นฐานที่สุด พอๆ กับการที่ร่างกายเราต้องการอาหาร ต้องการเซ็กซ์ ต้องการเพื่อนคู่คิด เพราะฉะนั้น ความท้าทายที่สุดของพวกเราคือ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับ “ยา” โดยที่ให้มันส่งผลเสียกับเราน้อยที่สุดและในบางกรณีเพื่อให้มันสร้างประโยชน์กับเราสูงสุดด้วย”

แนวคิดแก้ไขปัญหายาเสพติดในแนวทางที่ว่าด้วย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดเริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980s ในที่สุดกลายเป็นวาระที่ยูเอ็นรับเอามาผลักดัน และโปรตุเกสนำไปใช้จริงในปี 2000

แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดคืออะไร?

แนวคิดหลักคือคือ เมื่อเราห้ามคนใช้ยาไม่ได้ เราต้องมาคิดว่า เราจะให้เขาใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย

คุณหมอ Goulao ผู้ผลักดันให้รัฐบาลโปรตุเกสยกการเป็นอาชญากรรมออกจากยาเสพติดเป็นผู้กล่าวประโยคนี้

เขาบอกว่าเขาได้รับการต่อต้านหนักมากในตอนแรกที่เสนอนโยบายนี้ แต่เขาเชื่อว่า “harm reduction ไม่ใช่เรื่องของการยอมแพ้ต่อคนที่ติดยาโดยบอกว่า ถ้าเลิกไมได้ก็ปล่อยให้ใช้ต่อไปสิ แต่ปรัชญาของมันคือ ผู้เสพยาไม่ว่าจะในเงื่อนไขใด พวกเขาพึงคู่ควรที่จะได้รับการลงทุนจากรัฐบาลเพื่อจะมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพที่ดี” https://news.vice.com/article/ungass-portugal-what-happened-after-decriminalization-drugs-weed-to-heroin

พูดง่ายๆ ว่าปรัชญาของ Harm Reduction คือ “ขี้ยาก็คน” ขึ้นชื่อว่าคน ไม่ว่าจะเป็น “ใคร” กเฬวรากขนาดไหน เขาพึงได้รับการ “เคารพ” และมีสิทธิ์ได้รับการดูแลจากรัฐเท่ากับคนทุกคน

หากสังคมเรามีคนติดยา สิ่งที่เราต้องทำ คือ ทำอย่างไรให้เขา มีสุขภาพที่ดี-นี่คือจุดเริ่มต้น-สุขภาพต้องสำคัญกว่าการลงโทษ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ยูเอ็นจึงประกาศให้ผู้ใช้ยาเสพติดเป็น “ผู้ป่วย” ไม่ใช่อาชญากร ที่อยู่ของพวกเขาไม่ใช่คุก แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ มอบทรีตเมนต์ทางการแพทย์ที่เหมาะสมให้เขา และทำให้กระบวนการทั้งหมดนั้นเป็นไปด้วยความสมัครใจ คีย์เวิร์ดคือคำว่า Repect their time – เราต้องเคารพ “เวลา” ของเขาด้วย “ให้” เมื่อเขาพร้อมที่จะ “รับ”

โปรตุเกสเริ่มแจกเข็มฉีดยาสะอาดให้ผู้ติดเฮโรอีน ผลคือ จากจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้เข็ม จาก 1,016 เคสในปี 2001 เหลือเพียง 56 เคสในปี 2012 อัตราการตายจากการใช้ยาโอเวอร์โดส จากปีละ 80 คน เหลือปีละ 16 คน เทียบกับอเมริกามีคนตายจากการใช้ยาเสพติดโอเวอร์โดสถึง 14,000 คน

อย่างไรก็ตาม การ decriminalized ยาเสพติด ไม่ได้แปลว่ายาเสพติดถูกกฎหมาย และไม่ได้แปลว่าใครต่อใครสามารถซื้อ ขาย กันได้เหมือนขายขนมในเซเว่นฯ กรณีโปรตุเกส กำหนดไว้ว่า ถ้ามีสารเสพติดต้องห้ามในจำนวนบริโภคไม่เกินกว่า 10 วัน, มีเฮโรอีน, ยาอี, แอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไม่เกิน 1 กรัม, มีโคเคนไม่เกิน 2 กรัม, มีกัญชาไม่เกิน 25 กรัม จะไม่ถือว่ามีความผิด (https://news.vice.com/article/ungass-portugal-what-happened-after-decriminalization-drugs-weed-to-heroin)

