สยามยึดอยุธยา ความเป็นไทย ในสำเภาจีน | สุจิตต์ วงษ์เทศ

จีนแต่งสำเภาออกค้าขาย แล้วหนุนชาวสยาม พูดภาษาไทย ยึดอยุธยา สถาปนาความเป็นไทย แบบจำลองเรือมหาสมบัติ "เป่าฉวน" ขนาด 9 เสากระโดงอันมหึมาของแม่ทัพเจิ้งเหอ จำลองขึ้นตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า (ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน)

สยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิกำจัดรัฐละโว้ แล้วยึดอยุธยา โดยการอุดหนุนของจีน

นับแต่นี้ไปอยุธยาต้อง “จิ้มก้อง” ส่งบรรณาการจีน

จีนควบคุมเบ็ดเสร็จเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร หลังสนับสนุนสยามยึดอยุธยา เพราะสยามมีอำนาจการเมืองระบบเครือญาติชาติภาษาไต-ไท ตั้งแต่รัฐสุโขทัย ถึงรัฐเพชรบุรี และรัฐนครศรีธรรมราช ซึ่งมีอำนาจเหนือเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญ ได้แก่

(1.) ช่องสิงขร ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ จ. ประจวบคีรีขันธ์ และ (2.) ด่านเจดีย์สามองค์ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี

สยามยึดอยุธยาจากละโว้ มีพัฒนาการโดยย่อเป็นลำดับดังนี้

 

กรุงศรีอยุธยา

1.สยามกับละโว้ (เคยร่วมกันสถาปนาอโยธยาศรีรามเทพ) ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893

กษัตริย์อยุธยาที่สถาปนาใหม่ (สืบจากอโยธยาศรีรามเทพ) เชื้อวงศ์ละโว้ ทรงนามสมเด็จพระรามาธิบดี

เมื่อสิ้นรัชกาลทุกครั้งมักมีขัดแย้งช่วงชิงอำนาจระหว่างสยามกับละโว้

 

เจ้านครอินทร์ไปจีน

2.พระบรมราชา (พะงั่ว) จากรัฐสุพรรณภูมิเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา (สืบต่อจากพระรามาธิบดี) แล้วส่งโอรสสยามนามเจ้านครอินทร์ไปปักกิ่ง ขึ้นเฝ้าจักรพรรดิจีน เมื่อ พ.ศ. 1920

ครั้นสิ้นรัชกาลมีขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสยามกับละโว้ ฝ่ายสยามถอยกลับสุพรรณภูมิ

 

ยึดอยุธยา

3.พระรามราชา เชื้อสายรัฐละโว้ เสวยราชย์อยุธยา (ระหว่าง พ.ศ. 1938-1952)

ขัดแย้งรุนแรงกับเจ้านายขุนนางที่เป็นเชื้อสายรัฐสุพรรณภูมิ มีในพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ สรุปดังนี้

ตอนแรก พระรามราชาสั่งให้จับกุมเจ้าเสนาบดี ที่รับราชการในราชสำนักอยุธยา

เจ้าเสนาบดีหนีรอดอยู่เมืองปท่าคูจาม (เวียงเหล็ก) ซึ่งเป็นขุมกำลังของสยาม

ตอนหลัง เจ้าเสนาบดีนัดหมายทางการเมืองกับเจ้านครอินทร์ สุพรรณภูมิ

เมื่อถึงกำหนด เจ้าเสนาบดียึดอยุธยาโดยยกกำลังผู้คนเมืองปท่าคูจามกับสุพรรณภูมิ แล้วเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นเสวยราชย์อยุธยา (นาม พระนครินทราธิราช) พ.ศ. 1952

ความเป็นไทย เริ่มมีในสมัยนี้ เป็นผลจากสำเภาจีนโดยตรง

ฝ่ายพระรามราชาเชื้อสายละโว้ ถูกกักขังไว้ในเมืองปท่าคูจาม (ขุมกำลังของสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ)

เจ้าเสนาบดี น่าจะเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ เชื้อสายสุพรรณภูมิ รับราชการในอยุธยา โดยมีอำนาจควบคุมขุมกำลังชาวสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ อยู่เมืองปท่าคูจาม (ซึ่งเดิมเป็นเวียงเหล็ก ของพระเจ้าอู่ทอง) โดยรับอุดหนุนจากจีน

จีนสนับสนุน

4.จีนต้องการควบคุมและคุ้มครองบ้านเมืองแถบทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรมลายู

ก่อนสยามยึดอยุธยา พ.ศ. 1952 จีนส่งกองเรือจีนนำโดยแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ (หรือซำปอกง) ยกกองเรือท่องสมุทร (ครั้งที่ 3) ผ่านอ่าวไทย เท่ากับใช้กองเรือกดดันให้มีส่วนสนับสนุนการยึดอยุธยาของสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ

[หลักฐานและคำอธิบายมีในหนังสือ 2 เล่ม ของ สืบแสง พรหมบุญ (1.) ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ ระหว่างจีนกับไทย มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525 และ (2.) เจิ้งเหอ ซำปอกง อุษาคเนย์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2549]

การแผ่อำนาจของจีนมีเสมอ ในลักษณะกดดันและใช้กำลังทหารจากกองเรือข่มขู่คุกคามบ้านเมืองที่อ่อนแอกว่า เพื่อได้สิ่งที่ต้องการ รวมทั้งมีเหตุการณ์อย่างนี้ในอยุธยาด้วย

เรือน พ.ศ. 1900 มีในเอกสารจีนว่าเจิ้งเหอออกคำสั่งให้รื้อถอนพระสถูปในอยุธยาอย่างน้อย 1 องค์ว่า “เป็นพระสถูปที่ปราศจากยอดและอยู่ทางเบื้องทิศตะวันตก โดยกล่าวว่าพวกชนป่าเถื่อน (ชาวอยุธยา) เหล่านี้สร้างพระสถูปจนสำเร็จอยู่ก่อน เจิ้งเหอได้บัญชาให้ปราบพระสถูปนี้จนราบเรียบ จนแม้ต่อมาจะมีความพยายามที่จะสร้างสถูปขึ้นอีก ก็ไม่สำเร็จอีกเลย”

[ดูในบทความเรื่อง “เจิ้งเหอกับการทูตแบบสันถวไมตรี หรือเพื่อกดขี่บีฑา” ของ เจฟ เวด (ทรงยศ แววหงษ์ แปลจากบทความภาษาอังกฤษ พิมพ์เป็นเอกสารประกอบสัมมนาวิชาการ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราฯ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2548)]

เหตุการณ์ครั้งนี้เสมือนจีนได้สยามกับละโว้ไว้ในอำนาจโดยไม่ต้องยกทัพ ตามนโยบายที่พบในเอกสารจีน ดังนี้

“(จักรพรรดิ) ทรงปรึกษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หารือเรื่องการจัดทัพไปปราบเสียน (สยาม) หลอหู (ละโว้) หม่าปาเอ๋อร์ (เปโป้ยยี้) จี้หลัน (กู้น้ำ) และซูมู่ตาลา (สุมาตรา) แต่ขุนนางชื่อเจียหลู่น่าต๋าซือ กราบทูลว่า ‘อาณาจักรเหล่านั้นเป็นอาณาจักรเล็กที่ไม่มีความสำคัญอะไร แม้ว่า (จีน) จะได้ (อาณาจักรเหล่านั้น) มาเป็นเมืองขึ้น ก็หาประโยชน์มิได้ (นอกจากนั้น) การที่จะจัดทัพไปปราบอาณาจักรเหล่านั้น ยังเป็นการทำลายชีวิตประชาชนโดยใช่เหตุ ควรส่งทูตไปชี้แจงบาปบุญคุณโทษ (และ) ชักชวน (ให้อ่อนน้อม) จะเหมาะสมกว่า ถ้า (อาณาจักรเหล่านั้น) ไม่ยอมอ่อนน้อมก็ยังไม่สายเกินไปที่จะไปโจมตีได้ จักรพรรดิทรงเห็นชอบด้วย และรับสั่งให้เอียลาเยหนูเตอมี่และคณะ จัดการส่งทูตตามข้อเสนอดังกล่าว (ปรากฏผลว่า) กว่า 20 อาณาจักรยอมนอบน้อม'”

[จากหนังสือ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน พ.ศ. 1825-2395 (แปลจากเอกสารทางราชการของจีน) โดย คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับจีนในเอกสารภาษาจีน สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2523]

นับแต่นี้ไป อยุธยาต้อง “จิ้มก้อง” ส่งบรรณาการจีน เท่ากับอยู่ในโอวาทจีน หรือจีนให้ความคุ้มครองแข็งแรง

จีนคุ้มครองอยุธยาเป็นสถานีการค้ากับนานาชาติทางตะวันตก ใครต้องการสินค้าจีนให้มาซื้อขายแลกเปลี่ยนที่อยุธยา

ส่งผลให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาตินับแต่นั้นมา