ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มิถุนายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | วิกฤติศตวรรษที่ 21 |
เผยแพร่ |
วิกฤติประชาธิปไตย (8)
หนทางประชาธิปไตยในตุรกี
หนทางประชาธิปไตยในตุรกี ไม่ได้เกิดจากใครคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งกำหนดขึ้น หากเกิดจากความขัดแย้งหลายฝ่าย ได้แก่
ก) กลุ่มอำนาจนำในตุรกีที่ต้องการหาทางในการพัฒนาประเทศต่อไป สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศทรงอำนาจในภูมิภาค ในความพยายามนี้มีผู้นำที่โดดเด่นในปัจจุบันได้แก่ เรเจป แอร์โดอาน
ข) กลุ่มสหรัฐและตะวันตก ที่ต้องการรักษาฐานะการครองความเป็นใหญ่ในมหาตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และยุโรปตะวันออกไว้ ต้องการให้ตุรกีเป็นฐานทัพใหญ่ในการทำศึกต่างๆ ที่สำคัญคือตุรกีควรต้องมีนโยบายต่างประเทศที่สอดรับกับผลประโยชน์ของสหรัฐ
ค) กลุ่มอำนาจใหม่ มีรัสเซีย จีน อิหร่าน เป็นต้น ที่ต้องการสร้างแกนอิทธิพลในภูมิภาคยูเรเซียที่ถือว่าเป็นบ้านของตน
ความขัดแย้งสามฝ่ายใหญ่ดังกล่าว สร้างหนทางประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็นในตุรกีขณะนี้ ได้แก่ การก้าวเดินออกจากลัทธิเคมาลที่เป็นแบบชาตินิยม โลกวิสัย นิยมตะวันตก ต่อต้านคอมมิวนิสต์ มาเป็นแบบชาตินิยม อิงศาสนาอิสลาม เป็นอิสระ คบหลายฝ่าย ต่อต้านฝ่ายซ้าย (เสรีนิยม)
ในการเปลี่ยนแปลงนี้ ปรากฏว่ากลุ่มอำนาจใหม่คือรัสเซีย จีน อิหร่านอ้าแขนรับ แม้จะมีความขัดแย้งทางนโยบายมาก ตุรกีเคยยิงเครื่องบินรบไอพ่นของรัสเซียตกในปลายปี 2015
ขณะที่กลุ่มอำนาจเก่าสหรัฐและตะวันตกรู้สึกไม่พอใจ โกรธเกรี้ยว ประณามด่าว่า มีการวิจารณ์แอร์โดอานว่าเป็นผู้เผด็จการ ไปจนถึงการกีดกันการเข้าร่วมกลุ่มสหภาพยุโรป
รัฐสภาสหรัฐเสนอกฎหมายห้ามขายเครื่องบินรบเอฟ-35 ที่ถือว่าทันสมัยที่สุดให้แก่ตุรกี
คาดว่าไม่ช้าคงถึงขั้นแซงก์ชั่นและการทำลายทางเศรษฐกิจ เมื่อตุรกีหันไปสนิทกับรัสเซียมากขึ้นทุกที
ขณะนี้ปรากฏเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลงมาก (1 ลีราเท่ากับราว 7 บาทไทย) เนื่องจากเหตุภายในหลายประการ
ประกอบกับสถานการณ์โลกที่มีความตึงเครียดขึ้นมาก
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือและสถาบันการเงินสหรัฐบางแห่งลดอันดับเศรษฐกิจของตุรกีลง
ประธานาธิบดีแอร์โดอานเรียกร้องให้ชาวตุรกีทิ้งเงินออมในสกุลดอลลาร์และเงินยูโร เปลี่ยนมาถือเงินลีราแทน
เหล่านี้คือพลวัตและความคึกคักของหนทางประชาธิปไตยในตุรกี
หนทางประชาธิปไตยในตุรกีกับการเปลี่ยนระบอบและภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาค
การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในตุรกีมีความน่าสนใจในตัว เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันทางการเมืองอย่างสูง รวมทั้งระบอบปกครองครั้งใหญ่
นั่นคือเปลี่ยนจากลัทธิเคมาลมาสู่ระบอบแอร์โดอาน
แต่เป็นการเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็นแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินอย่างการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน
กล่าวได้ว่ามีลักษณะเฉพาะของตุรกี
เป็นการเปลี่ยนจากแนวทางโลกวิสัยของเคมาล ที่ถือศาสนาอิสลามเป็นเรื่องของส่วนบุคคลและสังคม ไม่นำมาปะปนกับการบริหารรัฐหรือเรื่องในสาธารณะ
มาเป็นแนวทางอิงศาสนาอิสลาม ยอมรับว่าศาสนาอิสลามเป็นทั้งเรื่องทางบุคคลสังคมและเป็นรากฐานในการบริหารปกครองประเทศด้วย
เป็นการเปลี่ยนจากการอนุญาตให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงจัดระเบียบการเมืองและความสงบเรียบร้อยของประเทศ มาให้เป็นผู้ทำหน้าที่ป้องกันประเทศและอยู่ในการบังคับบัญชาของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
เปลี่ยนจากระบบรัฐสภาแบบสาธารณรัฐที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ บริหารประเทศ ประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐทำหน้าที่เชิงพิธีการเป็นสำคัญ ไปสู่ระบบประธานาธิบดีแบบสาธารณรัฐของลัทธิแอร์โดอานที่ประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐและผู้นำบริหารประเทศ แต่งตั้งถอดถอนคณะรัฐมนตรีได้ มีการแยกอำนาจบริหารและนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้เมื่อชนะการลงประชามติอย่างฉิวเฉียดในเดือนเมษายน 2018 กล่าวทางรูปแบบแล้วก็คล้ายกับระบบของสหรัฐ แต่ในสายตาของตะวันตกเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือในการเสริมอำนาจการเป็นเผด็จการให้แก่แอร์โดอาน
ที่สำคัญ เป็นการเปลี่ยนจากการเอียงข้างตะวันตกตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น มาเป็นอิสระและสนิทสนมกับรัสเซียมากขึ้นหลังการรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2016
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นจุดพลิกผันของภูมิรัฐศาสตร์ในมหาตะวันออกกลางและโลกมุสลิม เนื่องจากที่ตั้งของตุรกีเป็นจุดเชื่อมตะวันออกและตะวันตก เคยเป็นมหาอำนาจในโลกตะวันออกกลาง
ในปัจจุบันมีชนชาติตุรกี (พูดตุรกี) ในหลายประเทศของเอเชียกลางและยุโรป และมีจำนวนประชากรที่มากเป็นที่สองรองจากเยอรมนีในยุโรป และตุรกีมีกองทัพใหญ่เป็นที่สองรองจากสหรัฐในองค์การนาโต้
ความเจริญและความเสื่อมของลัทธิเคมาล
มุสตาฟา เคมาล (1881-1938) เป็นนายทหารและรัฐบุรุษของตุรกี ผู้กู้เอกราชของชาติ และสร้างประเทศตุรกีใหม่ที่เป็นสาธารณรัฐในปี 1923 ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาของชาวเติร์ก”
ความคิดและการปฏิบัติของเขาที่เรียกสั้นๆ ว่า “ลัทธิเคมาล” ทรงอิทธิพลสูงสุดของประเทศทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ยาวนานเป็นร้อยปี
ลัทธิเคมาลสรุปได้อย่างสั้นคือ การมีกองทัพเป็นผู้พิทักษ์ประเทศที่เป็นแบบสาธารณรัฐ
การละทิ้งซากเดน ความคิดสมัยจักรวรรดิออตโตมัน แบบไม่เหลียวกลับ
ที่สำคัญคือการมุ่งสู่แนวคิดและการปฏิบัติแบบโลกวิสัย ไม่ใช่ยึดติดกับศาสนาอิสลาม
ยึดความคิดแบบขวาคือชาตินิยม รักษาความเป็นอิสระของตน วางตัวเป็นกลางไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองยุโรป
เรียกได้ว่าเป็นลัทธิปลีกตัวแบบตุรกี เพราะว่าการเข้าไปยุ่งกับสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเข้าข้างเยอรมนี ทำให้ตุรกีเกือบต้องสูญเสียเอกราชอย่างไม่มีวันกลับคืน
