อภิญญ ตะวันออก : “200 ปีไทย-สหรัฐ” และมิติสัมพันธ์ต่อกัมพูชา

นี่คือเรื่องเล่า ทำนองว่า เมื่อข้าพเจ้าไปชมนิทรรศการ “ของขวัญแห่งมิตรภาพ” ระหว่างสองราชอาณาจักร “ไทย-สหรัฐ” นั้น นับเป็นการเสพกึ่งงานศิลป์ที่ล่วงเลยผ่านกาลเวลามาคำรบถึง 200 ปี (พุทธศักราช 2361-2561) สำหรับความสัมพันธ์สองประเทศ

และ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บริเวณวัดพระแก้ว นั่นเองที่ข้าพเจ้าพบว่า แม้แต่พระราชสาส์น-ของขวัญชิ้นแรกๆ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉบับหนึ่งที่ทรงมีไปถึงประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ แห่ง “ยุไนติศเตศ” ในปี พ.ศ.2399/1856 พร้อมด้วย “พระราชลัญจกร” หรือ “ตราประทับ” เหนือเอกสารส่วนพระองค์ฉบับนั้น นั่นคือ พระราชลัญจกรรูป “ไอยรา 3 เศียร ณ ใต้เศวตฉัตร”

แต่ที่ ณ เบื้องซ้ายพระราชลัญจกรที่เยื้องต่ำลงมา จะเห็นตราประทับทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในประดิษฐ์ด้วยตัวหนังสือขอมหรืออักษรมูลใหญ่ โดยพระราชลัญจกรย่อยชิ้นนี้เหมือนตราประทับรับรอง

มีความหมายตามภาษาไทยตรงกับคำว่า “พระบรมราชโองการ”

 

เริ่มต้นบริบทก็น่าประทับใจเสียแล้ว ในประวัติความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ โดยเฉพาะความหมาย “พระบรมราชโองการ” บนพระราชสาส์นนั่น ดูจะเป็นเหมือนลายแทงแห่งประวัติศาสตร์สยาม-กัมพูชาด้วยหรือไม่

ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะ 3 ปีต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงประธานธิบดีเพียร์ซแห่งสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง (2402/1859) แต่คราวนี้ มีแต่ตราประทับ “พระบรมราชโองการ” ที่ทรงเปลี่ยนจากเดิมสีแดงชาดมาเป็นสีเขียวคราม ซึ่งพระราชสาส์นฉบับที่ 2 นี้ มีอายุกาลปัจจุบันคือ 159 ปี

ไม่เพียงเท่านี้ เพียง 2 ปีต่อมา ทรงมีพระราชหัตถเลขาอีก 2 ฉบับ คือทรงลิขิตด้วยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถึงประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน ในปี พ.ศ.2404/1861 โดยเฉพาะฉบับภาษาอังกฤษนั้น ทรงเกริ่นนำถึงปริมณฑลประเทศสยาม ความว่า

“สมเด็จพระมเหนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม เปนใหญ่ได้ครอบครองพระราชอาณาจักรสยามราษฎร์ แวดล้อมด้วยนานาประเทศราชชนบทต่างๆ ทุกทิศ คือลาวโยนแลลาวเนียงในทิศพายัพแลอุดร ลาวกาวแต่ทิศอิสานจนบูรพ์ กัมโพศเขมรแต่บูรพ์จนอาคเนย์ เมืองมาลายูเปนอันมากแต่ทักษิณจนหรดี” (Great and Good Friends/T. Merrion & W. B. Smith, น.66)

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสหรัฐ นายยูลิสซิส เอส. แกรนด์ (2412/1869) และพบว่าครั้งนี้มีความแตกต่างในการพรรณนาบทเกริ่นนำความว่า

“ประเทศบางกอกนี้ เปนมหาราชธานีใหญ่ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม คือแผ่นดินสยามเหนือใต้ และดินแดนต่างๆ อยู่เคียงอยู่ใกล้ๆ บ้างเปนที่อยู่ของชนชาวประเทศ มีเพศภาษาต่างๆ ลาวเนียงลาวกาวมลายู แลกะเหรี่ยงแลอื่นๆ ในทิศนั้นๆ” (อ้างแล้ว, น.52)

สังเกตไม่พบคำว่า “กัมโพศเขมร” (หรือกัมโพช) ที่เคยปรากฏในเอกสารในรัชกาลที่ 4 เมื่อ 8 ปี

เว้นพระราชลัญจกรน้อยหรือตราอักษรขอม- “พระราชโองการ” ที่ยังทรงใช้ตามแบบรัชกาลในสมเด็จพระราชบิดา

 

ถึงการนี้ เท่าที่จะพอค้นพบเอกสารของฝ่ายกัมพูชา (ที่อาจจะไม่ใช่ฉบับปฐม) แต่พอจะเทียบเคียง คือพระราชหัตถเลขาในพระบาทนโรดม (2377-2447) ที่พระราชทานตอบตัวแทนฝรั่งเศส ณ มณฑลอินโดจีน-เมอร์สิเออร์ปิแอร์-ปอล เดอ ลา กร็องดิเยร์ขณะนั้น (EFEO_CAM00015 สำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ)

สำหรับพระราชสาส์นหรือพระลิขิตตามเขมรฉบับนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2406/1863 ณ กรุงอุดงค์ราชธานี และอีกฉบับในภาษาฝรั่งเศสในปี 2409/1866 ขณะประทับที่กรุงพนมเปญ