เพราะฉะนั้น เวลาเจอคำว่า decriminalize ยาเสพติดก็อย่าเพิ่งกรี๊ดกร๊าด ตีโพยตีพายว่า “ต๊ายยย แล้วแบบนี้ยาเสพติดคงมีขายตามหน้าโรงเรียนสินะ”

แต่แนวทาง Harm Reduction และการ decriminalize ยาเสพติด ไม่ได้โรแมนติกหรือทำได้ง่ายดายว่า แค่เอายานู้น ยานี้ ออกจากบัญชียาเสพติดแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นทันตาเห็น ผู้เสพยาจะมีความสุข ครอบครัวของผู้ใช้ยาจะแฮปปี้ สารเสพติดต่างๆ จะหายไปจากตลาดมืด

แต่มันต้องการกลไกการทำงานที่เกื้อหนุนกันอย่างเป็นระบบ

มาดูว่า โปรตุเกสทำอย่างไร?

“พวกเขาก็ตั้งคณะกรรมการ นำโดย ดร.ฮัว กูลาว (Dr. Jo?o Goul?o) เพื่อศึกษาหลักฐานใหม่ๆ เหล่านี้ พวกเขากลับมาพร้อมกล่าวว่า

“ให้ยาเสพติดทุกประเภทให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย ตั้งแต่กัญชาไปจนถึงโคเคน แต่”

— และนี่เป็นขั้นต่อไปที่สำคัญ

“เอางบประมาณที่เคยใช้เพื่อปิดกั้นผู้ติดยา เพื่อตัดพวกเขาออกจากสังคม ไปใช้เพื่อเชื่อมพวกเขากลับเข้าสู่สังคม และนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราคิด เกี่ยวกับการรักษาผู้ติดยาในสหรัฐและอังกฤษ พวกเขามีศูนย์บำบัดยาเสพติด พวกเขาทำการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ซึ่งพอมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขาทำ กลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับที่เราทำ นั่นคือโครงการขนาดใหญ่ เพื่อสร้างงานแก่ผู้ติดยา และสินเชื่อรายย่อยสำหรับผู้ติดยา เพื่อตั้งธุรกิจขนาดย่อม สมมติว่าคุณเคยเป็นช่างเครื่องยนต์ เมื่อคุณพร้อม พวกเขาจะไปหาอู่รถสักแห่ง และบอกกับเจ้าของอู่ว่า ถ้าคุณจ้างหมอนี่เป็นเวลาหนึ่งปี เราจะช่วยคุณจ่ายเงินเดือนให้เขาครึ่งหนึ่ง เป้าหมายคือความมั่นใจว่าผู้ติดยาทุกคนในโปรตุเกส มีอะไรให้ทำในทุกเช้าที่เขาตื่นนอน และเมื่อผมไปยังโปรตุเกส และพบกับผู้ติดยา สิ่งที่พวกเขาพูดก็คือ ในขณะที่พวกเขากลับมาค้นพบเป้าหมายในชีวิต พวกเขาได้ค้นพบความผูกพันและความสัมพันธ์กับสังคมในวงกว้างขึ้น”

จากข้อความข้างต้นจะเห็นว่า การใช้แนวทางนี้ไม่ได้แก้ที่กฎหมายเท่านั้น แต่ต้องแก้ไปทั้งกระบวน ตั้งแต่การปรับกระบวนทัศน์ของบุคลากรในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตั้งแต่ตำรวจ หมอ จิตแพทย์ ครู องค์ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดต้องถูกปรับใหม่ทั้งหมด ว่า เมื่อเราพูดภึงภาวะ “เสพติด” เรากำลังพูดเรื่อง “สุขภาพ” ไม่ได้พูดเรื่อง “อาชญากรรม”

นอกจากนี้ ระบบสวัสดิการรัฐที่จะเข้ามารองรับผู้ติดยาให้ตั้งต้นชีวิตใหม่ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะรองรับโปรแกรมบำบัดผู้ติดยา