หลักของลัทธิเคมาลที่สำคัญอีกอย่างได้แก่ การปฏิรูปหรือการเดินหนทางทุนนิยมแบบตะวันตก และต้องทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตุรกีดีขึ้น (ภาษาปัจจุบันเรียกว่าประชานิยมจากเบื้องบนหรือประชานิยมฝ่ายขวา)
หลังเคมาลถึงแก่อสัญกรรมในปี 1938 ลัทธิเคมาลก็เริ่มเบี่ยงเบนเสื่อมถอยลง
แต่การเบี่ยงเบนเสื่อมถอยนี้เป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย นั่นคือสิ่งหรือลัทธิทั้งหลายจำต้องปรับตัวตามสถานการณ์และเหตุปัจจัย
หรือไม่ก็สิ่งทั้งหลายเมื่อมีความเจริญหรือใช้ได้ผลจนถึงขีดสูงสุดแล้วก็จะเสื่อมลงเอง
หลังอสัญกรรมของเคมาล ผู้นำตุรกีได้แก่ นายพลอิสเมต อินอนู เป็นประธานาธิบดีคนต่อมา (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1938-1950) ก็ค่อยๆ เบนจากนโยบายอิสระเป็นกลางมาเข้าข้างฝ่ายสหรัฐและพันธมิตร
แอตแลนติกประกาศสงครามกับเยอรมนีและญี่ปุ่นที่ใกล้แพ้ในปี 1945 โดยมีเป้าประสงค์สำคัญในการก้าวสู่เวทีโลกในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ และเพื่อหาพันธมิตรต่อต้านอิทธิพลและแสนยานุภาพของสหภาพโซเวียตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากหลังสงคราม
ต่อมาเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต้ในปี 1952 ในสมัยเซลัล บาร์ยา ประธานาธิบดีคนที่สาม (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1950-1960) เขาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยประธานาธิบดีเคมาล
หลังสงคราม ตุรกีเข้าสู่ภาวะสันติและเป็นแนวหน้าในสงครามเย็นต่อต้านสหภาพโซเวียต เกิดกระแสประชาธิปไตยขึ้น
มีการขับเคลื่อนจากการปกครองแบบพรรคเดียว (การเลือกตั้งทั่วไปแบบมีพรรคเดียว) คือพรรคสาธารณรัฐประชาชน (Republican People”s Party ก่อตั้งปี 1923 ที่ถือเป็นตัวแทนลัทธิเคมาล) มาเป็นการปกครองหลายพรรค
มีการเลือกตั้งทั่วไปแบบหลายพรรคครั้งแรกในปี 1946
พรรคสาธารณรัฐประชาชนครองอำนาจบริหารอยู่จนถึงปี 1950 ก็แพ้การเลือกตั้งแก่พรรคประชาธิปัตย์ (Democrat Party) ที่เป็นแบบขวาอ่อนๆ และแตกหน่อจากกลุ่มเคมาล และสามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา
จนกระทั่งถึงปี 1960 เกิดรัฐประหารโดยกองทัพครั้งแรกในระบบสาธารณรัฐ
การก่อรัฐประหารของกองทัพ สะท้อนว่าสถานการณ์เริ่มมีความซับซ้อน อ่อนไหว ควบคุมได้ยาก
เกิดพลังใหม่ที่สามารถคุกคามต่อลัทธิเคมาลและการปกครองของกองทัพ
ที่สำคัญได้แก่กระบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม แต่การรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้หยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-การเมืองในตุรกีได้
ยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดมีพรรคการเมืองหลายพรรคขึ้น มีพรรคการเมืองใหม่ที่มีบทบาทสูงในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ได้แก่พรรคความยุติธรรม ที่แตกหน่อจากพรรคประชาธิปัตย์