ในพระลิขิตฉบับภาษาเขมรดังกล่าว ทรงระบุนามตามพระปรมาภิไธย ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ในพิธีบรมราชาภิเษกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ในปีพุทธศักราช 2405/1862 แต่ทรงย่อพระนามลงมาเหลือเพียง “สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาตาร พระเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี”

นับเป็น 2 ปีให้หลังพิธีบรมราชาภิเษกที่ทรงมีพระลิขิตตอบรับไมตรีจากมิตรบารัง ขณะมีพระชนม์ 29 ชันษาเท่านั้น

มีข้อน่าสังเกตว่า ในพระลิขิตเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดีฉบับลงวันพุธที่ 4 จุลศักราช 1228/1863 ปีขาลนี้ ทรงกำชับถึงลักษณะพระราชสาส์นในพระราชอำนาจส่วนพระองค์ว่า ประกอบด้วย 2 ภาษา (เขมร-ฝรั่งเศส (ละติน)) แลอีกที่จะลืมเสียมิได้คือ “ตราพระราชลัญจกร” ประจำพระองค์

ที่มากกว่านั้น ณ เบื้องซ้ายพระราชลัญจกรนั่น ทรงประทับด้วยอักขรขอมตัวมูล แบบเดียวที่พบในพระราชสาส์นจากสยามถึงสหรัฐ

แตกต่างก็เพียงแต่ความหมายที่ไม่ได้แปลว่า “พระราชโองการ” เท่านั้น

 

นับเป็นความร่วมสมัยในเอกสารที่ต่างกรรมต่างวาระระหว่าง “สยาม-กัมโพช” บนรอยทางความสัมพันธ์ฉันราชสำนัก และกึ่งฐานะประเทศราช แต่ด้วยขนบตามระบอบกษัตริย์ ดูเหมือนทั้งสองราชสำนัก ต่างรักษาธรรมเนียมเก่าแก่ของราชวงศ์สถาบัน

แต่กระนั้น ก็มีสมมติฐานส่วนตัวของผู้เขียนว่า เหตุใดราชสำนักสยามขณะนั้นจึงใช้ตราอักษรขอม-พระราชโองการคู่กับพระราชลัญจกรส่วนพระองค์เช่นนั้น?

และเป็นไปได้หรือไม่ว่า เคยมีการใช้ตราดังกล่าวแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์?

โดยอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์อุปถัมภกต่อสมาชิกราชวงศ์กัมพูชา ทำให้ใกล้ชิดและโปรดปรานในอัตลักษณ์พิเศษของราชสำนักกัมโพชจนทรงรับในอิทธิพล อาทิ ตราประทับ “พระราชโองการ” เคียงข้างพระราชลัญจกรในส่วนพระองค์

หรือนัยว่าทรงตั้งใจที่ใช้ตราดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว คราวที่ฝรั่งเศสเริ่มครอบครองกัมพูชา

 

นั่นเอง-ใช่แต่พระราชสาส์น-ของขวัญแห่งมิตรภาพ “Great and Good Friends” และสิ่งละอันพันละน้อยอันควรค่าแก่ความทรงจำจากสหรัฐ ในจำนวนนี้ อาทิ งาช้าง ดาบฝักถมทอง พระบาตรประดับมุก ผ้าไหม พัดรอง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นพระราชไมตรี

ถึงกับเคยมีพระประสงค์จะส่งช้างหนึ่งคู่เพื่อ “ไว้สืบพืชพันธุ์ในทวีปอเมริกา” ในสมัยประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน (2403-2408) ทว่า น่าเสียดายขณะสหรัฐกำลังเข้าสู่สงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น (2404-2409) ได้ปฏิเสธอย่างสุภาพ กระนั้นก็ยังยืนยันถึงมิตรภาพในสิ่งของที่พระองค์ทรงพระราชทานว่า

“จักเป็นสิ่งจารึก…อันทรงเกียรติต่อทั้งสองประเทศ เหนือกว่ารางวัลแห่งชัยชนะทั้งปวงตราบชั่วกาลนาน” (2405)

ข้อมูลส่วนนี้ ทำให้ทราบถึงพระปรีชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้านการคัดของขวัญ โดยเฉพาะ 1 ในของขวัญที่พระราชทานแก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ นั่นคือผ้าไหมทอมือแบบ “ปูมเขมร” ที่ทอด้วยกรรมวิธีพิเศษและเป็นผ้าชั้นสูงใช้กับหมู่ขุนนางในราชสำนัก

และน่าจะเป็นผลงานที่เกิดจากวิธีการย้อมสีและทอมือโดยช่างราชสำนักกัมโพช โดยไม่ว่าจะส่งมาจากกรุงอุดงค์ในฐานะเครื่องราชบรรณาการ หรือโดยช่างทอเขมรที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในราชธานีกรุงเทพฯ จนกลายเป็น “ของขวัญ” สุดพิเศษ ที่ไม่อาจจำกัดด้วยยุคกาลสมัย ตามความหมายแห่งมิตรภาพระหว่าง “ไทย-สหรัฐ” เท่านั้น

แต่ยังหมายถึงประวัติศาสตร์หน้าใหม่ระหว่างราชสำนัก “ไทย-เขมร” อีกด้วย