ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 ตุลาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
เส้นทางแห่งอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ด้านหนึ่ง ก็เป็นไปอย่างมั่นคง มีการปูทางเพื่อสืบทอดอำนาจอย่างไร้อุปสรรคขัดขวาง
จนมองข้ามช็อตไปไกลแล้วว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้ความมั่นคงนั้น ก็เริ่มมี “เรื่อง” เข้ามาบั่นเซาะ
บางเรื่อง แม้ดูไม่เป็นเรื่อง แต่กลับเป็นเรื่อง
สะท้อนสัจธรรมทางการเมือง ว่า เส้นทางแห่งอำนาจนั้นไม่ง่าย
ถึงจะมีอำนาจเต็มมือก็ตาม
กรณี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา และครอบครัว นั้นเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่ง
เงินสร้างฝายแม่ผ่องพรรณ ไม่กี่พันบาท
การขอใช้เครื่องบินกองทัพอากาศในกิจกรรมแม่บ้านภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ใครๆ ก็ใช้
รวมไปถึงการใช้บ้านพักข้าราชการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบุตรชายคนโต ก็มีการปฏิบัติเช่นนี้จนเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ชัดเจนในประเด็นกฎหมายว่าผิดกฎระเบียบหรือไม่
ส่วนการไปรับงานรับเหมาหน่วยราชการทั้งในกองทัพและหน่วยราชการอื่น ก็เป็นไปตามระเบียบ ไม่น่ามีประเด็นให้ถกเถียง
แต่จริงๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่
เพราะนอกจากเรื่องจะไม่ยอมยุติลงง่ายๆ แล้ว ยังบานปลายไปสู่การเสนอให้ ป.ป.ช. สอบสวน
บานปลายไปสู่ คำถามเรื่อง “จริยธรรม” อันสูงลิ่วของรัฐบาลรัฐประหาร ที่ไปตามไล่เบี้ยนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม เมื่อมาถึงกรณีตัวเองจะจัดการอย่างไร
มิใช่เพียง พล.อ.ปรีชา เท่านั้นที่จะตอบ หากแต่เสียงเรียกร้องยังพุ่งเป้าไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ผู้นำสูงสุด” ด้วย
แน่นอน ย่อมนำมาสู่ความหงุดหงิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่รู้สึกว่าตนเองกำลังทำงานวันนี้เพื่อสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็งนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้ประเทศ
แต่ปัญหาหลายอย่างกลับเข้ามาชุลมุนพันกันไปมาเกือบทุกเรื่อง
“ไม่ว่าจะตัวผม ญาติพี่น้อง ก็ไปสอบกันมา ไม่ใช่มาโยงกัน ผมยังไม่เคยโยงไปถึงคนที่อยู่ต่างประเทศสักที คดีใครก็คดีมันว่ากันไป อย่าไปสร้างการรับรู้แบบนี้ มันจะทำให้คนสับสนวุ่นวายไปหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างไม่พอใจ
และประกาศว่า ต้องอยู่ให้ได้เพื่อทำงาน เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่กลับไปที่เก่า
“อยากให้รัฐบาล ข้าราชการ ประชาชน สมดุลทางความคิดไม่เกิดความขัดแย้ง ที่ผมเข้ามาเพราะอยากให้ประเทศดีขึ้น เราต้องลดความขัดแย้งให้ได้”
แต่ดูเหมือนว่า ข้อเรียกร้องของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้รับการตอบสนองนัก
มิหนำซ้ำ ไม่ได้หยุดแค่ พล.อ.ปรีชา เท่านั้น
หากแต่ลามไปยังคนใกล้ชิดอีกคน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วย
ลามเมื่อมีข้อมูลหลุดในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการเดินทางทางอากาศโดย “เหมาลำ” เครื่องบินพาณิชย์ของสายการบินไทย ไปยังเมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและสหรัฐอเมริกา “อย่างไม่เป็นทางการ” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-2 ตุลาคม ของคณะ พล.อ.ประวิตร
โดยมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 20,953,800 บาท
นำไปสู่คำถามต่างๆ นานาตามมา
ทั้งที่ตอนแรก ภารกิจของ พล.อ.ประวิตร ตามคำแถลงของ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นไปอย่างดีเยี่ยม