ในปี 1971 มีการรัฐประหารอีกครั้งเนื่องจากการรัฐประหารปี 1960 ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ และยังซ้ำเติมด้วยปัญหาเศรษฐกิจหลายประการอันเนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มถีบตัวสูงขึ้น ความแตกแยกและความไม่พอใจทางสังคมขยายตัว
เมื่อการรัฐประหารสองครั้งแรกเป็นการ “เสียของ” ก็ต้องใช้ยาแรงขึ้น กองทัพก่อการรัฐประหารอีกครั้งในปี 1980 นำโดยนายพลเคนาน เอฟเรน และเป็นการรัฐประหารที่นองเลือดที่สุด ผู้คนล้มตายหลายร้อย ถูกประหารชีวิต 50 มีการจับกุมคุมขังผู้คนกว่า 500,000 คน เป็นการกวาดล้างใหญ่กว่าในสมัยแอร์โดอานเสียอีก
นอกจากนี้ มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประกาศใช้ในปี 1983 ซึ่งอนุญาตให้กองทัพเข้าแทรกแซงทางการเมืองได้โดยผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ แม้มีการคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือน แต่นายพลเอฟเรนยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปี 1989
อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 ศาลตุรกีในสมัยแอร์โดอานช่วงการกวาดล้างนายทหารได้ตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนายพลเอฟเรน ซึ่งขณะนั้นอายุ 96 ปี ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อรัฐ และถูกถอดยศ เขาตายในปีต่อมา
การรัฐประหารปี 1980 เป็นความพยายามในการรักษาลัทธิเคมาลไว้
แต่ความเสื่อมที่กัดกินภายในก็ยังคงขยายตัวต่อไป ความเสื่อมดังกล่าวพื้นฐานได้แก่ ผลได้จากการพัฒนากระจุกตัวอยู่ในคนหมู่น้อยในเมืองใหญ่ เป็นต้น เกิดการผูกขาด ส่วนในชนบทห่างไกล ผู้คนยังยากจน และยึดถือค่านิยมประเพณีเก่า มีศรัทธาในศาสนามากกว่า ผู้คนเหล่านี้ได้เป็นฐานทางการเมืองใหญ่แก่แอร์โดอาน นอกจากนี้ประเทศตุรกีขณะนั้นยังเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงกว่า 100% ภาวะการว่างงานสูง เศรษฐกิจชะลอตัว
ในทางการเมืองเกิดกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมากที่ต้องการช่วงชิงอำนาจ แบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ได้แก่
ฝ่ายขวาซึ่งมีหลายระดับจากแก่ถึงอ่อน ซึ่งเป็นฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ (พรรคที่ครองอำนาจในตุรกีล้วนเป็นฝ่ายขวาระดับใดระดับหนึ่ง)
กลุ่มที่สองเป็นฝ่ายซ้ายแนวคิดแบบสังคมนิยม
และกลุ่มที่สามได้แก่กลุ่มศาสนา ทั้งสามกลุ่มต่างต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน จนเกิดความจลาจลปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่ว ชนชั้นนำของตุรกีอยู่ในภาวะสองจิตสองใจ ปีกหนึ่งต้องการระบอบปกครองที่รวบอำนาจขวาจัดแบบเดิม อีกปีกหนึ่งต้องการเปิดกว้างสำหรับกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลายที่ไม่ได้คุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ฝ่ายปีกขวาจัดมีชัยและก่อการรัฐประหารนองเลือดขึ้นเพื่อนำความสงบมาสู่ประเทศ
อนึ่ง ในการรัฐประหารครั้งนี้สังเกตได้ว่าชนชั้นนำตุรกีได้ยอมรับความสำคัญของศาสนามากขึ้น เพื่อให้คานอำนาจกับกลุ่มฝ่ายซ้ายสังคมนิยมที่เป็นอันตรายกว่า
ฉบับต่อไปว่าด้วยการต่อสู้และขึ้นสู่อำนาจของแอร์โดอานอย่างแยบยล