จิตต์สุภา ฉิน : สปายดักฟังในมือของเรา

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

คงไม่จำเป็นต้องถามว่าคุณผู้อ่านเคยเจอประสบการณ์ที่โฆษณาบนเฟซบุ๊กบังเอิญมาตรงกับความสนใจหรือสิ่งที่เราเพิ่งจะนึกถึงไปแหม็บๆ บ้างหรือเปล่า

เพราะคนส่วนใหญ่น่าจะตอบว่า “เคย”?

แม้กระทั่งตัวซู่ชิงเองก็มีอยู่บ่อยครั้งที่แอบรู้สึกตงิดๆ ขึ้นมาว่า เอ๊ะ เครื่องสำอางชิ้นนี้มันเป็นชิ้นเดียวกับที่เราบ่นอยากได้อยู่พอดี จู่ๆ มาโผล่เป็นโฆษณาบนเฟซบุ๊กให้เรากดซื้อง่ายๆ ได้ยังไงกันเนี่ย

แต่โดยปกติแล้วเราก็มักจะยักไหล่ คิดในใจว่า “บังเอิญน่า” แล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่ามันไม่ใช่ความบังเอิญล่ะคะ

 

ในบทความนี้ซู่ชิงจะใช้เฟซบุ๊กเป็นตัวอย่างหลักเนื่องจากชีวิตเราผูกพันกับเฟซบุ๊กมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเฟซบุ๊กเป็นบริษัทเดียวที่ทำแบบนี้ได้นะคะ

และจะแบ่งประเภทของเหตุการณ์ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ค่ะ

เหตุการณ์แบบแรกก็คือ เฟซบุ๊กรู้ว่าเราค้นหาอะไรบนเว็บมาบ้าง การค้นหานั้นไม่ได้เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ก เราอาจจะปิดเฟซบุ๊ก ไปเปิดแอพพ์หรือเปิดเว็บกูเกิล ค้นหาแบบเสื้อผ้าสวยๆ ที่เราชอบ

หาอ่านรีวิวรถยนต์รุ่นที่เรากำลังหมายตา

แล้วเมื่อเปิดกลับมาที่เฟซบุ๊ก เดรสตัวเดียวกันนั้น หรือรถยนต์รุ่นเดียวกันนั้น ก็มาปรากฏหราอยู่บนหน้าแรกของเฟซบุ๊กเรา

 

เหตุการณ์แบบที่สอง เรากำลังนั่งคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกันไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงเดือนเมษายนว่าควรจะบินกับสายการบินอะไร มีดีลอะไรดีๆ บ้าง ที่เที่ยวไหนที่น่าสนใจ

ทันทีที่โบกมืออำลาแยกย้ายแล้วเราหยิบมือถือขึ้นมาเปิดเฟซบุ๊กหรืออาจจะสักหนึ่งวันหลังจากนั้น โฆษณาตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นราคาถูก หรือซิมโทรศัพท์น่าใช้ในญี่ปุ่นก็มาแปะอยู่บนหน้าเฟซบุ๊ก ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ป้อนข้อมูลอะไรเกี่ยวกับแผนที่จะทริปนี้ลงบนอินเตอร์เน็ตเลย

เหตุการณ์แบบแรกอธิบายได้ไม่ยากและเฟซบุ๊ก (หรือกูเกิล) ก็เปิดเผยกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่โดยได้อธิบายไว้ชัดเจนบนเว็บไซต์ของบริษัทด้วย

เวลาที่เราเข้าไปดูเว็บไซต์บางเว็บไซต์ เคยสังเกตไหมคะว่าบางเว็บจะมีปุ่ม “ถูกใจ” หรือ “like” ปุ่มเล็กๆ ติดอยู่ด้วย