ประการหนึ่ง การที่สหรัฐเชิญ พล.อ.ประวิตร ไปประชุม แสดงถึงความใกล้ชิดที่มีมากขึ้นหลังการรัฐประหาร
ประการหนึ่ง ในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ นอกจากจะกล่าวสนับสนุนอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และการกระชับความร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวขอบคุณไทยในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานที่สุดของภูมิภาค ที่ให้การสนับสนุนสหรัฐในการฝึกทุกระดับ รวมทั้งกล่าวชื่นชมความสำเร็จของไทยในการแก้ปัญหาทั้งการค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมทั้งยินดีจะคงความร่วมมือ และสานต่อความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อไทย” พล.ต.คงชีพ ระบุ และบอกว่า พล.อ.ประวิตร ยังได้ใช้โอกาสนี้เชิญผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิก มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในโอกาสต่อไปด้วย
นี่ย่อมเป็นเรื่องบวก และบวกอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่พลันที่ตัวเลข 20 ล้าน ปรากฏออกมา
เรื่องบวกก็แทบมลายหายไป
แถมมีคำถามด้าน “ลบ” อื่นมาแทน เช่น ไปเพียงแค่ 3 วัน ทำไมราคาสูงเช่นนั้น
และยิ่งเมื่อมีการแฉรายละเอียดอื่นๆ ออกมา เช่น ค่าอาหาร 6 แสนบาท ยิ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันสนุกปากมากยิ่งขึ้นถึงความเลิศหรูของเที่ยวบินนี้
มีความพยายามที่จะอธิบายจาก พล.ต.คงชีพ ถึงความจำเป็นต้องเช่าเครื่องบินเหมาลำ ว่า เพราะไม่มีเที่ยวบินบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปฮาวาย การบริการจากสายการบินพาณิชย์ทั่วไปต้องต่อเครื่องบินหลายครั้งและไม่ได้ทำการบินทุกวันจึงไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน เครื่องบินของกองทัพอากาศยังไม่พร้อม ไม่มีขีดความสามารถพอในเส้นทางดังกล่าว ใช้เวลาบินถึง 19 ชั่วโมง ต้องบินลงเติมน้ำมันระหว่างเส้นทางถึง 2 ครั้ง
จึงต้องเหมาลำเครื่องบินจากสายการบินไทยไป โดยคำนวณราคาตามระเบียบของทางราชการ รวมทั้งข้อบังคับของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อความโปร่งใส
การเช่าเหมาลำเส้นทางดังกล่าวยังไม่เคยกำหนดราคากลาง จึงให้บริษัทการบินไทย ประมาณการค่าใช้จ่ายจัดทำเป็นราคากลางประกาศให้ทราบ ตามที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานและกรมบัญชีกลาง ทราบว่าบริษัทการบินไทยคิดค่าใช้จ่ายระหว่างองค์กรของรัฐตามราคาต้นทุน ตรวจสอบได้และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเดินทางในคณะนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนกองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม เลขานุการรัฐมนตรีกลาโหม เจ้าหน้าที่ด้านธุรการและแพทย์ และสื่อมวลชน
ซึ่งเหมาะสมถูกต้องทุกประการ
แต่คำชี้แจงดังกล่าว ดูจะไม่เพียงพอ
เพราะมีการเรียกร้องข้อมูลเพิ่ม คือ
ให้เปิดเผยรายชื่อผู้ร่วมคณะทุกคน
ขอทราบรายละเอียดอาหารที่มีราคา 6 แสนบาท
แต่ พล.ต.คงชีพ กลับปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ร่วมเดินทาง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงจึงไม่สามารถเปิดเผยได้
สำหรับเรื่องค่าอาหารบริการบนเครื่องบินระบุไว้ 600,000 บาท นั้น พล.อ.ประวิตร ชี้แจงเองว่า “เป็นอาหารไทยธรรมดา เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ไม่ได้มีอาหารพิเศษมาจากที่ไหน”
แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันข้ามวัน ก็มีข้อมูลปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียว่า เมนูอาหารบนเที่ยวบินเช่าเหมาลำเส้นทางโฮโนลูลู-กรุงเทพฯ มิใช่อาหารไทยธรรมดา ดังที่กล่าวอ้าง
