เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ดี-ชั่ว สองชั้น

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาหรือชาวพุทธทั้งปวงคุ้นเคยกับคำสามคำนี้ดี

คำหนึ่งคือ กรรม

คำที่สองคือ นรก

คำที่สามคือ สวรรค์ (แถมยังมีอีกคำคือ สังสารวัฏ เอ้า อีกคำก็ได้คือ ชาติก่อน ชาติหน้า)

เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา

แต่ก็เกือบทั้งหมดมักมีความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ความสงสัยนั้นมีเหตุผลอยู่ คือพูดง่ายๆ ว่า ก็สมควรแล้วที่จะสงสัย เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าหรือจับต้องได้ หากเป็นสิ่ง “เหนือสามัญวิสัย” ที่ปุถุชนคนธรรมดาจะสัมผัสได้

เริ่มต้นจากความสงสัยว่า จริงหรือที่ว่า ทำดีแล้วได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะที่เห็นๆ อยู่ เห็นแต่คนทำชั่วได้ดี คนทำดีกลับได้ชั่ว

บางคนไม่เพียงแค่สงสัย แต่แน่ใจเสียด้วยว่าไม่จริงแน่นอน ถึงกับร้องออกมาเป็นคำคล้องจองว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”!

ที่เขาสงสัย (หรือบางคนปักใจเชื่อ) เช่นนั้นก็เพราะเขาไปตีค่าของ “ดี” และ “ชั่ว” เป็นวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้

หรือถ้ามิใช่วัตถุสิ่งของ ก็เป็นสิ่งที่รู้เห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส

“ได้ดี” ของคนทั่วไปก็คือ ได้เงินได้ทอง ได้ลาภยศสรรเสริญ ได้สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เช่น ได้บ้านหลังโตๆ ได้รถยนต์คันโก้ใหญ่ ได้เลื่อนตำแหน่งสูงๆ “ได้ชั่ว” ของคนทั่วไปก็คือ ได้สิ่งตรงข้ามจากนั้น

ยกตัวอย่างเช่น บางคนเป็นเจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ขาดไม่ลา นอกจากป่วยไข้เป็นบางครั้งบางคราว ไม่ประจบคน แต่ “ประจบงาน”

กับอีกคนหนึ่ง ทำงานในตำแหน่งหน้าที่คล้ายคลึงกัน นายคนนี้ชอบประจบประแจงเจ้านาย งานการไม่ค่อยทำ จะทำทีก็ต้องให้นายเห็น เป็นการทำงานแบบ “เอาหน้า” ขาดงานหรือลาบ่อยๆ

เจ้านายก็รักใคร่ชอบพอคนที่สองมากกว่า ถึงเวลาขึ้นเงินเดือน คนที่สองนี้จะได้ขึ้นเงินเดือนสองขั้นแทบจะปีเว้นปี

ส่วนคนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้วยความซื่อสัตย์นั้น นานๆ จะได้เลื่อนสองขั้นทีหนึ่ง เพื่อไม่ให้น่าเกลียดจนเกินไป

กาลเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ทั้งสองคนนี้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่างกันลิบลับ

คนที่ทราบเรื่องของคนทั้งสองนี้อาจคิดว่า คนทำดีไม่ได้ดี แต่คนทำไม่ดีกลับได้ดี ถ้าถามทั้งสองคนนี้ คนแรกก็อาจคิดเช่นนี้ ส่วนคนที่สองเขาอาจคิดว่า ที่พระพูดไว้นั้นดีถูกแล้ว เขาเองทำดี และก็ได้ดีเห็นๆ อยู่

“ดี” หรือ “ไม่ดี” ในที่นี้ก็หมายเอาเพียงเลื่อนขั้น ตำแหน่งหน้าที่การงาน อันเป็นสิ่งสัมผัสจับต้องได้ พูดง่ายๆ ว่า ดีในทางวัตถุเท่านั้นเอง

ดีอย่างนี้ ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นผลของการทำดี หรือทำไม่ดีแท้ๆ ดอกครับ มันเป็นเพียง “ผลพลอยได้” เท่านั้น อย่าเอามานับเป็นผลของการทำดี ทำชั่ว เดี๋ยวจะไขว้เขวไปใหญ่

ทำดีแล้วไม่จำเป็นต้องได้ “ของดี” ทำชั่วแล้วก็ไม่จำเป็นต้องได้ “ของชั่ว” ทำดีได้ “ของชั่ว” หรือทำชั่วได้ “ของดี” ก็มีถมไป

คนโกงคนอื่นน่ะรวยได้ และรวยเร็วด้วย

ในขณะเดียวกับคนที่ซื่อสัตย์สุจริต ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียรก็รวยได้เช่นกัน

เห็นหรือยังว่า ทำดีก็รวยได้ ทำชั่วก็รวยได้ ไม่ควรเอา “ความร่ำรวย” หรือ “ความจน” มาเป็นผลของการทำดีและทำชั่ว เดี๋ยวจะสับสนเปล่าๆ

ที่พระท่านว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น ท่านหมายเอาสองชั้นคือ