เมื่อเราล็อกอินเฟซบุ๊กค้างไว้และเข้าไปดูเว็บไซต์เหล่านี้ เบราเซอร์ของเราก็จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับการที่เราเข้าไปดูเว็บกลับไปยังเฟซบุ๊ก ข้อมูลที่จะส่งกลับไปก็อย่างเช่น เราเป็นใคร เราเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไหน วันไหน เวลาไหน และข้อมูลต่างๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง ซึ่งเฟซบุ๊กบอกว่าเฟซบุ๊กใช้ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของการโฆษณาให้ตรงกับความสนใจของผู้ใช้งานล้วนๆ ไม่ได้เอาไปทำอะไรอย่างอื่น และหากเราล็อกเอาต์ออกจากเฟซบุ๊กก่อนเข้าไปเยี่ยมชมเว็บ ข้อมูลที่เฟซบุ๊กจะได้กลับไปก็จะถูกจำกัดมากขึ้น

แบบนี้ดูไม่ค่อยมีอะไรสลับซับซ้อนสักเท่าไหร่ เฟซบุ๊กก็บอกอยู่แล้วว่าการคัดเลือกโฆษณาให้ตรงกับความสนใจของแต่ละคนเป็นเรื่องจำเป็น เฟซบุ๊กอยู่ได้ด้วยการโฆษณา ถ้าหากไม่ทำแบบนี้ ต่อไปในอนาคตเราก็อาจจะต้องเสียเงินค่าสมัครสมาชิกเพื่อใช้งานเฟซบุ๊กที่ไม่ฟรีอีกต่อไป

ดังนั้น ถ้าจำเป็นจะต้องมีโฆษณาแล้ว ก็ขอให้เป็นโฆษณาที่แต่ละคนมีแนวโน้มจะสนใจน่าจะดีกว่า

 

แต่เหตุการณ์แบบที่สอง ที่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กรู้เองได้ว่าเราคุยอะไรไว้กับใครแล้วหยิบเอาส่วนหนึ่งของบทสนทนาเรามาแสดงเป็นโฆษณาเนี่ย สลับซับซ้อนและชวนน่าขนลุกกว่ามาก

เวลาคุณผู้อ่านต้องการเรียกใช้งานผู้ช่วยส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือ หรือในลำโพงอัจฉริยะประจำบ้าน การที่เราจะปลุกให้มันตื่นได้ เราก็จะต้องใช้เสียงเรียกใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็น หวัดดี สิริ โอเค กูเกิล ไปจนถึง อเล็กซ่า เมื่ออุปกรณ์ของเราได้ยินคำเรียกเหล่านี้ ก็จะส่งเสียงแสดงการตอบรับ และอุปกรณ์จะเริ่มต้นฟังคำสั่งของเราทันที

สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้ในใจคือ การที่มันจะรู้ได้ว่าเราเรียก อุปกรณ์ก็จะต้องเปิดไมโครโฟนรอทิ้งไว้ตลอดเวลา ซึ่งตามหลักการแล้ว เสียงใดๆ ที่ถูกบันทึกไว้โดยไม่มีคำปลุกให้ตื่นข้างต้นจะเป็นข้อมูลที่ถูกประมวลผลภายในโทรศัพท์เท่านั้นและจะไม่ถูกส่งกลับไปที่เซิร์ฟเวอร์ของบริษัท

ดังนั้น การเข้าใจการทำงานของมันก็พอจะทำให้เรารู้ว่ามีไฟล์เสียงจำนวนไม่น้อยที่ถูกบันทึกไว้โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

ซึ่งไฟล์เสียงเหล่านี้นี่แหละค่ะมีมูลค่ามหาศาลสำหรับนักโฆษณาทั้งหลาย เพราะมันคือการแสดงความต้องการของลูกค้า และหากนักโฆษณาสามารถจัดเตรียมสิ่งที่ลูกค้าต้องการมาเตรียมรอเอาไว้ให้โดยลูกค้ายังไม่ทันต้องร้องขอก็อาจจะนำไปสู่การสร้างรายได้ได้นั่นเอง