หากแต่ปรากฏชื่อเมนูอาหารมื้อแรกคือ คาเวียร์และเครื่องเคียง พร้อมอาหารว่างเลิศรสคือทอดมันปู กุ้ง และแฮมอิตาเลียนรมควัน
เสียงฮือฮาก็ดังกระหึ่ม
เช่นเดียวกับการไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อผู้ร่วมคณะ 38 คนนั้น
ไม่ทันข้ามวัน เว็บเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ได้โพสต์ภาพรายชื่อผู้โดยสารเที่ยวบิน TG8885 กรุงเทพฯ-โฮโนลูลู จำนวน 43 รายชื่อออกมา
โดย 3 รายชื่อสุดท้ายระบุว่าเดินทางเฉพาะเที่ยวกลับ
ขณะที่ก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมออกมาชี้แจงว่ามีผู้ร่วมคณะจำนวน 40 คน แต่มีการยกเลิกเดินทาง 2 คน จึงเหลือผู้ร่วมเดินทางจริง 38 คน
2 คนที่ถอนตัวไปเป็นใคร แม้ไม่มีการเปิดเผย
แต่ต่อมา นางสาวชลรัศมี งาทวีสุข พิธีกรข่าวช่อง 5 ซึ่งมีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้โดยสาร ได้โพสต์เฟชบุ๊กข้อความว่า “อย่างฮาาาาา ?? เมื่อวันศุกร์อยู่กรุงเทพ อ่านข่าวตัวเป็นๆ อยู่หน้าจอช่อง 5 แต่มีคนมโน! ว่าทิพย์ไปต่างประเทศ แสดงว่ารายการข่าว ที่ทำสดจันทร์-ศุกร์ ยังไม่ดังพอ ?? ฝากติดตามชมรายการด้วยนะคะ #เช้านี้ประเทศไทย 7.00-8.00 ช่อง 5 ค่ะ??????????”
จึงมีแนวโน้มว่า 1 ใน 2 ที่ถอนตัวอาจจะเป็นนางสาวชลรัศมี
ซึ่งถือว่าโชคดีอย่างยิ่ง
มิฉะนั้นคงจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การละเลงขนมเบื้องบนแป้นคีย์บอร์ดกันอย่างเมามัน
แน่นอนไม่ได้เป็นผลดีกับ พล.อ.ประวิตร และคณะเลย
เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีการหยิบประเด็นนี้ไปตั้งข้อสังเกต และพยายามลากโยงไปถึง ผู้ใหญ่บางคน มาแล้ว
จึงไม่แปลก ที่ พล.อ.ประวิตร จะสะท้อนความรู้สึกออกมาว่า “ความจริงเขาตั้งใจจะเล่นงานผม”
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งเพิ่มความหงุดหงิดขึ้นไปอีก โดยบอกว่า “หากจะตรวจสอบผมในฐานะที่เข้ามาบริหารประเทศก็ตรวจสอบไป ไม่ได้ห้ามใคร”
และพูดเป็นปริศนาทำนองว่า “การตรวจสอบอำนาจผมอยู่ตรงไหนต้องดูกฎหมายด้วย เพราะผมไม่ใช่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง นี่คือความแตกต่าง”
ซึ่งยังไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสื่อหรือส่งสัญญาณอะไร
แต่กระนั้น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่เคยถูก พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าจะตรวจสอบพฤติกรรมของนายศรีสุวรรณบ้างที่เที่ยวไปตรวจสอบคนอื่น ได้ประกาศที่จะติดตามเรื่องนี้แล้ว
โดยจะยื่นเรื่องให้ผู้ว่าการ สตง. สอบ ว่ากรณีนี้ขัดแย้งต่อนโยบายของ คสช. หรือคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาในเรื่องค่านิยม 12 ประการของ คสช. ที่ว่าด้วยความพอเพียงหรือไม่
รวมทั้งตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 หรือไม่
ถือเป็นการบานปลายของเรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องอีกกรณี
ซึ่งจะเป็นไปตามการมองของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ ก็น่าพิจารณา
โดยนายนิพิฏฐ์ ชี้ว่า เรื่องที่หลุดออกมา เชื่อว่าคนนอกไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้แน่นอน ทั้งเรื่องภรรยาและลูกชายของ พล.อ.ปรีชา เรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทางไปฮาวายของ พล.อ.ประวิตร ด้วย ส่วนตัวไม่ได้ตกใจอะไรกับเรื่องนี้ ถือเป็นปกติของผู้ที่มาจากการยึดอำนาจ ในช่วงท้ายจะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น อย่าไปแปลกใจเลย ตอนนี้ทุกอย่างกำลังเดินตามรอยประวัติศาสตร์ ยิ่งอยู่นาน ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งเล็ดลอดออกมา
จริงหรือไม่ ต้องติดตาม
แต่นาทีนี้ ALOHA ฮาวาย ที่สะท้อนความสุขสันต์ กลายเป็นของร้อนสำหรับ พล.อ.ประวิตร ไปเรียบร้อย