1. ชั้นที่หนึ่ง ดี-ชั่ว ที่เป็นตัวเนื้อแท้จริงๆ คือตัวความดีและตัวความชั่วนั้นเอง ทำเดี๋ยวนั้นก็ได้เดี๋ยวนั้น พูดให้ชัดเจนว่า “ทำความดี ได้ความดี ทำความชั่ว ได้ความชั่ว”

ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นข้าราชการที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ขาดไม่ลาโดยไม่จำเป็น นาย ก. ทำดีทุกๆ วัน นาย ก. ก็ได้ดีในขณะที่ทำนั้นๆ แหละ คือได้ความเป็นข้าราชการที่ดี ที่ซื่อสัตย์สุจริต

นาย ข. เห็นผู้หญิงตัวเล็กๆ สะพายกระเป๋าจะขึ้นรถเมล์ ก็กระชากกระเป๋าเธอวิ่งหนีไปต่อหน้าต่อตาคนจำนวนมาก ทันทีที่เขากระชากกระเป๋าสุภาพสตรี เขาได้กลายเป็นขโมยทันที ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นเขาเป็นคนดีอยู่หยกๆ นี่แหละทำความชั่ว ได้ความชั่วทันทีที่กระทำ

ถ้าไม่เชื่อคุณจะลองบ้างก็ได้ ทันทีที่คุณกระตุกสร้อยจากคอของใครสักคน เขาก็จะร้องว่า “ขโมย ขโมย!” ทันที เมื่อกี้นี้ยังเป็นสุภาพชนอยู่ กลายเป็น “ขโมย” ชั่วพริบตา

การกระทำชั่วอย่างอื่นก็เช่นกัน แม้ว่าไม่มีใครเห็น พอกระทำเสร็จ คนกระทำก็จะได้ความไม่ดีนั้นๆ ทันที

2.ชั้นที่สอง ดี-ชั่ว ที่จิตใจของคนกระทำ หลังจากทำดีหรือชั่วเสร็จ จิตใจของคนกระทำจะแตกต่างกัน ยิ่งทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย ผลที่จิตใจยิ่งเห็นชัด คนทำชั่ว ย่อมเร่าร้อนกระวนกระวาย กังวล หงุดหงิด ระแวง ไม่มีความมั่นคงทางใจ ที่แน่ๆ ก็คือหาความสุขใจมิได้ กินก็กินไม่ได้เต็มที่ นอนก็นอนไม่ค่อยหลับสนิท

เจ้าพ่อที่ปล้นฆ่าคนมามาก เบียดเบียนข่มเหงคนมามาก ถึงเขาจะมั่งมีเงินทอง เป็นที่อิจฉาของคนทั่วไป แต่ลึกๆ ในใจเขา เขาก็เสมือนตกนรกทั้งเป็น ไปไหนมาไหนต้องมีมือปืนล้อมหน้าล้อมหลังคอยคุ้มกัน แขวนพระเครื่องเต็มคอ หวังจักให้พระท่านคุ้มครอง ถ้าเราสามารถไปนั่งในหัวใจเขาได้ เราก็จะรู้ว่า เจ้าพ่อคนนั้นไม่มีความสงบสุขเลย นี้แหละเป็นผลของการทำชั่วที่รู้เห็นได้ในระดับจิตใจ

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องคนชั่วไปอยู่ไหนก็ไม่มีความสุขใจ เปรียบกับสุนัขขี้เรื้อนไว้ในพระสูตรหนึ่ง ฟังแล้วเห็นภาพดีจังเลย

พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นสุนัขขี้เรื้อนแก่ตัวหนึ่งเมื่อคืนนี้ไหม สุนัขขี้เรื้อนแก่ตัวนั้น ผิวหนังมันเป็นโรคขี้เรื้อน ขนร่วงหมด ทั่วทั้งร่างเป็นแผล มีอาการคันยิบๆ ทั่วกาย มันคิดว่าจะไปนอนใต้ต้นไม้ให้สบาย พอเข้าไปนอนใต้ต้นไม้ที่หนึ่งมันก็คันจึงเอาเท้าเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน มันคิดว่าอยู่ใต้ต้นไม้นี้ไม่สบาย จึงหนีไปอาศัยใต้ต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ก็ยังคันเหมือนเดิม มันจึงวิ่งออกจากต้นไม้นั้นไปยังต้นไม้นี้อยู่อย่างนี้ตลอดวัน”

คนทำชั่วไม่ต่างกับสุนัขขี้เรื้อนตัวนั้นดอกครับ ต่อให้อยู่ในคฤหาสน์อันหรูหราเพียงใด ก็ยากจะหาความสงบสุขทางใจได้ เพราะ “ไฟนรก” มันแลบออกมาเผาอยู่ตลอดเวลา ส่วนคนทำแต่กรรมดีก็ย่อมมีแต่ความสงบสุข เยือกเย็น ถึงไม่ร่ำรวยอะไร ก็สุขใจเสียนี่กระไร

ก็ขอบอกว่า อย่าอิจฉามารศรีเขาเลย ถ้าอยากมีความสุขใจอย่างนั้นบ้าง จงหมั่นทำแต่กรรมดีเข้าเถิดครับ