 

ขอยกบางส่วนของบทความเรื่อง Your Phone Is Listening and it”s Not Paranoia หรือ “โทรศัพท์ของคุณกำลังดักฟังและนี่ไม่ใช่อาการหวาดระแวง” จากเว็บไซต์ Vice มาเล่าให้ฟังนะคะ

ผู้เขียนนามว่า แซม นิโคลส์ อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เราไม่มีทางรู้เลยว่าไฟล์เสียงที่อุปกรณ์ของเราบันทึกไว้จะไม่ถูกส่งออกไปไหน

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ แอพพลิเคชั่นบางแอพพ์บนโทรศัพท์เรา (อย่างเช่นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม) ก็อาจจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน

หรือมิเช่นนั้นแอพพ์ต่างๆ เหล่านี้อาจจะแอบตั้งคำปลุกของตัวเองไว้แล้วด้วยก็ได้

ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจลองทำการทดลองง่ายๆ ด้วยตัวเอง เขาออกแบบประโยคจำนวนหนึ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นคำปลุกหรือคำกระตุ้นให้แอพพลิเคชั่นนำสิ่งที่เขาพูดไปใช้ในการโฆษณาได้

อย่างเช่น “ฉันอยากกลับไปเรียนมหาวิทยาลัย” หรือ “ฉันอยากได้เสื้อเชิ้ตราคาไม่แพงไว้ใส่ไปทำงาน” อย่างนี้เป็นต้น

และทำแบบนี้สองครั้งต่อวัน เป็นเวลาห้าวันติดต่อกัน

แซมบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นรวดเร็วเพียงแค่ข้ามคืนเท่านั้น จู่ๆ เขาก็ได้เห็นโฆษณาแนะนำคอร์สเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ และแบรนด์เสื้อผ้าราคาไม่แพงปรากฏอยู่บนหน้าเฟซบุ๊กของเขา และบทสนทนาที่เขาบ่นกับเพื่อนว่าไม่มีเนื้อที่เก็บข้อมูลเหลือแล้ว ก็นำไปสู่โฆษณาดาต้าแพลน 20 กิ๊กกะไบต์ราคาถูก

แซมบอกว่า แม้ว่าโฆษณาทั้งหมดที่เขาเห็นเนี่ยเป็นดีลที่ดีทั้งนั้น

แต่นี่ถือเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกทั้งตาสว่าง ทั้งสั่นสะพรึงไปพร้อมๆ กัน

 

เขาจึงสรุปในบทความชิ้นนี้ว่า โทรศัพท์ของเราฟังเราอยู่ตลอดเวลา แต่ก็อ้างถึงผู้เชี่ยวชาญที่เขาสัมภาษณ์มาประกอบบทความนี้ที่ระบุว่า คนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องตื่นกลัวอะไรไปมากมายนักหรอก เพราะส่วนใหญ่แล้วข้อมูลทั้งหมดที่ถูกเก็บไปจะถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของการโฆษณาสำหรับตัวเราเองล้วนๆ

คนที่จะต้องกังวลเรื่องนี้คือคนที่อยู่ในสายอาชีพบางอย่าง เช่น ผู้สื่อข่าว ทนายความ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่มีความอ่อนไหวเท่านั้นแหละ

ฟังดูสบายๆ ไร้กังวลนะคะ

แต่ลองมาอยู่ในประเทศที่ทางการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายชนิดดีดนิ้วครั้งเดียวทางก็เปิดโล่ง การอ่านข้อความและตอบรับว่าอ่านแล้วหรือการแชร์บทความต่อเฉยๆ อาจทำให้คุณถูกจับเข้าคุกได้เนี่ยก็คงพอจะเข้าใจว่าการมีโทรศัพท์คอยดักฟังอยู่ตลอดเวลาเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง

มันน่าเสียวสันหลังแค่ไหน