เศรษฐี-ยาจก

“รวยกระจุก จนกระจาย”

คำสั้นๆ คำนี้กลายเป็น “หอก” แหลมที่ทิ่มแทงใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตัวเลข GDP 4.8% ที่รัฐบาลภาคภูมิใจกลับไม่มีใครพูดถึง

ไม่มีกระแสตอบรับจากตลาดหุ้นหรือภาคเอกชน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ “ภาคประชาชน”

นอกจากไม่มีเสียงตอบรับทางบวกแล้ว

โพลทุกโพลที่ออกมาตั้งแต่วันแรกที่ คสช. เข้ามาจนถึงวันนี้

ชัดเจนว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขก็คือเรื่องเศรษฐกิจ

ไม่มีโพลไหนบอกเลยว่า “เศรษฐกิจ” ดี

ตัวเลข GDP จึงไร้ความหมาย

เพราะเมื่อประชาชนล้วงมือลงไปควานหาเงินในกระเป๋า

เงินในกระเป๋ากลับน้อยลงกว่าเดิม

หรือไม่มีเลย

มีคนพยายามอธิบายว่าทำไมตัวเลข GDP จึงสูงถึง 4.8% แต่ประชาชนไม่รู้สึกว่ามีเงินมากขึ้น

ตัวเลขผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สูงกว่าตัวเลข GDP หลายเท่าตัว

หรือความร่ำรวยของมหาเศรษฐีทั้งหลายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ประชากรที่ยอดพีระมิดรวยขึ้นอย่างแรง

นั่นคือเหตุผลที่ GDP จึงขยับขึ้นเป็น 4.8%

แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศกลับรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี

ยิ่งนานวัน คำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” จะยิ่งปักลึกลงในใจคน

ไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จึงเริ่มร้อนใจ

เพราะรู้ดีว่าเมื่อถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

“คนรวย” หรือ “คนจน” จะมีสถานะเท่าเทียมกันทันที

เพราะทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน

มีคนบอกว่าตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงว่าเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลงกว่าเดิม

คือ การที่ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือ “ตั๊น” ยื่นขอความช่วยเหลือเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม

“ตั๊น” นั้นเป็นทายาทธุรกิจของตระกูลภิรมย์ภักดี

มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

เป็นลูกสาวของ “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด

มีเงินไปเรียนต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ

ก่อนการยึดอำนาจ เธอยังเป็นลูกสาวเศรษฐี

แต่เพียงแค่เวลาไม่กี่ปี แค่เงินประกันตัวเธอยังต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับ “ผู้มีรายได้น้อย”

แบบนี้จะบอกว่าเศรษฐกิจดีได้อย่างไร