งบประมาณที่ใช้กับกระบวนการบำบัดทั้งทางกาย ทางจิต (ซึ่งถึงที่สุดแล้ว แม้จะต้องใช้เงินกับ “ขี้ยา” มากขนาดไหนก็น้อยกว่าการใช้เงินไปกับการทำสงครามกับยาเสพติดและการกวาดล้างยาเสพติดแบบเดิมๆ ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จ)

อุปสรรคนั้นมีแน่นอน เพราะการ “ดีล” กับผู้ใช้ยาเสพติดมีแนวโน้มจะเจอสภาพ “ช่วยแล้วก็ยังพาตัวเองกลับมาจุดเดิม” ตอกย้ำให้เชื่อว่า พวกติดยาเป็นพวกที่เลี้ยงเสียข้าวสุก ช่วยก็เปลืองภาษี ตัวเองยังไม่รักตัวเองแล้วจะให้ใครรัก

เพราะฉะนั้น หัวใจของเรื่องนี้คือ เราต้องทำใจให้ได้ว่า เราอาจเปลี่ยนคนกเฬวรากให้ดีไม่ได้ แต่เราต้องหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้โดยให้เกิดปัญหาน้อยที่สุดและก่อประโยชน์สูงสุด เช่น อย่างน้อยจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ลดลง (แม้ในระดับปัจเจกไอ้คนที่ฉีดเฮโรอีนแล้วบำบัดแล้วกลับไปฉีดซ้ำซากก็ยังมีอยู่)

แนวทางของ harm reduction ในแต่ละประเทศอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยกันออกไป แต่หลักใหญ่ใจความของมันคือการโฟกัสไปที่เรื่อง “สุขภาพ” เป็นหลัก บนฐานความคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการดูแลสุขภาพโดยปราศจากเงื่อนไข (ดี เลว รวย จน ชั่ว ขี้เกียจ ขยัน ติดยา ไม่ติดยา ฯลฯ)

ทางเลือกของการแก้ปัญหายาเสพติด ถ้าไม่ใช่หนทาง decriminalized ก็ยังมีเรื่อง depenalized คือ มีความผิด แต่ยกเว้นการลงโทษ หรือ การคงทั้งความเป็นอาชญากรรมและการลงโทษ แต่จัดแจงให้รัฐเข้ามาควบคุมการผลิต การจำหน่าย การเข้าถึงยาเสพติด เป็นเรื่องของ regulated access

กรณีของไทยนั้น การเอาแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติดถือว่ามาถูกทางและตรงกับแนวทางของยูเอ็น

แต่สิ่งที่ขาดคือ การทำงานทางความคิดกับสังคม เพราะทุกวัน เรายังอยู่กับคำขวัญเมื่อห้าสิบปีที่แล้วคือ “ยาเสพติดเป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม” หรือคำขวัญประเภท “ยาบ้าคนเสพตาย คนขายติดคุก” ถ้ากระบวนทัศน์ของสังคมเป็นแบบนี้ แน่นอนว่าสังคมจะไม่เข้าใจว่ากระทรวงยุติธรรมกำลังทำอะไร

นอกจากนี้ พร้อมกับการแก้ปัญหาในแนวทาง harm reduction เราได้ทำงานด้านความคิดกับบุคลากร เช่น ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้แล้วหรือยัง เรามีแผนในการสร้างศูนย์ฟื้นฟู บำบัด ที่พร้อมจะมองเห็นผู้ใช้ยาในฐานะผู้มีปัญหาทางสุขภาพที่ต้องการ treatment ไม่ใช่คนชั่วที่ต้องการถูกบำบัดให้กลายเป็นคนดี

ถ้ากระทรวงยุติธรรมสามารถแจกแจง ตอบคำถาม ทำความเข้าใจกับสังคมได้ หนทางที่ประเทศไทยจะได้ใช้วิธีการแก้ปัญหายาเสพติดที่เคารพในความเป็นมนุษย์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้

หัวใจของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในแนวทางนี้นอกจากสวัสดิการรัฐ หลักประกันสุขภาพแล้ว บรรยากาศและสำนึกแบบ “ประชาธิปไตย” คือหัวใจสำคัญที่สุดของการใช้แนวทางว่าด้วยการเคารพในความเป็นคนเพื่อแก้ปัญหาสังคม